(ต่อ9)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกและแนวโน้มปี 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 15, 2006 15:38 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          (2.2) การส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ตลอดปี 2549 แต่การนำเข้าชลอตัวทำให้ฐานดุลการค้าปรับตัวดีขึ้นการส่งออกสินค้าเกษตรจะได้รับประโยชน์จากการที่ผลผลิตเกษตรโลกลดลง ซึ่งคาดว่าจะลดลงร้อยละ 4-5  จากปัญหาภัยธรรมชาติ โดยสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะมีแนวโน้มการส่งออกดี ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา และข้าวโพด รวมทั้งสินค้าเกษตรแปรรูป สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมคาดว่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดรถยนต์และชิ้นส่วนยังมีแนวโน้มที่ดีตามภาวะการขยายตัวของตลาดโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ อย่างไรก็ตามในครึ่งหลังการส่งออกจะขยายตัวได้ไม่มากเช่นในครึ่งแรก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวในครึ่งหลัง ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในตลาดโลกมีแนวโน้มชลอตัวภายหลังจากที่ขยายตัวมากในช่วง 1  ปีที่ผ่านมา และกอปรกับฐานการส่งออกที่สูงในครึ่งหลังของปี 2548  สำหรับการนำเข้านั้นคาดว่าจะขยายตัวมากขึ้นกว่าในครึ่งแรก เนื่องจากในครึ่งแรกได้มีการลดการสะสมสินค้าคงคลังลงมาก จึงมีแนวโน้มที่จะต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตสินค้าส่งออก ประกอบกับราคาน้ำมันดิบยังสูงอยู่ทำให้ดุลการค้าจะยังคงขาดดุล   
(2.3) การท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง ใน 4 เดือนแรกมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 4.218 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 และเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ดุลบริการเกินดุลประมาณ 2,081 ล้านดอลลาร์ สรอ. ใน และทำให้ฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,400 ล้านดอลลาร์ สรอ. และสำหรับในระยะต่อไปคาดว่าสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวจะยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะเศรษฐกิจเอเชียและกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ เช่น จีน อินเดียซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ม ประเทศมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้การพัฒนาคุณภาพการบริการและการทำการตลาดในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงตามเป้าหมาย 13.8 ล้านคนในปี 2549 นี้
(2.4) การดำเนินนโยบายด้านประหยัดพลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก มีผลต่อเนื่องเช่นเดียวกับปี 2548 ซึ่งเห็นผลได้จากปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ชะลอตัวชัดเจนในปี 2548 โดยปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมรวมเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.4 เปรียบเทียบกับการเพิ่มร้อยละ 9.7 ในปี 2547 โดยที่ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลรวมลดลงร้อยละ 1.4 จากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ในปี 2547 จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลงประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้มีการปรับพฤติกรรมการใช้ให้มีประสิทธิภาพและประหยัดมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันโดยรวมชะลอลง ในไตรมาสแรก ปี 2549 มีปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมรวมทั้งสิ้น 10,707.9 ล้านลิตร อยู่ในระดับในที่ใกล้เคียงกับไตรมาสแรกของปี 2548 ซึ่งมีปริมาณการใช้ 10,706.8 ล้านลิตร แม้ว่าในไตรมาสแรกของปี 2549 เศรษฐกิจจะขยายตัวเกือบสองเท่าของการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปี 2548 ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นการปรับตัวของผู้บริโภคภายใต้ภาวะราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น และเมื่อพิจารณาปริมาณการใช้น้ำมันต่อ GDP จะพบว่ามีทิศทางลดลงตามลำดับ
สำหรับในปี 2549 นี้ ถ้าสามารถดำเนินการให้มีการใช้ NGV แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซลได้ตามเป้าหมายที่กำหนด จะช่วยประหยัดมูลค่าการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ประมาณ 34,430 ล้านบาทหรือ 895 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด
(ยังมีต่อ).../2.2 สมมุติฐาน..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ