(ต่อ7)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกและแนวโน้มปี 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 15, 2006 14:38 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          * แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นซึ่งจะชะลอเศรษฐกิจลง ในปี 2549 อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งสหรัฐยุโรป จีน และประเทศในเอเชีย ซึ่งจะชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ และจะส่งผลต่อการส่งออกของประเทศไทย  
* เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและปัญหาความไม่สมดุลซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในปี 2549 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวได้ใกล้เคียงกับปี 2548 จากการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นมาก เศรษฐกิจเกาหลีใต้และสหภาพยุโรปฟื้นตัวได้ดีขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจจีน สหรัฐอเมริกา และเอเชียชะลอตัว ทำให้โดยรวมเศรษฐกิจโลกปี 2549 ขยายตัวได้ในอัตราที่ใกล้เคียงกับปี 2548 ทั้งนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ขยายตัวได้ดี อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ต่ำสุด ในรอบ 7 ปี สินเชื่อเริ่มขยายตัวและราคาสินค้าโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นซึ่งทำให้ความกังวลเรื่องปัญหาเงินฝืดลดลง การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลกในปี 2549 จากการที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นมากมาตั้งแต่ปลายปี 2548
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกปี 2549 ยังมีความเสี่ยงบางประการ ได้แก่ (1) ปัญหาการขาดดุลการค้าและดุลการคลังของสหรัฐยังคงมีต่อไป โดยเฉพาะการขาดดุลการค้ากับประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สหรัฐฯ ใช้นโยบายกีดกันการค้าเพื่อกดดันให้จีนปรับค่าเงินหยวนเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัญหากำลังผลิตส่วนเกินในประเทศจีน ซึ่งอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชลอตัวมากขึ้น
ในขณะที่การขาดดุลแฝดของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์ สรอ. และการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะราคาบ้านเฉลี่ยที่มากกว่าที่คาดการณ์และปัญหาหนี้สินครัวเรือนและการออมที่หดตัวจะเป็นความเสี่ยงต่อการขยายตัวของการบริโภคของสหรัฐอเมริกา (2) การตึงตัวของตลาดแรงงานและการดำเนินนโยบายการคลังแบบเข้มงวดในกลุ่ม
ประเทศสหภาพยุโรปเพื่อลดปัญหาการขาดดุลการคลัง โดยเฉพาะประเทศเยอรมันที่ประกาศเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม จะทำให้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปฟื้นตัวได้ช้าขึ้น (3) อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 2549 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา จะปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.5 (A) (จากร้อยละ 5.0 ในปัจจุบัน) อัตราดอกเบี้ยทางการของสหภาพยุโรปจะอยู่ในระดับร้อยละ 3.0 (ปรับล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2549 เป็น 2.5) และอัตราดอกเบี้ยทางการของญี่ปุ่นปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 0.25 (จากร้อยละ 0 ในปัจจุบัน) (4) ตลาดแรงงานญี่ปุ่นชะลอมากขึ้น จากการจ้างงานที่ลดลงและอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและนโยบายการคลังแบบเข้มงวดเพื่อลดภาระหนี้สาธารณะ ทำให้การใช้จ่ายรัฐบาลลดลง (5) เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียและสหภาพยุโรปมีระดับการลงทุนในประเทศในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
นอกจากนี้ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่เห็นได้จาก ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ที่ขาดดุลต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และต้หวันมีการเกินดุลต่อเนื่อง จะยังเป็นประเด็นหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้นักลงทุนมีความระมัดระวังในการตัดสินใจและความเชื่อมั่นว่าค่าเงินดอลลาร์ สรอ. จะยังไม่เพิ่มขึ้นนักวิเคราะห์หลายสำนักจึงคาดว่าโดยเฉลี่ยเงินดอลลาร์สรอ. ปี 2549 จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเงินเยน จาก 1.19 ดอลลาร์ต่อยูโร ในปี 2548 เป็น 1.32 ดอลลาร์ สรอ. ในปี 2549 และเงินเยนแข็งค่าจาก 118 เยนต่อดอลลาร์สรอ. ในปี 2548 เป็น 105 เยน ในปี 2549
(1.2) ปัจจัยเสี่ยง/ข้อจำกัดภายในประเทศ: เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง และมีความไม่แน่นอนของสถานการณ์ด้านการเมือง
* แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2548 เป็นต้นมา และต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2549 จะยังเป็นข้อจำกัดสำหรับการใช้จ่ายครัวเรือน และมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจเอกชน ภายใต้สถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังมีแนวโน้มสูงต้นทุนการผลิตจะยังเพิ่มสูงขึ้น แต่คาดว่าในครึ่งหลังของปีแรงกดดันเงินเฟ้อจะลดลงบ้าง เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนราคาน้ำมันจะเริ่มบรรเทาลงจากการที่ฐานราคาน้ำมันและราคาสินค้าได้ปรับเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2548 ประกอบกับคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ ซึ่งได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงมีแนวโน้มสูงขึ้นชัดเจน จะมีผลให้การใช้จ่ายครัวเรือนปรับตัวชะลอลง ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากด้านความต้องการสินค้าและบริการ
********************************************************************************************************
หมายเหตุ (A) จากการคาดการณ์ล่าสุดของ Lehman Brothers อ้างอิงจาก "Global Weekly Monitor" ฉบับวันที่ 2 มิถุนายน 2549
(ยังมีต่อ).../แนวโน้มอัตรา..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ