บทสรุปผู้บริหารการจัดอันดับประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 23, 2006 15:51 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          ปัจจุบันได้มีความพยายามที่จะจัดอันดับประเทศทั่วโลกในมิติต่างๆ ทั้งในแง่ความเป็นโลกาภิวัตน์ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากสถาบันที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ได้แก่ สถาบัน A.T.Kearny  ร่วมกับวารสาร Foreign Policy ได้จัดอันดับความเป็นโลกาภิวัตน์  ในขณะที่ International Institute of Management Development (IMD) และ World Economic Forum (WEF) ได้จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  ผลการจัดอันดับในปี 2549 นี้ ปรากฏว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกแล้ว ประเทศไทยมีความเป็นโลกาภิวัตน์เพิ่มขึ้น แต่มีขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง  โดยอันดับของความเป็นโลกาภิวัตน์ของไทยเมื่อเทียบประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอยู่ในอันดับที่ 45 ส่วนอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ IMD และ WEF ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 32 และ 35 ตามลำดับ 
1. ภาพรวมของการจัดอันดับ
- ในปี 2549 ผลการจัดอันดับความเป็นโลกาภิวัตน์ของไทยเมื่อเทียบประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยสถาบัน A.T.Kearny ร่วมกับวารสาร Foreign Policy อยู่ในอันดับที่ดีขึ้น (ปี 2549 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 45 ซึ่งดีกว่าปี 2548 ที่อยู่ที่อันดับ 46) ในขณะที่ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงจากทั้ง 2 สถาบัน คือ IMD และ WEF (ผลการจัดอันดับของ IMD ลดลงจากอันดับ 27 ในปี 2548 เป็นอันดับ 32 ในปี 2549 ในขณะที่ WEF ลดลงจากอันดับ 33 ในปี 2548 เป็นอันดับ 35 ในปี 2549)
2. การจัดอันดับความเป็นโลกาภิวัตน์ (Globalization Index)
- การจัดอันดับความเป็นโลกาภิวัตน์เป็นการพิจารณาถึงกลุ่มปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อความเป็นโลกาภิวัตน์ของประเทศ ซึ่งในปี 2549 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 45 ดีขึ้นจากเมื่อปีที่แล้วเนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นแล้วไทยมีจุดแข็งในด้านการค้าระหว่างประเทศ และการให้ความร่วมมือในฐานะสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนที่ทำให้ความเป็นโลกาภิวัตน์ของไทยลดลง ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือทางด้านสันติภาพแก่ UN การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ และการติดต่อระหว่างบุคคล ซึ่งพิจารณาจากการใช้โทรศัพท์ในการติดต่อของประเทศ
- การเปรียบเทียบผลการจัดอันดับของประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาคเอเชียปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 6 จากทั้งหมด 10 ประเทศ โดยประเทศที่อยู่ในอันดับที่สูงกว่าตามลำดับได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ส่วนประเทศที่อยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าตามลำดับได้แก่ จีน อินโดนีเซีย และ อินเดีย ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับ กลุ่มประเทศดังกล่าวแล้ว ลำดับในปีปัจจุบันของประเทศไทยก็ยังคงเป็นลำดับเดิมเท่ากับเมื่อปีที่ผ่านมา
3. การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ IMD
- การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ IMD ปี 2549 ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 32 ต่ำกว่าเมื่อปีที่แล้วแม้ว่าไทยจะยังมีจุดแข็งในการดำเนินโยบายทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะเรื่องการจ้างงาน การดูแลระดับราคาสินค้า การค้าระหว่างประเทศ นโยบายการคลัง และตลาดแรงงาน แต่เนื่องจากจุดอ่อนที่สำคัญที่ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต้องลดลงในปีนี้ก็เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านการศึกษา เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเรื่องการลงทุนระหว่างประเทศ และผลิตภาพการผลิต
- การเปรียบเทียบผลการจัดอันดับของประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาคเอเชียปรากฏว่าประเทศไทยอันดับที่ 8 จากทั้งหมด 10 ประเทศกับ 1 เขตการปกครองพิเศษ โดยประเทศที่อยู่ในอันดับที่สูงกว่าตามลำดับได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน มาเลเซีย และอินเดีย ส่วนประเทศที่อยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าตามลำดับได้แก่ เกาหลี ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย ในขณะที่ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศดังกล่าวนี้ อันดับของประเทศไทยในปีที่แล้วมีเพียง 3 ประเทศกับ 1 เขตการปกครองพิเศษที่อยู่ในอันดับที่สูงกว่าประเทศไทย ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และไต้หวัน จึงเป็นที่สังเกตได้ว่าประเทศ จีน มาเลเซีย และอินเดียมีการปรับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้สูงขึ้นมากในปี 2549 นี้
4. การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ WEF
- การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ WEF ปี 2549 ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ใน อันดับที่ 35 ต่ำกว่าเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากมีจุดอ่อนในปัจจัยพื้นฐานด้านสุขภาพและ การศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจัยทางด้านอื่นแล้ว การดำเนินโยบายทางเศรษฐกิจมหภาค ความมีประสิทธิภาพของตลาดซึ่งรวมทั้งตลาดสินค้า ตลาดแรงงาน และตลาดการเงิน รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันทางด้านนวัตกรรมก็ยังเป็นปัจจัยทางด้านบวกของประเทศไทย
- การเปรียบเทียบผลการจัดอันดับของประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาคเอเชียปรากฏว่าประเทศไทยอันดับที่ 6 จากทั้งหมด 11 ประเทศ โดยประเทศที่อยู่ในอันดับที่สูงกว่าตามลำดับได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี และมาเลเซีย ส่วนประเทศที่อยู่ในอันดับที่ ต่ำกว่าตามลำดับได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย จีน ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม ทั้งนี้ เมื่อ เปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศดังกล่าวแล้ว ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในปีปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในลำดับเดิมเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา
5. สรุปและข้อเสนอแนะ
- การจัดอันดับประเทศต่างๆ ตามเกณฑ์ของ 3 สถาบันมีความแตกต่างกัน โดยการจัดอันดับความเป็นโลกาภิวัตน์นั้นเป็นการพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เศรษฐกิจ การเมือง และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ในขณะที่การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของทั้งสถาบัน IMD และ WEF เป็นการพิจารณาถึงกลุ่มปัจจัยภายในประเทศที่มีผลต่อการกำหนดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั้นๆ เป็นสำคัญ
- ผลการจัดอันดับในปี 2549 นี้ ปรากฏว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกแล้วประเทศไทยมีความเป็นโลกาภิวัตน์เพิ่มขึ้น แต่มีขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยปัจจัยร่วมที่ทั้ง 3 สถาบันพิจารณาในแง่บวกกับประเทศไทย ได้แก่ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะทางด้านมหภาค การคลัง และ การค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น รวมทั้ง บทบาทของประเทศไทยกับการเป็นสมาชิกในองค์การระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยร่วมที่เป็นลบของประเทศไทยในความเห็นของ 3 สถาบัน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุข การศึกษาขั้นพื้นฐาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และของประชาชน รวมทั้งผลิตภาพการผลิตของประเทศ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีจุดอ่อนในด้านการให้ความช่วยเหลือทางสันติภาพกับ UN และ การติดต่อสื่อสารที่มีโทรศัพท์เป็นตัวชี้วัดยังอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
- ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียแล้ว ลำดับของประเทศในปี 2549 ทั้งในแง่ความเป็นโลกาภิวัตน์ และขีดความสามารถในการแข่งขันตามเกณฑ์ของ WEF มีลำดับเดิมเท่ากับเมื่อปีที่ผ่านมา แต่เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์ของ IMD แล้ว ปรากฏว่า ลำดับของประเทศไทยลดต่ำลง โดยมี 3 ประเทศที่สามารถปรับอันดับขีดความสามารถได้สูงขึ้นกว่าไทย ได้แก่ จีน มาเลเซีย และอินเดีย ซึ่งนับเป็นคู่แข่งที่สำคัญทางเศรษฐกิจของไทย
- ผลการจัดอันดับประเทศของทั้ง 3 สถาบัน สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์สถานะของประเทศโดยเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งปรากฏว่าส่วนใหญ่มีความสอดคล้องกับการกรอบแนวคิดหลักที่ใช้วางยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (2550-2554) โดยเฉพาะในส่วนของยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับความท้าทายของ
ประเทศที่ต้องเผชิญในอนาคต และจุดอ่อนในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ ซึ่งได้มีการวางแนวทางการพัฒนาที่สำคัญไว้ คือ การปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพและคุณค่าของสินค้าและบริการบนฐานความรู้และความเป็นไทย การสร้างภูมิคุ้มกันของระบบเศรษฐกิจ และการสนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรมและสามารถกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาได้อย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ หากสามารถนำแนวทางการพัฒนาดังกล่าวไปปรับสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ขีดความสามารถของประเทศไทยโดยเปรียบเทียบก็น่าที่จะปรับตัวดีขึ้นได้
(ยังมีต่อ).../ตารางสรุป..

แท็ก วารสาร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ