เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ ศาสตราจารย์นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดสื่อการเรียนการสอนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน หลักสี่ กรุงเทพฯ โดยมีผู้ได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้น ๑๕๗ รางวัล
ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวว่า คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงได้ดำเนินงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง โดยกำหนดให้ปี ๒๕๔๗ เป็นปีแห่งการจุดประกายให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนปี ๒๕๔๘ ที่ผ่านมาเป็นปีแห่งการตอกเสาเข็ม และปีนี้ซึ่งเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการสร้างกระแส โดยมุ่งขยายเครือข่ายและสื่อสารแบบผสมผสานสู่สาธารณชนโดยได้มีการจัดตั้งเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งด้านเครือข่ายองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม ผู้นำทางความคิด สื่อมวลชน วิชาการ สถาบันการเมือง ตลอดจนสถาบันการศึกษาและเยาวชน และในปีหน้าคือ ปี ๒๕๕๐ เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองพระชนมายุ ๘๐ พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มุ่งหวังให้เป็นปีที่ทุกภาคส่วนของสังคมเห็นคุณค่าและนำไปปฏิบัติ โดยคนไทยทุกหมู่เหล่าใช้ชีวิตบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง
สำหรับงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องใน ๒-๓ ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ การจัดประกวดความเรียงในหัวข้อ "ตัวอย่างเศรษฐกิจพอเพียงที่ข้าพเจ้ารู้จัก" เมื่อปี ๒๕๔๗ และการคัดเลือกโรงเรียนในระดับต่าง ๆ ครอบคลุมพื้นที่ ๙ อนุภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีโรงเรียนนำร่องเศรษฐกิจพอเพียง โดย "โครงการประกวดสื่อประกอบการเรียนการสอนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" เป็นกิจกรรมต่อเนื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครื่องมือหรือสื่อประกอบการเรียนการสอนเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาและโรงเรียนต่างๆ ให้มีความรู้ความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตได้ดียิ่งขึ้น
ในการจัดทำโครงการประกวดสื่อฯ ดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มอบให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เป็นที่ปรึกษาในการคัดเลือกสื่อประกอบการเรียนการสอน ซึ่งมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวด รวม ๕๒๔ ชิ้น แยกเป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาตอนต้น ประถมศึกษาตอนปลาย มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับอุดมศึกษา มีผลงานที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการได้รับรางวัลในการประกวดครั้งนี้ ๑๕๗ ชิ้น ได้แก่ รางวัลยอดเยี่ยม ๑ รางวัล เป็นซีดีเรื่อง "ตามรอยพ่อของแผ่นดิน พออยู่ พอกิน และพอเพียง" สร้างสรรค์โดยโรงเรียนไผทอุดมศึกษา รางวัลเหรียญทอง ๑๖ รางวัล เหรียญเงิน ๓๐ รางวัล และเหรียญทองแดง ๑๑๐ รางวัล โดยได้นำสื่อที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมและรางวัลระดับเหรียญทองรวมจำนวน ๕ ชิ้น มาพัฒนาให้มีความสมบูรณ์ เพื่อใช้เป็นสื่อต้นแบบในการเผยแพร่แก่สถานศึกษาต่างๆ
การสัมมนาครั้งนี้ นอกจากจะจัดขึ้นเพื่อมอบรางวัลแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่สื่อต้นแบบดังกล่าวแก่ผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษา รวมทั้งเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเห็นตัวอย่างสื่อรูปธรรมที่หลากหลาย เพื่อนำไปใช้และพัฒนาสื่อประกอบการเรียนการสอนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานการสัมมนา กล่าวว่า ได้เห็นวิวัฒนาการของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาที่มีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการจัดประกวดสื่อประกอบการเรียนการสอนฯ ครั้งนี้ จะเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเสริมสร้างการเรียนการสอนในสถานศึกษาและโรงเรียนต่างๆ ให้ครูและนักเรียน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและนำมาประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตได้ดีขึ้น โดยสื่อต้นแบบที่ผลิตขึ้นนั้น จะสามารถสะท้อนความหมายของหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะความหมายของ ความเรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด แสดงความสอดคล้อง และความมีเหตุผล เพราะมีเนื้อหาสาระที่ถูกต้องสอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยผ่านการกลั่นกรองจากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องแล้ว มีความพอประมาณ จากลักษณะของสื่อและวิธีการนำเสนอที่ชัดเจน เข้าใจและผลิตง่าย ราคาถูก และมีภูมิคุ้มกันที่ดี คือ เป็นความรู้ที่ทันสมัย
ทั้งนี้ ผู้ที่จะนำสื่อดังกล่าวไปถ่ายทอดต้องเลือกให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและสภาพแวดล้อม หรือที่เรียกว่า "ภูมิสังคม" เพราะสื่อมีรูปแบบที่แตกต่างกัน และกิจกรรมที่ปรากฏในสื่อก็ไม่เหมือนกัน เช่น ซีดีเรื่อง "ตามรอยพ่อของแผ่นดิน พออยู่ พอกิน และพอเพียง" ต้องใช้กับคอมพิวเตอร์ที่มีการต่ออินเทอร์เน็ท หรือหนังสือเรื่อง "หนูแหวนกับพี่สาว" ต้องเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีพื้นที่กว้างๆ ซึ่งต้องประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม จึงจะเรียกว่าเป็นผู้ถ่ายทอดที่มีความรู้ ความเข้าใจ ในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--
-พห-
ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวว่า คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงได้ดำเนินงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง โดยกำหนดให้ปี ๒๕๔๗ เป็นปีแห่งการจุดประกายให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนปี ๒๕๔๘ ที่ผ่านมาเป็นปีแห่งการตอกเสาเข็ม และปีนี้ซึ่งเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการสร้างกระแส โดยมุ่งขยายเครือข่ายและสื่อสารแบบผสมผสานสู่สาธารณชนโดยได้มีการจัดตั้งเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งด้านเครือข่ายองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม ผู้นำทางความคิด สื่อมวลชน วิชาการ สถาบันการเมือง ตลอดจนสถาบันการศึกษาและเยาวชน และในปีหน้าคือ ปี ๒๕๕๐ เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองพระชนมายุ ๘๐ พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มุ่งหวังให้เป็นปีที่ทุกภาคส่วนของสังคมเห็นคุณค่าและนำไปปฏิบัติ โดยคนไทยทุกหมู่เหล่าใช้ชีวิตบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง
สำหรับงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องใน ๒-๓ ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ การจัดประกวดความเรียงในหัวข้อ "ตัวอย่างเศรษฐกิจพอเพียงที่ข้าพเจ้ารู้จัก" เมื่อปี ๒๕๔๗ และการคัดเลือกโรงเรียนในระดับต่าง ๆ ครอบคลุมพื้นที่ ๙ อนุภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีโรงเรียนนำร่องเศรษฐกิจพอเพียง โดย "โครงการประกวดสื่อประกอบการเรียนการสอนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" เป็นกิจกรรมต่อเนื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครื่องมือหรือสื่อประกอบการเรียนการสอนเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาและโรงเรียนต่างๆ ให้มีความรู้ความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตได้ดียิ่งขึ้น
ในการจัดทำโครงการประกวดสื่อฯ ดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มอบให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เป็นที่ปรึกษาในการคัดเลือกสื่อประกอบการเรียนการสอน ซึ่งมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวด รวม ๕๒๔ ชิ้น แยกเป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาตอนต้น ประถมศึกษาตอนปลาย มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับอุดมศึกษา มีผลงานที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการได้รับรางวัลในการประกวดครั้งนี้ ๑๕๗ ชิ้น ได้แก่ รางวัลยอดเยี่ยม ๑ รางวัล เป็นซีดีเรื่อง "ตามรอยพ่อของแผ่นดิน พออยู่ พอกิน และพอเพียง" สร้างสรรค์โดยโรงเรียนไผทอุดมศึกษา รางวัลเหรียญทอง ๑๖ รางวัล เหรียญเงิน ๓๐ รางวัล และเหรียญทองแดง ๑๑๐ รางวัล โดยได้นำสื่อที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมและรางวัลระดับเหรียญทองรวมจำนวน ๕ ชิ้น มาพัฒนาให้มีความสมบูรณ์ เพื่อใช้เป็นสื่อต้นแบบในการเผยแพร่แก่สถานศึกษาต่างๆ
การสัมมนาครั้งนี้ นอกจากจะจัดขึ้นเพื่อมอบรางวัลแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่สื่อต้นแบบดังกล่าวแก่ผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษา รวมทั้งเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเห็นตัวอย่างสื่อรูปธรรมที่หลากหลาย เพื่อนำไปใช้และพัฒนาสื่อประกอบการเรียนการสอนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานการสัมมนา กล่าวว่า ได้เห็นวิวัฒนาการของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาที่มีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการจัดประกวดสื่อประกอบการเรียนการสอนฯ ครั้งนี้ จะเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเสริมสร้างการเรียนการสอนในสถานศึกษาและโรงเรียนต่างๆ ให้ครูและนักเรียน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและนำมาประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตได้ดีขึ้น โดยสื่อต้นแบบที่ผลิตขึ้นนั้น จะสามารถสะท้อนความหมายของหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะความหมายของ ความเรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด แสดงความสอดคล้อง และความมีเหตุผล เพราะมีเนื้อหาสาระที่ถูกต้องสอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยผ่านการกลั่นกรองจากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องแล้ว มีความพอประมาณ จากลักษณะของสื่อและวิธีการนำเสนอที่ชัดเจน เข้าใจและผลิตง่าย ราคาถูก และมีภูมิคุ้มกันที่ดี คือ เป็นความรู้ที่ทันสมัย
ทั้งนี้ ผู้ที่จะนำสื่อดังกล่าวไปถ่ายทอดต้องเลือกให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและสภาพแวดล้อม หรือที่เรียกว่า "ภูมิสังคม" เพราะสื่อมีรูปแบบที่แตกต่างกัน และกิจกรรมที่ปรากฏในสื่อก็ไม่เหมือนกัน เช่น ซีดีเรื่อง "ตามรอยพ่อของแผ่นดิน พออยู่ พอกิน และพอเพียง" ต้องใช้กับคอมพิวเตอร์ที่มีการต่ออินเทอร์เน็ท หรือหนังสือเรื่อง "หนูแหวนกับพี่สาว" ต้องเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีพื้นที่กว้างๆ ซึ่งต้องประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม จึงจะเรียกว่าเป็นผู้ถ่ายทอดที่มีความรู้ ความเข้าใจ ในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--
-พห-