ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2552 และแนวโน้มปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 4, 2010 15:52 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 5.8 เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบปีจากที่หดตัวร้อยละ 7.1 4.9 และ 2.7 ในไตรมาสแรก สองและสามของปี 2552 ทำให้ทั้งปี 2552 เศรษฐกิจไทยหดตัวเพียงร้อยละ 2.3 เป็นการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด โดยการใช้จ่ายครัวเรือน การลงทุนเอกชน และการส่งออกปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจากการที่ราคาพืชผลสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาการเมืองภายในประเทศมีแนวโน้มคลี่คลายลง ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีความเชื่อมั่นและเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มสูงขึ้น

เมื่อปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวจากไตรมาสที่สามร้อยละ 3.6 (% QoQ SA) เป็นการขยายตัว 3 ไตรมาสติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมที่อัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้น และอัตราการว่างงานลดลง

ทั้งปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.9 มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ.ลดลงร้อยละ 13.9 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.5 และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดร้อยละ 7.7 ของ GDP

การประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5 — 4.5 เป็นการขยายตัวภายใต้แรงส่งของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะกระจุกตัวในบางสาขาและมีความเสี่ยงจากความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอลงอีกในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกมีแนวโน้มผันผวนเพิ่มขึ้นจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ การแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าจะมีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปร้อยละ 3.0 — 4.0 มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดร้อยละ 4.1 ของ GDP ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 75 — 85 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล

การบริหารเศรษฐกิจในปี 2553 ควรให้ความสำคัญกับมาตรการดังต่อไปนี้ (1)การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่สมดุลระหว่างการรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจเพื่อรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลก (2)การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและเร่งรัดโครงการลงทุนสำคัญๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว ภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สองเพื่อลดผลกระทบจากการหดตัวของกรอบงบประมาณปกติและขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (3) การเร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนเพื่อมิให้เป็นข้อจำกัดในยามที่กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับที่ต้องขยายการลงทุนและอัตราแลกเปลี่ยนเอื้ออำนวยต่อการนำเข้าสินค้าทุนจากต่างประเทศ (4) ลดความเสี่ยงและรักษารายได้ของเกษตรกรโดยมาตรการประกันรายได้เกษตรกรรวมทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้ง

1.เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ภาพรวมทั้งปี 2552 และแนวโน้มปี 2553

1.1 ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่สี่ ปี 2552

เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ขยายตัวร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปรับตัวดีขึ้น ทั้งการใช้จ่ายครัวเรือนการลงทุนเอกชน และการส่งออก รวมทั้งปี 2552 เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 2.3 เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งปัญหาการเมืองภายในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้นส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีความเชื่อมั่นเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นการผลิตภาคอุตสาหกรรมเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาทั้งการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศและเพื่อการส่งออก เมื่อปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้วปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 (% QoQ) เป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 และ 1.7 ในไตรมาสที่สองและสาม ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางการฟื้นตัวอย่างชัดเจน

ประเด็นหลัก

ภาวะเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 ปรับตัวดีขึ้นทั้งในภาคการเงิน การผลิต และการค้าระหว่างประเทศ เศรษฐกิจโลกโดยรวมขยายตัวร้อยละ 2.3 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 3.5 1.9 และ 0.2 ในไตรมาสแรก สอง และสาม ตามลำ ดับ โดยดัชนี Purchasing Manager Index (PMI) ในประเทศอุตสาหกรรมสำคัญๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกินระดับ 50 แสดงให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้ปริมาณการค้าโลกเพิ่มขึ้นตามการส่งออกของประเทศต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การขยายสินเชื่อและการลงทุนของจีนทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นซึ่งจะส่งผลให้การค้าในภูมิภาคปรับตัวดีขึ้นและหลุดพ้นจากภาวการณ์หดตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 5.8 เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบปี ปัจจัยสำคัญมาจากการฟื้นตัวของการส่งออกตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดหลักเพิ่มขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา และอาเซียน ประกอบกับการที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และอุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งเพื่อการส่งออกและเพื่อบริโภคภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 22.9 และ 7.5 ตามลำดับ ทำให้อัตราการว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันราคาสินค้าพืชผลหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ทำให้การใช้จ่ายของครัวเรือนในไตรมาสนี้ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบปี นอกจากนี้การที่สถานการณ์การเมืองภายในประเทศไทยเริ่มคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

สัญญาณบวกในไตรมาสที่สี่ ปี 2552

(1) การส่งออกปรับตัวดีขึ้นชัดเจน จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 12.2 เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบปี การส่งออกสินค้าหลักๆ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ และแผงวงจรไฟฟ้าขยายตัวร้อยละ 7.4 14.1 และ 40.5 ตามลำดับ โดยสามารถส่งออกไปยังตลาดหลักและตลาดอื่นๆ ได้แก่ตลาดสหรัฐฯ และอาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 และ 18.3 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และอินเดีย เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 54.2 23.8 27.3 และ 20.4 ตามลำดับ

(2) การใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 1.4 เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นตามราคาพืชผลที่สูงขึ้น และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ประกอบกับการขยายระยะเวลาดำเนินนโยบาย 5 มาตรการเพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชนและการอนุมัติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจที่จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 76.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 74.5 ในไตรมาสที่ผ่านมา โดยกลุ่มสินค้าที่มีการปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ อาหาร และสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

(3) การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 9.9 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตทั้งเพื่อการส่งออกและเพื่อการบริโภคภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 22.9 และ 7.5 ตามลำดับ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวอย่างชัดเจน คือ อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับร้อยละ 67.2 เทียบกับร้อยละ 58.1 59.2 และ 62.5 ใน 3 ไตรมาสแรกของปี ตามลำดับ

(4) การท่องเที่ยว ฟื้นตัวอย่างชัดเจน เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกประกอบกับสถานการณ์การเมืองภายในประเทศเริ่มคลี่คลายลง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมาประเทศไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเดือนธันวาคม มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 1.63 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 40.8 ซึ่งเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงที่สุดในรอบปี ทำให้ไตรมาสที่สี่มีจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวน 4.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 ในขณะที่อัตราการเข้าพักของโรงแรมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 54.6 จากร้อยละ 49.6 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาทำให้สาขาโรงแรม ภัตตาคารและสาขาคมนาคม ขนส่งขยายตัวร้อยละ 13.5 และ 6.9 ตามลำดับ

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี

(1) เสถียรภาพในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องระมัดระวังผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสที่สี่ เท่ากับร้อยละ 1.9 เป็นบวกครั้งแรกในรอบปี เทียบกับร้อยละ -0.3 -2.8 และ -2.2 ใน 3 ไตรมาสแรกของปี ตามลำดับ เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวตามนโยบายประกันรายได้เกษตรกร และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับขึ้นตามราคาตลาดโลก รวมทั้งการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตในกลุ่มสุรา และยาสูบ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยในไตรมาสที่สี่เท่ากับร้อยละ 0.1 ตลอดทั้งปี 2552 เฉลี่ยร้อยละ -0.9

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่สี่ ขยายตัวร้อยละ 6.7 ทำให้เป็นแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตสินค้าให้เพิ่มสูงขึ้น เมื่อรวมทั้งปี 2552 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 3.8

อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.0 โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 3.84 แสนคน ต่ำกว่าร้อยละ 2.0 1.8 และ 1.2 ใน3 ไตรมาสแรกของปี ตามลำดับ เป็นสัญญาณชี้ให้เห็นถึงการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นทุกสาขาการผลิตยกเว้นสาขาเกษตรกรรม

(2) เสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี: ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง

-ดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสที่สี่เกินดุล 4,274 ล้านดอลลาร์ สรอ.(142,276 ล้านบาท) มาจากการเกินดุลการค้า 2,673 ล้านดอลลาร์สรอ. และเกินดุลบริการ รายได้ และเงินโอน 1,601 ล้านดอลลาร์สรอ. เป็นผลมาจากรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสูงขึ้น และการส่งกลับผลตอบแทนจากการลงทุนและเงินปันผลของนักลงทุนต่างชาติลดลง ทั้งปี 2552 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 20,291 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือเท่ากับ 700,368 ล้านบาท

-เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 เท่ากับ 142.40 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมี Net Forward Position อีก 12.57 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งคิดเป็นประมาณ 5.9 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และเท่ากับมูลค่าการนำเข้า 9.7 เดือน

-อัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสที่สี่เฉลี่ย 33.26 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.9 จากไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 ล่าสุดในเดือนมกราคม 2553 อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 32.99 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และเฉลี่ยในวันที่ 1-18 กุมภาพันธ์ เท่ากับ 33.11 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2552

(1) เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2552 หดตัวร้อยละ 2.3 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ทำ ให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น

(2) ทั้งปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.9 มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 13.9 และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณร้อยละ 7.7 ของ GDP

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2553

(1) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่สี่ ปี 2552 โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของภาคการส่งออกและการฟื้นตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศเป็นสำ คัญตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตร มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อัตราการใช้กำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรมขณะนี้สูงกว่าระดับร้อยละ 75 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลงทุนใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิต ส่วนสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจคาดว่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ดีและเอื้ออำ นวยต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

(2) ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวทั้งปีประมาณร้อยละ 3.5 — 4.5 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 2.3 ในปี 2552 โดยมีอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 3.0 — 4.0 มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 12.7 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 4.1 ของ GDP

(ยังมีต่อ).../1.2 ภาวะเศรษฐกิจ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ