(ต่อ4)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2552 และแนวโน้มปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 9, 2010 14:25 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

2. แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2553

2.1 แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2553

เศรษฐกิจโลกขยายตัวประมาณร้อยละ 3.8 — 4.2 ปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับการหดตัวประมาณร้อยละ 0.8 ในปี2552 และการคาดการณ์การขยายตัวร้อยละ 2.8 — 3.2 ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ค่าเงินสกุลเอเชียมีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. ในขณะที่เงินดอลลาร์สรอ. คาดว่าจะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโรและเยน ราคาสินค้าขั้นปฐมปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น อย่างไรก็ตามอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศสำ คัญๆ ที่ยังมีความเปราะบางยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อขนาดและความต่อเนื่องของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลัง ในขณะที่ความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปลายปี 2552

ในปี 2553 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.8 — 4.2 ปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2552 แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.6 ในช่วงปี2545-2550 ในขณะที่ปริมาณการค้าโลกคาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.8 ปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับการหดตัวร้อยละ 12.3 ในปี 2552 และการคาดการณ์การขยายตัวร้อยละ 2.5 ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาแต่ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.3 ในช่วงปี 2545-2550 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนำโดยการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชีย โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมปรับตัวดีขึ้น ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างช้าๆ ประมาณร้อยละ 2.1 นำโดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.7 ในขณะที่อัตราการขยายตัวของกลุ่มประเทศยูโรโซน ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักรคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 1-1.5 การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศสำคัญ ๆ ดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกสูงในภูมิภาคเอเชีย NIEs และ ASEAN-5 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.8 และร้อยละ 4.7 ตามลำดับ

ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2553 ประกอบด้วย (i) การปรับตัวของสินค้าคงคลังในประเทศสำคัญ ๆ ที่คาดว่าจะมีความต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกทั้งในจีน สหรัฐฯ และในประเทศสำคัญอื่นๆ หลังจากการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในปี 2552 ซึ่งจะช่วยผลักดันการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและปริมาณการค้าโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 (ii)แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังมีความต่อเนื่องในหลายๆ ประเทศ (iii) แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปของประเทศอุตสาหกรรม แม้ว่าประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียรวมทั้งประเทศอื่นๆ ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงในปีที่ผ่านมามีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทิศทางและดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกเพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและราคาทรัพย์สิน โดยเฉพาะจีน อินเดีย และออสเตรเลียและ (iv) พลวัตรจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี2552 โดยเฉพาะในเอเชียซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้อุปสงค์ภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

ค่าเงินสกุลเอเชียมีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สรอ. ในขณะที่เงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลยูโร และเยน ราคาสินค้าขั้นปฐมปรับตัวเพิ่มขึ้นในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินที่เร็วกว่าของประเทศเอเชีย คาดว่าจะทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อรวมกับการขาดดุลการคลัง ดุลบัญชีเดินสะพัดและการขยายปริมาณเงินของสหรัฐฯ ตลอดช่วงที่ผ่านมาและในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าจะส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. ในขณะเดียวกัน ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลยูโรและเงินเยนเนื่องจากความแตกต่างของวัฏจักรเศรษฐกิจที่กลุ่มประเทศยูโรและญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวและปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินล่าช้ากว่าสหรัฐฯ นอกจากนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะทำ ให้ราคาน้ำ มันและราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นแม้ว่าจะมีแนวโน้มไม่รุนแรงเท่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2551 ก็ตาม นอกจากนั้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้นตามแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของประเทศสำคัญ ๆ ความต้องการเงินทุนเพื่อชดเชยการขาดดุลทางการคลังรวมทั้งการฟื้นตัวของความต้องการเงินทุนของภาคเอกชนในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว

อย่างไรตามก็อุปสงค์ในประเทศอุตสาหกรรมสำคัญยังคงมีความเปราะบางและเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อขนาดและความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของโลกในช่วงครึ่งหลังของปี ในขณะที่ความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปลายปี 2552 โดยมีปัจจัยสำคัญๆ ที่อาจทำให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์และสร้างความผันผวนแก่เศรษฐกิจโลก ได้แก่ (i) อุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงที่จะอ่อนตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้เนื่องจากการว่างงานและภาระหนี้สินยังอยู่ในระดับสูง (ii)การปรับตัวของสินค้าคงคลังในประเทศสำคัญ ๆ คาดว่าจะเข้าสู่สมดุลมากขึ้นในครึ่งปีแรกและมีความเสี่ยงที่จะสิ้นสุดลงเร็วกว่าที่คาดหากอุปสงค์ภาคเอกชนอ่อนตัวซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและปริมาณการค้าโลกในช่วงครึ่งหลังของปี (iii) แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญๆ มีแนวโน้มลดลง(iv) แรงกดดันด้านภาวะเงินเฟ้อ ความกังวลด้านปัญหาเสถียรภาพทางด้านการคลังอาจทำให้ประเทศต่างๆ ถอดถอนนโยบายการคลังและปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินเร็วและแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นแกนนำของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเอเชีย และ(v) ปัญหาวิกฤติการณ์ทางการคลังและวิกฤติการณ์ดุลชำระเงินในประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอซึ่งอาจพัฒนาเป็น Systemic risk และส่งผลกระทบต่อภาคการเงินและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังอ่อนตัว

ประมาณการราคาน้ำมันปี 2553

          EIA (ณ กุมภาพันธ์ 2553)                     WTI = 79.8 US$/Barrel
          World Bank (ณ มกราคม 2553)               WTI = 76.0 US$/Barrel
          Morgan Stanley (ณ มกราคม 2553)           ณ สิ้นปี WTI = 95.0 US$/Barrel
          Goldman Sachs (ณ ธันวาคม 2552)            WTI = 90 US$/Barrel

2.2 แนวโน้มราคาน้ำมันปี 2553

(1) คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบโดยเฉลี่ยในปี 2553 จะอยู่ที่ 75-85 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล สูงกว่าราคาเฉลี่ย 61.60 ดอลลาร์สรอ.ต่อบาร์เรล ในปี 2552 โดยในเดือนมกราคม 2553 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเท่ากับ 76.56 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล และ ณวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 ราคาน้ำ มันดิบดูไบอยู่ที่ 72.12 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ทั้งนี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยในปี2553 จะเพิ่มขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งนำโดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน อินเดีย กลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ

(2) ราคาน้ำมันอาจมีความผันผวนได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เนื่องจากปัญหาสภาพภูมิอากาศ และความกังวลเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ยกตัวอย่าง เช่น ราคาน้ำมันดิบ WTI สูงสุดที่ระดับ 83.18 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ในวันที่ 6 มกราคม 2553 แต่กลับลดลงอย่างรวดเร็วโดยมาอยู่ที่ราคา 71.19 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 และวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 75.28 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามในระยะยาวราคาน้ำมันจะยังอยู่ในแนวโน้มของการปรับเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยในปี 2553 จะอยู่ในระดับสูงกว่าราคาเฉลี่ยของปี 2552 โดย Energy Information Administration (EIA) คาดการณ์ว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ WTI ในปี 2553 จะอยู่ที่ 79.78 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล และหลายสถาบันคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในปี 2553 จะอยู่ในช่วง 75-95 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม สศช.คาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ WTI จะอยู่ในช่วง 75-85 ดอลลาร์สรอ.ต่อบาร์เรล สูงกว่าราคาเฉลี่ยของปี 2552 ที่อยู่ที่ระดับ61.82 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล

(3) ปัจจัยที่ทำให้คาดว่าราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยในปี 2553 จะสูงกว่าราคาเฉลี่ยในปี 2552 ประกอบด้วย

  • ปริมาณความต้องการใช้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากผ่านพ้นช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งของประเทศในภูมิภาคเอเชีย จากรายงานภาวะตลาดน้ำมันของ EIA ประจำเดือนกุมภาพันธ์ EIA ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 2553 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีน ซึ่งเห็นได้จากความต้องการใช้น้ำมันของจีนในเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จีนใช้อย่างต่อเนื่องยังช่วยสนับสนุนความต้องการใช้น้ำมันอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ EIA คาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 2553 เมื่อเทียบกับปี 2552 จะเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจากที่ลดลงต่อเนื่องในปี 2551 และ 2552 โดยความต้องการใช้น้ำมันจะมาจากประเทศนอกกลุ่ม OECD เป็นสำคัญ ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณความต้องการใช้เพิ่มขึ้น 3.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของกลุ่มประเทศ OECD เพิ่มขึ้น 0.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มอ่อนค่าลง มีแนวโน้มว่าค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ในปี 2553 จะอ่อนค่าลง เนื่องจากยังมีความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ ซึ่งการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์ สรอ. จะทำให้นักลงทุนโยกเงินออกจากตลาดเงินและตลาดตราสารหนี้มาลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดน้ำมัน ในฐานะที่เป็นการลงทุนทางเลือก และเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินที่ลดลงและอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

2.3 แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2553

ในปี 2553 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่เร็วกว่าการคาดการณ์ และแรงส่งจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการขยายตัวของภาคการส่งออกและการฟื้นตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามพลวัตรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะกระจุกตัวโดยเฉพาะในระยะแรกของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ขนาดและพลวัตรของการฟื้นตัวในครึ่งปีหลังมีความเสี่ยงที่จะมีข้อจำ กัดจากความต่อเนื่องของพลวัตรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ยังเปราะบางและมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนั้นแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ การแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปียังจะต้องให้ความสำคัญกับ (i) การรักษาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง (ii) การดูแลรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (iii) การดูแลและสนับสนุนให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีการกระจายตัวมากขึ้น (iv) การลดความเสี่ยงและผลกระทบจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงปลายปี 2552

  • เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าการคาดการณ์ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาเนื่องจากเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้รวมทั้งพลวัตรที่เกิดจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งจะส่งผลให้การผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวในเกณฑ์สูงกว่าที่ประมาณการไว้เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีแรกซึ่งคาดว่าการปรับตัวของสินค้าคงคลังในประเทศสำคัญ ๆคาดว่าจะมีความต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ในขณะที่การท่องเที่ยวจะได้รับแรงส่งสำคัญมาจากการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นศูนย์กลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2552 การฟื้นตัวของการผลิต การส่งออกและการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนการขยายตัวของภาคการผลิตและอุปสงค์ในประเทศโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก
  • การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะมีแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของภาคการส่งออกและการฟื้นตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศเป็นสำคัญ ในขณะที่แรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภาครัฐมีความเสี่ยงที่จะมีข้อจำกัดจากการลดลงของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2553 และความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ทั้งนี้ การปรับตัวดีขึ้นของการผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและราคาสินค้าเกษตรตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้การส่งออกมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ในขณะเดียวกันอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก (i) พลวัตรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 (ii) การปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการคาดการณ์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 (iii) การเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตในหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่สูงกว่าระดับร้อยละ 75 ซึ่งเป็นระดับที่จะก่อให้เกิดการลงทุนใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิตภายใต้การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเศรษฐกิจโลกที่ทำ ให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนมายังภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้ราคานำเข้าสินค้าทุนลดลงและ (iv) สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจที่คาดว่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ดีและเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเท
  • พลวัตรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะกระจุกตัวโดยเฉพาะในระยะแรกของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นก็ตามแต่การฟื้นตัวของภาคการผลิตในระยะแรกมีแนวโน้มที่จะยังกระจุกตัว โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับผลประโยชน์จากการปรับตัวของสินค้าคงคลังในประเทศสำคัญๆ17 ค่อนข้างสูงในช่วงครึ่งปีแรก ในขณะที่การปรับตัวของการผลิตภาคการเกษตรต่อราคาในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นยังมีความล่าช้า อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนผ่านจากแรงขับเคลื่อนอุปสงค์ในประเทศสำ คัญๆ จากอุปสงค์ภาครัฐไปยังอุปสงค์ภาคเอกชนมีมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะทำให้การฟื้นตัวของภาคการผลิตมีการกระจายตัวมากขึ้นตามลำดับ
  • การฟื้นตัวในครึ่งปีหลังอาจมีข้อจำกัดจากความต่อเนื่องของพลวัตรการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี แม้ว่าระบบการเงินโลกจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งทำให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าการคาดการณ์เดิมก็ตาม แต่การฟื้นตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศสำคัญๆ ยังคงมีความเปราะบางและพลวัตรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลังในขณะที่ความผันผวนในภาคการเงินมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปลายปี 2552 เนื่องจาก (i) แรงส่งจากการปรับตัวของสินค้าคงคลังในประเทศสำคัญๆ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการค้าโลกมีแนวโน้มที่จะลดลงในครึ่งปีหลัง (ii) แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศสำคัญๆ มีแนวโน้มชะลอตัวลง (iii) แนวโน้มการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินในประเทศสำคัญ ๆ ที่อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงเร็วและแรงกว่าที่คาดการณ์โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นหัวจักรของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชีย และ (iv) ความเปราะบางของภาคการเงินในประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกดังกล่าวยังเป็นความเสี่ยงที่สำ คัญต่อขนาดและความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
  • แรงกดดันด้านเงินเฟ้อและการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นโดยแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะมีสาเหตุมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น รวมถึงการสิ้นสุดลงของนโยบาย “5 มาตรการ 6 เดือน เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน” ในเดือน มีนาคม 2553 ทั้งนี้ปัจจัยสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันคาดว่าจะมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะทำให้อุปสงค์น้ำมันฟื้นตัว ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในตลาดโลกและผลกระทบจากความเสียหายในแหล่งผลิตสินค้าเกษตรสำคัญๆ นอกจากนั้นค่าเงินบาทและค่าเงินสกุลเอเชียยังอยู่ภายใต้แรงกดดันของการแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ในขณะที่อัตราดอกเบี้ย (Nominal Term)อยู่ภายใต้แรงกดดันของการเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกรวมทั้งปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้นและความต้องการเงินทุนของภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการส่งออก การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนซึ่งยังเป็นสถานการณ์ที่จะต้องระมัดระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด

ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

  • การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออก การผลิตและการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวของรายได้และการใช้จ่ายของครัวเรือนในภาคอุตสาหกรรมและบริการ แม้ว่าผลประโยชน์ของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีแรกมีแนวโน้มที่จะกระจุกตัวแต่การเปลี่ยนผ่านของแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในประเทศสำคัญ ๆ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐและการปรับตัวของวัฏจักรสินค้าคงคลังไปเป็นอุปสงค์ภาคเอกชนมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลดีต่อภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมในวงกว้างมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ในขณะเดียวกันการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตรตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก คาดว่าจะทำให้รายจ่ายและอุปสงค์ในครัวเรือนภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ
  • แรงส่งจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ซึ่งส่งผลให้ภาวะการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันการฟื้นตัวที่เร็วกว่าการคาดการณ์ของเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเข้าใกล้หรือสูงกว่าร้อยละ75 ซึ่งเป็นระดับการใช้กำลังการผลิตที่ภาคธุรกิจเริ่มขยายการลงทุน เมื่อรวมกับแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะทำให้ภาคการผลิตเริ่มลงทุนมากขึ้น แรงส่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ดังกล่าวคาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2553
  • การดำเนินมาตรการขยายการลงทุนภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการหดตัวของรายจ่ายภาครัฐภายใต้กรอบงบประมาณปกติและอยู่ในฐานะที่จะสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเตรียมความพร้อมโครงการสำคัญ ๆ ให้มีความพร้อมที่จะเบิกจ่ายและดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลง

ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด

  • พลวัตรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางและมีความเสี่ยงที่จะชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปีในขณะที่ความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นจากช่วงปลายปี 2552 โดยขนาดและความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชียในช่วงครึ่งปีแรกยังขึ้นอยู่กับพลวัตรการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นหลักในขณะที่ช่วงครึ่งหลังของปี จะเป็นช่วงที่การปรับตัวของวัฏจักรสินค้าคงคลังในประเทศสำคัญ ๆ มีแนวโน้มปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น แรงส่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศสำคัญ ๆ ลดลง และประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินมากขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนั้นปัญหาเสถียรภาพทางด้านการคลังและดุลการชำระเงินในประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอมีแนวโน้มที่จะปรากฏชัดเจนมากขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมของการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและอุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนตัว
  • เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมาก แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน รวมทั้งความต่อเนื่องของการดำเนินมาตรการของภาครัฐ ดังนั้นสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่อยู่ในช่วงของการฟื้นตัวและพัฒนาไปสู่ระดับที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
  • การเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งมีแนวโน้มที่จะมีความล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดย ณ สินปี 2552 สามารถเบิกจ่ายได้ 35,036 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16 ของวงเงินที่ได้รับอนุมัติ 219,819 ล้านบาท ภายใต้กรอบ พรก.ฟื้นฟูฯ 4 แสนล้านบาท ในขณะที่งบประมาณปกติในปีงบประมาณ 2553 มีวงเงิน เงินงบประมาณลดลงจากปีก่อนหน้า ดังนั้นความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งมีแนวโน้มที่จะทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาครัฐลดลง
  • ปัญหาอุปสรรคการลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดยังเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนแม้ว่าในปี 2553 ปัญหาดังกล่าวทำให้ภาคธุรกิจมีข้อจำกัดในการขยายการลงทุนในช่วงที่อุปสงค์กำลังฟื้นตัว การใช้กำลังการผลิตเพิ่มสูงขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้ออำนวยต่อการนำเข้าสินค้าทุน
  • การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยที่หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานแล้วคาดว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยในปี 2553 จะอยู่ในช่วงประมาณ 75-85ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลอย่างไรก็ตามความต้องการเก็งกำไรและความผันผวนของเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดโลก อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนและเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เมื่อรวมกับราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นและการสิ้นสุดนโยบาย “5 มาตรการ 6 เดือน เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน” ในเดือนมีนาคม 2553 ทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอาจสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพของประชาชน
  • แนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทท่ามกลางการใช้นโยบายแลกเปลี่ยนแบบคงที่ในประเทศส่งออกที่สำคัญ รวมทั้งการอ่อนค่าลงของค่าเงินในประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออก และผลประกอบการของภาคธุรกิจที่พึ่งพิงรายรับจากการส่งออกแต่มีสัดส่วนของต้นทุนในประเทศสูง
  • อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก ปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดมากขึ้นในปี 2553 รวมทั้งความต้องการเงินทุนภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอาจจะเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนที่ยังมีความล่าช้าเนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและข้อกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
  • สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2553 แม้ว่าราคาผลผลิตภาคการเกษตรจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นแต่การขยายตัวของผลผลิตภาคการเกษตรในปี 2553 ยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตรและระดับราคาในประเทศ
(ยังมีต่อ).../2.3.1 ข้อสมมติฐานในการ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ