2.3.1 ข้อสมมติฐานในการประมาณการเศรษฐกิจปี 2553
(1) เศรษฐกิจโลกในปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.8 — 4.2 และปริมาณการค้าโลกขยายตัวร้อยละ 5.8 เป็นการปรับขึ้นจากสมมติฐานการขยายตัวเศรษฐกิจโลกร้อยละ 2.8 — 3.2 และปริมาณการค้าโลกร้อยละ 2.5 ในการประมาณการเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นตามการปรับประมาณการแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกขององค์กรระหว่างประเทศ
(2) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2553 เท่ากับ 75 — 85 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจาก 61.60 ดอลลาร์สรอ.ต่อบาร์เรลในปี 2552 ตามแนวโน้มอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
(3) ราคาส่งออกและราคานำเข้าโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและอุปสงค์ในตลาดโลก โดยคาดว่าราคาสินค้าส่งออกและราคาสินค้านำเข้าโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และ 6.0 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มจากเฉลี่ยร้อยละ 3.5 และ 4.5 ตามลำดับ ในการประมาณการเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอุปสงค์โลกที่เร็วกว่าการคาดการณ์เดิม
(4) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปี 2553 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 16 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นจากสมมติฐานเดิม 15 ล้านคน ในการประมาณการเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 และเป็นการปรับขึ้นตามการปรับตัวดีขึ้นของจำ นวนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียซึ่งเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้และยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก
2.3.2 ประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 2553
คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 — 4.5 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 3.0 — 4.0 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 4.1 ของ GDP
ในการแถลงข่าววันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงร้อยละ 3.0 - 4.0 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 2.5 - 3.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.3 ของ GDP
ในการแถลงข่าววันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 นี้ สศช. คาดว่าโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3.5 มีน้อยลง จึงได้ปรับช่วงการประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นร้อยละ 3.5 — 4.5 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 3.0 — 4.0 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 4.1 ของ GDP ด้วยเหตุผลดังนี้
(1) เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม โดยเศรษฐกิจโลกในปี 2553 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 3.8 - 4.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.8 — 3.2 ในสมมติฐานการประมาณการเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวน้อยกว่าร้อยละ 3.5 ลดลง และส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้มากกว่าที่ประมาณการไว้เดิม การปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออกตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่สูงกว่าการคาดการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของภาคการผลิต การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัวสูงกว่าการประมาณการเดิมในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552
(2) เศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ขยายตัวในเกณฑ์ที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมซึ่งจะเป็นแรงส่งให้การฟื้นตัวในช่วงต้นปีมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะการว่างงานที่ลดลงอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 1.0 ในเดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2546 อัตราการใช้กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะการใช้กำลังการผลิตในหมวดการผลิตอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 68.8 และ 59.9 ในไตรมาส 3 เป็นร้อยละ 72.0และ 72.2 ในไตรมาสที่ 4 โดยที่อุตสาหกรรมเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากการปรับตัวของสินค้าคงคลังและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ในขณะเดียวกันการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเร็วกว่าที่คาดการณ์ จากจำนวนนักท่องเที่ยว 1.15 ล้านคน ในเดือนธันวาคม 2551 เป็น 1.63 ล้านคนในเดือนธันวาคม 2552 ซึ่งเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม2551 โดยได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของภูมิภาคเอเชียอีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องในปี 2553
(3) อย่างไรก็ตามการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 มีแนวโน้มที่จะมีความล่าช้ามากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายลงทุนและงบประมาณรายจ่ายประจำภายใต้กรอบงบประมาณปกติลดลงจากปี 2552 สถานการณ์ดังกล่าวทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาครัฐมีแนวโน้มที่จะลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิม
2.3.3 องค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553
(1) รายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภครวมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 จากการหดตัวร้อยละ 0.1 ในปี 2552 โดยที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 1.1 ในปี 2552 เป็นการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปี 2553 และเป็นการปรับเพิ่มจากการคาดการณ์การขยายตัวร้อยละ 2.7 เนื่องจากภาวะการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมากกว่าการคาดการณ์ ทั้งรายได้จากการขยายตัวของการผลิตและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมการขยายตัวของภาคท่องเที่ยวและการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตร ในขณะที่รายจ่ายการบริโภคภาครัฐมีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 1.6 เท่ากับในการประมาณการเศรษฐกิจในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552
(2) การลงทุนรวมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 9.0 ในปี 2552 และการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในการประมาณการเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 โดยที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 5.0 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 12.8 ในปี 2551 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มจากการประมาณการเดิมร้อยละ 3.0 ตามอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าการคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม การขยายการลงทุนในปี 2553 ยังมีอุปสรรคสำ คัญจากปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 3.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 8.7 ในปี 2552 ซึ่งเป็นการปรับลดจากร้อยละ 6.0 ในการประมาณครั้งก่อนเนื่องจากแนวโน้มความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งทำให้การลงทุนภาครัฐในปี 2553 มีความเสี่ยงที่จะหดตัว
(3) มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการในรูปเงินดอลลาร์ สรอ.ขยายตัวร้อยละ 15.5 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 13.9 ในปี2552 ปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 10.0 ในการประมาณการครั้งก่อนตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ร้อยละ 3.8-4.2 และปริมาณการค้าโลกที่ร้อยละ 5.8 รวมทั้งการปรับราคาสินค้าส่งออกและจำ นวนนักท่องเที่ยวที่สูงกว่าในสมมติฐานการประมาณการเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 ทั้งนี้เป็นการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของปริมาณการส่งออกสินค้าจากเดิมร้อยละ 6.5 ป็นร้อยละ 9.0 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 14.2 ในปี 2552
(4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.0 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 24.9 ในปี 2552 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 18.5 ในการประมาณการครั้งก่อนตามการปรับประมาณการการขยายตัวของภาคการส่งออกการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนสมมติฐานด้านราคาสินค้านำเข้าจากการเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.5 เป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 2.0 ในปี 2552 ทั้งนี้คาดว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.0 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 23.0 ในปี 2552 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 ในการประมาณการครั้งก่อนเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552
(5) ดุลการค้าเกินดุล 11.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และเมื่อรวมกับดุลบริการที่คาดว่าจะเกินดุล จะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 12.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 4.1 ของ GDP เทียบกับประมาณการเดิมที่คาดว่าจะเกินดุลประมาณร้อยละ 5.3 ของ GDP
(6) อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 3.0 — 4.0 เทียบกับร้อยละ (-0.9) ในปี 2552 และร้อยละ 2.5 — 3.5 ในการประมาณการครั้งก่อนเนื่องจากราคาสินค้าเกษตร ราคาส่งออกและนำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม
2.3.4 การประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจในกรณีสูงและกรณีต่ำ
(1) กรณีสูง เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.5 ภายใต้เงื่อนไข (i) เศรษฐกิจโลกขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.2 และพลวัตรของการฟื้นตัวเป็นไปอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีโดยไม่มีการชะลอตัวรุนแรง ในขณะที่ปัญหาเสถียรภาพทางการเงินและการคลังในประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอไม่ลุกลามและส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโลก(ii) สถานการณ์ปัญหาทางการเมืองและความขัดแย้งในประเทศไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ (iii)การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งไม่มีความล่าช้าและเป็นไปตามเป้าหมายการเบิกจ่าย ในขณะที่การเบิกจ่ายจากงบประมาณปกติเฉลี่ยรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 94 ของวงเงินงบประมาณรัฐบาลและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (iv) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีไม่เกิน 75 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และ (v) ไม่มีปัญหาภัยแล้งรุนแรงจนเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของผลผลิตภาคเกษตร
(2) กรณีต่ำ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.5 ในกรณีที่ (i)เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3.8 (ii) สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและความขัดแย้งในประเทศส่งผลกระทบต่อพลวัตรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ (iii) การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งมีและการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณปกติมีความล่าช้า โดยการเบิกจ่ายงบประมาณจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง2555 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายและส่งผลให้การใช้จ่ายภาครัฐโดยภาพรวมหดตัว (iv) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่า 85 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และ (v) ปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรง
2.3.5 แนวโน้มการผลิต ปี 2553 โดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวจากปี 2552
(1) สาขาเกษตรกรรม ในปี 2553 คาดว่าผลผลิตมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพอากาศที่แปรปรวนรวมทั้งการประสบกับปัญหาภัยแล้งขณะที่ระดับราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2552 เนื่องจากอุปสงค์ต่อสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ประกอบกับการดำเนินมาตรการของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการผลิตภาคเกษตรเช่น มาตรการประกันรายได้เกษตรกร ที่ครอบคลุมพืชหลักๆ 3 ชนิด คือ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งการส่งเสริมพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีคุณภาพและปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศสำหรับแนวโน้มภาคเกษตรกรรมที่สำคัญมีดังนี้
(1.1) ผลผลิตข้าวเปลือก คาดว่าในปี 2553 ผลผลิตข้าวเปลือกรวมจะลดลง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกลดลงจากการที่เกษตรกรบางส่วนในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกยางพารา ประกอบกับปัญหาการแพร่ระบาดของเพลี้ยที่ทำความเสียหายต่อผลผลิตข้าวในบางพื้นที่ สำหรับราคามีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการข้าวของตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประกอบกับผลผลิตข้าวในตลาดโลกลดลงโดยเฉพาะผลผลิตในประเทศฟิลิปปินส์ อินเดีย และเวียดนามที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติทั้งภาวะภัยแล้งและน้ำท่วม ประเทศต่าง ๆ มีความต้องการนำเข้าข้าวมากขึ้นเพื่อทดแทนผลผลิตที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติและเพิ่มปริมาณสต็อกข้าวที่ลดลงจากปี 2552
(1.2) ยางพารา คาดว่าในปี 2553 ผลผลิตยางพาราจะลดลงเนื่องจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ขณะที่ราคามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ความต้องการใช้ยางของอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ในไตรมาสแรกของปี 2553 ความต้องการใช้ยางจะอยู่ในระดับสูงเนื่องจากผู้ประกอบการได้สั่งซื้อยางเพื่อเก็บสะสมวัตถุดิบไว้ใช้ในการผลิตรองรับช่วงฤดูกาลยางผลัดใบซึ่งจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย อีกปัจจัยที่ทำให้ราคายางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ การดำเนินนโยบายยกระดับราคาของภาครัฐโดยการสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าและเก็บสต็อกผลผลิตไว้เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ในตลาด
(1.3) มันสำปะหลัง คาดว่าในปี 2553 ผลผลิตมันสำปะหลังจะลดลงจากปี 2552 เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนเพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้ง ขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังโลกลดลงเช่นเดียวกัน เนื่องจากประเทศผู้ผลิตสำคัญ ได้แก่ เวียดนามและอินโดนีเซียประสบปัญหาน้ำท่วมส่วนราคามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการผลิตภัณฑ์มันเส้นเพื่อใช้ในการผลิตเอทานอลของจีนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาซื้อขายล่วงหน้ามีแนวโน้มสูงขึ้นทำให้คาดว่าราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังส่งออกจะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
(1.4) อ้อย คาดว่าแนวโน้มระดับราคาอ้อยจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากสต็อกน้ำตาลของโลกมีปริมาณลดลงจากการที่ประเทศบราซิลซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกประสบกับปัญหาผลผลิตเสียหายเนื่องจากฝนตกอย่างต่อเนื่องประกอบกับประเทศอินเดียได้เปลี่ยนสถานะจากประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่มาเป็นผู้นำเข้าเนื่องจากประสบภาวะภัยแล้งส่งผลให้ตลาดน้ำตาลมีความตึงตัว จึงคาดว่าปริมาณผลผลิตอ้อยในปี 2553 จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก
(1.5) สินค้าประมง คาดว่าในปี 2553 ผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงอยู่ในภาวะทรงตัว แต่การส่งออกกุ้งและกุ้งแปรรูปคาดว่าลดลงประมาณร้อยละ 5 ส่วนราคาสินค้าประมงจะทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี2552 อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงในปี 2553 ได้แก่ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นซึ่งส่งผลต่อต้นทุนในการจับสัตว์น้ำ การแข็งค่าของเงินบาทและมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศคู่ค้าต่างๆ เช่น การประกาศใช้กฎ ระเบียบ IUU (IIlegal,Unreported and Unregulated) ของสหภาพยุโรปที่เข้มงวดกับการรายงานถึงที่มาของวัตถุดิบที่จับจากทะเลและปัญหาเรื่องกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวเพื่อขึ้นทะเบียนและความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจต่อสังคม (CSR: Corporate Social Responsibility)
(2) ภาคอุตสาหกรรม คาดว่าในปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวจากปี 2552 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยส่งผลต่อการเพิ่มอุปสงค์ของสินค้าในหมวดอุตสาหกรรม เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยเช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป(15) ญี่ปุ่น จีน มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทำให้อุปสงค์ในการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมจากไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์และส่วนประกอบโดยส่วนหนึ่งเป็นผลของแผนการลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางที่สอดคล้องกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งจะมีผลจากช่วงเทศกาลฟุตบอลโลกในกลางปีนี้ประกอบกับแรงสั่งซื้อจากตลาดอาเซียนญี่ปุ่นตามกรอบ AJCEP และ JTEPAและอุตสาหกรรมการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่มีการจัดทำแผนเร่งด่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและให้ไทยเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับโลกและอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋อง
อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศที่มีทิศทางและแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้างที่ขยายตัวจากผลของการก่อสร้างภาครัฐภายใต้โครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และการปรับตัวดีขึ้นของการก่อสร้างภาคเอกชน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวภาคอสังหาริมทรัพย์
ปัจจัยเสี่ยงของอุตสาหกรรมในปี 2553 ได้แก่ ความมั่นใจในการขยายตัวที่แท้จริงของเศรษฐกิจโลกเนื่องจากยังมีสัญญาณของการฟื้นตัวที่ยังไม่มีเสถียรภาพ เช่น อัตราการว่างงานที่ยังไม่ลดลงของทั้งในสหรัฐอเมริกาและกลุ่มสหภาพยุโรปรวมถึงการปรับลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนจากอัตราเงินเฟ้อระดับที่สูงกว่าที่คาดการณ์ อัตราแลกเปลี่ยนที่ยังผันผวนซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตสินค้า มาตรการการกีดกันทางการค้าของประเทศคู่ค้า เช่น ความเข้มงวดจากมาตรการด้านความปลอดภัยด้านเกษตรและอาหารจากกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา ปัจจัยทางการเมืองที่ยังผันผวน แนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของกลุ่มการผลิตอุตสาหกรรมรายย่อย ผลกระทบจากการชะลอโครงการลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดซึ่งจะส่งผลถึงความมั่นใจของนักลงทุนจากต่างประเทศ และการขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรมที่มีการปลดแรงงานในช่วงเกิดวิกฤต
(3) สาขาการก่อสร้าง คาดว่าในปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการก่อสร้างภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งประกอบด้วย การก่อสร้างถนนไร้ฝุ่นโครงการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายต่างๆ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดง โครงการบ้านมั่นคง เป็นต้นในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในปี 2553 ทั้งในส่วนของการก่อสร้างที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ และโรงงานอุตสาหกรรม โดย มีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การที่สถาบันการเงินมีนโยบายในการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ การอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในทำเลที่สัมพันธ์กับแนวการก่อสร้างภาคการขนส่งของรัฐ เช่น โอกาสของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวส่วนขยายของรถไฟฟ้าสายต่างๆ หรือตามเส้นทางถนนที่ขยายออกสู่เขตชานเมือง และการเร่งก่อสร้างทุกประเภทในขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้างยังไม่เพิ่มสูงมากนักโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี
สำหรับปัจจัยเสี่ยงของภาคก่อสร้าง ได้แก่ 1) สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มั่นคงซึ่งอาจส่งผลต่อสถานะการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นการก่อสร้างภาครัฐรวมถึงอาจจะกระทบต่อความมั่นใจต่อแผนการลงทุนในอนาคต 2) ต้นทุนการก่อสร้างที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งราคาวัสดุก่อสร้างและอัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง 3) ความเข้มงวดของกฎเกณฑ์และมาตรการด้านการควบคุมสิ่งแวดล้อมทำให้การพัฒนาโครงการก่อสร้างมีข้อจำกัดมากขึ้น เป็นต้น
(4) สาขาอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2553 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2552 เป็นผลจาก 1) ผู้ประกอบการและผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของสถานการณ์เศรษฐกิจ จะเห็นได้จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย พบว่า ในไตรมาส 4 มีดัชนีความคาดหวังใน 6 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับร้อยละ 76.5 ซึ่งสูงกว่าไตรมาสที่แล้วที่ระดับ 75.9 แสดงถึงความมั่นใจของผู้ประกอบการที่เพิ่มมากขึ้น 2) ราคาของที่อยู่อาศัยในปี 2553 ยังไม่ปรับสูงขึ้นมากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีสต็อกบ้านเหลืออยู่มาก 3) การผ่อนผันหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อของสถาบันการเงินส่งผลต่อการเพิ่มอำนาจซื้อของผู้บริโภค 4) มีบ้านราคาถูกในโครงการบ้าน BOI เป็นทางเลือกที่อยู่อาศัยให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย 5) ผู้บริโภคมีแนวโน้มจะซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่สองเพิ่มขึ้นเพื่อความสะดวกในการเดินทางส่งผลต่อการเพิ่มอุปสงค์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และ 6) มีความชัดเจนขึ้นในโครงการการปรับปรุงด้านคมนาคมขนส่งภาครัฐทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีแดงรวมถึงการเปิดใช้บริการรถไฟฟ้าสายแอร์พอร์ตลิงค์ภายในปีนี้
อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ 1) รัฐบาลไม่ต่ออายุมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ทั้งเรื่องมาตรการการลดหย่อนภาษีซึ่งหมดไปช่วงปลายปี 2552 และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนที่จะสิ้นสุดลงวันที่ 28 มีนาคม 2553 ซึ่งอาจจะทำให้ลดแรงจูงใจในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค 2) ปริมาณสต็อกบ้านที่ยังคงมีอยู่สูงในปี 2552 (ณ สิ้นปีอยู่ที่ 97,442 หน่วย) เมื่อรวมจำนวนบ้าน BOI และบ้านเอื้ออาทรอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะอุปทานบ้านล้นตลาด 3) เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
(5) สาขาบริการท่องเที่ยว คาดว่าในปี 2553 จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาประเทศไทยจำนวน 16.0 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 จากปี 2552 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 14.1 ล้านคน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่เป็นตลาดหลักของไทยเช่น มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร เป็นต้น รวมทั้งการดำ เนินนโยบายส่งเสริมการตลาดต่างประเทศของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวตลาดต่างๆ ดังนี้ (i) ตลาดเอเชียตะวันออก อาเซียน และโอเชียเนีย เน้นการประชาสัมพันธ์เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและเพิ่มช่องทางการตลาด (ii) ตลาดยุโรปเน้นการขยายการรับรู้และการขยายตลาดกลุ่มสนใจเฉพาะ (niche market) (iii) ตลาดอเมริกาเน้นการขยายช่องทางการตลาดและการเพิ่มความมั่นใจให้คู่ค้าด้วยการเชิญสื่อมวลชนท้องถิ่นเข้ามาท่องเที่ยวแล้วนำประสบการณ์ที่ได้รับกลับไปเผยแพร่ในพื้นที่ และ (iv) ตลาดเอเชียใต้และตะวันออกกลาง เน้นทั้งการขยายตลาดทั่วไปและตลาดกลุ่มสนใจเฉพาะ (niche market)