(ต่อ3)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2548 และแนวโน้มปี 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 8, 2006 15:19 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          - สินเชื่อธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนที่ให้แก่ภาคธุรกิจชะลอตัวเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นสินเชื่อแก่ธุรกิจตัวกลางทางการเงินที่เร่งตัวขึ้นเล็กน้อย  สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลขยายตัวร้อยละ 14.6 ชะลอตัวต่อเนื่องจากปลายปี 2547 ตามทิศ
ทางการเปลี่ยนแปลงของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตรา
- ดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ในไตรมาสสุดท้ายปี 2548 มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง จากร้อยละ 3.25 เมื่อสิ้นไตรมาสสามเป็นร้อยละ 4.0 ต่อปี ณ สิ้นปี 2548 อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินปรับตัวขึ้นตามในทันที รวมทั้งผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน และมีการส่งผ่านนโยบายการเงินสู่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้อย่างชัดเจน ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้จะ
ยังมีสภาพคล่องเหลืออยู่มาก อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนและ 1 ปี สูงขึ้นจากร้อยละ 1.875 และ 2.19 เมื่อสิ้นไตรมาสสาม เป็นร้อยละ 2.4 และ 2.94 เมื่อสิ้นไตรมาสสี่ โดยที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ยังไม่เปลี่ยนแปลง และปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR จากร้อยละ 6.25 เป็นร้อยละ 6.55 และ Effective interest spread ของธนาคารพาณิชย์ไทยสูงขึ้นเป็นลำดับเป็นร้อยละ 3.79 ในไตรมาสสี่ ทั้งนี้ ในรอบปี 2548 มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 6 ครั้ง รวมร้อยละ 2.0
- NPLs ณ สิ้นปี 2548 มีมูลค่ารวม 476.8 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.16 ของสินเชื่อรวม ลดลงจากไตรมาสสามถึง 99.7 พันล้านบาท เนื่องจากมีข้อสรุปในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และเริ่มมีการชำระหนี้บางส่วนของบริษัททีพีไอ ซึ่งเป็นลูกหนี้รายใหญ่ ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรองสำหรับรองรับการ ขยายสินเชื่อในปี 2549 ได้มากขึ้น ขณะที่สินทรัพย์รอการขายค่อนข้างทรงตัว
- ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงจากไตรมาสสามทั้งมูลค่าการซื้อขายและดัชนีราคา โดยดัชนีราคาปิดตลาดสิ้นไตรมาสที่ 713.73 จุด ลดลงจาก 723.23 จุดเมื่อสิ้นไตรมาสสามเล็กน้อย แต่สูงขึ้นจากสิ้นปี 2547 ร้อยละ 6.8 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 5,105 พันล้านบาท
- อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพและมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยในไตรมาสสี่เท่ากับ 40.99 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.7 จากค่าเฉลี่ย 41.29 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสสาม เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และการเคลื่อนย้ายเงินทุนเกินดุลสุทธิ ขณะที่ตลาดยังคงคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในทิศทางที่สูงขึ้น และในรอบปี 2548 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 38.21 - 42.02 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. มีค่าเฉลี่ยรายปีที่ 40.22 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เท่ากับค่าเฉลี่ยในปี 2547
2. ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2549: มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 3.5-4.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 2.0-2.5 ของ GDP
2.1 ปัจจัย/เงื่อนไขเศรษฐกิจปี 2549
(1) ปัจจัยเสี่ยง/ข้อจำกัด
(1.1) ปัจจัยเสี่ยง/ข้อจำกัดจากภายนอก: ราคาน้ำมันสูงและผันผวน และเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงจากการปรับตัวจากปัญหาความไม่สมดุล
* ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจาก (1) ความต้องการน้ำมันดิบยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย International Energy Agency ได้ปรับคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกในปี 2549 เป็นวันละ 85.1 ล้านบาเรล เพิ่มขึ้นวันละ 1.8 ล้านบาเรล หรือร้อยละ 2.1 จากปี 2548 โดยเป็นผลจากความต้องการของประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสำคัญ (2) กำลังการผลิตยังตึงตัวทั้งกำลังการผลิตน้ำมันดิบแลกำลังการผลิตของ โรงกลั่น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันมีความผันผวนได้ง่ายต่อผลกระทบด้านการผลิตหรือแม้แต่ข่าวสารในทางลบที่เกี่ยวกับสถานการณ์การผลิต ความต้องการใช้และการสะสมสะต็อก (3) สถานการณ์ความไม่แน่นอนและความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำมัน เช่น ความตึงเครียดระหว่างชาติตะวันตกและอิหร่านเรื่องนโยบายนิวเคลียร์ และสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศไนจีเรียที่มีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อต่อไป และ (4) การเก็งกำไรของกองทุนประกันความเสี่ยงต่าง ๆ ภายใต้โครงสร้างด้านความต้องการและเงื่อนไขด้านการผลิตที่มีความผันผวน จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันมีความเคลื่อนไหวในช่วงกว้างได้ แต่อย่างไรก็ตามมีปัจจัยที่ชี้ว่าราคาน้ำมันอาจจะไม่เพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันมากด้วยเหตุผล ดังนี้ (1) ภาวะเศรษฐกิจจีน สหรัฐฯ และเอเชีย มีแนวโน้มชะลอตัวในครึ่งหลัง (2) การปรับตัวของประเทศต่าง ๆ ในเรื่องการประหยัดพลังงานและการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกจะช่วยลดแรงกดดันลงได้บ้าง (3) ในปี 2549 กำลังการผลิตสำรอง จะอยู่ที่ระดับวันละ 2.0-2.5 ล้านบาเรล สูงกว่าวันละ 1.0-1.5 ล้านบาเรลในปี 2548 เล็กน้อย (4) ปริมาณสำรอง Crude, Middle Distillate และ Gasoline ของสหรัฐฯ ประเทศผู้บริโภคน้ำมันราย ใหญ่ที่สุดของโลกยังคงอยู่สูงกว่าระดับเฉลี่ย 5 ปี ประกอบกับโรงกลั่นในสหรัฐฯ เริ่มทยอยลดกำลังการกลั่นลง เนื่องจากกำลังเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุงประจำปีส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบลดลง และ (5) ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงตั้งแต่ต้นปี 2549 จึงคาดว่าการประชุมกลุ่ม OPEC เพื่อกำหนดเพดานการผลิตในวันที่ 8มี.ค. จะยังไม่ลดเพดานการผลิต จากเงื่อนไขต่าง ๆ ดังกล่าวจึงประเมินว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันไม่มาก
(ยังมีต่อ).../แนวโน้มอัตรา...

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ