3.1 บริษัท Lucent ซึ่งเป็นบริษัทที่แยกตัวออกมาจากบริษัท AT&T ในปี 1996 เป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์ที่ใช้กับเครือข่ายโทรคมนาคม มีความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ในระดับโลก ตั้งแต่ทรานซิสเตอร์ ไปจนถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือ บริษัทมีอนาคตที่สดใสท่ามกลางยุคของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว แต่บริษัทกลับเผชิญวิกฤตอย่างใหญ่หลวง ซึ่งมีสาเหตุจากหลายประการ คือบริษัทประมาณการความต้องการสินค้าผิดพลาด ทำให้มียอดสะสมสินค้าคงเหลือเพิ่มสูงขึ้น และมีการควบรวมกิจการที่ไม่ถูกจังหวะเวลา ทำให้มูลค่าของหนี้สินของบริษัทสูงขึ้นกว่าที่ควร สุดท้ายที่สำคัญคือ ความผิดพลาดในการบริหารลูกหนี้และเครดิต ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำบริษัทกลับเพิ่มความเสี่ยง โดยสนับสนุนการให้เครดิตแก่ลูกค้า เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดและเพิ่มรายได้ของบริษัท ต่อมาเมื่อลูกค้าเหล่านั้นประสบปัญหากลายเป็นหนี้เสียไม่สามารถชำระหนี้ได้ ต้องตัดหนี้สูญจำนวน 3 ล้านดอลลาร์ บริษัทจึงขาดเงินสดที่จะนำมาคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่เคยได้เปรียบในเชิงแข่งขัน และไม่มีแม้แต่เงินที่จะจ่ายเงินเดือนพนักงาน และในที่สุดราคาหุ้นของบริษัทลดลงจาก 60 ดอลลาร์ ในปี 2000 เหลือเพียง 0.01 ดอลลาร์ ภายใน 2 ปี
3.2 บริษัท Finova ดำเนินธุรกิจการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 1995 หลังจากผู้บริหารรายใหม่ได้เน้นการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงที่ไม่สามารถกู้เงินได้จากธนาคารพาณิชย์ ทำให้ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 2-3 ล้านดอลลาร์ เป็น 13 ล้านดอลลาร์ และทำให้ในปี 2000 บริษัทได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Forbes ให เป็น 1 ใน 400 บริษัทที่ดีที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยบริษัทใช้วิธีระดมเงินทุนจากการกู้เงินระยะสั้นเพื่อมาปล่อยสินเชื่อระยะยาว ซึ่งผลกำไรของบริษัทมาจากผลต่างของอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ปัญหาได้เริ่มก่อตัวขึ้น เนื่องจากวัฏจักรธุรกิจทำให้ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของบริษัทไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ผลกำไรของบริษัทจึงลดลงมาก ผู้บริหารเริ่มเห็นปัญหาใหญ่ที่จะตามมาจึงได้ลาออกไป ผลกำไรในไตรมาสแรกของปี 2000 ลดต่ำกว่าเป้าหมาย กดดันราคาหุ้นบริษัทให้ต่ำลง ปัญหาเริ่มปรากฏสู่สาธารณะมากขึ้น ผู้ให้กู้ชะลอการปล่อยกู้ และบริษัทยังถูกลดอันดับเครดิต และปัญหายิ่งหนักขึ้นเมื่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดเปลี่ยนเป็นขาขึ้น โดยธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลให้ต้นทุนของเงินที่จะกู้มาเพื่อปล่อยสินเชื่อยิ่งสูงขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังไม่มีการป้องกันความเสี่ยง (Hedge) อัตราดอกเบี้ย ก็ยิ่งทำให้ผลกำไรของบริษัทลดน้อยลงไปเป็นลำดับ ในที่สุดภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี หลังจากได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสาร Forbes บริษัทไม่สามารถชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ได้ตามกำหนด ทั้งนี้ บทเรียนที่เกิดขึ้นกับบริษัท Finova คือ การขาดความรู้ความเข้าใจของผู้บริหารในการบริหารงานตามการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) อัตราดอกเบี้ย ( Interest Rate Cycle) และภาวะในตลาดหลักทรัพย์ (Stock Market Cycle) ทำให้บริษัทต้องถูกธนาคารอายัดทรัพย์สินภายในเวลาไม่กี่เดือน
บทที่ 8: การบริหารความเสี่ยงจากราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน (Proactive Profiting from Oil Price Spikes, Interest Rate Hikes, and Exchange Rate Risks)
บริษัทที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตจะต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ส่วนบรรษัทข้ามชาติซึ่งผลิตและขายสินค้าระหว่างประเทศจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ในขณะที่บริษัททั่วไปโดยเฉพาะสถาบันการเงิน จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่มากับความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย โดยในบทนี้จะอธิบายถึงเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง (risk hedging tools) เพื่อจัดการหรือลดความเสี่ยงที่มาจากความผันผวนของราคาสินค้า อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย โดยการใช้ตราสารทางการเงิน เช่น ตราสาร Future Option หรือ SWAP นอกจากนี้ ยังอธิบายถึงกลยุทธ์เพื่อบริหารความเสี่ยงแบบ natural business hedge เพื่อให้แต่ละหน่วยธุรกิจในบริษัทมีการดำเนินงานที่หักล้างผลกระทบของความเสี่ยงด้วยกันเอง
1. การบริหารความเสี่ยงจากราคาสินค้าและราคาน้ำมัน
1.1 บริษัทที่ใช้วัตถุดิบ เช่น เหล็ก หรือน้ำมัน เป็นปัจจัยการผลิตเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องมีวิธีการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบซึ่งเป็นต้นทุนหลักของบริษัท โดยการใช้ตราสารทางการเงิน เช่น Future หรือ Option เพื่อช่วยไม่ให้ราคาวัตถุดิบเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงจากที่กำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้บริษัทไม่ต้องเพิ่มราคาสินค้าและสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตอื่นได้ และแม้ว่าบริษัทอาจสูญเสียต้นทุนเพื่อบริหารความเสี่ยงบ้าง แต่ก็เป็นมูลค่าเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความสูญเสียจากการที่ราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างของบริษัทที่มีกลยุทธ์หรือวิธีวางกลยุทธ์โดยการใช้เครื่องมือในการคาดการณ์ (forecasting tools) ที่มีความซับซ้อนเพื่อบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าวัตถุดิบ ได้แก่ Good Humor-Breyers และ Southwest Airlines แต่กลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงของทั้งสองบริษัทมีความแตกต่างกันไป
1.2 บริษัท Good Humor-Breyers ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไอศกรีมและขนมหวาน มีการบริหารความเสี่ยงแบบ Strategic hedging ซึ่งมุ่งเน้นบริหารความเสี่ยงที่เฉพาะเจาะจง ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบโดยเฉพาะไขมันเนย เนื่องจากผลกำไรของบริษัทมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อราคาไขมันเนยที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทได้วางแผนประจำปีที่ขึ้นอยู่กับราคาไขมันเนยของปีที่ผ่านมา และได้มีการวิเคราะห์ปัจจัยด้านมหภาคของอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การผลิตชีส การผลิตไขมันเนย หรือการผลิตน้ำนมวัว ดังนั้นเมื่อฝ่ายวางกลยุทธ์ทราบถึงราคาที่คาดการณ์ไว้ ก็จะใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อทำให้ราคาสินค้าวัตถุดิบคงที่ตลอดทั้งปี
1.3 บริษัท Southwest Airlines เป็นสายการบินที่มีผลกำไรติดต่อกันกว่า 30 ปี และมีการบริหารความเสี่ยงแบบ Tactical hedging ที่เป็นการบริหารแบบมืออาชีพที่แท้จริง โดยใช้แบบจำลองมหภาคที่รวมถึงอุปสงค์และอุปทานของตลาดโลก ปริมาณเงิน อัตราแลกเปลี่ยน และการประเมินความเสี่ยงด้านการเมือง เพื่อคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตของธุรกิจรวมถึงต้นทุนด้านเชื้อเพลิง และวางกลยุทธ์เพื่อบริหารความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่นเมื่อแบบจำลองได้คาดการณ์ว่าน้ำมันดิบในตลาดโลกจะขาดแคลนและราคาน้ำมันจะเพิ่มสูงมาก ดังนั้น ในช่วงต้นปี 2000 ผู้บริหารจึงได้ใช้เครื่องมือทางการเงินเพิ่อกำหนดให้ต้นทุนด้านเชื้อเพลิงคงที่เต็มจำนวนที่ต้องใช้ทั้งหมด ในขณะที่สายการบินอื่นแม้ว่าจะมีการบริหารความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิงเช่นเดียวกัน แต่ก็คิดเป็นสัดส่วนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับปริมาณเชื้อเพลิงที่จะต้องใช้ทั้งหมด จึงส่งผลให้บริษัทสามารถทำกำไรได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 30
2. การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
2.1 ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมีความสำคัญมากต่อบริษัทที่มีการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศประกอบด้วยความเสี่ยงจากการแปลงค่า (translation risk) และความเสี่ยงจากการแลกเปลี่ยน (transaction risk) โดยความเสี่ยงจากการแปลงค่าเกิดจากการแปลงรายรับในรูปของเงินตราต่างประเทศกลับมาเป็นเงินสกุลในประเทศ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเงินตราต่างประเทศอ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับเงินในประเทศ ส่วนความเสี่ยงจากการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อรายจ่ายของบริษัทอยู่ในรูปของเงินตราต่างประเทศ และเงินตราต่างประเทศแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้บริษัทต้องจ่ายเงินมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
2.2 บริษัทเดินเรือ Royal Caribbean เป็นตัวอย่างของการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทสามารถมุ่งเน้นการให้บริการซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัทมีความถนัดและกลายเป็นบริษัทเดินเรือที่ใหญ่เป็นอันดับสองได้ในเวลาไม่นาน ในขณะที่บริษัท Procter&Gamble เป็นตัวอย่างของบริษัทที่ใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อเก็งกำไรกับบริษัทการเงิน Bankers Trust ซึ่งทำให้บริษัทสูญเสียเงินไปกว่าร้อยล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 1994 ดังนั้นการใช้เครื่องมือทางการเงินจึงควรเพื่อบริหารความเสี่ยงมากกว่าเพื่อการเก็งกำไร
3. การบริหารความเสี่ยงจากวัฏจักรของอัตราดอกเบี้ย
3.1 อัตราดอกเบี้ยมีวัฏจักรการเคลื่อนไหวขึ้นลงเช่นเดียวกับวัฏจักรธุรกิจหรือตลาดหลักทรัพย์ โดยธนาคารกลาง (Federal Reserve) อาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ บริษัทที่มีความอ่อนไหวต่อความเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยเช่น Countrywide Financial และ Washington Mutual จึงต้องมีกลยุทธ์เพื่อบริหารความเสี่ยงดังกล่าว
3.2 บริษัท Countrywide Financial ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการเช่าซื้อรถยนต์ขนาดใหญ่ได้ใช้กลยุทธ์เพื่อบริหารความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินที่ขณะนั้นมีความผันผวนมาก กลยุทธ์ดังกล่าวได้แก่การใช้ natural business hedge คือการบริหารความเสี่ยงโดยให้แต่ละหน่วยธุรกิจในบริษัท (business unit) ได้แก่ ผ่ายระดมเงินต้น (loan origination) และฝ่ายจ่ายชำระหนี้ (loan servicing) มีการดำเนินงานที่หักล้างผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยด้วยกันเอง โดยรายรับของฝ่ายระดมเงินต้นจะเพิ่มขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากลูกค้าจะมีการ refinance เพิ่มขึ้น ขณะที่รายรับของฝ่ายจ่ายชำระหนี้จะเพิ่มขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กลยุทธ์ดังกล่าวส่งผลให้ Countrywide มีรายรับที่คงที่ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยมีความผันผวน
4 ตัวอย่างบริษัทที่ไม่ประสบความสำเร็จในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ บริษัท
Washington Mutual ซึ่งเป็นสถาบันเงินฝาก (thrift institution) ขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และมีการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากกำไรส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับและดอกเบี้ยจ่ายแคบลง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นส่งผลให้ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่ดอกเบี้ยรับจากการให้เช่าซื้อซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยระยะยาวยังคงที่ กลยุทธ์ดังกล่าวรวมถึงการปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยการให้เช่าซื้อจากดอกเบี้ยคงที่ (fixed-rate) เป็นดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงได้ (adjustable-rate) เพื่อลดความเสี่ยงจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงของ Washington Mutual กลับทำให้บริษัทต้องขาดทุนแทนที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้เนื่องจากกลยุทธ์ด้านอัตราดอกเบี้ยอาจไม่เหมาะสมกับการดำเนินงานของบริษัท แต่บริษัทควรจะมีการบริหารความเสี่ยงด้านอื่นๆ เช่น การกระจายการลงทุนไปยังหน่วยธุรกิจอื่นๆ อันจะได้กล่าวถึงในบทต่อไป
บทที่ 9: การบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของวัฏจักรธุรกิจ (When You Can't Beat the Business Cycle, Hedge Its Risks!)
ผู้บริหารที่มีความสามารถนอกจากจะต้องคาดการณ์ระยะต่อไปของวัฏจักรธุรกิจได้ล่วงหน้า และสามารถวางกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อที่จะสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของตนแล้ว ยังจะต้องมีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของวัฏจักรธุรกิจไปพร้อมกัน ตั้งแต่การกระจายการลงทุนไปยังหน่วยธุรกิจอื่นๆ (business unit diversification) กระจายการลงทุนไปยังภูมิภาคอื่นๆ (geographical diversification) ไปจนถึงการจ้างผู้อื่น (outsoursing) หรือประเทศอื่น (offshoring) ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ
1. การกระจายการลงทุนไปยังหน่วยธุรกิจอื่นๆ (Business Unit Diversification)
1.1 นอกจากบริษัทจะมีกลยุทธ์การกระจายการลงทุนไปยังหน่วยธุรกิจอื่นๆ เพื่อบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของวัฏจักรธุรกิจแล้ว บริษัทยังใช้กลยุทธ์ดังกล่าวเพื่อทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (economies of scales) การประหยัดจากการผลิตสินค้าหลายๆ ชนิดร่วมกัน (economies of scope) หรือการประหยัดที่เกิดจากการควบรวมหรือควบกิจการ (synergies) อันจะสามารถทำให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การกระจายการลงทุนไปยังหน่วยธุรกิจอื่น ยังสามารถใช้เป็นการบริหารความเสี่ยงแบบ natural business hedge เพื่อบริหารความเสี่ยงด้านอื่นๆ ไปพร้อมกัน เช่น ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย
1.2 บริษัทคอมพิวเตอร์ Hewlett-Packard และ IBM เป็นตัวอย่างของบริษัทที่พยายามจะกระจายการลงทุนจากอุตสาหกรรมการผลิตคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ที่วัฏจักรของธุรกิจมีความผันผวนสูงมาก ไปยังธุรกิจบริการและให้คำปรึกษาด้าน IT (IT consulting services) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทวนกระแสวัฏจักร (countercyclical business) และเป็นการบริหารความเสี่ยงแบบ natural business hedge เพราะเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง ความต้องการคำปรึกษาเพื่อลดต้นทุนจะเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับยอดขายคอมพิวเตอร์ของบริษัท แต่สถานการณ์ของ HP และ IBM มีความแตกต่างกันออกไป
1.3 บริษัท Hewlett-Packard ซึ่งเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และพริ้นเตอร์ ซึ่งต้องการกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจบริการและให้คำปรึกษาด้าน IT ไม่ประสบความสำเร็จในการเสนอซื้อบริษัท PricewaterhouseCoopers (PWC) เพื่อสร้างธุรกิจการให้คำปรึกษาด้าน IT เนื่องจากผลประกอบการและมูลค่าหุ้นของ HP ในขณะนั้นไม่ดีนัก ประกอบกับผู้ถือหุ้นสูญเสียความเชื่อมั่นต่อ Carly Fiorina ผู้บริหารระดับสูงของ HP ซึ่งเคยดำเนินกลยุทธ์ผิดพลาดจากการไม่กระจายการลงทุนโดยการซื้อกิจการบริษัทคอมพิวเตอร์ Compaq ซึ่งมีวัฏจักรธุรกิจที่มีความผันผวนสูงเช่นเดียวกับธุรกิจที่มีอยู่เดิม
1.4 ในขณะที่บริษัท IBM มีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจจากผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของตลาดไปสู่ธุรกิจบริการและให้คำปรึกษาด้าน IT ตั้งแต่ช่วงก่อนเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2001 และยุคตกต่ำของสินค้าเทคโนโลยี ส่งผลให้บริษัท IBM มีรายรับจากธุรกิจบริการมากกว่าการผลิตคอมพิวเตอร์ซึ่งเคยเป็นธุรกิจหลัก และหลังจากนั้น IBM ซื้อกิจการบริษัท PWC เพื่อมาเสริมธุรกิจบริการและให้คำปรึกษาด้าน IT ได้สำเร็จด้วยจำนวนเงินเพียง 3.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. น้อยกว่าที่บริษัท HP เสนอซื้อในช่วง 2 ปีก่อนหน้าถึงเกือบ 3 เท่า ทั้งนี้เนื่องจาก IBM มีความอดทนและมองการณ์ไกลว่าหุ้นบริษัท PWC มีแนวโน้มจะต่ำลงในอนาคต
1.5 บริษัท FedEx เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่มีการบริหารความเสี่ยงจากวัฏจักรธุรกิจโดยการกระจายการลงทุนจากธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศไปยังธุรกิจขนส่งสินค้าทางบกที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและเป็นการดำเนินธุรกิจแบบ natural business hedge โดยขณะที่ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศจะไปได้ดีในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น ธุรกิจการขนส่งสินค้าทางบกจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาลง ในการนี้บริษัท FedEx ได้ลงทุนเป็นจำนวนมากในการพัฒนาธุรกิจการขนส่งทางบกเพื่อสู้กับคู่แข่งสำคัญได้แก่ บริษัท United Parcel Service (UPS) เช่น การซื้อกิจการของบริษัท Caliber Technologies ซึ่งเป็นคู่แข่งด้านการขนส่งทางบกกับ UPS หรือการยกระดับเทคโนโลยีของการขนส่งสินค้าทางบกและสร้างเครือข่ายเพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกวิธีการขนส่งสินค้าได้สะดวกขึ้น
2. การกระจายการลงทุนในหลากหลายภูมิภาค (Geographical Diversification)
2.1 การกระจายการลงทุนไปยังหลากหลายประเทศ/ภูมิภาคจะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของวัฏจักรธุรกิจ เนื่องจากวัฏจักรของธุรกิจและสถานการณ์การเมืองของแต่ละประเทศไม่มีความสัมพันธ์กันอย่างสมบูรณ์ เช่นในขณะที่ยุโรปหรือญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ นักลงทุนอาจสามารถกระจายการลงทุนไปยังสหรัฐฯ หรือจีน ซึ่งมีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในขณะนั้นได้ นอกจากนี้ วัฏจักรธุรกิจในประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีนหรืออินเดีย ยังไม่มีความสัมพันธ์กับวัฏจักรธุรกิจของประเทศพัฒนาแล้วมากนัก ส่งผลให้บรรษัทข้ามชาติที่มักจะมีฐานการผลิตที่ประเทศพัฒนาแล้ว มองประเทศกำลังพัฒนาเป็นแหล่งกระจายความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพนอกเหนือจากการเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการขายสินค้า อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกซึ่งมีความเชื่อมโยงกันในระดับสูงในปัจจุบัน อาจก่อให้เกิดการส่งผ่านภาวะเศรษฐกิจ (transmission effects) จากประเทศที่มีเศรษฐกิจตกต่ำไปยังประเทศ/ภูมิภาคอื่นๆ ได้
2.2 เช่นเดียวกับกลยุทธ์กระจายการลงทุนไปยังหน่วยธุรกิจอื่น การกระจายการลงทุนในหลากหลายภูมิภาคนอกจากจะเป็นไปเพื่อบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของวัฏจักรธุรกิจ ยังสามารถทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาดเพิ่มขึ้น และยังเป็นการใช้ความเชี่ยวชาญด้านการจัดการและการผลิตที่บริษัทมีอยู่เพื่อสร้างโอกาสในการทำกำไรเพิ่มขึ้น
2.3 ตัวอย่างของบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการกระจายความเสี่ยงไปยังหลากหลายภูมิภาค ได้แก่ บริษัท CEMEX ซึ่งเป็นบรรษัทผลิตปูนซีเมนต์ข้ามชาติจากเม็กซิโกที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก โดยบริษัท CEMEX มีกลยุทธ์ในการเข้าซื้อกิจการบริษัทผลิตซีเมนต์ในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียขณะที่เกิดวิกฤติการณ์การเงินขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของทั้งสองประเทศลดต่ำลงและค่าเงินเปโซฟิลิปปินส์และรูเปียอินโดนีเซียในขณะนั้นอ่อนค่าลงมาก
3. การโอนกิจกรรมการผลิต (outsourcing) และโอนกิจกรรมไปยังต่างประเทศ (offshoring) เพื่อลดความเสี่ยง
3.1 การ outsourcing หรือการโอนกิจกรรมบางอย่างที่เคยดำเนินการอยู่ในบริษัทไปให้บริษัทอื่นรับช่วงดำเนินการแทน โดยอาจเป็นการโอนกิจกรรมภายในประเทศหรือโอนไปยังบริษัทต่างประเทศ เรียกว่าการ offshoring การ outsourcing และ offshoring จะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของวัฏจักรธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นจากจ้างพนักงานเป็นจำนวนมากเพื่อดำเนินกิจกรรมของบริษัท เช่น การประมวลผลข้อมูล หรือการรักษาความปลอดภัย นอกจากการ outsourcing หรือ offshoring จะช่วยลดความเสี่ยงจากวัฏจักรธุรกิจแล้ว ยังอาจใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานระดับจุลภาค (micromanagement) เพื่อลดต้นทุนในการผลิตสินค้าบางชนิดและมุ่งเน้นงานที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรมีการโอนกิจกรรมการผลิตที่เป็นส่วนภารกิจสำคัญของบริษัทไปให้บริษัทภายนอกโดยเฉพาะบริษัทต่างประเทศทำ เนื่องจากประเทศดังกล่าวอาจมีความไม่มั่นคงทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ ขาดแคลนแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเพียงพอ หรือมีความขัดแย้งทางด้านวัฒนธรรมกับบริษัทผู้รับจ้างผลิต ก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัทได้
3.2 บริษัท Broadcom และ Affiliated Computer Services (ACS) เป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการ outsourcing และ offshoring โดยบริษัท Broadcom นอกจากจะมีการกระจายการลงทุนไปยังสินค้าหลายชนิดในกลุ่มของ broadband แล้ว ยังมีการ outsourcing แผงวงจรไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนสูงไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมุ่งเน้นผลิตสินค้าด้านรูปลักษณ์ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงแทน กลยุทธ์ในการ outsourcing ดังกล่าวส่งผลให้บริษัท Broadband ไม่ต้องมีสินค้าคงเหลือเป็นจำนวนมากดังเช่นบริษัทอื่นๆ ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เช่นเดียวกับบริษัท ACS ที่มีการ outsourcing และ offshoring การบริการไปยังภูมิภาคต่างๆ นอกจากนี้ บริษัทยังมีการขยายการผลิตสินค้าไปยังการให้บริการด้าน outsourcing ให้กับรัฐบาลและหน่วยงานอื่นๆ อีกด้วย
บทที่ 10: การบริหารงานท่ามการความเสี่ยงจากผลกระทบจากสงคราม การก่อการร้าย และภัยพิบัติ (Surviving and Prospering from the Economic Shocks of War, Terrorism, Drought, and Disease)
ภาวะเศรษฐกิจอาจเกิดความผันผวนจากผลกระทบภายนอกตั้งแต่ภาวะสงคราม การก่อการร้าย และเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ไปจนถึงภัยพิบัติจากธรรมชาติ ซึ่งแม้ว่าความผันผวนดังกล่าวจะไม่สามารถคาดคะเนได้ล่วงหน้า แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นสามารถที่จะคาดการณ์และนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจได้ ผู้บริหารที่ดีจะต้องสามารถลดความเสี่ยงและใช้ประโยชน์จากผลกระทบเหล่านี้ โดยการวางกลยุทธ์ที่จะสร้างโอกาสให้กับบริษัทได้ในระยะยาว เช่น การโยกย้ายตลาด การขยาย line ของสินค้า หรือการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำตลาด ซึ่งสามารถสรุปการบริหารงานท่ามกลางความเสี่ยงต่างๆ ได้ดังนี้
1. สงครามและการก่อการร้าย จะก่อให้เกิดความต้องการสินค้าชนิดใหม่ๆ เช่น เสื้อเกราะหรือเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิด ซึ่งจะเป็นโอกาสของบริษัทผู้ผลิตสินค้าบางแห่ง นอกจากนี้ บริษัทที่มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการก่อการร้ายได้ทันท่วงทีจะสามารถสร้างโอกาสในการทำกำไรได้ เช่น หลังเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายน บริษัท Caesar ซึ่งเป็นสถานบันเทิงและบ่อนการพนันขนาดใหญ่ในลาสเวกัส มีการเปลี่ยนเป้าหมายทางการตลาดจากนักท่องเที่ยวต่างรัฐและต่างประเทศมาเป็นนักท่องเที่ยวในพื้นที่ซึ่งไม่ไกลจากลาสเวกัสที่สามารถเดินทางมาได้โดยรถยนต์ เนื่องจากคาดว่านักท่องเที่ยวที่จะใช้บริการโดยเครื่องบินจะมีจำนวนลดลง
2. ราคาน้ำมัน นอกจากจะมีการบริหารความเสี่ยงจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมากแล้ว บางบริษัทยังมีการใช้กลยุทธ์ด้านราคาเพื่อสร้างโอกาสจากการปรับสูงขึ้นของราคาน้ำมันอีกด้วย เช่นบริษัทประกันภัย Progressive ซึ่งคาดการณ์ว่าในภาวการณ์เช่นนี้ คนจะซื้อรถและใช้รถน้อยลงซึ่งจะทำให้เกิดอุบัติเหตุลดลง บริษัทจึงได้ดำเนินการลดค่าเบี้ยประกันก่อนบริษัทอื่นๆ ซึ่งสามารถสร้างกำไรให้กับบริษัทนำหน้าคู่แข่งอื่นๆ
3. ภัยพิบัติจากธรรมชาติ นอกจากจะทำให้เกิดความต้องการสินค้าชนิดใหม่ๆ เช่น ยารักษาโรค ยังทำให้สินค้าบางชนิดมีราคาสูงขึ้นเนื่องจากมีความขาดแคลน เช่น ราคาเนื้อวัวที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังจากเกิดโรควัวบ้า นอกจากนี้ยังทำให้สินค้าที่สามารถใช้ทดแทนบางชนิดมีราคาสูงขึ้น เช่น เนื้อไก่ที่เป็นสินค้าทดแทนเนื้อวัว ผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพจะต้องสามารถคาดการณ์ภาวะการณ์เหล่านี้และวางกลยุทธ์ที่เป็นประโยชน์กับบริษัทได้
4. การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากร จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตและการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค ผู้บริหารที่ดีจะต้องคาดการณ์และวางกลยุทธ์ไว้ล่วงหน้าเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เช่น บริษัทอสังหาริมทรัพย์ KB Home ได้วางกลยุทธ์เพื่อสนองความต้องการของกลุ่มผู้อพยพเข้าประเทศซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีความต้องการซื้อบ้านใหม่สูงแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะค่อนข้างซบเซา ในขณะเดียวกัน บริษัทได้สร้างบ้านหรูราคาแพงพร้อมกันไปเพื่อสนองความต้องการของผู้เกษียณอายุจำนวนมากในยุคเบบี้บูมที่ต้องการบ้านหลังที่สอง
5. การเปลี่ยนแปลงกฎหมายและกฎระเบียบ แม้ว่าผลกระทบภายนอกส่วนใหญ่จะก่อให้เกิดผลกระทบทางลบกับภาคธุรกิจ แต่ในบางกรณี บริษัทหรืออุตสาหกรรมอาจมีการใช้การวิ่งเต้น (lobby) ผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายเพื่อออกกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เอื้อต่อการสร้างโอกาสทางการตลาดหรือเพื่อลดต้นทุนให้กับสินค้าของตน ตัวอย่างเช่น บริษัท Guidant ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ ที่มีการ lobby สภาคองเกรสเพื่อให้ผ่านกฎหมายปรับปรุงกฎของคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ เพื่อให้กระบวนการอนุมัติสินค้ามีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
บทที่ 11: เครื่องมือในการคาดการณ์วัฏจักรธุรกิจ (The Master Cyclist's Favorite Forecasting Tools)
เครื่องมือที่ใช้ในการคาดการณ์วัฏจักรธุรกิจ ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) เครื่องชี้นำทางเศรษฐกิจ (Leading economic indicator) ซึ่งประกอบด้วย yield curve ราคาหุ้นราคาน้ำมัน และดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจ 2) แบบจำลองเพื่อใช้การประมาณการเศรษฐกิจ และ 3) การติดตามข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือน เช่น การบริโภค การผลิต การค้าระหว่างประเทศ เงินเฟ้อ และผลิตภาพแรงงาน ซึ่งการติดตามข้อมูลเศรษฐกิจจะช่วยให้ผู้บริหารเห็นการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจว่าอยู่ในช่วงขยายตัว หรือชะลอตัว/หดตัว และช่วยในการพัฒนาเครื่องชี้นำทางเศรษฐกิจและแบบจำลองทางเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น
1. เครื่องชี้นำทางเศรษฐกิจ
เครื่องชี้นำทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการประเมินวัฏจักรทางเศรษฐกิจ เพื่อคาดการณ์จุดวกกลับ (Turning point) จุดสูงสุด หรือจุดต่ำสุดของการประมาณการทางเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัดหลาย ๆ ตัว เช่น yield curve ราคาหุ้น ราคาน้ำมัน
1.1 Yield curve หรือเส้นกราฟที่ใช้วัดส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยาวของพันธบัตรรัฐบาล (Treasury securities) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการคาดการณ์วัฏจักรทางธุรกิจได้ดี เนื่องจากเป็นการรวบรวมการคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตของผู้ลงทุนในตลาดพันธบัตร โดย Yield Curve แต่ละแบบสามารถคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจได้ ดังนี้
- ถ้าเส้น Yield Curve ลาดขึ้น "The steep curve" (อัตราดอกเบี้ยระยะยาวเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น) จะสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในอนาคตจะเพิ่มขึ้นหรือเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว
- ส่วน Yield Curve ที่ลาดลง "The invert curve" (อัตราดอกเบี้ยในระยะยาวลดลง ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น) เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจกำลังจะชะลอตัวลง หรืออัตราเงินเฟ้อในอนาคตจะชะลอลง
- สำหรับ Yield curve โดยปกติ " The normal curve" ที่มีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วง 100-200 basis point แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและเงินเฟ้อที่ไม่สูงจนเกินไป
- และในกรณีที่ yield curve มีลักษณะ "flat" เป็นเครื่องชี้วัดว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัวเล็กน้อย
1.2 ราคาหุ้น (Stock price) สามารถใช้ในการคาดการณ์วัฏจักรได้ดี เนื่องจากราคาหุ้นสะท้อนให้เห็นถึงการคาดการณ์ของนักลงทุนในกระแสรายได้ของบริษัทในอนาคต ราคาหุ้นที่ลดลง (เพิ่มขึ้น)แสดงให้เห็นถึงการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะหดตัว (ขยายตัว) และรายได้ในอนาคตลดลง (เพิ่มขึ้น)
(ยังมีต่อ)