(ต่อ3)วาระแห่งชาติและวาระสำคัญของรัฐบาล

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 26, 2007 15:28 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          ๒.๒ การสร้างความสมานฉันท์ในสังคม  ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำการระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธีและการสร้างธรรมาภิบาลในสังคม โดยจัดเวที"สานเสวนาเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ" และ "การเมืองท้องถิ่นสู่สมานฉันท์แห่งชาติ้" ขึ้นเพื่อให้ประชาชนร่วมสร้างฉันทามติในเรื่องการเมืองที่มีธรรมาภิบาลและผลักดันให้เกิดมาตรการทางสังคมในระบบการเลือกตั้ง ทั้งนี้  รัฐบาลได้กำหนดให้จัดทำแผนปฏิรูปสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ซึ่งประกอบด้วยสามยุทธศาสตร์หลักได้แก่ การสร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน สังคมเข้มแข็ง และสังคมคุณธรรมโดยมุ่งให้เกิดการจัดการด้วยตนเอง การระดมพลังสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สร้างการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาให้เกิดการผนึกกำลัง สั่งสมประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ยกระดับการพัฒนาให้ดีขึ้น นำสังคม
ไปสู่การอยู่ดีมีสุข การดำเนินงานได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นจากหลายฝ่ายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาสร้างทางเลือกในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ขึ้น โดยจัดทำโครงการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่เน้นการเยียวยาความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ และมุ่งเน้นให้ผู้กระทำผิดสำนึกและรับผิดชอบในสิ่งที่ได้กระทำลงไปมากกว่าการลงโทษ และเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการและแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยอำนวยความยุติธรรมให้ทุกฝ่าย รวมทั้งได้ดำเนินโครงการนำร่องการใช้กระบวนการครอบครัวสมานฉันท์เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเชิงบูรณาการ และโครงการพัฒนาระบบงานยุติธรรมชุมชน เพื่อเสริมสร้างบทบาทชุมชนในงานยุติธรรมที่สอดคล้องกับความ
ต้องการของชุมชน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมีการประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรม เพื่อนำผลการประเมินดังกล่าวมาปรับปรุงวิธีดำเนินการในระยะต่อไป
๒.๓ ปัญหาการเมืองที่หลายฝ่ายอาจมีแนวคิดที่แตกต่างกัน (มติคณะรัฐมนตรี ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๙) ในช่วงที่ผ่านมาหลายฝ่ายมีแนวความคิดแตกต่างกันเกี่ยวกับการเมือง การปกครองภายในประเทศ ทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่สงบส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้าง รัฐบาลจึงมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้ความสำคัญในการจัดเวทีประชาธิปไตยชุมชนเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ในระดับอำเภอทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างทางความคิดได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเรียนรู้การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างตลอดจนผสานประโยชน์ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข โดยรัฐบาลได้สนับสนุนให้สร้างวิทยากรกระบวนการเพื่อการขับเคลื่อนเวทีจังหวัดละ ๑๐ คน รวม ๗๕๐ คนและสนับสนุนการจัดเวทีระดับอำเภอและเขตในกรุงเทพมหานคร รวม ๙๒๖ เวที
๒.๔ การแก้ไขปัญหาสถานการณ์สินค้าเกษตร ประเทศไทยมีครัวเรือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและมันสำปะหลัง คิดเป็นประมาณร้อยละ ๗๐ ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด เมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศในช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๔๙ เป็นระยะเวลาที่พืชทั้งสองชนิดเริ่มออกสู่ตลาด จึงได้กำหนดนโยบายในการรับจำนำในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรมแก่เกษตรกร และไม่บิดเบือนกลไกตลาดโดยมีการประกาศมาตรการล่วงหน้าตลอดฤดู และดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ โดยโปร่งใสพร้อมทั้งยกเลิกระบบการผูกขาดในการระบายออกจากโกดังของรัฐบาล และได้สนับสนุนให้เริ่มกำหนดนโยบายขายข้าวของรัฐบาลโดยตรงให้กับรัฐบาลประเทศอื่น ๆ รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศผู้ปลูกข้าวเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลอันเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของชาวนาและส่งเสริมการส่งออก
อีกทางหนึ่ง ด้วยมาตรการดังกล่าว สำหรับข้าวและมันสำปะหลังจึงทำให้การส่งออกมีความคล่องตัว และผู้ส่งออกสามารถวางแผนล่วงหน้า ทำให้ปริมาณมูลค่า และราคาเฉลี่ยการส่งออกข้าวในเดือนมกราคม - มีนาคม ๒๕๕๐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดังนี้
การส่งออก มกราคม - มีนาคม อัตราการเปลี่ยนแปลง
ปี ๒๕๔๙ ปี ๒๕๕๐ (ร้อยละ)
ข้าว
ปริมาณ (ล้านตัน) ๑,๗๙๑ ๑,๙๕๓ ๙.0
มูลค่า (ล้านบาท) ๒๒,๗๘๗.๔ ๒๕,๘๒๘.๕ ๑๓.๓
ราคาเฉลี่ยส่งออก (บาท/ตัน) ๑๒,๗๒๒ ๑๓,๒๒๒ ๓.๙
(ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน) ๓๒๐ ๓๗๐ ๑๕.๖
มันสำปะหลัง
ปริมาณ (ล้านตัน) ๑,๖๗๗ ๒,๕๗๑ ๕๓.๓๑
มูลค่า (ล้านบาท) ๑๐,๖๘๑.๗๓ ๑๓,๙๖๔.๙ ๓๐.๗๓
ราคาเฉลี่ยส่งออก (บาท/ตัน) ๖,๓๖๗.๐๕ ๕,๔๓๐.๘๗ -๑๔.๗๐
(ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน) ๒๗๑.๖ ๓๙๒.๑ ๑๒๐.๕
(ยังมีต่อ).../๒.๕ การแก้ไข..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ