1.2 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกปี 2550
เศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกของปี 2550 ชะลอลงจากไตรมาสที่สี่ 2549 โดยเป็นผลของการชะลอตัวของทั้งเศรษฐกิจในกลุ่ม G3 (สหรัฐอเมริกา กลุ่มยูโร และญี่ปุ่น)และกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย ยกเว้นเศรษฐกิจจีนที่ยังคงขยายตัวดีขึ้น
- เศรษฐกิจสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.1 (หรือร้อยละ 1.3, qoq,annualized) ชะลอลงจากร้อยละ 3.1 ในไตรมาสสี่ปี 2549
นับเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่สองปี 2546 โดยเป็นผลจากการหดตัวของการลงทุนในภาคที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการความต้องการในตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยการก่อสร้างบ้านปรับตัวลดลงเนื่องจากผู้ประกอบการระมัดระวังว่าจะเกิดปัญหาสินค้าล้นตลาดในภาวะที่ยังมีบ้านสร้างเสร็จคงค้างอยู่ในสต็อก โดยที่ในเดือนเมษายนยอดสร้างบ้านใหม่ลดลงร้อยละ 16.1 ต่อเนื่องจากที่ลดลงร้อยละ 24.1 ในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ยอดซื้อบ้านใหม่และบ้านมือสองล่าสุดในเดือนเมษายนลดลงร้อยละ 10.6 และ 11.2 ตามลำดับ ส่งผล
ให้ราคาบ้านปรับลดลง 8 เดือนติดต่อกัน นอกจากนั้นการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าและบริการชะลอลงแต่ก็นับว่าการบริโภคภาคเอกชนยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ
- เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ในไตรมาสแรกของปี 2550 เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโร (Eurozone) ยังคงอยู่ในระยะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการลงทุนและยอดขายภายในประเทศขยายตัว แต่เศรษฐกิจเยอรมัน อิตาลี และฝรั่งเศสชะลอตัวลง และอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากต้นทุนพลังงานที่สูงผนวกกับอัตราการเติบโตของปริมาณเงินในเศรษฐกิจ ซึ่งกดดันให้ธนาคารกลางยุโรปปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 3.25 ในเดือนพฤศจิกายน เป็นร้อยละ 3.5 และ 3.75 ในเดือนมกราคมและมีนาคม 2550 ตามลำดับ อัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ร้อยละ 7.3 ต่อปีเทียบกับร้อยละ 7.6 เมื่อไตรมาสที่แล้ว
- เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 2.0 ชะลอลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า จากการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิที่เพิ่มขึ้นยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังประเทศจีนในสินค้าประเภทอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ความเชื่อมั่นของประชาชนปรับเพิ่มขึ้นและทำให้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น
- เศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวได้สูงขึ้น ในอัตราสูงร้อยละ 11.1 เทียบกับร้อยละ 10.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าการส่งออกยังคงขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 27.9 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 18.2 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 46.5 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 23.1 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสเดียวกัน ปี 2549 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 2.7
- เศรษฐกิจกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียชะลอตัว จากการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่ชะลอตัว โดยเศรษฐกิจสิงคโปร์ ไต้หวันเกาหลีใต้ และมาเลเซีย ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามอุปสงค์ในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนของประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ปรับตัวดีขึ้นมากในไตรมาสแรก
2. ประมาณการเศรษฐกิจปี 2550
ในไตรมาสแรกปี 2550 เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีและมีเสถียรภาพ แต่นับว่ายังอยู่ในช่วงของการชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราร้อยละ6.1 5.0 4.7 และ 4.3 ในสี่ไตรมาสของปี 2549 ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังดีอยู่ ประกอบด้วย การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อลดลงมาก สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลดลงและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล นอกจากนี้ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินลงตามลำดับ ซึ่งปัจจัยบวกเหล่านี้จะสนับสนุนให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2550
แต่อย่างไรก็ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2549 ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปีนี้มีความไม่สมดุลมากขึ้น โดยที่การส่งออกเพิ่มขึ้นมากและเป็นแรงขับเคลื่อนหลักสำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวมาก โดยที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังในช่วงที่เหลือของปี 2550 ทั้งปัจจัยภายนอกและข้อจำกัดภายในประเทศ โดยที่ปัจจัยเสี่ยงภายนอกประกอบด้วย การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ จากภาวะที่ร้อนแรงเกินไปและได้เข้าสู่ภาวะถดถอย ภาวะฟองสบู่ของตลาดหลักทรัพย์ของจีน ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ และแรงกดดันที่ประเทศอุตสาหกรรมต้องการให้จีนปล่อยค่าเงินหยวนแข็งขึ้นตามกลไกตลาดมากขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ และภายใต้ข้อจำกัดด้านกำลังการผลิตและความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติตามฤดูกาล
สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้นยังต้องระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศที่ชะลอลงมากในขณะที่ความเชื่อมั่นของประชาชนและนักธุรกิจอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งรัฐบาลต้องสร้างความเข้าใจและความมั่นใจของประชาชนทั่วไปและของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตามที่ได้ประกาศไปแล้ว อาทิ การดำเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพิจารณาข้อเสนอด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการลงทุนปิโตรเคมีระยะที่สามของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และการพิจาณาโครงการที่รอการอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น
2.1 ปัจจัยบวกสำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังของปี 2550
2.1.1 แรงกดดันด้านราคาและภาวะการเงินลดลง จะเป็นปัจจัยบวกต่อกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของประชาชน
(1) อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มลดลงซึ่งจะทำให้กำลังซื้อที่แท้จริงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ในช่วง 5 เดือนแรกอัตราเงินเฟ้อลดลงชัดเจน นอกจากนี้จะเห็นว่าดัชนีราคาผู้ผลิตก็ลดลงด้วยเช่นกันเป็นร้อยละ 2.6 ในไตรมาสแรก และร้อยละ 1.8 ในเดือนเมษายนและร้อยละ 1.9 ในเดือนพฤษภาคม จากที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7 ในปี 2549โดยเฉพาะราคาในหมวดวัตถุดิบลดลงร้อยละ 3.4 และราคาในหมวดกึ่งสำ เร็จรูปลดลงร้อยละ 0.2 ในช่วง 5 เดือน ซึ่งชี้ว่าแรงกดดันต่อราคาผู้บริโภคจะยังลดลงได้อีกในช่วงที่เหลือของปี ปัจจัยที่จะทำ ให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำนั้น ประกอบด้วยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และการชะลอตัวของการใช้จ่ายของประชาชน รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มชะลอตัว ในด้านต้นทุนการผลิตนั้นราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะเป็นปัจจัยเสี่ยง แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าผลต่อเนื่องต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะมีไม่มากเนื่องจากได้มีการปรับราคาสินค้าสูงขึ้นมากแล้วตั้งแต่ปี 2548 ต่อเนื่องถึงปี 2549 ดังนั้นภายใต้ภาวะที่ความต้องการสินค้าอ่อนตัวลงมากผู้ประกอบการจะผลักภาระต้นทุนไปสู่ผู้บริโภคได้อีกไม่มาก
(2) อัตราดอกเบี้ยลดลงและยังมีแนวโน้มปรับลดลงได้อีกในช่วงที่เหลือของปี 2550 คณะกรรมการนโยบายการเงินได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 150 จุดในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 จากร้อยละ 5 ณ สิ้นปี 2549 เป็นร้อยละ 3.50 ณ สิ้นเดือนพฤษภาคมปี 2550 และต่ำกว่า Fed Fund rate อยู่ 175 จุด โดยที่สถาบันการเงินก็ได้เริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ทั้งการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำในช่วงแรกและตามมาด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งล่าสุดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีแบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate: MLR) อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 7.25 ลดลงจากร้อยละ 7.75 ณ สิ้นปี 2549 สำ หรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารใหญ่ 5 แห่งนั้นลดลงจากร้อยละ 4.5 มาเป็นร้อยละ 2.38 ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม แต่อย่างไรก็ตามอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงค่อนข้างจะทรงตัวเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อลดลงเร็วกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้แรงกระตุ้นจากนโยบายการเงินยังมีจำกัดโดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่ความเชื่อมั่นประชาชนอยู่ในอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้จะเห็นว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงินยังมีความล่าช้ากว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ดังนั้นจึงคาดว่าสถาบันการเงินจะยังปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีกเพื่อกระตุ้นความต้องการสินเชื่อ แต่ในขณะเดียวกันการพิจารณาสินเชื่อก็มีแนวโน้มที่จะมีความเข้มงวดมากขึ้นภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวสำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นคาดว่ามีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีกภายใต้เงื่อนไขที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในช่วงที่ชะลอตัวแรง
(ยังมีต่อ).../2.1.2 รายได้จาก..