2.2 สมมุติฐานการประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2549: ราคาน้ำมันดิบดูไบบาเรลละ 52 ดอลลาร์ สรอ. สูงกว่าเฉลี่ยบาเรลละ 49.30 ดอลลาร์ในปี 2548 เล็กน้อย การขยายตัว เศรษฐกิจโลกเท่ากับร้อยละ 3.4
(1) เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.4 ในปี 2549 ชะลอตัวจากร้อยละ 3.6 ในปี 2548 เล็กน้อยโดยที่เศรษฐกิจของประเทศหลัก ๆ ชะลอตัว อาทิ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากร้อยละ 3.6 ในปี 2548 เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่ำกว่าร้อยละ 2.1 ในปี 2548 และกลุ่มยูโรขยายตัวร้อยละ 1.0 ชะลอตัวจากร้อยละ 1.5 สำหรับกลุ่มเอเชียที่ไม่รวมญี่ปุ่น (Asia-ex Japan) นั้นยังมีแนวโน้มขยายตัวได้สูงกว่าในปี 2548 เนื่องจากได้รับแรงส่งของเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2548 จากปัจจัยสนับสนุนด้านการส่งออก และคาดว่าความร่วมมือทางการค้าของกลุ่มอาเซียนจะทำให้การค้าในภูมิภาคขยายตัวมากขึ้น แต่คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในอัตราที่ช้าลงโดยขยายตัวร้อยละ 8.5 ต่ำกว่าร้อยละ 9.5 ในปี 2548 เนื่องจากผลกระทบราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ประกอบกับการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยสูงขึ้น รวมทั้งการควบคุมการขยายตัวของสินเชื่อในภาคเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวร้อนแรงเช่นภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ประเด็นหลักของ เศรษฐกิจโลกในปี 2549 ประกอบด้วย
- ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่สะท้อนให้เห็นในรูปของการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ที่ขาดดุลต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันที่เกินดุลต่อเนื่อง จะยังเป็นประเด็นหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้นักลงทุนมีความระวัดระวังในการตัดสินใจ และความเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์ สรอ. จะยังไม่เพิ่มขึ้นและทำให้นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดว่าในปี 2549 โดยเฉลี่ยเงินดอลลาร์สรอ. จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินยูโรและ เงินเยน
-อัตราเงินเฟ้อจะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงขึ้นต่อเนื่องในครึ่ง แรกของปีจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และจากการที่ความต้องการสินค้าและบริการยังสูงอยู่ แต่อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อในครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มต่ำลงกว่าในครึ่งแรกของปี เนื่องจากในปี 2548 นั้นราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นและทำให้มีการปรับฐานราคาสินค้าสูงขึ้นมากในครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ความต้องการสินค้าที่คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวในครึ่งหลังจะช่วยลดแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อในครึ่งหลังของปี ทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2549 ต่ำกว่าในปี 2548
-การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นในประเทศต่าง ๆ เพื่อลดแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อ
(2) ราคาน้ำมัน: ราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบดูไบเท่ากับบาเรลละ 52 ดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยบาเรลละ 49.30 ดอลลาร์สรอ. ในปี 2548 เล็กน้อย
-ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงในปี 2549 คาดว่าราคาเฉลี่ยทั้งปีจะเท่ากับ 52 ดอลลาร์ สรอ. สูงกว่าบาเรลละ 49.30 ดอลลาร์ในปี 2548 เล็กน้อย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในปี 2549 ราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่าบาเรลละ 50 ดอลลาร์ ตั้งแต่ต้นปี แต่ในปี 2548 นั้นราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับบาเรลละ 50 ดอลลาร์ในช่วงครึ่งหลังของปี สำหรับความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันตลอดปี 2549 นั้นคาดว่าในไตรมาสแรกซึ่งยังเป็นช่วงฤดูหนาวนั้น ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่บาเรลละ 54 ดอลลาร์สรอ. เพิ่มขึ้นจากบาเรลละ 52.66 ดอลลาร์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2548 เล็กน้อย แต่คาดว่าราคาจะลดลงสู่ระดับเฉลี่ยประมาณบาเรลละ 51.70 ดอลลาร์ในช่วงไตรมาสที่สองซึ่งเป็นช่วง driving season และ 50 ดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สาม แต่ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มที่จะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นเป็นเฉลี่ยประมาณบาเรลละ 52.00 ดอลลาร์ในไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเริ่มเข้าสู่หน้าหนาวในช่วง 2 เดือนสุดท้าย ในปัจจุบันราคาอ้างอิงโดยเฉลี่ยสำหรับน้ำมันดิบเบรนท์ในตลาดล่วงหน้าของตลอดปี 2549 เท่ากับบาเรลละ 57 ดอลลาร์ และโดยเฉลี่ยราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะสูงกว่าราคา น้ำมันดิบดูไบประมาณบาเรลละ 5-6 ดอลลาร์ สรอ. ( * )
-ณ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2548 กรมสารนิเทศการพลังงาน กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ คาดว่าราคาน้ำมันดิบอ้างอิง West Texas Intermediate ในปี 2549 จะอยู่ที่บาเรลละ 64-65 ดอลลาร์ สรอ. ซึ่งโดยปกติราคาอ้างอิงจะสูงกว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบประมาณบาเรลละ 8-10 ดอลลาร์ สรอ.
-แนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่คาดว่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงในปี 2549 นั้นเนื่องมาจากปัจจัยซึ่งประกอบด้วย (1) ความต้องการน้ำมันดิบยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นวันละ 1.7 ล้านบาเรลเป็นวันละ 85 ล้านบาเรลหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 โดยที่ความต้องการของประเทศที่อยู่นอกกลุ่ม OECD โดยเฉพาะประเทศจีน และอินเดียยังเป็นประเทศที่ความต้องการใช้น้ำมันดิบเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่อง (2) กำลังการผลิตยังตึงตัว โดยที่ปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปค จะอยู่ที่ประมาณวันละ 30 ล้านบาเรล โดยคาดว่ามีกำลังการผลิตส่วนเกินจะอยู่ที่ประมาณวันละ 2.0-2.5 ล้านบาเรลสูงกว่าวันละ 1.0-1.5 ล้านบาเรลในปี 2548 (ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์) เล็กน้อย และ (3) ปัจจัยที่ไม่แน่นอนอื่น ๆ เช่น สภาพความแปรปรวนของอากาศ ความไม่แน่นอนด้านการเมืองระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามปริมาณการซื้อสุทธิน้ำมันในตลาดล่วงหน้า (Net long position) เพื่อทำกำไรจากการขายในอนาคตได้เริ่มชะลอลงตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2548 เป็นต้นมา แสดงว่าราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มใกล้จุดสูงสุดหรือได้อาจจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ทำให้ผู้ค้า (traders) เริ่มลดการซื้อสุทธิล่วงหน้า ดังนั้นจึงประเมินว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันไม่มาก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจะลดแรงกดดันด้านความต้องการใช้น้ำมัน
(3) ราคาส่งออกและนำเข้าสินค้า คาดว่าในปี 2549 ราคาสินค้าในตลาดโลกยังมีแนวโน้มสูงขึ้นจากราคา เฉลี่ยในปี 2548 เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีซึ่งทำให้ความต้องการสินค้ายังเพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้นและทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินของโลกลดลงกว่าในปี 2548 ส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 และราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ซึ่งส่วนหนึ่งยังเป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น ในขณะที่ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่กลุ่มสินค้าเกษตร ยังมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น และเนื่องฐานราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าทุนนำเข้าที่สูงมากแล้วในปี 2548 ทำให้ในปี 2549 นี้ประเทศไทยจะมีโอกาสได้เปรียบอัตราการค้า (Term of trade) ซึ่งจะเป็นผลดีต่อรายได้ของประเทศ
********************************************************************************************************
( * ) อ้างอิงจาก Global Weekly Economic Monitor โดย Lehman Brother ฉบับประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน 2548
********************************************************************************************************
(ยังมีต่อ).../2.3 ประมาณ..