(ต่อ6)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ปี 2549 และแนวโน้มปี 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 19, 2007 15:55 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          2.1.2  รายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจแม้ว่าจะขยายตัวได้ไม่มากเช่นในปี 2549 เนื่องจากข้อจำกัดของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และยุโรปแต่ปริมาณการส่งออกจะไม่ชะลอตัวมากเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะค่อย ๆ ชะลอตัวลง แต่อย่างไรก็ตามมูลค่าการส่งออกจะชะลอลงเร็วกว่าด้านปริมาณเนื่องราคาสินค้ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มได้น้อยจากฐานราคาที่สูงขึ้นต่อเนื่องใน 2-3 ปีที่ผ่านมา
ในด้านการท่องเที่ยวคาดว่าจะยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณร้อยละ 8.0 จากจำนวน นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 13.78 ล้านคนในปี2549 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคการโรงแรมและภัตตาคารในประเทศ โดยปัจจัยสนับสนุนประกอบด้วยการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและการดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และผลของความตกลงในเรื่องการอำนวยความสะดวกและการยกเว้นวีซ่าสำหรับหลายประเทศในกรณีที่เป็นการเดินทางเข้าประเทศไทยไม่เกิน 30 วัน
2.1.3 การกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรัฐบาลและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นจะช่วย สนับสนุนเศรษฐกิจได้มากขึ้นหากสามารถเบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ในปีงบประมาณ2550 รัฐบาลได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายและวงเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจที่สูงกว่าในปี 2549 โดยที่วงเงินงบประมาณรัฐบาลเท่ากับ 1,566,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 จากปี 2549 โดยเป็นงบลงทุน 374,721 ล้านบาท และกรอบวงเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว 369,302 ล้านบาท สูงกว่ากรอบวงเงินลงทุน 303,430 ล้านบาท ในปี 2549 การเร่งรัดงบประมาณรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจเป็นเงื่อนไขจำเป็นในการสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจและสร้างพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้สถานการณ์ที่ผลของนโยบายการเงินต่อการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนอาจจะยังมีจำกัด
2.2 ปัจจัยเสี่ยง/ประเด็นที่ต้องระมัดระวัง
2.2.1 การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อาจจะเป็นข้อจำกัดสำหรับการส่งออกและการท่องเที่ยว และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในปี 2550 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2549 เริ่มจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโดยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จึงทำให้การใช้จ่ายครัวเรือนชะลอลงในขณะที่การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลง และดุลบัญชีเดินสะพัดยังขาดดุลเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอลงในปี 2549 จากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย การเพิ่มสัดส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ และการจำกัดการขยายสินเชื่อเพื่อลดความร้อนแรงของการลงทุน
(ยังมีต่อ).../* แนวโน้มการ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ