คำบรรยาย
เรื่อง "แนวทางการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐
ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"
โดย นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ในการประชุมชี้แจง "แนวทางการพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"
วันศุกร์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น.
ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
.........................................................................
ท่านคณะรัฐมนตรี และท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ
ก่อนอื่นผมขอขอบพระคุณ ที่ได้มีโอกาสมาเรียนเสนอเกี่ยวกับเรื่องแนวทางการพัฒนาประเทศในเช้าวันนี้ ซึ่งขอเรียนว่าผมจะนำเสนอใน ๒ สถานะด้วยกัน สถานะแรกเป็นความเห็นส่วนตัวของกรรมการสภาพัฒน์ ซึ่งในช่วงของการเตรียมแผนฯ ๑๐ ผมได้มีโอกาสรับรู้และเข้าไปร่วมในกระบวนการจัดทำแผนฯ ๑๐ ในฐานะกรรมการคนหนึ่ง สถานะที่สองก็คือในฐานะที่จะต้องมีส่วนร่วมในการอธิบายนโยบายของรัฐบาล ที่ได้น้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักคิดในการดำเนินงาน
การพัฒนากับโลกาภิวัตน์
ผมขออนุญาตเริ่มจากสถานะแรกก่อน คือในสถานะที่เป็นความเห็นส่วนตัวของกรรมการคนหนึ่งของสภาพัฒน์ ที่ได้เฝ้ามองการพัฒนาประเทศมาเป็นเวลานานพอสมควร มีความเห็นว่าการพัฒนานั้นเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่มีผู้เรียกร้อง และก็มีความเข้าใจกันทั่วๆ ไป ว่าการพัฒนานั้นต้องเร่งรัด เพราะฉะนั้นเวลาเราใช้คำว่าการพัฒนาในที่ต่างๆ จะเห็นว่ามักจะมีคำว่า "เร่งรัด" อยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรที่จะต้องเร่งรัดการพัฒนา แต่ประเด็นก็คือว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นมีการแสวงหาแนวทางการพัฒนาที่จะให้ผลในเชิงเร่งรัดการพัฒนามาโดยตลอด สำหรับตัวผมเองมองเห็นปรากฏการณ์สำคัญอย่างน้อยๆ ๒ ปรากฏการณ์ ที่ผลของการมองหาแนวทางที่จะเร่งรัดการพัฒนานั้น เกิดขึ้นและจบลงด้วยการไม่เร่งรัด แม้กระทั่งจบลงด้วยการมีปัญหาด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นประสบการณ์และบทเรียนของประเทศไทยนะครับ
ในช่วงที่เราแสวงหาแนวทางที่จะเร่งรัดการพัฒนา ก็สังเกตได้ว่า เมื่อมีเรื่อง "โลกาภิวัตน์" เข้ามาก็มีความเข้าใจกันว่าโลกาภิวัตน์นั้นเป็นตัวช่วยที่จะทำให้เกิดการเร่งรัด นอกจากเรื่องโลกาภิวัตน์แล้ว ก็มีความเข้าใจกันโดยกว้างขวางว่า ภายใต้กระบวนการโลกาภิวัตน์ สิ่งที่จะช่วยประเทศชาติได้มากในการทำให้ประเทศเราพัฒนาเร็วก็คือ "ทุน" ซึ่งหลายๆ คนก็ใช้คำว่า "ทุนนิยม" เพราะฉะนั้น ทุนกับโลกาภิวัตน์
จึงเป็นส่วนผสมที่มีผู้เข้าใจว่าเป็นแกนในการเร่งรัดพัฒนาประเทศ และก็เป็นจริงตามนั้นด้วย กล่าวคือ ในระยะก่อนปี ๒๕๔๐ ประเทศมีอัตราการเจริญเติบโต ๑๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ก็ด้วยอิทธิพลของโลกาภิวัตน์และทุน แต่การพัฒนาตามแนวทางนี้ เราได้พบด้วยตัวเราเองในเวลาต่อมาว่า เป็นแนวทางที่จบลงด้วยปัญหา และปัญหาที่ว่านั้นก็คือวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี ๒๕๔๐
เพราะฉะนั้น ความเข้าใจกว้างๆ ว่าทุนกับโลกาภิวัตน์นั้น ทำให้เศรษฐกิจมีการพัฒนาที่เร่งตัวขึ้นนั้นเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งก็คืออาจจะเกิดผลร้ายที่รุนแรงได้ เพราะเราเจอมาแล้วในกรณีของวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี ๒๕๔๐
หลังจากนั้นมา คือประมาณเมื่อ ๕ ปีที่แล้ว ก็เริ่มมีความพยายามที่จะหาตัวช่วยเพื่อจะทำให้จีดีพีโตเร็วๆ และความยากจนหมดไปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็หนีไม่พ้นอีกว่า โดยภาพกว้างตัวช่วยที่ได้มีการปรับมาใช้กับการพัฒนาของเราก็คือ "โลกาภิวัตน์" อีกนั่นแหละ และก็บังเอิญเป็นเรื่องของทุนนิยมอีกด้วย เพราะฉะนั้น จึงมีแนวความคิดในลักษณะที่ว่า ปัญหาของประเทศชาติอยู่ที่ว่าเรายังไม่สามารถที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากโลกาภิวัตน์ หรือสามารถทำให้คนหายจนได้ ด้วยเหตุที่ประเทศของเรายังมีคนยากคนจนอยู่เนื่องจากเขาไม่มีทุน ถ้ามีทุนแล้วรัฐบาลคิดว่าจะเนรมิตให้หายความยากจนได้ในเวลาอันสั้น
ในระยะเวลา ๕ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลก็ใช้ตัวช่วยในลักษณะด้งกล่าว แต่ผลลัพธ์ก็เป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายก็ทราบดีว่า ได้เกิดความไม่สมานฉันท์ขึ้นในสังคม เกิดความแตกแยก เกิดความรุนแรงขึ้นในบางเรื่องบางราว เพราะฉะนั้น การนำเอาโลกาภิวัตน์กับทุนมาใช้ในยุคก่อนปี ๒๕๔๐ ก็ได้ผลลัพธ์คือวิกฤติเศรษฐกิจ และการนำมาใช้ในระลอกที่สองก็ได้ผลลัพธ์ คือความแตกแยกในสังคม
เพราะฉะนั้น เราต้องกลับมาคิดคำนึงว่า แนวทางการพัฒนาประเทศนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าถ้าแนวทางการพัฒนาประเทศเพี้ยนไป แม้ว่าจะมีผลดีและเป็นที่ชื่นชอบ แต่อาจจะส่งผลเสียในภายหลัง นี่เป็นบทเรียนของประเทศไทย ๒ ครั้ง ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา
ในฐานะที่เป็นนักวิชาการก็พยายามจะตอบคำถามที่ว่า โลกาภิวัตน์นั้นไม่ดี และเราไม่ควรจะไปยุ่งด้วยหรือ ผมขอตอบตามความเห็นของตนเองว่า ไม่จริง ประเทศต่างๆ ที่เขาอยู่กับโลกาภิวัตน์ได้ และมีผลดีไม่ต้องเผชิญกับผลที่ร้ายแรงเช่นประเทศไทยก็มีเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น ความที่ไม่ดีมันไม่ใช่เรื่องโลกาภิวัตน์และทุนนิยม แต่เป็นเรื่องแนวทางการพัฒนาของแต่ละประเทศมากกว่า
ผมขอเรียนว่า ตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงปัจจุบัน ผมไม่เคยอยู่ในระบบอื่นเลยนอกจากระบบทุนนิยม และผมคิดว่าประเทศส่วนใหญ่ก็อยู่ในระบบนี้ทั้งนั้น ซึ่งเขาก็มีอัตราความเจริญเติบโตที่ใช้ได้ และมีระดับการพัฒนาที่สูงขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ทุนไม่ใช่ของเลวร้าย ในความเห็นของผมปัญหาน่าจะอยู่ที่ หนึ่ง ความไม่พอดี และสอง ความไม่รู้เท่าทัน สองเรื่องนี้แหละครับ ก็คือแก่นของสิ่งที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเรียกว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง... แก่นของแผนฯ ๑๐
ผมขอนำข้อความที่ประมวลกลั่นกรองมาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานในโอกาสต่างๆ มาโดยตลอดกว่า 30 ปี และได้รับพระราชทานให้นำไปเผยแพร่ได้เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ มาเสนอดังนี้
""เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชน ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์
ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคน ในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา
และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี""
เมื่อดูทุกบรรทัดทุกตัวอักษร จะเห็นได้ว่า ถ้าแนวทางดังกล่าวได้รับการนำไปปรับใช้ จะไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี ๒๕๔๐ และไม่มีการแตกแยกที่รุนแรง แต่ถ้าไม่ใช้หรือไม่มีการนำไปปรับใช้ที่แพร่หลายเพียงพอ โอกาสที่จะเกิดปัญหาที่ร้ายแรงขึ้นได้นั้นมีอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น แผน ฯ ๑๐ จึงเห็นว่า การดำเนินการจากนี้เป็นต้นไป ก็น่าจะอยู่ภายใต้กรอบของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนี่ก็คือแก่นความคิดที่อยู่ในแผนฯ ๑๐
โยบายรัฐบาลกับการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
อีกสถานะหนึ่งของตัวผม อยู่ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องช่วยอธิบายนโยบายของรัฐบาล ก็อยากจะกราบเรียนว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีของ ฯพณฯ พลเอก สุรยุทธ์ ครั้งที่ ๑ และผมจำได้ว่าเป็นประโยคแรกๆ ที่ท่านกล่าว ก็คือ "เราจะดำเนินนโยบายโดยอาศัยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างกว้างขวางที่สุด" ซึ่งเนื้อหาสำคัญก็คือว่า กรอบของวิธีคิดของเราจะอยู่ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แล้วกรอบวิธีคิดของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะต้องได้รับการปรับใช้ให้กว้างที่สุดเท่าที่จะกว้างได้ เพราะฉะนั้น นโยบายของรัฐบาลในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ จึงออกมาในลักษณะของความพยายามที่จะปรับใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามความเข้าใจของเรา โดยอาศัยวิธีการที่แยกเศรษฐกิจออกเป็น ๓ ภาคส่วน ภาคส่วนที่ ๑ เรียกว่า ฐานราก ซึ่งเป็นบุคคลส่วนใหญ่ของประเทศ ภาคส่วนที่ ๒ ก็คือ ภาคส่วนที่เป็นเศรษฐกิจในระบบตลาด และภาคส่วนสุดท้าย เป็นเศรษฐกิจส่วนรวม
พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก... สู่การพึ่งตนเอง
ในภาคส่วนของเศรษฐกิจฐานรากนั้น ความคิดเดิมก็บอกว่าต้องใส่ทุน ไม่มีทุนไม่มีทางแก้ไขปัญหาความยากจน แต่ในความเข้าใจของเรา จริงครับภาคส่วนนี้ไม่มีทุน อันนี้เห็นตรงกัน แต่วิธีการที่จะให้ภาคส่วนนี้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในระบบของเรานั้น เราเห็นว่าต้องอาศัยความพยายามที่จะพัฒนาไปสู่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ "การพึ่งตัวเอง" เพราะฉะนั้นเรื่องทุนก็เห็นด้วย ไม่ใช่ไม่เห็นด้วย แต่ทุนต้องใช้เพื่อการพึ่งตัวเองเป็นสำคัญ
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านได้ดูนโยบายของรัฐบาล ก็จะเห็นได้ว่าในภาคส่วนนี้เน้น ๓ เรื่อง เรื่องที่ ๑ เน้นกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งก็ตรงกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และต้องเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นบูรณาการ ไม่ใช่แบบแยกส่วน คือเดิมเรามีกระบวนการเรียนรู้แบบแยกส่วน ก็คือว่าถ้าอยากรู้เรื่องหมู ก็มีศูนย์หมู อยากรู้เรื่องไก่ ก็มีศูนย์ไก่ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งก็เป็นวิธีที่ดีนะครับ แต่กระบวนการเรียนรู้ของภาคส่วนนี้จะต้องเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ ซึ่งขณะนี้ก็มีตัวอย่างจากผู้ปฏิบัติที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านจำนวนมากที่ช่วยกันตั้งเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ของชาวบ้าน หรือช่วยกันจัดทำแผนแม่บทชุมชนขึ้นเพื่อพัฒนาไปสู่การพึ่งตนเอง
อีกเรื่องก็คือ การมีส่วนร่วม การแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าเอาเงินไปแล้วคุณไปทำของคุณเอง แต่เป็นเรื่องที่ว่าทำอย่างไรจะสามารถร่วมมือซึ่งกันและกันภายในชุมชน ร่วมมือระหว่างชุมชนกับวิทยาการต่างๆ ร่วมมือระหว่างชุมชนด้วยกันเอง ร่วมมือระหว่างทุกชุมชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับผู้ว่าราชการจังหวัด
เรื่องสุดท้าย ก็คือ เรื่องการบริหารการจัดการ การมีส่วนร่วมฟังแล้วดูหรูหราดี และฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าจะนำไปปฏิบัติให้ได้ผลจริงเป็นเรื่องยาก การมีส่วนร่วมที่จะสัมฤทธิ์ผลโดยไม่มีการจัดการเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าภาคส่วนที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจฐานรากนั้น ที่เรากำหนดไว้ในนโยบายก็คือ เรื่องของกระบวนการเรียนรู้ การบริหารการจัดการและการมีส่วนร่วม จะเห็นว่าน้ำหนักของ
ทุนลดลงไปมากแต่ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญอยู่ ที่ลดลงไปเนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งไม่มีความรู้และความสามารถในการจัดการ นี่คือส่วนที่เขาขาด ดังนั้น ถ้าหากเราหยิบยื่นทุนให้โดยไม่มีกระบวนการเรียนรู้ ก็จะเกิดสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า "การพึ่งพิง" ซึ่งนักวิชาการบางคนถึงกับบอกว่าเป็นการเสพติด
เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังให้เกิดความพอดี
อยู่ในเศรษฐกิจตลาด... ต้องพัฒนาปัญญา
ในเศรษฐกิจตลาดที่เราเน้นก็คือ "ทุน" และที่เน้นควบคู่กันไปก็คือสิ่งที่เราเรียกว่า "ทรัพย์สินทางปัญญา" ทำอย่างไรจะพัฒนาประเทศให้มีความสามารถที่จะฉวยโอกาสที่โลกาภิวัตน์เปิดให้ ความเข้าใจของคนจำนวนมากในยุคก่อนปี ๒๕๔๐ ก็คือ โลกาภิวัตน์เป็นคล้ายๆ กับเทวดามาโปรด แต่จริงๆ ไม่ใช่ คนที่จะได้โอกาสและประโยชน์จากการเปิดเสรีภายใต้กรอบโลกาภิวัตน์ ก็คือ คนที่มีความสามารถที่จะจัดการเพื่อให้ตัวเองได้โอกาส ซึ่งความสามารถนี้ เราเรียกว่า "ปัญญา"
เพราะฉะนั้นในนโยบายเศรษฐกิจของภาคส่วนที่เป็นการตลาด จึงมีเรื่องของปัญญาเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งก็ตรงกับความคิดทั่วๆ ไปในเชิงของเศรษฐกิจการพัฒนาว่า เมื่อประเทศพัฒนามาถึงระดับหนึ่งแล้ว ความได้เปรียบเสียเปรียบอยู่ที่ความรู้ เพราะฉะนั้น จึงมีคำว่า Knowledge Economy และ Knowledge Worker เป็นคำสำคัญขึ้นมา
บัดนี้บ้านเมืองเรามาไกลแล้วสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง ถ้าเราเอาคนทั่วไปมาผสมกันก็จะงง แต่ถ้าเราแยกส่วนกัน จะเห็นว่าคนกลุ่มหนึ่งมาไกลแล้ว พวกเขาเข้าไปในตลาดโลกได้ และหลายส่วนได้รับชัยชนะในตลาดโลก คนกลุ่มนี้ต้องใช้ปัญญามากขึ้น ในขณะเดียวกัน คนกลุ่มที่ด้อยกว่าที่ผมเรียกว่าภาคส่วนที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก ก็จะต้องใช้กระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ใช้การมีส่วนร่วม และการบริหารการจัดการ ซึ่งเป็นวิธีที่เราเห็นว่า เราจะต้องปรับใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในแต่ละภาคส่วนแตกต่างกันไป
เศรษฐกิจส่วนรวม... การออม ประสิทธิภาพ สมดุล
ภาคส่วนสุดท้าย เป็นภาคส่วนที่เราเรียกว่า เศรษฐกิจส่วนรวม ในระยะที่ผ่านมา การออมในครัวเรือนตกลงเรื่อยๆ ในขณะที่ภาระหนี้สินก็สูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน เศรษฐกิจส่วนรวมอย่างนี้ คงจะไม่ตรงกับแนวทางที่เราเรียกว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะฉะนั้น ในภาคส่วนของเศรษฐกิจส่วนรวม น้ำหนักคงจะอยู่ที่ทำอย่างไรจะมีการออม ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การออมเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจก็จริง แต่เกี่ยวพันกับเรื่องทางสังคมมากมาย ถ้าไม่ลด ละ เลิก อบายมุข ก็เกิดการออมยาก เพราะว่าครัวเรือนมีสองซีก คือ ซีกรายได้กับรายจ่าย แน่นอนครับทุกคนก็อยากจะเพิ่มการออมโดยการเพิ่มรายได้ แต่ที่จริงแล้วการเพิ่มการออมทำได้อีกด้านหนึ่งคือ การดูแลรายจ่ายให้ดี อันนี้ก็เกี่ยวข้องกับ
ความคิดซึ่งไม่ใช่เศรษฐกิจอย่างเดียว เป็นเรื่องที่จะต้องบูรณาการร่วมกันระหว่างแนวทางทางเศรษฐกิจและสังคม
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจส่วนรวม ก็คือเรื่อง "ประสิทธิภาพ" กิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพย่อมมีปัญหา โดยเฉพาะปัญหาการขาดกระแสเงินสด กล่าวคือ ถ้าเราไม่มีประสิทธิภาพ เอาเงินสดมาใส่ไปเท่าไร เราก็ยังมีปัญหาเรื่องกระแสเงินสด เพราะว่าการเติมเงินลงไปเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวแต่ปัญหาที่เรียกว่า Cash flow นั้น ความจริงอาจเป็นปัญหาที่เกิดจากการที่เราสู้เขาไม่ได้ในการแข่งขัน ในกรณีเช่นนี้ ถ้าเอาเงินมาอุดหนุนให้เราเพิ่มขึ้นอีกเราก็ยังขาดทุนอยู่ดี จะตัดวงจรนี้ได้ ต้องอาศัยความมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
เรื่องประสิทธิภาพ ผู้ปฏิบัติก็คงจะต้องเป็นนักธุรกิจ เจ้าของ หรือผู้บริหารกิจการ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลทำแทนให้ไม่ได้ แต่ให้ความร่วมมือได้ เพราะฉะนั้น ในเรื่องเศรษฐกิจส่วนรวมจึงเขียนไว้ในนโยบายว่า เอกชนเป็นหัวใจของความสำเร็จ รัฐบาลเสริม เป็นกิจกรรมที่ต้องร่วมมือกัน และพระเอกก็คงจะเป็นเอกชน ถ้าเอกชนมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยก็จะได้อานิสงส์ คือมีความสามารถที่จะฉวยโอกาสจากโลกาภิวัตน์ได้ หรือภาษาทั่วไปเรียกว่า มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น คำๆ นี้ก็เป็นคำที่ทุกคนรู้ดีว่า ประเทศที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขัน ในที่สุดแล้วก็จะแต่จะโดนทิ้งห่างไป และในโลกโลกาภิวัตน์มีหลายซีก ซีกที่โดนทิ้งห่างไปเป็นซีกที่ลำบากมาก
แนวความคิดของนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงที่ร่างขึ้น ก็คือ สำหรับผู้ที่มีโอกาส การเพิ่มประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญที่สุด สำหรับผู้ที่ไม่อาจปรับตัวได้ หรือต้องใช้เวลานานในการปรับตัว ก็อาจจะเป็นไปได้ที่ว่า รัฐอาจจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งผมขอเรียกว่าการสงเคราะห์ คือการดูแลให้ช่วยตัวเองได้ ถ้าไม่แบ่งแยกอย่างนี้ ก็จะเกิดความไม่มีประสิทธิภาพในการดูแล เช่น งบประมาณ เป็นต้น งบประมาณใช้ไปก็ไม่รู้ว่าตรงนี้สงเคราะห์ หรือว่าช่วยทำให้เกิดความเข้มแข็ง แยกก็ไม่ออกเพราะให้เหมือนกันหมดทุกคน
เพราะฉะนั้น เรื่องประสิทธิภาพคำเดียว สามารถนำมาใช้กำหนดวิธีคิดและวิธีทำงาน รวมไปถึงการจัดการเรื่องงบประมาณ พวกที่มีประสิทธิภาพเราต้องให้เป็นพระเอก แล้วรัฐบาลเข้าไปทำงานด้วย พวกที่ยังปรับตัวไม่ทันเราอาจจะต้องมีมาตรการที่ชะลอผลกระทบ ผู้ที่ปรับตัวไม่ได้ก็คงจะต้องอยู่ในภาคที่เราสงเคราะห์ตามเกณฑ์ที่เรามีความสามารถ เพราะฉะนั้นการเรียงลำดับก็มีอยู่ในลักษณะอย่างนี้
เรื่องสุดท้ายในภาคเศรษฐกิจส่วนรวม ก็คือ "ความสมดุล" ผมได้เรียนแล้วว่า อันตรายใหญ่หลวงของแนวทางที่ไม่สมดุลเป็นเรื่องที่น่าหนักใจ เพราะความไม่สมดุลเป็นปัญหาที่มองเห็นได้ยาก เหมือนเชื้อโรคที่สะสมอยู่ในตัว ถ้าสมมุติเราไปวินิจฉัยว่า คุณกำลังจะเริ่มมีความอ่อนแอแล้วนะ คนไข้จะบอกไม่จริง ผมเข้มแข็ง เพราะยังไม่มีอาการ วิธีเดียวที่จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ ก็คือ ถ้ามีผู้ยึดมั่นในการปรับใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะลดทอนความไม่สมดุลได้โดยตัวของมันเอง ถ้าไม่เช่นนั้นก็เถียงกันไม่รู้จบ ไม่ว่าจะเรื่องขาดดุลงบประมาณ เงินเฟ้อ หรือเรื่องอื่นๆ ไม่มีวันที่จะจัดการได้ เพราะมองไม่เห็นความไม่สมดุล
ผมขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนปี ๒๕๔๐ นอกจากจะไม่เข้าใจว่าเราไม่สมดุลแล้ว ยังหลงใหลได้ปลื้มว่ากำลังดีๆ อยู่ มาขัดจังหวะทำไม เหมือนกำลังดูหนังสนุกๆ อยู่ มาบอกเลิกดูเถอะ จะเป็นไปได้อย่างไร ก็ไม่มีใครเลิกใช่ไหมครับ คนที่จะมาจัดการให้เลิก ก็ไม่สามารถจะทำได้ ในที่สุดแล้วมันก็ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ คือลูกโป่งแตก และทำให้เดือดร้อนกันหมด เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่จริงๆ แล้วผมก็มองไม่เห็นว่า ถ้าเราไม่อาศัยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เราจะจำกัด เรื่องพวกนี้ให้อยู่ในขอบเขตได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ในภาคส่วนที่เป็นเศรษฐกิจส่วนรวม เป็นภาคส่วนที่ต้องอาศัยเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแน่นอนที่สุด นี่เป็นความเข้าใจของผมต่อวิธีปรับใช้เศรษฐกิจพอเพียงโดยแยกออกเป็นภาค
ส่วนหลักๆ 3 ภาคดังกล่าว
เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่สูตรสำเร็จ... ต้องประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม
สำหรับพวกเราที่เป็นข้าราชการ มี ๒-๓ เรื่องที่ผมอยากจะฝากไว้ ข้อที่หนึ่งก็คือว่า ถ้าเราคุ้นเคยกับการทำงานในลักษณะที่ว่า อยากได้อะไรก็ให้สั่งมาให้ชัดเจน ยิ่งบอกมาเป็นสูตรสำเร็จยิ่งดี เนื่องจากตนส่วนใหญ่มักจะชื่นชมว่าถ้าใครมีสูตรสำเร็จที่ง่ายๆ หน่อย แล้วโลกทั้งโลกก็แสวงหาสูตรสำเร็จที่ง่ายๆ อย่างเช่นรวยได้ด้วยหวย แล้วก็มีคนใบ้หวยเก่ง อย่างนี้ก็คือสูตรสำเร็จที่ง่าย แต่ในชีวิตจริงไม่ใช่อย่างนั้น
ท่านข้าราชการทั้งหลาย ท่านต้องเข้าใจว่านโยบายเศรษฐกิจพอเพียงที่ขอให้ท่านนำไปปรับใช้ ไม่ใช่ไปบอกประชาชนว่า ทุกคนต้องทำ หนึ่ง สอง สาม สี่ เราต้องให้ประชาชนและคนที่เราทำงานด้วยเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ภารกิจสำคัญของท่านในการดูแลให้เกิดความเข้าใจคงจะไม่ง่าย เพราะท่านจะต้องอธิบายซ้ำแล้วซ้ำอีก ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องปรับอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เป็นประโยชน์และเป็นมงคลกับตัวเอง ปรัชญานี้เป็นปรัชญาที่ดีแน่ แต่การนำมาใช้ ต้องดึงสิ่งที่ตรงกับความเป็นตัวของตัวเองไปใช้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ใช่สูตรสำเร็จเหมือนสูตรปุ๋ยที่เกษตรกรคุ้นเคย คุณจะเอาอะไรเท่าไร ๔๐ : ๔๐ : ๔๐ อย่างนี้ไม่มีนะครับ เพราะฉะนั้นข้อนี้สำคัญ
ข้อที่สองที่สำคัญมากเหมือนกัน เรื่องนี้หากพูดเผินๆ คล้ายๆ กับเข้าใจง่าย พูดครั้งหนึ่งก็นึกว่ารู้เรื่องหมด ไม่มีหรอกครับ ผมเองศึกษามา ผมกราบเรียนด้วยความเคารพว่า จนวันนี้ผมก็ยังไม่รู้ทั้งหมด ไม่มีทางรู้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นกระบวนการเรียนรู้สำคัญมาก ทำอย่างไรท่านจะไปช่วยกันสร้างให้มีกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกันในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ผมขอฝากไว้สองข้อนะครับ ว่าในภาคปฏิบัติ ขอร้องท่านที่อยู่ในแต่ละองค์กรโดยเฉพาะท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องทำให้เกิดความเข้าใจ แต่ไม่ใช่พูดครั้งเดียวแล้วก็จบ จำเป็นจะต้องไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ เรียนจากประสบการณ์ เรียนจากความถูกความผิด
สุดท้ายที่ผมอยากจะกราบเรียน ก็คือว่า สำหรับพวกเราทุกคนนะครับ ผมจำได้ว่า นอกจากประโยคแรกๆ ที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกว่าพวกเราจะน้อมนำปรัชญานี้มาปรับใช้ให้กว้างขวางที่สุด ต่อมาท่านได้กล่าวถึงวิถีปฏิบัติที่เราควรจะยึด ๔ ป. คือ โปร่งใส เป็นธรรม ประหยัด ประสิทธิภาพ ซึ่งผมคิดว่าจำเป็นมากสำหรับระบบราชการ เพราะระบบราชการต้องตอบคนเป็นจำนวนมาก แล้วถ้าไม่โปร่งใสก็ตอบยาก
"ความโปร่งใส" ไม่ใช่จำเป็นเฉพาะระบบราชการ เดี๋ยวนี้เขาใช้คำแปลจากภาษาอังกฤษที่เรียกว่า ธรรมาภิบาล (Good Governance) สำหรับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน "เป็นธรรม" เป็นคำที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ส่วน "ประหยัด" นั้น สำหรับพวกเราที่อยู่ในภาครัฐ ต้องใส่ใจอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าที่เราใช้จ่ายกันอยู่ทุกวันนี้ก็คือภาษีของประชาชน เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่ที่จะต้องดูแลเนื่องจาก
เป็นเงินของประชาชน สุดท้าย "ประสิทธิภาพ" เป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน เพราะถ้าเราโปร่งใส เป็นธรรม และประหยัด แต่ไม่ได้ผลอะไรเลย จะทำไปทำไมให้เสียเวลาเปล่าๆ
คำ ๔ คำนี้ เข้าใจง่ายในแต่ละคำ แต่อยากจะกราบเรียนฝากไว้ว่า เวลาทำจริงๆ ต้องผสมกันให้ดีๆ นะครับ น้ำหนักจะต้องพอดีๆ ถ้าเอาประสิทธิภาพมากไปก็ประหยัดลำบาก ถ้าประหยัดจนตัวหิวท้องกิ่ว ก็ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้น เวลาจัดการต้องระวังให้มาก ที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวถึง ๔ ป. คือหลักปฏิบัติ แต่เวลาทำจริงๆ ก็ต้องนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ด้วย
จะเห็นได้ว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ใช้ได้กับทุกภาคส่วน ทุกบท ทุกวิชาชีพ และทุกสถานะ เรื่องที่ผมได้รับมอบหมายให้พูดเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาประเทศในช่วงแผนฯ ๑๐ ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ก็คงจะมีเพียงแค่นี้ ขอขอบพระคุณทุกท่านครับ
--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--
-พห-
เรื่อง "แนวทางการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐
ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"
โดย นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ในการประชุมชี้แจง "แนวทางการพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"
วันศุกร์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น.
ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
.........................................................................
ท่านคณะรัฐมนตรี และท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ
ก่อนอื่นผมขอขอบพระคุณ ที่ได้มีโอกาสมาเรียนเสนอเกี่ยวกับเรื่องแนวทางการพัฒนาประเทศในเช้าวันนี้ ซึ่งขอเรียนว่าผมจะนำเสนอใน ๒ สถานะด้วยกัน สถานะแรกเป็นความเห็นส่วนตัวของกรรมการสภาพัฒน์ ซึ่งในช่วงของการเตรียมแผนฯ ๑๐ ผมได้มีโอกาสรับรู้และเข้าไปร่วมในกระบวนการจัดทำแผนฯ ๑๐ ในฐานะกรรมการคนหนึ่ง สถานะที่สองก็คือในฐานะที่จะต้องมีส่วนร่วมในการอธิบายนโยบายของรัฐบาล ที่ได้น้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักคิดในการดำเนินงาน
การพัฒนากับโลกาภิวัตน์
ผมขออนุญาตเริ่มจากสถานะแรกก่อน คือในสถานะที่เป็นความเห็นส่วนตัวของกรรมการคนหนึ่งของสภาพัฒน์ ที่ได้เฝ้ามองการพัฒนาประเทศมาเป็นเวลานานพอสมควร มีความเห็นว่าการพัฒนานั้นเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่มีผู้เรียกร้อง และก็มีความเข้าใจกันทั่วๆ ไป ว่าการพัฒนานั้นต้องเร่งรัด เพราะฉะนั้นเวลาเราใช้คำว่าการพัฒนาในที่ต่างๆ จะเห็นว่ามักจะมีคำว่า "เร่งรัด" อยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรที่จะต้องเร่งรัดการพัฒนา แต่ประเด็นก็คือว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นมีการแสวงหาแนวทางการพัฒนาที่จะให้ผลในเชิงเร่งรัดการพัฒนามาโดยตลอด สำหรับตัวผมเองมองเห็นปรากฏการณ์สำคัญอย่างน้อยๆ ๒ ปรากฏการณ์ ที่ผลของการมองหาแนวทางที่จะเร่งรัดการพัฒนานั้น เกิดขึ้นและจบลงด้วยการไม่เร่งรัด แม้กระทั่งจบลงด้วยการมีปัญหาด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นประสบการณ์และบทเรียนของประเทศไทยนะครับ
ในช่วงที่เราแสวงหาแนวทางที่จะเร่งรัดการพัฒนา ก็สังเกตได้ว่า เมื่อมีเรื่อง "โลกาภิวัตน์" เข้ามาก็มีความเข้าใจกันว่าโลกาภิวัตน์นั้นเป็นตัวช่วยที่จะทำให้เกิดการเร่งรัด นอกจากเรื่องโลกาภิวัตน์แล้ว ก็มีความเข้าใจกันโดยกว้างขวางว่า ภายใต้กระบวนการโลกาภิวัตน์ สิ่งที่จะช่วยประเทศชาติได้มากในการทำให้ประเทศเราพัฒนาเร็วก็คือ "ทุน" ซึ่งหลายๆ คนก็ใช้คำว่า "ทุนนิยม" เพราะฉะนั้น ทุนกับโลกาภิวัตน์
จึงเป็นส่วนผสมที่มีผู้เข้าใจว่าเป็นแกนในการเร่งรัดพัฒนาประเทศ และก็เป็นจริงตามนั้นด้วย กล่าวคือ ในระยะก่อนปี ๒๕๔๐ ประเทศมีอัตราการเจริญเติบโต ๑๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ก็ด้วยอิทธิพลของโลกาภิวัตน์และทุน แต่การพัฒนาตามแนวทางนี้ เราได้พบด้วยตัวเราเองในเวลาต่อมาว่า เป็นแนวทางที่จบลงด้วยปัญหา และปัญหาที่ว่านั้นก็คือวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี ๒๕๔๐
เพราะฉะนั้น ความเข้าใจกว้างๆ ว่าทุนกับโลกาภิวัตน์นั้น ทำให้เศรษฐกิจมีการพัฒนาที่เร่งตัวขึ้นนั้นเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งก็คืออาจจะเกิดผลร้ายที่รุนแรงได้ เพราะเราเจอมาแล้วในกรณีของวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี ๒๕๔๐
หลังจากนั้นมา คือประมาณเมื่อ ๕ ปีที่แล้ว ก็เริ่มมีความพยายามที่จะหาตัวช่วยเพื่อจะทำให้จีดีพีโตเร็วๆ และความยากจนหมดไปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็หนีไม่พ้นอีกว่า โดยภาพกว้างตัวช่วยที่ได้มีการปรับมาใช้กับการพัฒนาของเราก็คือ "โลกาภิวัตน์" อีกนั่นแหละ และก็บังเอิญเป็นเรื่องของทุนนิยมอีกด้วย เพราะฉะนั้น จึงมีแนวความคิดในลักษณะที่ว่า ปัญหาของประเทศชาติอยู่ที่ว่าเรายังไม่สามารถที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากโลกาภิวัตน์ หรือสามารถทำให้คนหายจนได้ ด้วยเหตุที่ประเทศของเรายังมีคนยากคนจนอยู่เนื่องจากเขาไม่มีทุน ถ้ามีทุนแล้วรัฐบาลคิดว่าจะเนรมิตให้หายความยากจนได้ในเวลาอันสั้น
ในระยะเวลา ๕ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลก็ใช้ตัวช่วยในลักษณะด้งกล่าว แต่ผลลัพธ์ก็เป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายก็ทราบดีว่า ได้เกิดความไม่สมานฉันท์ขึ้นในสังคม เกิดความแตกแยก เกิดความรุนแรงขึ้นในบางเรื่องบางราว เพราะฉะนั้น การนำเอาโลกาภิวัตน์กับทุนมาใช้ในยุคก่อนปี ๒๕๔๐ ก็ได้ผลลัพธ์คือวิกฤติเศรษฐกิจ และการนำมาใช้ในระลอกที่สองก็ได้ผลลัพธ์ คือความแตกแยกในสังคม
เพราะฉะนั้น เราต้องกลับมาคิดคำนึงว่า แนวทางการพัฒนาประเทศนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าถ้าแนวทางการพัฒนาประเทศเพี้ยนไป แม้ว่าจะมีผลดีและเป็นที่ชื่นชอบ แต่อาจจะส่งผลเสียในภายหลัง นี่เป็นบทเรียนของประเทศไทย ๒ ครั้ง ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา
ในฐานะที่เป็นนักวิชาการก็พยายามจะตอบคำถามที่ว่า โลกาภิวัตน์นั้นไม่ดี และเราไม่ควรจะไปยุ่งด้วยหรือ ผมขอตอบตามความเห็นของตนเองว่า ไม่จริง ประเทศต่างๆ ที่เขาอยู่กับโลกาภิวัตน์ได้ และมีผลดีไม่ต้องเผชิญกับผลที่ร้ายแรงเช่นประเทศไทยก็มีเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น ความที่ไม่ดีมันไม่ใช่เรื่องโลกาภิวัตน์และทุนนิยม แต่เป็นเรื่องแนวทางการพัฒนาของแต่ละประเทศมากกว่า
ผมขอเรียนว่า ตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงปัจจุบัน ผมไม่เคยอยู่ในระบบอื่นเลยนอกจากระบบทุนนิยม และผมคิดว่าประเทศส่วนใหญ่ก็อยู่ในระบบนี้ทั้งนั้น ซึ่งเขาก็มีอัตราความเจริญเติบโตที่ใช้ได้ และมีระดับการพัฒนาที่สูงขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ทุนไม่ใช่ของเลวร้าย ในความเห็นของผมปัญหาน่าจะอยู่ที่ หนึ่ง ความไม่พอดี และสอง ความไม่รู้เท่าทัน สองเรื่องนี้แหละครับ ก็คือแก่นของสิ่งที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเรียกว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง... แก่นของแผนฯ ๑๐
ผมขอนำข้อความที่ประมวลกลั่นกรองมาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานในโอกาสต่างๆ มาโดยตลอดกว่า 30 ปี และได้รับพระราชทานให้นำไปเผยแพร่ได้เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ มาเสนอดังนี้
""เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชน ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์
ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคน ในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา
และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี""
เมื่อดูทุกบรรทัดทุกตัวอักษร จะเห็นได้ว่า ถ้าแนวทางดังกล่าวได้รับการนำไปปรับใช้ จะไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี ๒๕๔๐ และไม่มีการแตกแยกที่รุนแรง แต่ถ้าไม่ใช้หรือไม่มีการนำไปปรับใช้ที่แพร่หลายเพียงพอ โอกาสที่จะเกิดปัญหาที่ร้ายแรงขึ้นได้นั้นมีอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น แผน ฯ ๑๐ จึงเห็นว่า การดำเนินการจากนี้เป็นต้นไป ก็น่าจะอยู่ภายใต้กรอบของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนี่ก็คือแก่นความคิดที่อยู่ในแผนฯ ๑๐
โยบายรัฐบาลกับการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
อีกสถานะหนึ่งของตัวผม อยู่ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องช่วยอธิบายนโยบายของรัฐบาล ก็อยากจะกราบเรียนว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีของ ฯพณฯ พลเอก สุรยุทธ์ ครั้งที่ ๑ และผมจำได้ว่าเป็นประโยคแรกๆ ที่ท่านกล่าว ก็คือ "เราจะดำเนินนโยบายโดยอาศัยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างกว้างขวางที่สุด" ซึ่งเนื้อหาสำคัญก็คือว่า กรอบของวิธีคิดของเราจะอยู่ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แล้วกรอบวิธีคิดของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะต้องได้รับการปรับใช้ให้กว้างที่สุดเท่าที่จะกว้างได้ เพราะฉะนั้น นโยบายของรัฐบาลในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ จึงออกมาในลักษณะของความพยายามที่จะปรับใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามความเข้าใจของเรา โดยอาศัยวิธีการที่แยกเศรษฐกิจออกเป็น ๓ ภาคส่วน ภาคส่วนที่ ๑ เรียกว่า ฐานราก ซึ่งเป็นบุคคลส่วนใหญ่ของประเทศ ภาคส่วนที่ ๒ ก็คือ ภาคส่วนที่เป็นเศรษฐกิจในระบบตลาด และภาคส่วนสุดท้าย เป็นเศรษฐกิจส่วนรวม
พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก... สู่การพึ่งตนเอง
ในภาคส่วนของเศรษฐกิจฐานรากนั้น ความคิดเดิมก็บอกว่าต้องใส่ทุน ไม่มีทุนไม่มีทางแก้ไขปัญหาความยากจน แต่ในความเข้าใจของเรา จริงครับภาคส่วนนี้ไม่มีทุน อันนี้เห็นตรงกัน แต่วิธีการที่จะให้ภาคส่วนนี้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในระบบของเรานั้น เราเห็นว่าต้องอาศัยความพยายามที่จะพัฒนาไปสู่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ "การพึ่งตัวเอง" เพราะฉะนั้นเรื่องทุนก็เห็นด้วย ไม่ใช่ไม่เห็นด้วย แต่ทุนต้องใช้เพื่อการพึ่งตัวเองเป็นสำคัญ
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านได้ดูนโยบายของรัฐบาล ก็จะเห็นได้ว่าในภาคส่วนนี้เน้น ๓ เรื่อง เรื่องที่ ๑ เน้นกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งก็ตรงกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และต้องเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นบูรณาการ ไม่ใช่แบบแยกส่วน คือเดิมเรามีกระบวนการเรียนรู้แบบแยกส่วน ก็คือว่าถ้าอยากรู้เรื่องหมู ก็มีศูนย์หมู อยากรู้เรื่องไก่ ก็มีศูนย์ไก่ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งก็เป็นวิธีที่ดีนะครับ แต่กระบวนการเรียนรู้ของภาคส่วนนี้จะต้องเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ ซึ่งขณะนี้ก็มีตัวอย่างจากผู้ปฏิบัติที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านจำนวนมากที่ช่วยกันตั้งเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ของชาวบ้าน หรือช่วยกันจัดทำแผนแม่บทชุมชนขึ้นเพื่อพัฒนาไปสู่การพึ่งตนเอง
อีกเรื่องก็คือ การมีส่วนร่วม การแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าเอาเงินไปแล้วคุณไปทำของคุณเอง แต่เป็นเรื่องที่ว่าทำอย่างไรจะสามารถร่วมมือซึ่งกันและกันภายในชุมชน ร่วมมือระหว่างชุมชนกับวิทยาการต่างๆ ร่วมมือระหว่างชุมชนด้วยกันเอง ร่วมมือระหว่างทุกชุมชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับผู้ว่าราชการจังหวัด
เรื่องสุดท้าย ก็คือ เรื่องการบริหารการจัดการ การมีส่วนร่วมฟังแล้วดูหรูหราดี และฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าจะนำไปปฏิบัติให้ได้ผลจริงเป็นเรื่องยาก การมีส่วนร่วมที่จะสัมฤทธิ์ผลโดยไม่มีการจัดการเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าภาคส่วนที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจฐานรากนั้น ที่เรากำหนดไว้ในนโยบายก็คือ เรื่องของกระบวนการเรียนรู้ การบริหารการจัดการและการมีส่วนร่วม จะเห็นว่าน้ำหนักของ
ทุนลดลงไปมากแต่ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญอยู่ ที่ลดลงไปเนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งไม่มีความรู้และความสามารถในการจัดการ นี่คือส่วนที่เขาขาด ดังนั้น ถ้าหากเราหยิบยื่นทุนให้โดยไม่มีกระบวนการเรียนรู้ ก็จะเกิดสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า "การพึ่งพิง" ซึ่งนักวิชาการบางคนถึงกับบอกว่าเป็นการเสพติด
เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังให้เกิดความพอดี
อยู่ในเศรษฐกิจตลาด... ต้องพัฒนาปัญญา
ในเศรษฐกิจตลาดที่เราเน้นก็คือ "ทุน" และที่เน้นควบคู่กันไปก็คือสิ่งที่เราเรียกว่า "ทรัพย์สินทางปัญญา" ทำอย่างไรจะพัฒนาประเทศให้มีความสามารถที่จะฉวยโอกาสที่โลกาภิวัตน์เปิดให้ ความเข้าใจของคนจำนวนมากในยุคก่อนปี ๒๕๔๐ ก็คือ โลกาภิวัตน์เป็นคล้ายๆ กับเทวดามาโปรด แต่จริงๆ ไม่ใช่ คนที่จะได้โอกาสและประโยชน์จากการเปิดเสรีภายใต้กรอบโลกาภิวัตน์ ก็คือ คนที่มีความสามารถที่จะจัดการเพื่อให้ตัวเองได้โอกาส ซึ่งความสามารถนี้ เราเรียกว่า "ปัญญา"
เพราะฉะนั้นในนโยบายเศรษฐกิจของภาคส่วนที่เป็นการตลาด จึงมีเรื่องของปัญญาเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งก็ตรงกับความคิดทั่วๆ ไปในเชิงของเศรษฐกิจการพัฒนาว่า เมื่อประเทศพัฒนามาถึงระดับหนึ่งแล้ว ความได้เปรียบเสียเปรียบอยู่ที่ความรู้ เพราะฉะนั้น จึงมีคำว่า Knowledge Economy และ Knowledge Worker เป็นคำสำคัญขึ้นมา
บัดนี้บ้านเมืองเรามาไกลแล้วสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง ถ้าเราเอาคนทั่วไปมาผสมกันก็จะงง แต่ถ้าเราแยกส่วนกัน จะเห็นว่าคนกลุ่มหนึ่งมาไกลแล้ว พวกเขาเข้าไปในตลาดโลกได้ และหลายส่วนได้รับชัยชนะในตลาดโลก คนกลุ่มนี้ต้องใช้ปัญญามากขึ้น ในขณะเดียวกัน คนกลุ่มที่ด้อยกว่าที่ผมเรียกว่าภาคส่วนที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก ก็จะต้องใช้กระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ใช้การมีส่วนร่วม และการบริหารการจัดการ ซึ่งเป็นวิธีที่เราเห็นว่า เราจะต้องปรับใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในแต่ละภาคส่วนแตกต่างกันไป
เศรษฐกิจส่วนรวม... การออม ประสิทธิภาพ สมดุล
ภาคส่วนสุดท้าย เป็นภาคส่วนที่เราเรียกว่า เศรษฐกิจส่วนรวม ในระยะที่ผ่านมา การออมในครัวเรือนตกลงเรื่อยๆ ในขณะที่ภาระหนี้สินก็สูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน เศรษฐกิจส่วนรวมอย่างนี้ คงจะไม่ตรงกับแนวทางที่เราเรียกว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะฉะนั้น ในภาคส่วนของเศรษฐกิจส่วนรวม น้ำหนักคงจะอยู่ที่ทำอย่างไรจะมีการออม ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การออมเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจก็จริง แต่เกี่ยวพันกับเรื่องทางสังคมมากมาย ถ้าไม่ลด ละ เลิก อบายมุข ก็เกิดการออมยาก เพราะว่าครัวเรือนมีสองซีก คือ ซีกรายได้กับรายจ่าย แน่นอนครับทุกคนก็อยากจะเพิ่มการออมโดยการเพิ่มรายได้ แต่ที่จริงแล้วการเพิ่มการออมทำได้อีกด้านหนึ่งคือ การดูแลรายจ่ายให้ดี อันนี้ก็เกี่ยวข้องกับ
ความคิดซึ่งไม่ใช่เศรษฐกิจอย่างเดียว เป็นเรื่องที่จะต้องบูรณาการร่วมกันระหว่างแนวทางทางเศรษฐกิจและสังคม
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจส่วนรวม ก็คือเรื่อง "ประสิทธิภาพ" กิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพย่อมมีปัญหา โดยเฉพาะปัญหาการขาดกระแสเงินสด กล่าวคือ ถ้าเราไม่มีประสิทธิภาพ เอาเงินสดมาใส่ไปเท่าไร เราก็ยังมีปัญหาเรื่องกระแสเงินสด เพราะว่าการเติมเงินลงไปเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวแต่ปัญหาที่เรียกว่า Cash flow นั้น ความจริงอาจเป็นปัญหาที่เกิดจากการที่เราสู้เขาไม่ได้ในการแข่งขัน ในกรณีเช่นนี้ ถ้าเอาเงินมาอุดหนุนให้เราเพิ่มขึ้นอีกเราก็ยังขาดทุนอยู่ดี จะตัดวงจรนี้ได้ ต้องอาศัยความมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
เรื่องประสิทธิภาพ ผู้ปฏิบัติก็คงจะต้องเป็นนักธุรกิจ เจ้าของ หรือผู้บริหารกิจการ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลทำแทนให้ไม่ได้ แต่ให้ความร่วมมือได้ เพราะฉะนั้น ในเรื่องเศรษฐกิจส่วนรวมจึงเขียนไว้ในนโยบายว่า เอกชนเป็นหัวใจของความสำเร็จ รัฐบาลเสริม เป็นกิจกรรมที่ต้องร่วมมือกัน และพระเอกก็คงจะเป็นเอกชน ถ้าเอกชนมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยก็จะได้อานิสงส์ คือมีความสามารถที่จะฉวยโอกาสจากโลกาภิวัตน์ได้ หรือภาษาทั่วไปเรียกว่า มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น คำๆ นี้ก็เป็นคำที่ทุกคนรู้ดีว่า ประเทศที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขัน ในที่สุดแล้วก็จะแต่จะโดนทิ้งห่างไป และในโลกโลกาภิวัตน์มีหลายซีก ซีกที่โดนทิ้งห่างไปเป็นซีกที่ลำบากมาก
แนวความคิดของนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงที่ร่างขึ้น ก็คือ สำหรับผู้ที่มีโอกาส การเพิ่มประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญที่สุด สำหรับผู้ที่ไม่อาจปรับตัวได้ หรือต้องใช้เวลานานในการปรับตัว ก็อาจจะเป็นไปได้ที่ว่า รัฐอาจจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งผมขอเรียกว่าการสงเคราะห์ คือการดูแลให้ช่วยตัวเองได้ ถ้าไม่แบ่งแยกอย่างนี้ ก็จะเกิดความไม่มีประสิทธิภาพในการดูแล เช่น งบประมาณ เป็นต้น งบประมาณใช้ไปก็ไม่รู้ว่าตรงนี้สงเคราะห์ หรือว่าช่วยทำให้เกิดความเข้มแข็ง แยกก็ไม่ออกเพราะให้เหมือนกันหมดทุกคน
เพราะฉะนั้น เรื่องประสิทธิภาพคำเดียว สามารถนำมาใช้กำหนดวิธีคิดและวิธีทำงาน รวมไปถึงการจัดการเรื่องงบประมาณ พวกที่มีประสิทธิภาพเราต้องให้เป็นพระเอก แล้วรัฐบาลเข้าไปทำงานด้วย พวกที่ยังปรับตัวไม่ทันเราอาจจะต้องมีมาตรการที่ชะลอผลกระทบ ผู้ที่ปรับตัวไม่ได้ก็คงจะต้องอยู่ในภาคที่เราสงเคราะห์ตามเกณฑ์ที่เรามีความสามารถ เพราะฉะนั้นการเรียงลำดับก็มีอยู่ในลักษณะอย่างนี้
เรื่องสุดท้ายในภาคเศรษฐกิจส่วนรวม ก็คือ "ความสมดุล" ผมได้เรียนแล้วว่า อันตรายใหญ่หลวงของแนวทางที่ไม่สมดุลเป็นเรื่องที่น่าหนักใจ เพราะความไม่สมดุลเป็นปัญหาที่มองเห็นได้ยาก เหมือนเชื้อโรคที่สะสมอยู่ในตัว ถ้าสมมุติเราไปวินิจฉัยว่า คุณกำลังจะเริ่มมีความอ่อนแอแล้วนะ คนไข้จะบอกไม่จริง ผมเข้มแข็ง เพราะยังไม่มีอาการ วิธีเดียวที่จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ ก็คือ ถ้ามีผู้ยึดมั่นในการปรับใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะลดทอนความไม่สมดุลได้โดยตัวของมันเอง ถ้าไม่เช่นนั้นก็เถียงกันไม่รู้จบ ไม่ว่าจะเรื่องขาดดุลงบประมาณ เงินเฟ้อ หรือเรื่องอื่นๆ ไม่มีวันที่จะจัดการได้ เพราะมองไม่เห็นความไม่สมดุล
ผมขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนปี ๒๕๔๐ นอกจากจะไม่เข้าใจว่าเราไม่สมดุลแล้ว ยังหลงใหลได้ปลื้มว่ากำลังดีๆ อยู่ มาขัดจังหวะทำไม เหมือนกำลังดูหนังสนุกๆ อยู่ มาบอกเลิกดูเถอะ จะเป็นไปได้อย่างไร ก็ไม่มีใครเลิกใช่ไหมครับ คนที่จะมาจัดการให้เลิก ก็ไม่สามารถจะทำได้ ในที่สุดแล้วมันก็ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ คือลูกโป่งแตก และทำให้เดือดร้อนกันหมด เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่จริงๆ แล้วผมก็มองไม่เห็นว่า ถ้าเราไม่อาศัยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เราจะจำกัด เรื่องพวกนี้ให้อยู่ในขอบเขตได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ในภาคส่วนที่เป็นเศรษฐกิจส่วนรวม เป็นภาคส่วนที่ต้องอาศัยเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแน่นอนที่สุด นี่เป็นความเข้าใจของผมต่อวิธีปรับใช้เศรษฐกิจพอเพียงโดยแยกออกเป็นภาค
ส่วนหลักๆ 3 ภาคดังกล่าว
เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่สูตรสำเร็จ... ต้องประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม
สำหรับพวกเราที่เป็นข้าราชการ มี ๒-๓ เรื่องที่ผมอยากจะฝากไว้ ข้อที่หนึ่งก็คือว่า ถ้าเราคุ้นเคยกับการทำงานในลักษณะที่ว่า อยากได้อะไรก็ให้สั่งมาให้ชัดเจน ยิ่งบอกมาเป็นสูตรสำเร็จยิ่งดี เนื่องจากตนส่วนใหญ่มักจะชื่นชมว่าถ้าใครมีสูตรสำเร็จที่ง่ายๆ หน่อย แล้วโลกทั้งโลกก็แสวงหาสูตรสำเร็จที่ง่ายๆ อย่างเช่นรวยได้ด้วยหวย แล้วก็มีคนใบ้หวยเก่ง อย่างนี้ก็คือสูตรสำเร็จที่ง่าย แต่ในชีวิตจริงไม่ใช่อย่างนั้น
ท่านข้าราชการทั้งหลาย ท่านต้องเข้าใจว่านโยบายเศรษฐกิจพอเพียงที่ขอให้ท่านนำไปปรับใช้ ไม่ใช่ไปบอกประชาชนว่า ทุกคนต้องทำ หนึ่ง สอง สาม สี่ เราต้องให้ประชาชนและคนที่เราทำงานด้วยเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ภารกิจสำคัญของท่านในการดูแลให้เกิดความเข้าใจคงจะไม่ง่าย เพราะท่านจะต้องอธิบายซ้ำแล้วซ้ำอีก ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องปรับอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เป็นประโยชน์และเป็นมงคลกับตัวเอง ปรัชญานี้เป็นปรัชญาที่ดีแน่ แต่การนำมาใช้ ต้องดึงสิ่งที่ตรงกับความเป็นตัวของตัวเองไปใช้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ใช่สูตรสำเร็จเหมือนสูตรปุ๋ยที่เกษตรกรคุ้นเคย คุณจะเอาอะไรเท่าไร ๔๐ : ๔๐ : ๔๐ อย่างนี้ไม่มีนะครับ เพราะฉะนั้นข้อนี้สำคัญ
ข้อที่สองที่สำคัญมากเหมือนกัน เรื่องนี้หากพูดเผินๆ คล้ายๆ กับเข้าใจง่าย พูดครั้งหนึ่งก็นึกว่ารู้เรื่องหมด ไม่มีหรอกครับ ผมเองศึกษามา ผมกราบเรียนด้วยความเคารพว่า จนวันนี้ผมก็ยังไม่รู้ทั้งหมด ไม่มีทางรู้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นกระบวนการเรียนรู้สำคัญมาก ทำอย่างไรท่านจะไปช่วยกันสร้างให้มีกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกันในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ผมขอฝากไว้สองข้อนะครับ ว่าในภาคปฏิบัติ ขอร้องท่านที่อยู่ในแต่ละองค์กรโดยเฉพาะท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องทำให้เกิดความเข้าใจ แต่ไม่ใช่พูดครั้งเดียวแล้วก็จบ จำเป็นจะต้องไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ เรียนจากประสบการณ์ เรียนจากความถูกความผิด
สุดท้ายที่ผมอยากจะกราบเรียน ก็คือว่า สำหรับพวกเราทุกคนนะครับ ผมจำได้ว่า นอกจากประโยคแรกๆ ที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกว่าพวกเราจะน้อมนำปรัชญานี้มาปรับใช้ให้กว้างขวางที่สุด ต่อมาท่านได้กล่าวถึงวิถีปฏิบัติที่เราควรจะยึด ๔ ป. คือ โปร่งใส เป็นธรรม ประหยัด ประสิทธิภาพ ซึ่งผมคิดว่าจำเป็นมากสำหรับระบบราชการ เพราะระบบราชการต้องตอบคนเป็นจำนวนมาก แล้วถ้าไม่โปร่งใสก็ตอบยาก
"ความโปร่งใส" ไม่ใช่จำเป็นเฉพาะระบบราชการ เดี๋ยวนี้เขาใช้คำแปลจากภาษาอังกฤษที่เรียกว่า ธรรมาภิบาล (Good Governance) สำหรับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน "เป็นธรรม" เป็นคำที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ส่วน "ประหยัด" นั้น สำหรับพวกเราที่อยู่ในภาครัฐ ต้องใส่ใจอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าที่เราใช้จ่ายกันอยู่ทุกวันนี้ก็คือภาษีของประชาชน เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่ที่จะต้องดูแลเนื่องจาก
เป็นเงินของประชาชน สุดท้าย "ประสิทธิภาพ" เป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน เพราะถ้าเราโปร่งใส เป็นธรรม และประหยัด แต่ไม่ได้ผลอะไรเลย จะทำไปทำไมให้เสียเวลาเปล่าๆ
คำ ๔ คำนี้ เข้าใจง่ายในแต่ละคำ แต่อยากจะกราบเรียนฝากไว้ว่า เวลาทำจริงๆ ต้องผสมกันให้ดีๆ นะครับ น้ำหนักจะต้องพอดีๆ ถ้าเอาประสิทธิภาพมากไปก็ประหยัดลำบาก ถ้าประหยัดจนตัวหิวท้องกิ่ว ก็ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้น เวลาจัดการต้องระวังให้มาก ที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวถึง ๔ ป. คือหลักปฏิบัติ แต่เวลาทำจริงๆ ก็ต้องนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ด้วย
จะเห็นได้ว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ใช้ได้กับทุกภาคส่วน ทุกบท ทุกวิชาชีพ และทุกสถานะ เรื่องที่ผมได้รับมอบหมายให้พูดเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาประเทศในช่วงแผนฯ ๑๐ ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ก็คงจะมีเพียงแค่นี้ ขอขอบพระคุณทุกท่านครับ
--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--
-พห-