ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก และแนวโน้มปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 21, 2010 14:25 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

  • เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 12.0 เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ในไตรมาสที่ผ่านมา เป็นการฟื้นตัวที่เร็วกว่าที่คาด โดยการใช้จ่ายครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกปรับตัวดีขึ้น ตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนประกอบกับรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจากการที่ราคาพืชผลหลักสูงขึ้น รวมทั้งการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเมืองไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 4.7 ล้านคน
  • หากปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวจากไตรมาสสี่ ปี 2552 ร้อยละ 3.8 (% QoQ SA) นับเป็นการขยายตัว 4 ไตรมาสติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้น และอัตราการว่างงานลดลง
  • การประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 — 4.5 ถึงแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.0 แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงในช่วงที่เหลือของปี คือ วิกฤติทางการคลังในยุโรป จะเป็นปัจจัยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง จะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาเมืองไทย และเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้เบิกจ่ายงบประมาณ การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และงบประมาณประจำปี 2554 อาจมีความล่าช้าออกไป รวมทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุน นักธุรกิจ และประชาชน จากความไม่แน่นอนทางการเมือง จะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนชะลอลง ส่วนปัจจัยทางด้านภัยแล้ง จะส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรได้รับความเสียหาย คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.0 - 4.0 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.3 การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดร้อยละ 4.1 ของ GDP และน้ำมันดิบดูไบราคาบาร์เรลละ 75-85 ดอลลาร์สรอ.
  • การบริหารเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2553 ควรให้ความสำคัญดังนี้ 1) การเร่งรัดการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ 2) การดูแลป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง และการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรอย่างเหมาะสม 3)การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสมดุลเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 4) การเร่งรัดโครงการลงทุนสำคัญๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง2555 เพื่อชดเชยผลกระทบที่เกิดจากการลดลงของรายจ่ายภาครัฐภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณปกติและสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน และ 5) การติดตาม ประเมินสถานการณ์วิกฤตการณ์ทางการคลังในกลุ่มประเทศยุโรป และการเตรียมการรองรับผลกระทบจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาด้านการผลิตและการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรป

เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก และแนวโน้มปี 2553

เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 12.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่งผลให้การส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุน และการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น การผลิตภาคอุตสาหกรรมเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาทั้งอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศและเพื่อส่งออก หากปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้วปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2553 เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 (% QoQ SA) นับเป็นการขยายตัว 4 ไตรมาสติดต่อกันจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 1.4 และ 4.0 ในไตรมาสที่สอง สาม และสี่ ของปี 2552 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางการฟื้นตัวอย่างชัดเจน

สัญญาณบวกในไตรมาสแรก ปี 2553 ได้แก่

(1) การส่งออก มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 32.0 เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 12.2 ในไตรมาสที่สี่ ปี 2552 การส่งออกสินค้าหลักๆ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และแผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 73.4 53.0 35.5 และ 59.5 ตามลำดับ

(2) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 4.0 เนื่องจากผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จากการจ้างงานเพิ่มขึ้นในสาขาการผลิตต่างๆ รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 เนื่องจากราคาพืชผลหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9และผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 70.9 เพิ่มขึ้นจาก 69.2 ในไตรมาสที่ผ่านมา

(3) การลงทุนในภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 15.8 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นสูงขึ้นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในไตรมาสแรก ของปี 2553 อยู่ที่ระดับ 59.0 เพิ่มจากไตรมาสก่อนที่ระดับ 57.8 ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งขายหน่วยก่อสร้างที่แล้วเสร็จเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในส่วนของการลดอัตราค่าธรรมเนียมการโอน

(4) ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 22.8 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตที่เชื่อมโยงกับภาคการส่งออกได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และการผลิตยานยนต์ ขยายตัวร้อยละ 60.7 52.2 และ 86.6 ตามลำดับ ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ วัสดุก่อสร้างเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก และยางและผลิตภัณฑ์ยาง อัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมโดยรวมอยู่ที่ระดับร้อยละ 68.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 61.0 ในปี 2552 และร้อยละ 67.6 ในปี 2551

(5) ภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสนี้มีจำนวน 4.7 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 28.4 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นจำนวนที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น และอัตราการเข้าพักของโรงแรมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60.7 จากร้อยละ 53.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวถึงร้อยละ 15.5

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2553

ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่องในระดับสูงในไตรมาสแรก แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนของการหลุดพ้นจุด ต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยและชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะมีการขยายตัวสูงในปีนี้ ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนของภาคเอกชน และการบริโภคของประชาชน โดยส่วนหนึ่งมีเม็ดเงินจากภาครัฐในโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เป็นแรงสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปี ยังมีปัจจัยเสี่ยงสูง ทั้งจากความไม่แน่นอนของภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและภาวะการเมืองภายในประเทศ ที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่เต็มตามศักยภาพ จึงคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ไว้ตามที่ได้ประมาณการเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งคาดว่าอัตราการขยายตัวทั้งปีอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5 — 4.5 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.0 — 4.0 มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 15.5 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 4.1 ของ GDP ลดลงจากการเกินดุลประมาณร้อยละ 7.7 ของ GDP ในปี 2552

1. ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสแรก ปี 2553

ด้านการใช้จ่าย

การใช้จ่ายครัวเรือน: ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว โดยขยายตัวร้อยละ 4.0 เทียบกับการหดตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.1 ในปี 2552 ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจาก (1) ภาวะการจ้างงานปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร (2) รายได้เกษตรกรสูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นจากความต้องการของตลาดโลกที่ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (3) การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตามโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในไตรมาสแรกเป็นการเพิ่มขึ้นในสินค้าประเภทคงทนร้อยละ 29.8 สินค้ากึ่งคงทนร้อยละ 11.2และสินค้าไม่คงทนร้อยละ 1.4 โดยที่สินค้าไม่คงทนประเภทอาหาร และมิใช่อาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 และ 1.5 ตามลำดับ ในขณะที่การใช้จ่ายในภาคบริการลดลงร้อยละ 4.1 อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ตึงเครียดมากขึ้นในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2553 สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2553 ลดลงต่อเนื่องจากระดับ 71.9 ในเดือนมกราคม มาอยู่ที่ระดับ 70.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ และ 69.8 ในเดือนมีนาคม ตามลำดับ1

การใช้จ่ายภาคภาคครัวเรือน

    (%YoY)                              2552                     2553
                             ทั้งปี      Q1      Q2     Q3      Q4         Q1
 การใช้จ่ายภาคเอกชน           -1.1    -2.5    -2.2   -1.3      1.4       4.0
 สินค้าคงทน                   -8.2   -18.0   -13.8   -8.5      8.8      29.8
 สินค้ากึ่งคงทน                 -6.7    -8.6    -9.1  -10.3      0.7      11.2
 สินค้าไม่คงทน                  0.0    -1.6    -1.3    0.9      2.1       1.4
  - อาหาร                    1.4     1.2    -0.2    3.2      1.4       1.2
  - มิใช่อาหาร                -1.0    -3.7    -2.0   -0.8      2.6       1.5
 บริการ                       2.9     7.1     4.8    2.8     -2.0      -4.1
ที่มา สศช.

การลงทุนภาคเอกชน: ขยายตัวร้อยละ 15.8 เป็นการขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 โดยปรับตัวดีขึ้นทั้งการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 17.7 และ 9.7 ตามลำดับ ตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน เช่นเดียวกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสอดคล้องกับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 1.7 ในไตรมาสที่แล้ว จะเห็นได้จากการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวถึงร้อยละ 23.8 เป็นการขยายตัวครั้งแรกหลังจากที่หดตัวต่อเนื่องถึง 4 ไตรมาส สำหรับการลงทุนก่อสร้างขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 โดยเฉพาะพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตกรุงเทพมหานครขยายตัวร้อยละ 46.9 ทั้งนี้ เป็นการขยายตัวทั้งที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ และอุตสาหกรรม

ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 55.7 ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการ ด้านการผลิตและด้านคำสั่งซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ในช่วงไตรมาสแรก อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้า ปรับลดลงเหลือ 53.5 ในเดือนมีนาคม จาก 57.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากความกังวลจากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศที่การชุมนุมได้ทวีความรุนแรงตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม

"การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 โดยขยายตัวทั้งการลงทุนในเครื่องจักรและการก่อสร้าง"

การส่งออก: มูลค่าและปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยไตรมาสแรกของปี 2553 มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.0 จากที่หดตัวร้อยละ 13.9 ในปี 2552 โดยปริมาณและราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 และ 12.1 ตามลำดับ เป็นการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์จากต่างประเทศตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเป็นผลจากการเปิดการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) รวมทั้งมูลค่าการส่งออกที่ต่ำในปีก่อนหน้าเมื่อคิดในรูปเงินบาท มูลค่าการส่งออกในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 และราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

การส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและราคา โดยขยายตัวร้อยละ 6.1 และ 51.0 ตามลำดับ ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.2 เช่นเดียวกับสินค้าอุตสาหกรรมที่มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 และ 29.3 ตามลำดับ ส่วนราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 52.7และ 40.8 ตามลำดับ เป็นผลจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น และการเปิดการค้าเสรีอาเซียน รวมถึงการส่งออกไปยังตลาดจีนที่ขยายตัวสูงมาก ในขณะที่สินค้าอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ16.2 สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ที่ขยายตัวร้อยละ 34.1 และผัก ผลไม้ทั้งในรูปสด แช่แข็ง และบรรจุกระป๋องและแปรรูปอื่น ๆ ที่ขยายตัวร้อยละ 18.7 เมื่อแยกตามประเภทอุตสาหกรรมส่งออก พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง และสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.4 และ 33.2 ตามลำดับ แต่มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงหด

"การส่งออกขยายตัวทั้งสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าอาหาร โดยขยายตัวร้อยละ 32.0 ตลาดส่งออกหลัก เช่น อาเซียน จีน สหรัฐฯ ปรับตัว ดีขึ้น"

ตลาดส่งออก: เพิ่มขึ้นทั้งในตลาดหลักและตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน (9) ที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 67.3 เช่นเดียวกับจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (15) ที่ขยายตัวร้อยละ 69.9 22.8 29.4และ 21.7 ตามลำดับ สำหรับตลาดใหม่ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น เกาหลีใต้ (ร้อยละ 42.8) ไต้หวัน (ร้อยละ 69.6) และ อินเดีย (ร้อยละ 92.4) เป็นต้น

การนำเข้า: มูลค่า ปริมาณและราคานำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ในไตรมาสแรกของปี 2553 มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 63.6 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 โดยราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ปริมาณการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 47.4 เป็นอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับการหดตัวร้อยละ 4.8 ในไตรมาสที่แล้ว ทั้งนี้ การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ

"การนำเข้าขยายตัวเพิ่มสูงมาก สินค้านำเข้าทุกหมวดขยายตัว โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนสินค้าเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นมีราคานำเข้าสูงขึ้นจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบ"

โลกและเศรษฐกิจภายในประเทศทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าเพื่อตอบสนองกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นโดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานต่ำของปีที่ผ่านมา

เมื่อพิจารณาเป็นรายหมวด พบว่า สินค้านำเข้าทุกหมวดขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้น โดย (1) สินค้าทุนขยายตัวสูง ขยายตัวร้อยละ 23.1 จากที่หดตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากการลงทุนภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเครื่องจักร (2) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ขยายตัวร้อยละ 70.4 ต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้วที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ตามการส่งออกที่เพิ่มขึ้น และภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตเพิ่มขึ้น (3) สินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.8 เทียบกับร้อยละ 12.7 ในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้มีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น โดยปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.3 และราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 และ (4) สินค้าเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น ราคานำเข้าเพิ่มขึ้น ปริมาณการนำเข้าขยายตัวในอัตราที่ต่ำ โดยมูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 41.7 จากที่ลดลงร้อยละ 2.5 ในไตรมาสที่ผ่านมา ที่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 และราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.5 ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจทำให้มีความต้องการสินค้าเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นเพิ่มขึ้น

อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากราคาส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นมากกว่าราคานำเข้า โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 ขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 ทำให้อัตราการค้าในไตรมาสแรกของปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นผลดีต่อรายได้ของผู้ส่งออก

"อัตราการค้าปรับตัวดีขึ้นโดยขยายตัวร้อยละ 1.0 เนื่องจากราคาส่งออกสูงกว่าราคานำเข้า"

ดุลการค้า: ในไตรมาสแรกเกินดุล 2,133 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 69,834 ล้านบาท) ต่ำกว่าการเกินดุล 2,673 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 89,039 ล้านบาท) ในไตรมาสที่แล้ว

"ดุลการค้ายังคงเกินดุลแต่ต่ำกว่าไตรมาสที่แล้ว"
(ยังมีต่อ).../ด้านการผลิต:..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ