(ต่อ1)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก และแนวโน้มปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 21, 2010 14:51 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ด้านการผลิต:

สาขาเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 0.2 เป็นผลมาจากผลผลิตพืชหลักๆ เช่น ปาล์ม ข้าวเปลือก และยางพาราเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 4.2 และ 3.3. ตามลำดับ ผลผลิตส่วนหนึ่งมาจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกในช่วงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน สำหรับผลผลิตข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นเนื่องจากการคาดการณ์ว่าราคาพืชอาหารจะมีระดับสูง จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกส่งผลให้ข้าวนาปรังออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ราคาพืชผลขยายตัวร้อยละ 16.9 โดยเฉพาะราคายางพาราเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 110.7 เนื่องจากการฟื้นตัวทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลกทำให้อุปสงค์ยางพาราของอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากประเทศจีน ราคาข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เนื่องจากอุปทานโลกลดลงจากปัญหาภัยแล้ง เช่น อินเดียและฟิลิปปินส์ มีผลผลิตข้าวลดลงจนมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวจากไทย ในขณะที่ราคาสินค้าปศุสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 ตามราคาสุกรและไก่เนื้อที่เพิ่มขึ้น จากการที่ต้นทุนอาหารสูงขึ้นทำให้เกษตรกรเลี้ยงไก่น้อยลง ส่วนสุกรมีอัตราการเติบโตช้าลงเนื่องจากสภาพอากาศร้อน การที่ราคาและผลผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้รายได้เกษตรกรในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 19.3

"สาขาเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 0.2 ในขณะที่ราคาปรับตัวดีขึ้นมาก ส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น"

ดัชนีการผลิตภาคเกษตรกรรม

    % YoY        2550                  2551                                2552                  2553
                  ทั้งปี    ทั้งปี     Q1     Q2      Q3      Q4     ทั้งปี    Q1    Q2     Q3     Q4      Q1
 ดัชนีผลผลิตพืชผล     1.1    9.0    4.6    16.4    18.9    3.5    -2.3   2.5   -6.4   -2.4   -2.5    2.0
 ดัชนีราคาพืชผล     15.3   22.1   15.0    23.9    34.2   15.8    -7.5   0.0  -16.1   -14.9   2.8    16.9
 รายได้เกษตรกร    16.5   33.1   20.3    44.2    59.5   19.9    -9.6   2.5  -21.5   -17.0   0.2    19.3

สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 22.8 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 เป็นผลมาจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกขยายตัวร้อยละ 49.6 สอดคล้องกับภาวะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสนี้ที่ขยายตัวร้อยละ 41.8 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวสูง ได้แก่ อาหารทะเลแช่แข็งและอาหารทะเลกระป๋อง ที่ขยายตัวร้อยละ 12.7และ 23.8 ตามลำดับ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 86.6 52.2 และ 60.7 ตามลำดับ โดยที่การผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวในอัตราเร่งติดต่อกัน 4ไตรมาส เป็นผลจากการที่ประเทศจีนปรับตัวเป็นประเทศฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ จึงมีอุปสงค์ในการนำเข้าส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์จากไทยเพิ่มขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศขยายตัวตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก วัสดุก่อสร้าง และยางและผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 62.5 8.4 และ 20.2 ตามลำดับ เป็นการขยายตัวตามภาวะการก่อสร้างของภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 และการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

อัตราการใช้กำลังการผลิตในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 68.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 66.0 ในไตรมาสที่ผ่านมา โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเพิ่มกำลังการผลิต ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร (ร้อยละ 83.4 จากร้อยละ 60.9) ยางและผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 68.6 จากร้อยละ 62.2) เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (ร้อยละ 58.6 จากร้อยละ 54.9) และยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง (ร้อยละ 72.8 จากร้อยละ 69.9) อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ การผลิตรองเท้า ผลิตภัณฑ์หนังและเครื่องเรือน อยู่ที่ระดับร้อยละ40.6 29.8 และ 27.8 ตามลำดับ

"สาขาอุตสาหกรรมเร่งตัวขึ้นตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ"

สาขาก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 5.2 เป็นการปรับตัวดีขึ้นของการก่อสร้างภาคเอกชน จะเห็นได้จากปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น และลวดเหล็ก ขยายตัวร้อยละ 7.2 11.5 และ 25.0 ตามลำดับ ประกอบกับพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างรวมขยายตัวร้อยละ 35.4 เป็นการขยายตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส พื้นที่ก่อสร้างที่อยู่อาศัย และอาคารพาณิชย์ ขยายตัวร้อยละ 35.8 และ 37.9 ตามลำดับ เป็นการขยายตัวของที่อยู่อาศัยทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียม ส่วนอาคารพาณิชย์เป็นการลงทุนเพื่อขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีก โดยเน้นรูปแบบร้านค้าขนาดเล็ก และคอมมูนิตี้มอลล์ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่ฟื้นตัวอีกทั้งการรุกขยายสาขาของดิสเคานท์สโตร์ที่มีขนาดเล็กลง เพื่อให้สอดรับกับการขยายตัวของชุมชนในพื้นที่ต่างๆ

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 0.7 เป็นผลมาจากราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาในตลาดโลก ส่วนราคาคอนกรีต และซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 7.9 และ 2.2 ตามลำดับ

"การก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นตามภาวะการก่อสร้างภาคเอกชนและการดำเนินมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล"

สาขาอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวร้อยละ 3.9 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และการดำเนินมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล รวมทั้ง ผู้ประกอบการทางด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้

จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยอยู่ที่ระดับ 59.0 เพิ่มจากระดับ 57.8 ในไตรมาสที่ผ่านมา รวมทั้งผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น โดยสะท้อนจากเงินให้กู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลของสถาบันการเงินที่ขยายตัวร้อยละ 10.7

สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 15.5 เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทย เช่น จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยไตรมาสนี้มีนักท่องเที่ยวจำนวน 4.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60.7 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 54.1 ในไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนราคาห้องพักเฉลี่ยทั้งประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.1 เป็นการเพิ่มเกือบทุกภูมิภาคยกเว้นภาคกลาง

อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มชะลอตัวในเดือนสุดท้ายของไตรมาส จากที่ขยายตัวร้อยละ 41.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นร้อยละ 18.0 ในเดือนมีนาคม เป็นผลมาจากปัญหาการชุมนุมประท้วงทางการเมืองที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 ทำให้ประเทศต่างๆ เริ่มประกาศเตือนพลเมืองของตนให้ระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้บริเวณที่มีการชุมนุมหรือทบทวนและหลีกเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทย

ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น มีจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสนี้ 4.7 ล้านคน สูงสุดในประวัติการณ์

การจ้างงาน มีจำนวน 37.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยที่การจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาค้าปลีกและค้าส่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 และ 3.0 ตามลำดับ ตามการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สาขาที่การจ้างงานลดลง คือ สาขาอุตสาหกรรมและสาขาก่อสร้าง ลดลงร้อยละ1.1 และ 1.2 ตามลำ ดับ สำ หรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำ นวน 4.3 แสนคน ลดลงจาก 7.8 แสนคนในช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลงร้อยละ 44.4 โดยมีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.1 ส่งผลให้จำนวนผู้ขอขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานลดลงร้อยละ 49.1

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การจ้างงานเริ่มมีความตึงตัว สะท้อนจากสัดส่วนของตำแหน่งงานว่างทั้งประเทศต่อผู้สมัครงานใหม่ เท่ากับ 0.9 แสดงให้เห็นว่าอุปสงค์ต่อการจ้างงานที่ใกล้เคียงกับอุปทานของแรงงาน ประกอบกับเริ่มมีการขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอเป็นต้น

การจ้างงานเพิ่มขึ้นผู้ว่างงานลดลง อัตราการว่างงานร้อยละ 1.1

ภาวะการคลัง

ดุลการคลัง: ในไตรมาสที่สอง ของปีงบประมาณ 2553 (ม.ค. — มี.ค.53) รัฐบาลจัดเก็บรายได้เป็นจำนวน326,509 ล้านบาท เกินกว่าเป้าหมาย 61,220.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.1 โดยมีภาษีหลักที่จัดเก็บเกินเป้าหมายได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตน้ำมันฯ และภาษีรถยนต์ รวมครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ2553 (ต.ค. 52-มี.ค.53) จัดเก็บรายได้เกินเป้าหมาย 128,896 ล้านบาทหรือร้อยละ 23.6 ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสนี้มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 432,473 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25.4 ของวงเงินงบประมาณ 1,700,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ที่ร้อยละ 23.0 โดยงบประมาณรายจ่ายประจำเบิกจ่ายได้ร้อยละ 24.7 และงบประมาณรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้ร้อยละ 30.0 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 21.0 สำหรับงบประมาณโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (SP2) ในช่วงไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2553 ได้มีการเบิกจ่าย 70,781.9 ล้านบาทหรือร้อยละ 26.6 ของวงเงินที่ได้รับจัดสรร 265,979 ล้านบาท รวมครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2553 มีการเบิกจ่ายแล้วทั้งสิ้น 105,806 ล้านบาทหรือร้อยละ 39.8 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรแล้ว

ดุลงบประมาณในไตรมาสนี้ขาดดุลจำนวน 169,112 ล้านบาท เมื่อรวมดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 22,351 ล้านบาท และการกู้เงินโดยการออกพันธบัตรและตั๋วเงินคลังเพื่อชดเชยการขาดดุลและเพื่อการบริหารเงินคงคลัง 95,000 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดขาดดุล 51,762 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลมีเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 จำนวน 118,551 ล้านบาท แสดงถึงฐานะการคลังภาครัฐบาลที่มั่นคง

"รัฐบาลจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายค่อนข้างมากโดยเฉพาะภาษีที่มาจากการบริโภค ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และสามารถเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีได้สูงกว่าเป้าหมาย"

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2553 มีจำนวน 4,075,144 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.9 ของ GDP เพิ่มขึ้นจาก 3,967,155 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2552 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ภายในประเทศที่รัฐบาลกู้โดยตรง ซึ่งได้แก่เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการบริหารหนี้ เงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และเงินกู้ชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

"ฐานะการคลังอยู่ในเกณฑ์ดีหนี้สาธารณะคิดเป็นร้อยละ 41.9 ของ GDP"

ภาวะการเงิน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสแรก เงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 3.8 เป็นบวกติดต่อกัน 2 ไตรมาส ทั้งนี้ ดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 และมิใช่อาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสแรกของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 12.0 เป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ไตรมาส เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตร ผลิตภัณฑ์เหมืองแร่ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 21.8 11.4 และ 9.7 ตามลำดับ ชี้ให้เห็นถึงแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และราคายางพาราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวและยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น

"อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกปี 2553 เท่ากับร้อยละ 3.8"

อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัว ในไตรมาสแรกของปี 2553 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี เพื่อสนับสนุนความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจประกอบกับมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม ยกเว้นประเทศอินเดีย ออสเตรเลีย และมาเลเซียที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน และแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่ดำเนินมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น เช่น ประเทศจีนที่ดึงเงินออกจากระบบเศรษฐกิจ และเพิ่มระดับเงินสำรองของธนาคาร และประเทศฟิลิปปินส์ที่ปรับลดวงเงินงบประมาณในการทำธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร (RP)อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ยังคงอยู่ในระดับต่ำ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 0.70 ต่อปีมาเป็นร้อยละ 0.68 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.86 ต่อปี และเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ ณ สิ้นไตรมาสแรกปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงเท่ากับร้อยละ -2.73 และ 2.45 ต่อปีตามลำดับ ซึ่งถึงแม้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงจะติดลบต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่สอง แต่ยังไม่ปรากฏสัญญาณของการเกิดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากดัชนีราคาที่อยู่อาศัยยังคงลดลงต่อเนื่องจากปี 2552

"อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและหลายประเทศยังทรงตัว เพื่อรักษาความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับต่ำ"

เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของตั๋วแลกเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ในขณะที่สินเชื่อรวมของสถาบันรับฝากเงิน ขยายตัวร้อยละ 10.6 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.9 ในไตรมาสที่แล้ว จากการขยายตัวได้ดีของสินเชื่อภาคครัวเรือนโดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการจัดหาที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเพื่อการซื้อ/เช่าซื้อรถยนต์ แต่สินเชื่อธุรกิจหดตัวร้อยละ 6.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 8.3 ในไตรมาสก่อนหน้าจากมุมมองเชิงบวกที่มีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตชะลอตัวเล็กน้อยแต่ยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกับการเพิ่มขึ้นของการเบิกเงินสดล่วงหน้าเนื่องจากความเชื่อมั่นในทิศทางการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจ สัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อคงค้างยังลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 2.50 จากร้อยละ 2.66 ในไตรมาสก่อน สภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์ยังเพิ่มขึ้นจาก 1.32 ล้านล้านบาท ในไตรมาสก่อนหน้า เป็น 1.45 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตร ธปท. และ Net R/P position

"เงินฝากรวมตั๋วแลกเงินชะลอตัว สินเชื่อรวมขยายตัว จากการเร่งตัวขึ้นมากของสินเชื่อครัวเรือน และสินเชื่อธุรกิจติดลบน้อยลง"
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสแรกเกินดุล 5,252 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 172,511 ล้านบาท)เกินดุลต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้วที่เกินดุล 4,274 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยเป็นผลจากการเกินดุลการค้า2,133 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการเกินดุลบริการ รายได้ และเงินโอน 3,119 ล้านดอลลาร์ สรอ.
  • เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิ ในไตรมาสแรกของปี 2553 เงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุล 6.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจาก 2.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งในส่วนของนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติที่ปรับตัวเป็นการไหลเข้า รวม 1.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อเทียบกับการไหลออก 2.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้า รวมถึงปริมาณการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสำคัญ
"ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ส่วนบัญชีทุนมีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค"
  • เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2553 เท่ากับ 147.58 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี Net Forward Position อีก 11.92 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 5.3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และเท่ากับมูลค่าการนำเข้า 9.8 เดือน
  • เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยไตรมาสแรกของปี 2553 เท่ากับ 32.84 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.28 จากไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 6.99 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 เนื่องจากการไหลเข้าของเงินลงทุนตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.40 และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate: REER) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.39 ล่าสุดในเดือนเมษายน 2553 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 32.24 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อัตราเฉลี่ยในวันที่ 1-18 พฤษภาคม เท่ากับ 32.28 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.
  • ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นไตรมาสแรกปิดที่ 788.0 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 จากไตรมาสที่สี่ ปี 2552 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและในภูมิภาค ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนผลประกอบการของภาคธุรกิจ ส่งผลให้มีเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสนี้นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 42.5 พันล้านบาท แต่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 19.1 พันล้านบาท จาก 20.0 พันล้านบาทในไตรมาสที่แล้ว และตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนตลาดหลักทรัพย์ได้รับแรงกดดันจากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ดัชนีปิด ณ วันที่ 19 พฤษภาคม ที่ 765.54 จุด มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเป็น 14.3 พันล้านบาท นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิระหว่างวันที่ 1 เมษายน — 19 พฤษภาคม รวม 42.8 พันล้านบาท
  • มูลค่าซื้อขายตราสารหนี้เพิ่มขึ้น มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด (Outright) ในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นเป็น 61.4 พันล้านบาทต่อวัน อัตราผลตอบแทน (Yield) พันธบัตรรัฐบาลระยะกลางและระยะยาวปรับลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากอุปทานพันธบัตรในตลาดแรกที่ลดลงและแนวโน้มการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 23.8 พันล้านบาทในเดือนเมษายน 2553 นักลงทุนย้ายมาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ จากแรงกดดันของปัญหาการเมืองที่รุนแรงขึ้น โดยมูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 70.6 พันล้านบาทต่อวัน นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 10.6 พันล้านบาท และอัตราผลตอบแทนยังคงปรับลดลงทุกช่วงอายุ
"เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน เท่ากับ 147.58 พันล้านดอลลาร์ สรอ."

"เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. และประเทศคู่ค้า ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับดัชนีค่าเงินที่แท้จริง"

"ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียเป็นสำคัญ"
  • การระดมทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น การระดมทุนของภาคเอกชนมีมูลค่ารวม 232.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 202.9 พันล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2552 โดยเป็นการระดมทุนในตราสารทุน 31.4 พันล้านบาท ในธุรกิจภาคการผลิตและตัวกลางทางการเงิน และการออกหุ้นกู้ 200.7 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นสำคัญ เนื่องจากต้นทุนการกู้เงินระยะยาวจากธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ
"การระดมทุนของภาคเอกชนในตลาดทุนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการออกหุ้นกู้ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์"
(ยังมีต่อ).../2. ความเคลื่อนไหว..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ