(ต่อ3)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก และแนวโน้มปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 21, 2010 15:35 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

3. ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกของปี 2553 และแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2553

เศรษฐกิจโลกได้ฟื้นตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน และเอเชีย โดยการบริโภคและการลงทุนเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว การบริโภคภาคเอกชนของสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนและต่อเนื่อง ส่วนการบริโภคของญี่ปุ่นมีแนวโน้มดีขึ้นแต่คาดว่าจะทรงตัวในระยะต่อไปจากปัญหาเงินฝืด ขณะที่กลุ่มยูโรโซนการบริโภคภาคเอกชนและอุปสงค์ภายในประเทศยังคงทรงตัวในระดับต่ำ และเปราะบางจากการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูงรวมถึงความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (Sovereign risk) ส่วนแรงกดดันเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ในเอเชียเริ่มสูงขึ้น

  • เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 2.5 เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.1 ในไตรมาสที่สี่ ปี 2552 และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 0.8 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของการสะสมสินค้าคงคลัง การส่งออก การซื้อขายบ้านพักอาศัย การลงทุนในอุปกรณ์และซอฟท์แวร์ การขยายตัวในไตรมาสแรกได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคที่ขยายตัวขึ้นโดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทนและบริการราคาสินค้าและบริการที่ไม่รวมหมวดอาหารและหมวดพลังงานชะลอตัวลงโดยขยายตัวร้อยละ 1.7 เทียบกับร้อยละ 2.0 ในไตรมาสที่ผ่านมา ดัชนี PMI ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไตรมาสแรกอยู่ที่ระดับ 58.2 และเพิ่มเป็น 60.4 ในเดือนเมษายน สูงสุดในรอบ 4 ปี สะท้อนการปรับตัวดีขึ้นของอุตสาหกรรมการผลิตอันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนแต่ยังคงเปราะบางจากการจ้างงานที่ยังผันผวน ในไตรมาสแรกปี 2553 มีจำนวนผู้ว่างงาน 15.0 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 9.7 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 10.0 และในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 15.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 9.9 ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรเริ่มฟื้นตัว การขาดดุลการค้ามีแนวโน้มสูงขึ้นจากการเพิ่มการนำเข้าสินค้า โดยราคานำเข้าน้ำมันดิบและสินค้าที่ไม่ใช่พลังงานเพิ่มสูงขึ้น ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ขาดดุลการค้าที่ 116,802 ล้านดอลลาร์ สรอ.(ปรับฤดูกาล) เทียบกับ 3 เดือนแรกของปี 2552 ที่ขาดดุล 92,221 ล้านดอลลาร์ สรอ.

"เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน และเอเชีย แต่กลุ่ม PIIGS มีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการคลังสูง"
  • เศรษฐกิจประเทศกลุ่มยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 0.5 เพิ่มขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 2.2 ในไตรมาสที่สี่ ปี 2552 โดยเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส เมื่อปรับฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เทียบกับร้อยละ 0.0 ในไตรมาสก่อนหน้า การฟื้นตัวของภาคส่งออกขยายตัวตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักคือเยอรมนีและฝรั่งเศส อัตราเงินเฟ้อยังสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.4 และ 1.5 ในเดือนมีนาคมและเมษายนตามลำดับ ค่าเงินยูโรอ่อนตัวลงค่อนข้างแรงโดยในเดือนพฤษภาคม 2553 อ่อนตัวลงร้อยละ 5.24 จากเดือนเมษายน 2553 เมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์ สรอ. (อ่อนสุดในรอบ 14 เดือน) และร้อยละ 2.65 เมื่อเทียบกับสกุลปอนด์ (อ่อนสุดในรอบ 9 เดือน)อัตราการว่างงานเฉลี่ยยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 10 โดยในเดือนมีนาคม ลัตเวีย และสเปน มีอัตราสูงสุดถึงร้อยละ 22.3 และ 19.1 ตามลำดับ

กลุ่ม PIIGS มีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินการคลังสูงโดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะในประเทศอิตาลีและกรีซ มีสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 115.8 และ 115.1 ของ GDP ตามลำดับ ในขณะที่สัดส่วนโดยเฉลี่ยของกลุ่มยูโรโซนอยู่ที่ร้อยละ 78.7 ซึ่งคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยุโรปคาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะของกลุ่มยูโรโซนในปี2553 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 84.7 ของ GDP

  • เศรษฐกิจญี่ปุ่น ไตรมาสแรกปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สี่ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 1.1 และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวจากไตรมาสก่อนร้อยละ 1.2 เทียบกับร้อยละ 1.0 ในไตรมาสที่แล้ว เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสแรก ปรับตัวเป็นบวกเนื่องจากการฐานการบริโภคและการส่งออกที่ต่ำของปีที่ผ่านมา อัตราการว่างงานเดือนมกราคมอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ลดลงจากเดือนธันวาคมปีที่แล้วที่ร้อยละ 5.2 เป็นอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ดัชนี PMI ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์อยู่ที่ระดับ 52.5 และปรับตัวลงเล็กน้อยเป็น 52.4 ในเดือนมีนาคม ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมกราคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 เนื่องจากการส่งออกเพิ่มขึ้นและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมการลงทุนสินทรัพย์คงทนอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากบริษัทญี่ปุ่นยังมีปัจจัยการผลิตส่วนเกินและต้องเผชิญกับอุปสงค์ภายในประเทศที่หดตัว
  • เศรษฐกิจจีน ไตรมาสแรกปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 11.9 เพิ่มจากร้อยละ 10.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจจีนกระเตื้องขึ้นเป็นรูปตัว V ในปี 2552 เป็นผลจากนโยบายการเงินการคลังแบบขยายตัวซึ่งยังดำเนินการต่อในปี 2553 ระดับเงินเฟ้อในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปี 2552 ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.2 ดุลการค้าในไตรมาสแรกเกินดุล 617.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.1 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมูลค่าส่งออกขยายตัวร้อยละ 28.7 และนำเข้าสูงขึ้นกว่า ร้อยละ 64.6 สะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 25.6 ชะลอลงเทียบกับร้อยละ 30.1 ในไตรมาสที่ผ่านมา
"เศรษฐกิจจีน ไตรมาสแรกปี2553 ขยายตัวถึงร้อยละ11.9 เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นเป็นรูปตัว V อันเป็นผลจากนโยบายการเงินการคลังแบบขยายตัวซึ่งยังดำเนินการต่อในปี 2553"
  • เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่และอินเดีย ในไตรมาสแรกของปี 2553 ขยายตัวขึ้นในระดับสูงโดยสิงคโปร์ขยายตัวสูงสุดที่ร้อยละ 15.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.0 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 เกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 7.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.0 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 ฮ่องกงขยายตัวร้อยละ 8.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.6 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 และไต้หวันขยายตัวร้อยละ 13.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.2 ในไตรมาสที่สี่ของปี2552 การผลิตภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวทุกประเทศโดยเกาหลีใต้มีการขยายตัวร้อยละ 19.1 และ 22.1 ในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคมตามลำดับ เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 เป็นผลจากการปรับตัวดีขึ้นของอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อหลายประเทศยังอยู่ในระดับสูง เกาหลีใต้ในไตรมาสแรกปี 2553 มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยร้อยละ 2.7 และสูงกว่าอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2.4ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 โดย Bank of Korea ได้ประกาศเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2553-2555 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 - 4.0 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้พยายามรักษาระดับของดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 2.0 จนกว่าสหรัฐอเมริกาและประเทศหลักๆ จะเริ่มยกเลิกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรักษาแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่เงินเฟ้อของไต้หวันอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อในอินเดียมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจากภาวะภัยแล้งผลผลิตเกษตรตกต่ำ และการขึ้นราคาน้ำมันดิบโลก โดยต้นปี 2553 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 10 ทั้งนี้ธนาคารกลางอินเดียได้ปรับดอกเบี้ยขึ้นถึงสองครั้ง คือเดือนมีนาคมและเมษายนเพื่อควบคุมสถานการณ์เงินเฟ้อ โดยอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 5.25
  • เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน ในไตรมาสแรกของปี 2553 มีการขยายตัวในระดับสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยมาเลเซียมีการขยายตัวร้อยละ 10.1 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.5 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 อินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 5.7 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.4 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 และเวียดนามขยายตัวร้อยละ 5.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.1 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 แรงกดดันเงินเฟ้อในกลุ่มอาเซียนในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ที่ร้อยละ 4.2 ส่วนมาเลเซียและอินโดนีเซียอยู่ที่ร้อยละ 1.3 และ 0.3 ในส่วนของเวียดนามได้คาดการณ์เงินเฟ้อตลอดทั้งปี 2553 เท่ากับร้อยละ 9.0 สูงกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.5
"เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่และอาเซียนขยายตัวในระดับสูงในไตรมาสที่หนึ่ง เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และมาเลเซีย ซึ่งขยายตัวร้อยละ 15.5 13.3 และ 10.1 ตามลำดับ"
  • แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2553 เศรษฐกิจโลกในปี 2553 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.9 - 4.3 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในช่วงต้นปี 2553 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (i) การขยายตัวในเกณฑ์สูงกว่าที่คาดการณ์ของเศรษฐกิจเอเชียในไตรมาสแรก (ii) การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศอุตสาหกรรมสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ และญี่ปุ่น (iii) การปรับตัวของวัฏจักรสินค้าคงคลังในประเทศอุตสาหกรรมสำคัญรวมทั้งประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นฐานการผลิตและการส่งออกของโลก ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และอินเดียจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0 1.5 10.0 และร้อยละ 8.0 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 2.7 1.2 9.7 และร้อยละ 7.8 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามวิกฤตการณ์ทางการคลังมีแนวโน้มที่จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปมีความล่าช้าออกไป โดยคาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 0.9 เทียบกับร้อยละ 1.6 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา
"ประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2553ปรับเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์เมื่อต้นปี แต่มีความเสี่ยงในช่วงต่อไป"

อย่างไรก็ตาม ความต่อเนื่องของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปียังมีความเสี่ยงจากวิกฤตการณ์การคลังในยุโรปและการดำเนินมาตรการจำกัดสินเชื่อในจีนซึ่งยังเป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ว่าการให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แก่กรีซมูลค่า 14.6 พันล้านเหรียญ สรอ. และการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกอื่นๆ มูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญ สรอ. จะช่วยลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มประเทศยุโรปและทำให้โอกาสที่วิกฤติการณ์การคลังจะลุกลามเป็นวิกฤตการณ์การเงินโลกลดลงก็ตาม แต่ผลกระทบจากการระเบิดของภูเขาไฟในประเทศไอซ์แลนด์และการดำเนินมาตรการเพื่อลดการขาดดุลการคลังมีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรปชะลอตัวลงในขณะที่ความวิตกกังวลของนักลงทุนต่อภาระหนี้และแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปทำให้เงินสกุลยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. สถานการณ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่นมีความล่าช้าออกไป ในขณะเดียวกันการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงเนื่องจาก (i) นโยบายการจำกัดปริมาณสินเชื่อทั้งปีไว้ที่ 7.5 ล้านล้านหยวน11 เพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและ (ii) ผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรป

อัตราดอกเบี้ยตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักแต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย การเพิ่มขึ้นของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเนื่องจากการขยายตัวในเกณฑ์สูงของเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 และต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปี 2553 ทำให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนซึ่งจะเผชิญกับแรงกดดันของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและค่าเงินมากขึ้นตามลำดับ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์13 แต่การปรับทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ เพื่อลดสภาพคล่องส่วนเกินมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้นและมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างช้าๆ ในช่วงปลายไตรมาสที่สาม หรือในไตรมาสที่สี่ อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดทางด้านการคลังและภาระหนี้ที่อยู่ในเกณฑ์สูงทำให้ญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดปี 2553 และ 2554 และใช้มาตรการขยายปริมาณเงินเพื่อลดแรงกดดันด้านภาวะเงินฝืด เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรปที่มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดปี 2553

ความแตกต่างในช่วงเวลาของการปรับทิศทางนโยบายการเงินรวมทั้งความแตกต่างในวัฏจักรการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาวิกฤตการณ์หนี้สินในยุโรป ทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. ยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลเยนและสกุลเงินยูโร แต่มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลเอเชีย สถานการณ์ดังกล่าว จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง แต่มีแนวโน้มที่จะผันผวนเป็นระยะ ๆ ตามภาวะความวิตกกังวลต่อความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรป

(ยังมีต่อ).../4. แนวโน้มเศรษฐกิจ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ