(ต่อ4)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก และแนวโน้มปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 24, 2010 13:47 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

4. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2553

การขยายตัวที่สูงกว่าการคาดการณ์ในไตรมาสแรกกอปรกับแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลกทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีโอกาสที่จะขยายตัวได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม อย่างไรก็ตาม ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในประเทศเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างเต็มที่ ในขณะที่ความรุนแรงทางการเมืองอย่างต่อเนื่องมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าการส่งออกซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะขยายตัวดีขึ้นตามการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ในประเทศสำคัญ ๆ ก็ตาม แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี รวมถึงเงินบาทยังอยู่ภายใต้แรงกดดันของการแข็งค่าและมีแนวโน้มที่จะผันผวนมากขึ้นตามความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตการณ์ทางการคลังในขณะที่การผลิตภาคการเกษตรยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งและความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก

"...เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงในไตรมาสแรก และแสดงถึงโอกาสที่จะขยายตัวสูงในปี 2553..."

"...อย่างไรก็ตามมีปัจจัยเสี่ยงสูงทั้งจากภายในและภายนอกซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากในช่วงที่เหลือของปี..."

ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

จากการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในไตรมาสแรก เศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีโอกาสที่จะขยายตัวในเกณฑ์สูง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก

(1) เศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าการคาดการณ์เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียในไตรมาสแรกที่สูงกว่าการคาดการณ์และแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคเอกชนในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การปรับตัวของวัฏจักรสินค้าคงคลังในประเทศสำคัญๆ มีความต่อเนื่องและเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น ปัจจัยดังกล่าวจะยังคงเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของการผลิตและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทย

(2) ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ยังคงเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

  • การขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์สูงและต่อเนื่อง ทั้งนี้เศรษฐกิจในไตรมาสแรกขยายตัวถึงร้อยละ 12.0 ต่อเนื่องจากร้อยละ 5.9 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 การฟื้นตัวที่รวดเร็วและต่อเนื่องทำให้ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติในปี 2551 หรือสูงกว่า ซึ่งทำให้มีแรงส่งต่อการขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 70 และการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน
  • สภาพคล่องของระบบการเงินในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี การปรับตัวดีขึ้นของตลาดทุนและตลาดพันธบัตรยังคงเอื้ออำนวยต่อการระดมทุนของภาคธุรกิจ ในขณะที่การปล่อยสินเชื่อโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจฐานราก ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนเมษายน สถาบันการเงินเฉพาะกิจปล่อยสินเชื่อไปแล้วทั้งสิ้น 286,794 ล้านบาท จากเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อในปี 2553 จำนวน 821,175 ล้านบาท
  • อัตราดอกเบี้ยเงินฝากแท้จริงซึ่งยังอยู่ในระดับติดลบและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงยังอยู่ในช่วงต่ำสุดของวัฎจักรเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงเป็นลบที่ร้อยละ 2.32 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (MLR) ที่แท้จริงอยู่ที่ร้อยละ 2.86 แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี แต่คาดว่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ ในลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทนในกลุ่มรถยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • ราคาน้ำมันในตลาดโลกในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าจะอยู่ในภาวะทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ทั้งนี้การขยายตัวในเกณฑ์สูงของเศรษฐกิจเอเชียรวมทั้งการฟื้นตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นซึ่งส่วนหนึ่งจะถูกชดเชยโดยแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง นอกจากนั้นความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางการคลังในยุโรปและการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. จะช่วยลดความต้องการเก็งกำไรและช่วยให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเคลื่อนไหวตามปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ในประเทศในช่วงหลังจากไตรมาสแรก ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบอย่างสูงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่

(1) ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาสแรกจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์สูงของเศรษฐกิจเอเชียที่มีจีนเป็นแกนนำ แต่ในช่วงที่เหลือของปียังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูงรวมทั้งปัญหาที่สะสมไว้แต่เดิมทั้งด้านการใช้จ่ายที่เกินตัวและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลสูง ในขณะที่กรีซมีหนี้สาธารณะมูลค่า 405.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. รวมถึงหนี้สาธารณะโดยเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มยูโรโซน ที่สูงถึงร้อยละ 78.7 ของ GDP สถานการณ์ดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงซึ่งจะเป็นอุปสรรคทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมมีความล่าช้า นอกจากนั้นความวิตกกังวลต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อก็เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้จีนเริ่มดำเนินมาตรการควบคุมสินเชื่อซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งปีหลังชะลอตัวและกระทบต่อการขยายตัวของการค้าและเศรษฐกิจในภูมิภาค

(2) สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศกระทบต่อภาพพจน์ของประเทศอย่างรุนแรง อันจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่ได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างเต็มที่ โดยอาจส่งผลกระทบที่สำคัญ ได้แก่

  • ภาคการท่องเที่ยวและสาขาการผลิตเกี่ยวเนื่อง เนื่องจากการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่องระหว่างวันที่ 10 เมษายน — 19 พฤษภาคม 2553 และการใช้ความรุนแรงทำลายทรัพย์สินต่างๆ โดยผู้ก่อความไม่สงบ ส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ด้านความปลอดภัยในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวจากเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จึงคาดว่าทั้งปี 2553 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประมาณ 13 ล้านคน ลดลง 3 ล้านคน จากเป้าหมาย 16 ล้านคน ส่งผลให้รายได้จากนักท่องเที่ยวลดลงประมาณ 113,000 ล้านบาท
  • จากเป้าหมาย 600,000 ล้านบาท หรือเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 8 (ปี 2552 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 14.1 ล้านคน)
  • การลงทุน การบริโภค และการส่งออก ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน นักธุรกิจ และประชาชน จะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนชะลอลง รวมถึงต่างประเทศอาจขาดความมั่นใจในการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทยซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออก
  • ประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐ ความไม่แน่นอนทางการเมืองทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ยุติคาดว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้เบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งจะส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และงบประมาณประจำปี 2554 มีความล่าช้าออกไป

(3) สถานการณ์ภัยแล้งและความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร รายได้เกษตรกรในช่วงที่เหลือของปี2553 ยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดีเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรและมาตรการประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาล อย่างไรก็ตามผลผลิตทางการเกษตรยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มที่จะผันผวนมากขึ้นตามการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกและภาวะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินสกุลหลักซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก นอกจากนั้นหากสถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อบริการสาธารณูปโภคในพื้นที่สำคัญ ๆ และเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

(4) ความผันผวนของค่าเงินบาทภายใต้แรงกดดันของการแข็งค่าและแรงกดดันของเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ภายใต้แรงกดดันของการแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางเศรษฐกิจในประเทศสำคัญๆ รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะมีความผันผวนมากขึ้นตามความวิตกกังวลของนักลงทุนต่อวิกฤตการณ์ทางการคลังในกลุ่มประเทศยุโรปและสถานการณ์การเมืองในประเทศ การแข็งค่าของค่าเงินบาทภายใต้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศผู้ส่งออกสำคัญๆ มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการส่งออกโดยภาพรวม โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดยุโรปที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ภายใต้เงื่อนไขของความเสี่ยงและข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะความไม่แน่นอนในการปรับตัวของสถานการณ์ทางการเมืองเข้าสู่ภาวะปกติที่คาดว่าจะยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งแม้ว่าการชุมนุมจะยุติลงแล้วก็ตาม รวมถึงระยะเวลาในการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จึงคงประมาณการเศรษฐกิจปี 2553 ไว้เท่ากับการประมาณการในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งได้ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 3.5 - 4.5 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 3.0 — 4.0 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 4.1 ของ GDP

5. ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2553

"...คงการประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไว้ในช่วงร้อยละ 3.5 - 4.5..."

การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกรวมทั้งพลวัตรที่เกิดขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีโอกาสที่จะขยายตัวในเกณฑ์สูง อย่างไรก็ตามปัญหาความไม่สงบทางการเมืองทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างเต็มที่ ความยืดเยื้อของความไม่สงบและการขาดความเชื่อมั่นทางการเมืองมีแนวโน้มที่จะบั่นทอนแรงส่งที่เกิดจากพลวัตรของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจซึ่งสั่งสมมาอย่างต่อเนื่องนับจากครึ่งปีหลังของปี 2552 นอกจากนั้นการขยายตัวของภาคส่งออกซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงจากวิกฤตการณ์ทางการคลังในยุโรป การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินสกุลหลักและความต่อเนื่องในการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ในขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของภาคการเกษตร ดังนั้นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีจึงควรให้ความสำคัญกับ

(1) การเร่งรัดสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและการเมืองแก่ประชาชน รวมทั้งการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติเพื่อจำกัดผลกระทบของเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว และการเร่งรัดบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง

(2) การดูแลป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง และการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรอย่างเหมาะสมภายใต้ภาวะความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก

(3) การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสมดุลเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสนับสนุนให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีเป็นไปอย่างต่อเนื่องภายใต้ภาวะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อไม่ให้เสียเปรียบในการแข่งขันด้านราคาแก่ประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ๆ ในตลาดโลก

(4) การเร่งรัดการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อชดเชยผลกระทบที่เกิดจากการลดลงของรายจ่ายภาครัฐภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณปกติและสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

(5) การติดตาม ประเมินสถานการณ์วิกฤตการณ์ทางการคลังในกลุ่มประเทศยุโรป และการเตรียมการรองรับผลกระทบจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและค่าเงินที่เป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว รวมทั้งการแก้ไขปัญหาในระยะยาวสำหรับภาคการผลิตและการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปและการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินระหว่างเงินบาท ยูโร ดอลลาร์สรอ. และหยวน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้สินค้าส่งออกของไทยในตลาดยุโรปเสียเปรียบในการแข่งขันด้านราคามากขึ้น

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2553

                                                    ข้อมูลจริง                 ประมาณการ ปี 2553
                                          2550        2551        2552           24 พ.ค. 53 1/
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านบาท)            8,529.8    9,075.5      9,050.7           9,729.5
   รายได้ต่อหัว (บาทต่อคนต่อปี)               129,240    135,455      134,683           144,141
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านดอลลาร์ สรอ.)      245.8      273.4        263.6             299.4
   รายได้ต่อหัว (ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี)      3,724.2    4,080.6      3,922.6           4,435.1
อัตราการขยายตัวของ GDP (ณ ราคาคงที่, %)         4.9        2.5         -2.2         3.5 - 4.5
การลงทุนรวม (ณ ราคาคงที่, %)                   1.5        1.2         -9.0               4.6
   ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %)                  0.6        3.2        -12.8               5.0
   ภาครัฐ (ณ ราคาคงที่, %)                     4.2       -4.6          2.7               3.5
การบริโภครวม (ณ ราคาคงที่, %)                  2.8        3.0         -0.1               2.8
   ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %)                  1.7        2.7         -1.1               3.0
   ภาครัฐบาล (ณ ราคาคงที่, %)                  9.7        4.6          5.8               1.6
ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)        7.8        5.1        -12.7               8.8
   มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)    151.3      175.2        150.9             174.3
     อัตราการขยายตัว (%)                     18.2       15.9        -13.9              15.5
     อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)              11.9        4.9        -14.2               9.0
ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)        4.4        8.5        -21.8              16.4
   มูลค่าการนำเข้าสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)    138.5      175.1        131.5             163.0
     อัตราการขยายตัว (%)                      9.1       26.5        -24.9              24.0
     อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)               3.5       12.3        -23.0              18.0
ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                 12.8        0.1         19.4              11.3
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)  2/        15.7        1.6         20.3              12.2
ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%)                      6.3        0.5          7.7               4.1
เงินเฟ้อ (%)
   ดัชนีราคาผู้บริโภค                            2.3        5.5         -0.9           3.0-4.0
   GDP Deflator                             3.2        4.5          2.0           3.0-4.0

ที่มา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 24 พฤษภาคม 2553

หมายเหตุ 1/ คงการประมาณการเศรษฐกิจไว้เท่ากับการประมาณการเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553

2/ Reinvested earnings has been recorded as part of FDI in Financial account, and its contra entry recorded as

--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ