(ต่อ1)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสอง และแนวโน้มปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 30, 2010 13:51 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สาขาก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 8.1 เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 ในไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีแรงหนุนจากการก่อสร้างภาครัฐที่ขยายตัวถึงร้อยละ 7.9 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 ในไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 8.4 ชะลอตัวจากร้อยละ 9.7 ในไตรมาสที่ผ่านมา พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างรวมชะลอลงมากจากร้อยละ 35.4 เหลือเพียงร้อยละ 10.4 โดยมีสัญญาณชะลอตัวในทุกประเภทการก่อสร้าง โดยเฉพาะพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในช่วงเดือนเมษายน — พฤษภาคม รวมทั้งการชะลอการก่อสร้างจากปัญหาสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ในกรณีมาบตาพุด อย่างไรก็ตามปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 12.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างประเภทอื่น ๆ เช่น เหล็กเส้น และเหล็กลวด หดตัวร้อยละ 6.4 และ 1.3 ตามลำดับ รวมครึ่งแรกของปีสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 7.1

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุสำคัญจากราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 15.7 ในขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดอื่นๆ เช่น ซีเมนต์ และคอนกรีต ลดลงร้อยละ 7.5 และ 0.9 ตามลำดับ

"...สาขาก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นตามการเร่งตัวของภาครัฐ ขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวลง..."

สาขาอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวร้อยละ 1.6 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.6 ในไตรมาสที่ผ่านมา ปริมาณที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนลดลงมากเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนมีจำนวนที่อยู่อาศัยที่ผู้ประกอบการนำมาจดทะเบียนรวมเพียง 3,040 หน่วย ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี เช่นเดียวกับการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวร้อยละ 31.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 59.2 โดยเฉพาะการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดที่หดตัวลงถึงร้อยละ 33.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามปริมาณการโอนกรรมสิทธิ์เริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ต่ออายุมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนจากเดิมที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2553

"...สาขาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 1.6 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมา..."

สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 0.2 เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 15.3 เป็นผลมาจากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศและจากเหตุการณ์ภูเขาไฟในประเทศไอซ์แลนด์ปะทุเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2553 ส่งผลกระทบต่อการจราจรทางอากาศทั้งยุโรปเหนือและยุโรปตะวันตก ทำให้ในไตรมาสนี้มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาเมืองไทยจำนวน 2.9 ล้านคน ลดลงร้อยละ 3.6 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยเหลือเพียงร้อยละ 39.2 ตามการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยพื้นที่ในภาคกลางซึ่งเป็นบริเวณที่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 35.9 โดยนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งเดินทางไปทางภาคใต้แทนมากขึ้น ทำให้อัตราการเข้าพักในภาคใต้สูงที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 49.9 รวมครึ่งแรกของปีสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 7.9

"...จานวนนักท่องเที่ยวหดตัว ร้อยละ 3.6 จากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ..."

อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงท้ายของไตรมาส โดยเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลงเพียงร้อยละ 1.1 ในเดือนมิถุนายนเทียบกับที่ลดลงถึงร้อยละ 12.9 ในเดือนพฤษภาคม และปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14.2 ในเดือนกรกฎาคม กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เริ่มมีความเชื่อมั่นและเดินทางมาประเทศไทยอีกครั้ง ได้แก่ นักท่องเที่ยวจากประเทศประเทศจีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ รวม 7 เดือนของปี มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมดจำนวน 8.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

การจ้างงาน ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีการจ้างงาน 37.46 ล้านคน ลดลงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามการจ้างงานของภาคเกษตรที่ลดลงร้อยละ 6.6 ส่วนนอกภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 3.1 โดยเฉพาะสาขาก่อสร้างและค้าส่งค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 และ 4.9 ตามลำดับ ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและทางการก่อสร้าง

"...การจ้างงานลดลงร้อยละ 0.5 อัตราการว่างงานร้อยละ 1.3 ภาวะตึงตัวของแรงงานเริ่มผ่อนคลายลง..."

การจ้างงาน ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีการจ้างงาน 37.46 ล้านคน ลดลงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามการจ้างงานของภาคเกษตรที่ลดลงร้อยละ 6.6 ส่วนนอกภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 3.1 โดยเฉพาะสาขาก่อสร้างและค้าส่งค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 และ 4.9 ตามลำดับ ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและทางการก่อสร้าง

สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 4.99 แสนคน ลดลงจำนวน 1.74 แสนคนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลงร้อยละ 25.9 โดยมีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.3 ส่งผลให้จำนวนผู้ขอขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานลดลงร้อยละ 18.5

สถานการณ์ตึงตัวของแรงงานในสาขาอุตสาหกรรมเริ่มผ่อนคลาย สะท้อนจากสัดส่วนของตำแหน่งงานว่างทั้งประเทศต่อผู้สมัครงานใหม่ เท่ากับ 0.7 เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาที่ 1.0 ส่งผลให้การจ้างงานในสาขาดังกล่าวขยายตัวร้อยละ 0.8 จากที่ลดลงร้อยละ 1.1 ในไตรมาสที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังมีบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

  • ภาวะการคลัง

ในไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2553 (เม.ย.-มิ.ย.53) รัฐบาลจัดเก็บรายได้เป็นจำนวน 554,866 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 24.0 และสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.6 รวม 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ต.ค. 52 - มิ.ย.53) จัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย 246,177 ล้านบาทหรือร้อยละ 24.8

"...รัฐบาลจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่เบิกจ่ายงบประมาณประจาปีได้ต่ากว่าเป้าหมาย..."

ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ในไตรมาสนี้มีจำนวน 379,479 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22.3 ของวงเงินงบประมาณ ต่ำกว่าเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ที่ร้อยละ 25.0 และต่ำกว่าไตรมาสสามของปี 2552 ร้อยละ 10.5 โดยรายจ่ายประจำมีการเบิกจ่ายร้อยละ 23.6 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายร้อยละ 13.8 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 23.0 ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ เนื่องจากในไตรมาสนี้มีช่วงวันหยุดราชการหลายวัน ประกอบกับเกิดปัญหาความไม่สงบทางการเมืองขึ้นในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 อย่างไรก็ตาม เมื่อรวม 9 เดือนแรกของปีงบประมาณมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปี 2553 สะสมทั้งสิ้น 1,208,779 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 71.0 ของกรอบวงเงินงบประมาณ สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 68.0

สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (SP2) ในไตรมาสนี้มีการเบิกจ่ายจำนวน 73,086 ล้านบาทหรือร้อยละ 23.9 ของวงเงินที่ได้รับจัดสรร 305,369 ล้านบาท โดยรวมแล้ว ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2553 มีการเบิกจ่ายแล้วทั้งสิ้น 178,876 ล้านบาทหรือร้อยละ 58.6 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร

"...รวม 9 เดือนงบโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งเบิกจ่ายสะสมได้ ร้อยละ 58.6 ของวงเงินที่ได้รับจัดสรร..."

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2553 มีจานวน 4,144,261 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.6 ของ GDP เพิ่มขึ้นจาก 4,124,712 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ภายในประเทศที่รัฐบาลกู้โดยตรง ได้แก่ เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการบริหารหนี้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตามโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555

"...ฐานะการคลังอยู่ในเกณฑ์ดี หนี้สาธารณะคิดเป็นร้อยละ 42.6 ของ GDP..."
  • ภาวะการเงิน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัว ในไตรมาสสองของปี 2553 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี เพื่อสนับสนุนความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบกับมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม ยกเว้นประเทศอินเดีย ออสเตรเลีย ไต้หวัน และมาเลเซียที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ในเดือนกรกฎาคม 2553 คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นร้อยละ 0.25 เนื่องจากเห็นว่าความจำเป็นในการพึ่งพานโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษน้อยลง

"...ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่า..."

อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ยังคงอยู่ในระดับต่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.68 และ 5.86 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงเท่ากับร้อยละ -2.63 และ 2.56 ต่อปีตามลำดับ

"...อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ทรงตัว..."

เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ขยายตัวร้อยละ 2.2 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยตั๋วแลกเงินยังคงขยายตัวดีเนื่องจากผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ในขณะที่สินเชื่อภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 8.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.0 ในไตรมาสที่แล้ว จากการขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนโดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการจัดหาที่อยู่อาศัยที่เร่งตัวขึ้นจากมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนที่สิ้นสุดในเดือนมิถุนายนและสินเชื่อเพื่อการซื้อ/เช่าซื้อรถยนต์ที่ขยายตัวสูง สำหรับสินเชื่อธุรกิจหดตัวลดลงร้อยละ 2.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 6.5 ในไตรมาสที่แล้วตามการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวขึ้น ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตชะลอตัวลงเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง สัดส่วน NPLs(2) ต่อสินเชื่อคงค้างยังลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 2.40 จากร้อยละ 2.50 ในไตรมาสก่อน

"...เงินฝากและสินเชื่อภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง..."

สัดส่วนสินเชื่อ (ไม่รวมเงินให้กู้ยืมผ่านธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร) ต่อเงินฝากที่รวมตั๋วแลกเงินเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 88.6 ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นร้อยละ 91.2 ตามการขยายตัวของสินเชื่อ ส่งผลให้สภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์ลดลงจาก 1.45 ล้านล้านบาท ในไตรมาสก่อนหน้า เป็น 1.18 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลดลงในส่วนของ Net R/P Position

"...สภาพคล่องลดลงมากใน Net R/P Position..."

"...ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง..."

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยไตรมาสที่สองของปี 2553 เท่ากับ 32.34 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.52 จากไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 6.64 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากการไหลเข้าของเงินลงทุนตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย

ค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.21 และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate: REER) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.77 ล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2553 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 32.28 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และในวันที่ 1-19 สิงหาคมเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องโดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 31.91 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.

หมายเหตุ

(2) NPLs ในระบบสถาบันการเงินที่ไม่รวมสำนักงานวิเทศธนกิจและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์

เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิ(3) ในไตรมาสที่สอง ปี 2553 เงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุล 3.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจาก 5.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากเงินทุนไหลเข้าในภาคธนาคาร ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากเดิมที่ 0.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในขณะที่เงินทุนไหลเข้าภาคนอกธนาคารปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

"...เงินทุนไหลเข้าในภาคธนาคารเพิ่มขึ้นมาก..."

เงินทุนสารองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2553 เท่ากับ 151.52 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี Net Forward Position อีก 11.02 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 4.8 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และเท่ากับมูลค่าการนำเข้า 3.5 เดือน

"...เงินทุนสารองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม เท่ากับ 151.52 พันล้านดอลลาร์ สรอ...."

ดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสที่สองเกินดุล 1,297 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 42,041 ล้านบาท) เกินดุลต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้วที่เกินดุล 5,252 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยเป็นผลจากการเกินดุลการค้า 4,645 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอน 3,348 ล้านดอลลาร์ สรอ.

"...ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน..."

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสที่สองของปี 2553 เงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 3.3 ลดลงจากไตรมาสแรกที่อยู่ที่ร้อยละ 3.8 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดประเภทผักผลไม้และสินค้าอุปโภคเป็นหลัก โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ส่วนดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ และการยกเลิกมาตรการลดภาระค่าครองชีพเกี่ยวกับค่าน้ำประปาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 0.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.4 ในไตรมาสที่แล้ว แสดงถึงราคาสินค้าทั่วไปที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 3.5 และเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 0.7(4)

"...อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่สอง เท่ากับร้อยละ 3.3 ลดลงจากไตรมาสแรก..."

หมายเหตุ

(3) ตัวเลขเงินทุนเคลื่อนย้าย ณ สิ้นไตรมาสหนึ่ง ปี 2553 เป็นตัวเลขประมาณการที่อ้างอิงจากข้อมูลเร็วบางส่วนจากธนาคารแห่งประเทศไทยและจะมีการปรับในเดือนถัดไป

(4) ในเดือนกรกฎาคม 2553 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 3.4 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 1.2

ดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่สอง ของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 9.3 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตเกษตรที่มีปริมาณออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งส่งผลให้ผลผลิตเสียหาย นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และราคายางพาราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตชะลอลง จากร้อยละ 12.0 ในไตรมาสแรก ดังนั้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ดัชนีราคาผู้ผลิตขยายตัวร้อยละ 10.6(5)

ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ผันผวนสูง ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 714.7 — 820.1 จุด โดยในช่วงต้นไตรมาสดัชนีปรับตัวลดลงจากเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศและปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่กลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายไตรมาส หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ประกอบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคที่อยู่ในระดับสูง และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสแรกมีกำไรดีต่อเนื่องจากไตรมาสที่สี่ปี 2552 โดย ณ สิ้นไตรมาส ดัชนีราคาปิดที่ 797.3 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 788.0 จุด ในไตรมาสก่อนหน้า นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 59.9 พันล้านบาท เทียบกับการซื้อสุทธิ 42.5 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 19.1 พันล้านบาท เป็น 21.4 พันล้านบาท และตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมจนถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2553 แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจและการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น ทำให้ดัชนีปิด ณ วันที่ 19 สิงหาคม ที่ 891.2 จุด มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเป็น 31.2 พันล้านบาท นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม — 19 สิงหาคม รวม 17.5 พันล้านบาท

"...ตลาดหลักทรัพย์ค่อนข้าง ผันผวนแต่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส..."

ตลาดตราสารหนี้ปรับตัวดีขึ้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด (Outright) ในไตรมาสที่สอง เพิ่มขึ้นเป็น 64.8 พันล้านบาทต่อวัน จาก 61.4 พันล้านบาทต่อวันในไตรมาสแรก ดัชนีราคาปรับตัวดีขึ้น เนื่องจาก (1) ปริมาณพันธบัตรออกใหม่ในตลาดที่น้อยลง และ (2) การซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ ที่เพิ่มขึ้นเป็น 26.6 พันล้านบาท จากการไหลเข้าของเงินลงทุนในภูมิภาค ในเดือนกรกฎาคม 2553 มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดเฉลี่ยต่อวันและดัชนีราคาลดลงเล็กน้อย อัตราผลตอบแทน (Yield) ปรับเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่นักลงทุนต่างชาติยังเพิ่มการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย โดยมียอดซื้อสุทธิสะสมต่อเนื่อง

"...มูลค่าซื้อขายและดัชนีราคาในตลาดตราสารหนี้ปรับตัวดีขึ้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิต่อเนื่อง..."

หมายเหตุ

(5) ในเดือนกรกฎาคม 2553 ดัชนีราคาผู้ผลิตขยายตัวร้อยละ 11.1

การระดมทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น การระดมทุนของภาคเอกชนในไตรมาสนี้มีมูลค่ารวม 312.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 294.1 พันล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปี 2552 โดยเป็นการระดมทุนในตราสารหนี้ 275.5 พันล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในภาคธุรกิจภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการระดมทุนในตราสารทุนในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นเป็น 36.8 พันล้านบาท สูงกว่ามูลค่ารวมทั้งปี 2552 ที่ 29.5 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต

"...การระดมทุนผ่านตราสารทุนเพิ่มขึ้นมาก ส่วนการระดมทุนในตราสารหนี้ยังอยู่ในระดับสูง..."
(ยังมีต่อ).../2. ความเคลื่อนไหว..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ