2. ความเคลื่อนไหวและแนวโน้มราคาน้ำมันปี 2553
- ความเคลื่อนไหวราคาน้ามันในไตรมาสสอง ปี 2553
ราคาน้ามันดิบในตลาดโลก: ขยายตัวต่อเนื่องในอัตราที่เพิ่มขึ้นมากจากฐานที่ต่าในปีที่แล้ว ใน ไตรมาสที่สอง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และ WTI) อยู่ที่ 78.4 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.2 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้วจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา และการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งของประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีน และอินเดีย รวมถึงการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ส่งผลให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น
"...ราคาน้ามันดิบในตลาดโลกขยายตัวต่อเนื่องในอัตราที่เพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่าในปีที่แล้ว..."
ราคาขายปลีกน้ามันภายในประเทศ: ในไตรมาสที่สองราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศทุกประเภทเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 เบนซิน 91 แก๊ซโซฮอล์ 95 (E10) แก๊ซโซฮอล์ 95 (E20) และแก๊สโซฮอล์ 91 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 17.9 21.7 23.2 และ 17.9 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ส่วนราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ดีเซลหมุนเร็วบี 5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 และ 29.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ การที่ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากราคาปีที่แล้วลดลงมากตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
"...ราคาขายปลีกน้ามันภายในประเทศเพิ่มขึ้นทุกประเภทเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว..."
- แนวโน้มราคาน้ามันปี 2553
ราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2553 เฉลี่ยเท่ากับ 76.14 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล และราคา ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2553 อยู่ที่ 73.88 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ หลายหน่วยงานได้ปรับประมาณการราคาน้ำมัน โดย WTI ปรับลงมาอยู่ในช่วง 75 - 79 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลในปี 2553 ในส่วนของ Nomura ได้มีการปรับคาดการณ์เพิ่มขึ้นจาก 72 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เป็น 85 95 และ 110 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ในปี 2553 2554 และ 2555 ตามลำดับ ทั้งนี้ สศช. คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบโดยเฉลี่ยในปี 2553 จะอยู่ที่ 75 - 80 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าราคาเฉลี่ยที่ 61.60 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2552 โดยมีปัจจัยที่สำคัญต่อราคาน้ำมันคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายมีความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น
"...คาดว่าราคาน้ามันดิบดูไบโดยเฉลี่ยในปี 2553 จะอยู่ที่ 75 — 80 ดอลลาร์ สรอ..."
เศรษฐกิจโลกได้ส่งสัญญาณการชะลอตัวลงในไตรมาสที่สองของปี 2553 โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรปซึ่งแม้ว่าผลการทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress Test) ของธนาคารพาณิชย์และการให้สินเชื่อรวมหนี้ที่มีหลักประกัน (Secured debt financing) ในกรีซได้ผ่อนคลายความวิตกกังวลของตลาด แต่สภาวการณ์ด้านเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศทางตอนใต้ของยูโรโซนยังคงมีความเปราะบางและทำให้คาดการณ์ได้ว่าการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศของกลุ่มประเทศยูโรโซนมีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศในเอเชียที่มีตลาดในภูมิภาคนี้ชะลอตัวลง พลวัตรการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่สองของปี 2553 ได้ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวในไตรมาสแรก ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐ ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่มีสัญญาณการชะลอตัวดังจะเห็นได้จากการใช้จ่ายการบริโภคของภาคเอกชนที่ชะลอลง วัฎจักรสินค้าคงคลังที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ความอ่อนแอในภาคการจ้างงาน ธุรกิจที่พักอาศัยและความมั่นใจของผู้บริโภคที่ลดลง โดยมีสรุปภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้
"...เศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณการชะลอตัวลงในไตรมาสที่สองของปี 2553 เศรษฐกิจ ยูโรโซนยังเปราะบางโดย การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัว เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวต่อเนื่องแต่มีสัญญาณการชะลอตัว..."
- เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 3.2 (%Y-o-Y) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.4 ในไตรมาสแรกของปี 2553 และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 2.4 (%Q-o-Q, s.a.) ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 เป็นผลจากการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นด้านการคลังในประเทศบางส่วนใกล้สิ้นสุด การสะสมสินค้าคงคลังชะลอตัว ส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 7.2 (%Y-o-Y) ดัชนีการใช้กำลังการผลิตปรับตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 73.8 เช่นเดียวกับคำสั่งซื้อใหม่ซึ่งปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 63.3 ดัชนี PMI อยู่ที่ระดับ 58.8 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่ในเดือนกรกฎาคมปรับลดลงเป็น 55.5 จากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการผลิต การนำเข้าเริ่มชะลอตัวส่วนการส่งออกขยายตัวร้อยละ 5.5 (%Y-o-Y) ดุลการค้าขาดดุล 132,200 ล้านเหรียญสรอ. โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 สหรัฐฯ มีมูลค่าการขาดดุลการค้า 247,500 ล้านเหรียญสรอ. สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ขาดดุล 170,900 ล้านเหรียญสรอ. อัตราเงินเฟ้อลดลงอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.8 จำนวนผู้ว่างงานในไตรมาสสองรวม 14.95 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 9.7 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรในไตรมาสสองเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านคน ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า
- เศรษฐกิจประเทศกลุ่มยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 1.7 (%Y-o-Y) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.6 ในไตรมาสแรกของปี 2553 และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 1.0 (%Q-o-Q, s.a.) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.2 ในไตรมาสแรกของปี 2553 เป็นการขยายตัวติดต่อกันมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 จากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการสะสมสินค้าคงคลังและการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชนยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากการใช้มาตรการการคลังแบบเข้มงวดของหลายประเทศในยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วร้อยละ 1.7 โดยภาคการก่อสร้างเป็นสาขาเดียวที่ยังมีปัญหาการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภาคการผลิตและบริการเริ่มขยายตัวมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/2552 ประเทศที่ยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่องคือกรีซ
ทางด้านเงินเฟ้อ กลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดได้แก่ ฮังการี กรีซ และโรมาเนีย ที่ระดับร้อยละ 5.2 5.1 และ 4.3 ตามลำดับ ในขณะที่ไอร์แลนด์และลัตเวียมีอัตราเงินเฟ้อติดลบที่ระดับร้อยละ 2 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของกลุ่มยูโรโซนในไตรมาสสองเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.5 โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ที่ร้อยละ 1.7 สำหรับดุลบัญชีเงินสะพัด ขาดดุล 25,400 พันล้านยูโร ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว (37,200 พันล้านยูโร) คิดเป็นร้อยละ 1.1 ของ GDP ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง(6) อัตราการว่างงานในไตรมาสสองยังอยู่ในระดับคงที่ร้อยละ 10
- เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 2.0 (%Y-o-Y) ชะลอตัวจากร้อยละ 4.7 ในไตรมาสแรกของปี 2553 และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 0.1 (%Q-o-Q, s.a.) ชะลอตัวจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงหดตัวเนื่องจากภาวะเงินฝืดและอัตราการว่างงานที่สูง ส่วนภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่สองขยายตัวร้อยละ 1.4 ต่อไตรมาส เป็นการขยายตัวในอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองของปี 2552 ดัชนี PMI อยู่ที่ระดับ 53.8 แสดงถึงภาคอุตสาหกรรมยังคงเข้มแข็ง แต่ในเดือนกรกฎาคมดัชนี PMI อยู่ที่ระดับ 52.8 ปรับลดลงจาก 53.9 ในเดือนมิถุนายน การส่งออกขยายตัวร้อยละ 30.0 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นโดยขยายตัวร้อยละ 16.0 อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสสองหดตัวร้อยละ 0.9 โดยในเดือนมิถุนายนหดตัวลดลงร้อยละ 0.7 อัตราการว่างงานในไตรมาสสองปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.3 โดยในเดือนมิถุนายนอัตราการว่างงานปรับตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 5.3 สูงสุดในรอบหกเดือน
- เศรษฐกิจจีน ขยายตัวร้อยละ 10.3 (%Y-o-Y) ชะลอตัวจากร้อยละ 11.9 ในไตรมาสแรกของปี 2553 โดยภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 15.9 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 19.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนี PMI ในภาคการผลิตชะลอตัวลงอยู่ที่ระดับ 53.9 เทียบกับระดับ 54.3 ในไตรมาสแรก มูลค่าการค้าปลีกของสินค้าอุปโภคบริโภคใน 6 เดือนแรกของปีขยายตัวร้อยละ 18.2 ต่อปี การส่งออกในไตรมาสสองขยายตัวร้อยละ 40.9 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรก การนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 44.1 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 64.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการชะลอตัวของการลงทุนภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่สองสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ส่วนด้านการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในไตรมาสที่สองขยายตัวร้อยละ 25.2 โดยในครึ่งปีแรกการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในรูปเงินหยวนมีมูลค่า 9,804.7 ล้านหยวน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 25.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ 51.2 ในเดือนกรกฎาคม ทำให้คาดว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มชะลอตัวในครึ่งปีหลัง
"...เศรษฐกิจจีนชะลอตัวใน ไตรมาสสอง การผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน สอดคล้องกับดัชนี PMI ที่ชะลอตัวลงอยู่ที่ระดับ 53.9 ต่ากว่าใน ไตรมาสแรก..."
หมายเหตุ
(6) โดย ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2553 EUR/USD แข็งค่าขึ้นจากจุดอ่อนสุด (9 มิถุนายน 2553) ถึงร้อยละ 9.9 ในขณะที่ EUR/Yen แข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.29 นับจากจุดอ่อนสุดในวันที่ 8 มิถุนายน 2553 เป็นผลจากการเปิดเผยผลการทดสอบภาวะวิกฤติ (Bank Stress Test) ของ CEBS เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2553 ที่มีธนาคารเพียง 7 แห่งเท่านั้นที่ไม่ผ่านการทดสอบมาตรฐานอัตราส่วนทุนต่อสินทรัพย์ที่ระดับอ้างอิงต่ำสุดร้อยละ 6
- เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่และอินเดีย สิงคโปร์มีการขยายตัวร้อยละ 18.8 (% Y-o-Y) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.9 ในไตรมาสแรกของปี 2553 โดยในช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจสิงคโปร์มีการขยายตัว ร้อยละ 17.9 เพิ่มขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 5.3 ในช่วงเดียวกันของปี 2552 การขยายตัวของเศรษฐกิจสิงคโปร์ในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ในระดับสูงแต่คาดว่าพลวัตรการขยายตัวจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลังเนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงโรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ชีวภาพจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ส่วนอินเดียคาดว่าจะมีการขยายตัวร้อยละ 9.3 (% Y-o-Y) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.6 ในไตรมาสแรกของปี 2553 เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายทำให้อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ไต้หวัน เกาหลีใต้ และฮ่องกง การขยายตัวร้อยละ 12.5 7.2 และ 6.5 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัวที่ร้อยละ 13.7 8.1 และ 8.0 ตามลำดับ จากการบริโภคและการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐที่ชะลอตัว การผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่สองของเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 19.5 ชะลอตัวลงจากไตรมาสแรก และการอ่อนค่าลงของเงินวอนร้อยละ 6.3 ในรอบสามเดือน (พฤษภาคม-กรกฎาคม) เป็นปัจจัยบวกต่อความสามารถในการแข่งขันในการส่งออก ส่วนอัตราเงินเฟ้อของประเทศส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยอินเดียมีอัตราเงินเฟ้อสูงสุดที่ร้อยละ 10.6 รองลงมาคือ สิงคโปร์ ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ที่ร้อยละ 3.5 3.0 และ 2.7 ตามลำดับ ยกเว้นไต้หวันที่อัตราเงินเฟ้อลดลงในไตรมาสสองเป็นร้อยละ 0.9
"...เศรษฐกิจประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่และอาเซียนเริ่มชะลอตัวในไตรมาสที่สอง เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งขยายตัวร้อยละ 12.5 8.9 7.2 6.5 6.4 และ 6.2 ตามลาดับ อัตราเงินเฟ้อของประเทศส่วนใหญ่เพิ่มสูงขึ้น..."
- เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน ในไตรมาสสองของปี 2553 มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีการขยายตัวร้อยละ 8.9 6.4 และ 6.2 ตามลำดับ (% Y-o-Y) เทียบกับไตรมาสแรกที่ร้อยละ 10.1 5.8 และ 5.7 ตามลำดับ ส่วนภาคการผลิตอุตสาหกรรมของประเทศส่วนใหญ่ยังมีการขยายตัวดี ภาคบริการยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการบริโภคของภาคเอกชน การส่งออก และอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงมีความแข็งแกร่ง อัตราแลกเปลี่ยนเงินด่องเวียดนามไตรมาสสองอ่อนค่าลงร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา และหากพิจารณาครึ่งปีแรกของปี 2553 อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสสองโดยรวมอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 9.0 4.3 และ 1.7 ตามลำดับ
แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลัง
เศรษฐกิจโลกในปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวประมาณร้อยละ 3.9-4.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการคาดการณ์ในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีการปรับตัวดีขึ้น (2) การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวแต่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัว และ (3) วัฏจักรสินค้าคงคลังที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในประเทศอุตสาหกรรมสำคัญรวมทั้งประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในเอเซีย โดยคาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ส่วนค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นหลังจากนักลงทุนเริ่มผ่อนคลายความกังวลที่มีต่อปัญหาหนี้ยุโรป ขณะที่ปัญหาหนี้ภาครัฐของบางประเทศในยุโรปอาจมีผลทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปล่าช้าออกไปและอาจเป็นความเสี่ยงต่อการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า ทั้งนี้จากการประมาณการของแต่ละประเทศคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน จะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0 0.9 1.5 และ 9.7 ตามลำดับ โดยเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และอินเดียตลอดทั้งปี 2553 จะขยายตัวร้อยละ 10.0 5.8 7.0 5.2 และ 8.3 ตามลำดับ และกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม จะขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 6.0 และ 6.0 ตามลำดับ
"...ประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2553 ปรับเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ในเดือนพฤษภาคม แต่มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงในช่วงต่อไป..."
ในกรณีของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้มีสัญญาณการชะลอตัวที่ค่อนข้างชัดเจน บ่งชี้การฟื้นตัวที่เปราะบาง โดยเฉพาะในภาคการผลิตและแนวโน้มการบริโภค ซึ่งในเดือนกรกฎาคม 2553 ดัชนี PMI ในภาคการผลิตชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 55.5 ต่ำกว่าเดือนมิถุนายนที่มีระดับ 56.2 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงมาที่ระดับ 50.4 ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน นอกจากนี้ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานก่อนวันที่ 31 กรกฎาคมเพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งแม้จำนวนผู้ว่างงานในเดือนกรกฎาคมจะลดลงเป็น 14.6 ล้านคน (ร้อยละ 9.5) แต่คาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากจำนวนการจ้างงานนอกภาคเกษตรเริ่มมีแนวโน้มลดลงอีก โดยเดือนกรกฎาคมมีจำนวนลดลง 131,000 คน เป็นผลจากการเลิกจ้างลูกจ้างชั่วคราวของภาครัฐจำนวน 143,000 คน ขณะที่การจ้างงานภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเพียงเล็กน้อย
เศรษฐกิจจีน ดัชนี PMI ในภาคการผลิตชะลอลงมาอยู่ที่ระดับ 51.2 ในเดือนกรกฎาคม จากระดับ 52.1 ในเดือนก่อนหน้า และสะท้อนการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 17 เดือน ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 13.7 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 16.5 ในเดือนก่อนหน้า
ขณะที่ดัชนีชี้ภาวะการผลิตของญี่ปุ่นก็ชะลอตัวเช่นกัน การแข็งค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินยูโรทำให้ราคาสินค้าญี่ปุ่นมีราคาสูงขึ้นและส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดยูโรโซน
สำหรับกลุ่มยูโรโซน แม้เศรษฐกิจโดยรวมมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่มีปัจจัยที่ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจ ยูโรโซนจะสามารถรักษาแรงส่งของการเติบโตในระดับดังกล่าวต่อไปได้ในระยะข้างหน้า เนื่องจากผลของนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลในหลายประเทศจะเริ่มปรากฏชัดมากขึ้น ปัญหาหนี้สาธารณะในกรีซ สหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์ ยังมีแนวโน้มที่จะต้องมีภาระหนักในการบริหารและแก้ปัญหาภาวะการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมาธิการยุโรปคาดการณ์หนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศยูโรโซนในปี 2553 ว่าอาจจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 84.7 ของ GDP โดยปัญหาการถดถอยรอบสอง (Double-dip recession) ยังคงเป็นข้อกังวลที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ในขณะที่การขาดดุลทั้งสองบัญชีคือดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลงบประมาณประจำปีของรัฐบาล ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศกรีซ สเปน อิตาลี และตุรกี โดยสหราชอาณาจักร และฝรั่งเศสเริ่มมีสัญญานของปัญหาบ้างแล้ว และอาจมีผลต่อการปรับโครงสร้างงบประมาณและดุลบัญชีเดินสะพัดเพื่อมิให้เป็นปัญหาในอนาคต ขณะที่ค่าเงินยูโรที่เคยอ่อนค่าและหนุนภาคการส่งออกของภูมิภาคนั้น เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นท่ามกลางทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ในช่วงระยะนี้ ซึ่งน่าจะส่งผลให้การส่งออกรวมทั้งภาคการผลิตของยูโรโซนชะลอตัวลงในระยะต่อไป และส่งผลต่อการผลิตและการส่งออกของไทยที่อาจชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง
การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ รวมทั้งพลวัตที่เกิดขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งทางด้านสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ยและการดำเนินมาตรการของภาครัฐ ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีและเมื่อรวมกับการขยายตัวสูงในช่วงครึ่งปีแรกทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2553 มีโอกาสที่จะขยายตัวในเกณฑ์สูง อย่างไรก็ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ในช่วงครึ่งปีหลังทำให้แรงขับเคลื่อนของอุปสงค์จากต่างประเทศชะลอตัวลงรวมกับฐานที่เริ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงตามลำดับและมีความเสี่ยงที่จะเป็นข้อจำกัดต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 2554
"...เศรษฐกิจไทยปี 2553 มีโอกาสที่จะขยายตัวในเกณฑ์สูง แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงตามแนวโน้มการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกและฐานที่สูงขึ้น..."
ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
(1) สภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจและการค้าโลกในครึ่งปีหลังยังเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวตามภาวะปกติของวัฏจักรเศรษฐกิจซึ่งจะมีอัตราการขยายตัวสูงในระยะแรกก่อนที่จะชะลอตัวลงก็ตาม นอกจากนี้โครงสร้างตลาดการส่งออกที่มีการกระจายตัวมากขึ้นจะสามารถลดผลกระทบจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญ ๆ
(2) การฟื้นตัวที่เร็วกว่าการคาดการณ์ของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการกลับมาขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนกรกฎาคมที่ร้อยละ 14.2 หลังจากการหดตัวร้อยละ 12.9 และร้อยละ 1.1 ในเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน ตามลำดับ ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มการฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็วของภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นเงื่อนไขการปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์ทางการเมืองอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังและการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีคาดว่าจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวกลับเข้าสู่ภาวะปกติและเป็นแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี
(3) การปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนฟื้นตัวและเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 75.0 ในเดือนเมษายนเป็น 77.1 ในเดือนมิถุนายน เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 46.0 เป็น 52.1 ในช่วงเดียวกัน ในขณะที่มูลค่าการลงทุนสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น โดยการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่า 6,879 ล้านบาทเทียบกับการขายสุทธิ 4,097 และ 58,745 ล้านบาทในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ตามลำดับ
(4) สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยสภาพคล่องส่วนเกินธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 2 ยังอยู่ในเกณฑ์สูงถึง 1.18 ล้านล้านบาท ในขณะที่การปรับตัวดีขึ้นของตลาดทุนและตลาดพันธบัตรยังเอื้ออำนวยต่อการระดมทุนของภาคธุรกิจ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังอยู่ในสถานะที่เอื้ออำนวยต่อการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวของเศรษฐกิจฐานราก ทั้งนี้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี สถาบันการเงินเฉพาะกิจปล่อยกู้ไปแล้วทั้งสิ้น 494,200 ล้านบาท เทียบกับเป้าหมายการปล่อยกู้ทั้งปีจำนวน 821,000 ล้านบาท
(5) อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงยังอยู่ในระดับติดลบและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงยังอยู่ในช่วงต่ำของวัฏจักรดอกเบี้ย โดยในเดือนกรกฎาคม อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงอยู่ที่ร้อยละ (-2.48) ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงอยู่ที่ร้อยละ 2.70 ทั้งนี้ในช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่คาดว่ายังอยู่ในระดับที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน
(6) การแข็งค่าของเงินสกุลหยวนกอปรกับการปรับขึ้นค่าแรงในประเทศจีนเป็นอีกปัจจัยที่จะส่งผลดีต่อการส่งออกและการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี
(7) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงต้นของปีงบประมาณ 2554 รวมทั้งงบประมาณจากโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของรายจ่ายภาครัฐภายใต้กรอบงบประมาณปกติและผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลัง ในขณะที่การต่ออายุ 3 มาตรการลดค่าครองชีพของประชาชน จนถึงสิ้นปี 2553 จะช่วยลดแรงกดดันด้านราคาและภาระของผู้บริโภค
(8) รายได้เกษตรกรที่ยังมีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในระดับสูงกว่าในปี 2552 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ยังอยู่ในระดับสูงกว่าปี 2552 โดยเฉพาะยางพารา มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน รวมทั้งผลจากมาตรการประกันรายได้เกษตรกร