(ต่อ3)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสอง และแนวโน้มปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 30, 2010 14:24 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ปัจจัยเสี่ยงและข้อจากัด

(1) แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลัง ในกรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องแต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าของประเทศสำคัญ ๆ จะชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรก เมื่อรวมกับฐานที่เริ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่เหลือของปีชะลอตัวลงและอาจเป็นข้อจำกัดต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 2554 นอกจากนั้น แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในการคาดการณ์กรณีฐานจะมีแนวโน้มชะลอตัวตามวัฎจักรเศรษฐกิจปกติก็ตาม แต่ยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจประเทศสำคัญ ๆ จะชะลอตัวอย่างรุนแรง(7)

(2) ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน ในกรณีฐานคาดว่าการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียในครึ่งปีหลังยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อรวมกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงสร้างแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาท อย่างไรก็ตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนตามสถานการณ์เศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินในประเทศสำคัญ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ซึ่งยังคงเป็นสถานการณ์ที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

(3) ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ ทั้งนี้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนยังตั้งอยู่บนเงื่อนไขของการปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ภายใต้สภาพแวดล้อมดังกล่าว เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นและความล่าช้าของการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาทางการเมืองของรัฐบาลมีความเสี่ยงที่จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของความเชื่อมั่น

(4) สถานการณ์การผลิตภาคการเกษตรและรายได้เกษตรกรที่ยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจาก (1) ปัญหาภัยแล้งซึ่งยังเป็นสถานการณ์ที่ยังคงต้องติดตามและแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดเนื่องจากระดับน้ำในเขื่อนสำคัญ ๆ ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ แม้ว่าจะเริ่มมีฝนตกมาบ้างแล้วก็ตาม และ (2) การแข็งค่าของเงินบาทท่ามกลางแนวโน้มการอ่อนตัวอย่างต่อเนื่องของค่าเงินด่องในประเทศเวียดนาม

(5) ภาวะความผันผวนของราคาน้ำมัน แม้ว่าแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะช่วยลดความกดดันด้านอุปสงค์และราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ตาม แต่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวน

หมายเหตุ

(7) โดยเฉพาะ (1) ความเสี่ยงที่จะเกิดการชะลอตัวของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ จะทาให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจสูญเสียความเชื่อมั่นจนนาไปสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และ (2) ความเสี่ยงจากการดาเนินมาตรการควบคุมเงินเฟ้อของทางการจีนจะทาให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สาคัญของจีนชะลอตัวลงมาก และ (3) ความผันผวนในตลาดการเงินของยุโรปทวีความรุนแรงอีกครั้ง

ภายใต้เงื่อนไข (1) ภาวะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินสกุลหลัก และ (2) ผลกระทบของภัยธรรมชาติต่อแหล่งผลิตที่สำคัญ ๆ

ข้อสมมติฐานในการประมาณการเศรษฐกิจปี 2553

(1) เศรษฐกิจโลกในปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.9 — 4.3 และปริมาณการค้าโลกขยายตัวร้อยละ 7.5 เป็นการปรับขึ้นจากสมมติฐานการขยายตัวเศรษฐกิจโลกร้อยละ 3.8 — 4.2 และปริมาณการค้าโลกร้อยละ 5.0 ในการประมาณการครั้งวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลก

(2) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2553 เท่ากับ 75 — 80 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับลดช่วงสมมติฐานจากการประมาณการครั้งก่อน ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบ (ดูไบ) เฉลี่ยจนถึงวันที่ 18 สิงหาคมอยู่ที่ 76.51 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าราคาน้ำมันจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 75 — 80 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล

(3) ราคาสินค้าส่งออกและราคาสินค้านำเข้าโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 และร้อยละ 8.0 ตามลำดับ ปรับเพิ่มจากร้อยละ 6.5 และร้อยละ 6.0 ในสมมติฐานการประมาณการเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มตามการเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงของราคาส่งออกและนำเข้าในช่วงครึ่งปีแรก

(4) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปี 2553 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 14.8 ล้านคนเพิ่มขึ้นจาก 14.1 ล้านคนในปี 2552 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มจากสมมติฐานเดิมที่ 16 ล้านคนซึ่งใช้ในการประมาณการเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 เนื่องจากผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี

"...สมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2553 : (1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกขยายตัวร้อยละ 3.9 -4.3 และร้อยละ 7.5 (2) ราคาน้ามันดิบดูไบเฉลี่ยเท่ากับ 75-80 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล (3) ราคาสินค้าส่งออกและนาเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 และ 8.0 ตามลาดับ และ (4) จานวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจานวน 14.8 ล้านคน..."

ประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 2553

คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในช่วงร้อยละ 7.0 — 7.5 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 2.2 ในปี 2552 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 3.0 - 3.5 เทียบกับร้อยละ (-0.9) ในปี 2552 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 4.9 ของ GDP ลดลงจากการเกินดุลร้อยละ 7.7 ของ GDP ในปี 2552

ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้เท่ากับการประมาณการในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 เนื่องจากความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศโดยมีช่วงอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 - 4.5 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 3.0 — 4.0 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 4.1 ของ GDP

ในการแถลงข่าววันที่ 23 สิงหาคม 2553 นี้ สศช. ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและปรับช่วงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้แคบลง โดยมีช่วงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 7.0 — 7.5 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 3.0 — 3.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 4.9 ของ GDP ด้วยเหตุผลดังนี้

(1) เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม โดยเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2553 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 3.9 - 4.3 และร้อยละ 7.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.8 — 4.2 และร้อยละ 5.0 ในสมมติฐานการประมาณการเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งทำให้การส่งออกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้สูงกว่าประมาณการเดิม

(2) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าการคาดการณ์ในครึ่งปีแรกซึ่งจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีสูงกว่าการคาดการณ์เดิม นอกจากนี้การฟื้นตัวที่เร็วกว่าการคาดการณ์ของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ทั้งในด้านการผลิต การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน จะเป็นแรงส่งต่อการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปี

(3) ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองอยู่ในขอบเขตที่จำกัดในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2553 จึงปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ผ่านมา(8)

"...เศรษฐกิจไทยในปี 2553 —ขยายตัวร้อยละ 7.0 — 7.5 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.0 — 3.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 4.9 ของ GDP..."

หมายเหตุ

(8) เหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาได้แก่ สึนามิ การระบาดของโรคซาร์ส เป็นต้น

องค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553

(1) รายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภครวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 จากการหดตัวร้อยละ 0.1 ในปี 2552 โดยที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 1.1 ในปี 2552 เป็นการขยายตัวร้อยละ 4.1 และเป็นการปรับเพิ่มจากการคาดการณ์การขยายตัวร้อยละ 3.0 ในการประมาณการเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 เนื่องจากการขยายตัวที่สูงกว่าการคาดการณ์ในครึ่งปีแรกรวมทั้งรายได้ของครัวเรือนในช่วงครึ่งปีหลังที่ยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดีตามภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยภาพรวมและแรงส่งจากการขยายตัวสูงในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะการขยายตัวของการผลิตและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สูงกว่าการประมาณการเดิม การปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตร ในขณะที่รายจ่ายการบริโภคภาครัฐมีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 3.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.8 ในปี 2552 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.6 ในการประมาณการเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553

(2) การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 9.2 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 9.0 ในปี 2552 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในการประมาณการเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 เนื่องจากการปรับเพิ่มการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนจากร้อยละ 5.0 ในการประมาณการเศรษฐกิจครั้งที่ผ่านมาเป็นการขยายตัวร้อยละ 12.1 ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวที่สูงกว่าการคาดการณ์ในครึ่งปีแรก ในขณะที่ช่วงครึ่งหลังของปีการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับร้อยละ 70 ในหลายภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 1.7 ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากร้อยละ 3.5 ในการประมาณการเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 เนื่องจากการหดตัวของการลงทุนภาครัฐในไตรมาสที่ 2

(3) มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 25.7 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 13.9 ในปี 2552 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 15.5 ในการประมาณการครั้งก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับประมาณการการขยายตัวของปริมาณการส่งออกสินค้าจากร้อยละ 9.0 ในการประมาณการเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นร้อยละ 17.2 ในการประมาณการครั้งนี้ตามการขยายตัวของปริมาณการส่งออกที่สูงเกินกว่าการคาดการณ์ในครึ่งปีแรก และการปรับเปลี่ยนสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ปริมาณการค้าโลก และสมมติฐานด้านราคาส่งออก

(4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.9 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 24.9 ในปี 2552 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 24.0 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้าตามการปรับประมาณการการขยายตัวของภาคการส่งออก การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้คาดว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.9 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 23.0 ในปี 2552 และการขยายตัวร้อยละ 18.0 ในการประมาณการครั้งก่อนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553

(5) ดุลการค้าเกินดุล 14,900 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากการเกินดุล 19,400 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2552 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการเกินดุล 11,300 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาเนื่องจากการเกินดุลการค้าที่สูงถึง 6,777 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในครึ่งปีแรกและการปรับเพิ่มประมาณการมูลค่าการส่งออก ในขณะที่ดุลบริการคาดว่าจะเกินดุลลดลงจากการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ดุลบริการเกินดุลลดลงจากปี 2552 เนื่องจากการขาดดุลบริการในไตรมาสที่ 2 และการปรับลดสมมติฐานด้านจำนวนนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามการปรับเพิ่มประมาณการดุลการค้าส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2553 เกินดุลประมาณร้อยละ 4.9 ของ GDP ลดลงจากการเกินดุลร้อยละ 7.8 ในปี 2552 แต่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.1 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

(6) อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 3.0-3.5 ซึ่งเป็นการปรับช่วงประมาณการให้แคบลง จากร้อยละ 3.0-4.0 ในการประมาณครั้งที่ผ่านมา และเป็นการปรับลดค่ากลางการประมาณการจากร้อยละ 3.5 ในการประมาณการครั้งก่อน เป็นร้อยละ 3.3 ซึ่งสอดคล้องกับการปรับสมมติฐานด้านราคาน้ำมันจาก 75 - 85 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เป็น 75 - 80 ดอลลาร์ สรอ. ต่อ บาร์เรล รวมถึงการต่ออายุ 3 มาตรการลดค่าครองชีพของประชาชน

การประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจในกรณีสูงและกรณีต่า

(1) กรณีสูง เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 7.5 หรือสูงกว่าภายใต้เงื่อนไขดังนี้ (1) เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 3.9 และ 7.5 ตามลำดับ โดยพลวัตของการฟื้นตัวเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่มีการชะลอตัวรุนแรงในเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนในช่วงครึ่งหลังของปี ในขณะที่สถานการณ์ในภาคการเงินของยุโรปปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง (2) สถานการณ์ทางการเมืองปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การดำเนินการตามแผนการปรองดองแห่งชาติมีความคืบหน้าชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม และไม่มีสถานการณ์ความสงบทางการเมืองจนกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ (3) การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ไม่มีความล่าช้าและสามารถชดเชยการหดตัวของรายจ่ายภาครัฐที่เกิดจากการลดลงของกรอบงบประมาณปกติ รวมทั้งสร้างแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากรายจ่ายภาครัฐ (4) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีไม่เกิน 80 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และ (5) สถานการณ์ภัยแล้งไม่รุนแรงจนเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของผลผลิตภาคเกษตร

(2) กรณีต่ำ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวน้อยกว่าร้อยละ 7.0 ในกรณีที่ (1) เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3.9 และร้อยละ 7.5 ตามลำดับ (2) การดำเนินการตามแผนปรองดองแห่งชาติล่าช้าหรือมีสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองจนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ (3) การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณปกติมีความล่าช้าและส่งผลให้เม็ดเงินจากงบประมาณภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจลดลงจากปี 2552 (4) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่า 80 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และ (5) สถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงและส่งผลให้การผลิตภาคการเกษตรหดตัวรุนแรง

5. ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2553

การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ รวมทั้งพลวัตที่เกิดขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีโอกาสที่จะขยายตัวในเกณฑ์สูง อย่างไรก็ตามแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในตลาดโลกมีแนวโน้มที่จะลดลงตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญ ๆ เมื่อรวมกับฐานที่เริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามลำดับและมีความเสี่ยงที่จะเป็นข้อจำกัดต่ออัตราการขยายตัวในช่วงต้นปี 2554 ในขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงสำคัญ ๆ ที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าการประมาณการและส่งผลกระทบต่อการบริหารเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงที่เศรษฐกิจประเทศสำคัญจะชะลอตัวลงอย่างรุนแรง สถานการณ์ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน อัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมัน รวมทั้งความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้ง นอกจากนั้นการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนยังตั้งอยู่บนเงื่อนไขของการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ดังนั้นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีจึงควรให้ความสำคัญกับ

(1) การเร่งรัดฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งการเร่งรัดการดำเนินการตามแผนการปรองดองอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ

(2) การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 รวมถึงการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ

(3) การดูแลและแก้ไขปัญหาการผลิตภาคการเกษตรรวมถึงการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรอย่างเหมาะสมภายใต้สถานการณ์ที่ปริมาณน้ำในเขื่อนยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาทท่ามกลางแนวโน้มการอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องของเงินด่อง

(4) การเร่งรัดโครงการลงทุนสำคัญๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ให้มีความต่อเนื่อง รวมทั้งการเตรียมโครงการสำคัญ ๆ ภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี 2554 ให้มีความพร้อมต่อการดำเนินงานและการเบิกจ่าย โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 และในไตรมาสแรกของปี 2554 ซึ่งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงตามแนวโน้มการลดลงของแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจโลกและข้อจำกัดการขยายตัวจากฐานที่สูงขึ้น

(5) การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสมดุลเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายใต้แนวโน้มแรงกดดันในการแข็งค่าของเงินบาทและความเสี่ยงด้านความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินสกุลหลัก

                                        ประมาณการเศรษฐกิจปี 2553
                                                     ข้อมูลจริง                          ประมาณการ ปี 2553
                                          2550         2551        2552          24 พ.ค. 53      23 ส.ค. 53
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านบาท)           8,529.8      9,075.5     9,050.7             9,729.5        10,000.9
  รายได้ต่อหัว (บาทต่อคนต่อปี)             129,239.6    135,454.6     134,683             144,141         148,162
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านดอลลาร์ สรอ.)     246.8        272.0       263.6               299.4           307.7
  รายได้ต่อหัว (ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี)      3,739.2      4,060.0     3,922.6             4,435.1         4,558.8
อัตราการขยายตัวของ GDP (ณ ราคาคงที่, %)        4.9          2.5        -2.2           3.5 - 4.5       7.0 - 7.5
การลงทุนรวม (ณ ราคาคงที่, %)                  1.5          1.2        -9.0                 4.6             9.2
  ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %)                  0.6          3.2       -12.8                 5.0            12.1
  ภาครัฐ (ณ ราคาคงที่, %)                     4.2         -4.6         2.7                 3.5             1.7
การบริโภครวม (ณ ราคาคงที่, %)                 2.8          3.0        -0.1                 2.8             4.0
  ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %)                  1.7          2.7        -1.1                 3.0             4.1
  ภาครัฐบาล (ณ ราคาคงที่, %)                  9.7          4.6         5.8                 1.6             3.9
ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)       7.8          5.1       -12.7                 8.8            15.1
  มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)    151.3        175.2       150.9               174.3           189.7
     อัตราการขยายตัว (%)                    18.2         15.9       -13.9                15.5            25.7
     อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)             11.9          6.0       -14.0                 9.0            17.2
ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)       4.4          8.5       -21.8                16.4            20.6
  มูลค่าการนำเข้าสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)    138.5        175.1       131.5               163.0           174.8
     อัตราการขยายตัว (%)                     9.1         26.5       -24.9                24.0            32.9
     อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)              3.5          8.4       -22.7                18.0            24.9
ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                12.8          0.1        19.4                11.3            14.9
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 1/        15.7          1.6        20.3                12.2            15.1
ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%)                     6.3          0.5         7.8                 4.1             4.9
เงินเฟ้อ (%)
  ดัชนีราคาผู้บริโภค                            2.3          5.5        -0.8           3.0 - 4.0       3.0 - 3.5
  GDP Deflator                             3.2          3.8         2.0           3.0 - 4.0       3.0 - 3.5

ที่มา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 23 สิงหาคม 2553

หมายเหตุ 1/ Reinvested earnings has been recorded as part of FDI in Financial account, and its contra entry recorded as income on equity in current account.

--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ