(ต่อ2)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ปี 2549 และแนวโน้มปี 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 12, 2007 15:17 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          (2.5)  การผลิตปี 2549 ขยายตัวดีทั้งการผลิตภาคเกษตรและนอกเกษตร 
* ผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.1 สูงกว่าร้อยละ 5.2 ในปี 2548 ซึ่งเป็นการขยายตัวตามภาวะการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ในขณะที่การผลิตเพื่อใช้ในประเทศชะลอตัว ผลผลิตอุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ หมวดอาหาร เครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น
* ผลผลิตเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 4.4 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 3.2 ในปี 2548 แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะแห้งแล้งในช่วงต้นปี และภาวะน้ำท่วมในหลายจังหวัดระหว่างเดือนกันยายน - ตุลาคม โดยผลผลิตพืชผลสำคัญที่เพิ่มขึ้นประกอบด้วย ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และปาล์มน้ำมัน
* สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวสูงร้อยละ 10.5 ในปี 2549 ส่วนหนึ่งเนื่องจากในปี 2548 เป็นช่วงของการเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบจากธรณีพิบัติภัยในปลายธันวาคม 2547 และส่งผลกระทบต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 ประกอบกับการจัดงานพืชสวนโลกในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2549 - มกราคม 2550 จูงใจให้มีการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น โดยคาดว่ารายได้การท่องเที่ยวจากมหกรรมพืชสวนโลกในช่วงไตรมาสที่สี่ปี 2549 มีประมาณ 15,000 - 20,000 ล้านบาท
(2.6) เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แรงกดดันจากเงินเฟ้อลดลงมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2549
* แรงกดดันต่อราคาสินค้าลดลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลัง ในไตรมาสที่สี่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 3.3 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 5.1 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัวจากผลของราคาสินค้าและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นประกอบกับได้มีการปรับราคาสินค้าไปมากแล้วในปี 2548 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ปี 2550 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 และ 2.3 สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานในไตรมาสที่สี่เท่ากับร้อยละ 1.7 ชะลอลงมากจากร้อยละ 2.4 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี และยังลดลงต่อเนื่องเป็นร้อยละ 1.6 และ 1.4 ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ปี 2550 ตามลำดับ นอกจากนี้ดัชนีราคาผู้ผลิตก็ชะลอลงอย่างรวดเร็วจึงคาดว่าแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตในช่วงต่อไปจะลดลง โดยเฉลี่ยในปี 2549 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 4.7 ใกล้เคียงกับร้อยละ 4.5 ในปี 2548 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 2.3 สูงขึ้นจากร้อยละ 1.7 ในปี 2548 โดยในช่วงครึ่งแรกของปีอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นมากจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าโดยสารสาธารณะ ผักสดและผลไม้ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะฝนแล้ง นอกจากนี้ส่วนหนึ่งยังเป็นผลของฐานเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำเนื่องจากเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันยังถูกควบคุม แต่แรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี
* การจ้างงานรวมเพิ่มขึ้น และอัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกันกับปีที่แล้ว ผู้มีงานทำในไตรมาสที่สี่ปี 2549 มีจำนวน 36.24 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.67 จาก 36.00 ล้านคน ในไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว โดยผู้มีงานทำภาคเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบน้ำท่วมสำหรับผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 โดยการจ้างงานในสาขาการค้าและการธนาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ขณะที่การจ้างงานในสาขาการก่อสร้างและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และ 3.6 ตามลำดับ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.29 และปี 2549 อัตราการว่างงานเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 1.51 ต่ำกว่าร้อยละ 1.90 ของปี 2548 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนจำนวนตำแหน่งงานว่างต่อจำนวนผู้สมัครสูงขึ้นเล็กน้อยจาก 0.44 ณ สิ้นไตรมาสสาม เป็น 0.50 ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ และสัดส่วนผู้สมัครงานใหม่ต่อการบรรจุงานลดลงแสดงว่าตลาดแรงงานตึงตัวน้อยลง
* การใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมลดลง ร้อยละ 2.0 เป็นการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 และ ลดลง 1.2 ในปี 2547 และ 2548 ตามลำดับ ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะสะท้อนถึงการปรับตัวในการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของผู้บริโภคที่มีการประหยัด และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้มากขึ้น
* หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2549 มีจำนวน 3.16 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.48 ของ GDP ลดลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 41.14 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 และต่ำกว่าร้อยละ 46.4 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2548
* เสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2549 เท่ากับ 66.98 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งคิดเป็น 3.6 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และเท่ากับการนำเข้า 6.38 เดือน ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มีเสถียรภาพ และทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศยังคงเพิ่มต่อเนื่องเป็น 67.67 พันล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550(2)
(2.7) ภาวะการเงิน อัตราดอกเบี้ยเริ่มทรงตัวในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้เงินฝากรวมชะลอลงแม้ว่าเงินฝากประจำยังเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่สินเชื่อชะลอตัวต่อเนื่อง สภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินจึงอยู่ในระดับสูง ส่วนค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตลาดหลักทรัพย์มีความผันผวน
* อัตราดอกเบี้ยนโยบาย คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธปท. มีมติปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 4 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปีจากร้อยละ 4.0 เป็น 5.0 ต่อปี และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 5.0 ต่อปีตลอดช่วงครึ่งหลังของปี 2549 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัว และแรงกดดันต่อเงินเฟ้อลดลง และได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2550 รวม 2 ครั้ง ๆ ละ 25 จุด เป็นร้อยละ 4.50 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 50
* อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างทรงตัวในไตรมาสที่สี่ หลังจากที่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของ 5 ธนาคารใหญ่ ณ สิ้นปี อยู่ที่ร้อยละ 7.75 และ 4.5 ต่อปี สูงขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 1.125 และ 1.50 ตามลำดับ การที่ดอกเบี้ยเงินฝากประจำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมากกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจริง (Effective spread) ของธนาคารลดลงเป็นร้อยละ 2.86 ในไตรมาสที่สี่เทียบกับร้อยละ 3.57, 3.60 และ 3.48 ในช่วง 3 ไตรมาสแรก
*********************************************************************************************************
(2) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการดูแลค่าเงินบาท
**********************************************************************************************************
(ยังมีต่อ).../*สภาพคล่อง..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ