สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจยอดขายรายไตรมาสเป็นประจำทุกปี การสำรวจครั้งนี้เป็นการดำเนินการในไตรมาส 2 ของปี 2553 โดยใช้ขนาดตัวอย่างรวม 5,292 แห่ง จากสถานประกอบการทั่วประเทศ ทั้งสิ้นประมาณ 1.2 ล้านแห่ง ข้อมูลที่เก็บรวบรวม ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับการจำหน่ายปลีกสินค้าและบริการของสถานประกอบการ และข้อมูลสินค้าคงเหลือของธุรกิจประเภทขายปลีก
ผลการสำรวจในปี 2553 ไตรมาส 2 ทั่วราชอาณาจักร สรุปได้ดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงมูลค่าขาย/รายรับระหว่างไตรมาส 2 และไตรมาส 1 ปี 2553
ในไตรมาส 2 ปี 2553 ภาพรวมของธุรกิจทั่วประเทศยังขยายตัวแต่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่ร้อยละ 1.3 โดยธุรกิจเกือบทุกประเภทมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ยกเว้นธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก มีรายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนสูงกว่าธุรกิจอื่น คือร้อยละ 8.2 รองลงมาคือธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารและการบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 และร้อยละ 2.0 ตามลำดับ สำหรับกิจรรมนันทนาการ สำนักข่าว และการกีฬา มีรายรับลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 2.5
1.1 ธุรกิจค้าปลีก
สำหรับธุรกิจค้าปลีก พบว่า ไตรมาส 2 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมา เหลือร้อยละ 0.8 โดยกิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน 1 - 15 คน และ 51 - 200 คน มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ร้อยละ 3.1 และร้อยละ 0.5 ตามลำดับ สาเหตุที่มียอดขายเพิ่มขึ้น นั้น สถานประกอบการร้อยละ 47.4 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย ทำให้มีประชาชนจับจ่ายใช้สอยสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคมากขึ้น สำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 26 - 30 คน 31 - 50 คน และมากกว่า 200 คนขึ้นไป พบว่า ในไตรมาส 2 มียอดขายลดลงร้อยละ 28.7 ร้อยละ 2.2 และร้อยละ 0.8 ตามลำดับ สาเหตุที่มียอดขายลดลงนั้น สถานประกอบการร้อยละ 35.6 รายงานว่าเนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อลดลง
ประเภทของธุรกิจค้าปลีกที่มียอดขายเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ได้แก่ ขายปลีกเครื่องโลหะ สีทา และกระจก (ร้อยละ 7.5) ขายปลีกสินค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้า (ร้อยละ 3.4) ขายปลีกสินค้าอื่นๆ (ร้อยละ 2.8) ขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ ในร้านเฉพาะอย่าง (ร้อยละ 2.2) ขายปลีกของใช้แล้ว ขายโดยไม่มีร้านซ่อมแซมของใช้ (ร้อยละ 2.0) และขายปลีกสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องหนัง (ร้อยละ 0.9) สำหรับธุรกิจค้าปลีกที่มียอดขายลดลงในไตรมาส 2 ได้แก่ ขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ เป็นสินค้าหลัก ดิสเคาน์สโตร์ ร้านสะดวกซื้อ (ร้อยละ 3.7) ขายปลีกเครื่องใช้สิ่งของและอุปกรณ์ในครัวเรือน (ร้อยละ 2.7) และขายปลีกยา เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง (ร้อยละ 0.7)
1.2 ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก
ธุรกิจประเภทโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก พบว่า ในไตรมาส 2 มีมูลค่ารายรับชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 เหลือร้อยละ 8.2 โดยกิจการทุกขนาดมีรายรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน และ 51 - 200 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 11.2 และร้อยละ 11.0 ตามลำดับ รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงาน 26 - 30 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0
สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นนั้น สถานประกอบการมากกว่าสองในสามหรือร้อยละ 67.8 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย ทำให้มีการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นผลให้อัตราการพักแรมเพิ่มขึ้น
1.3 ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร
ในไตรมาส 2 ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารมีมูลค่ารายรับชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา เหลือร้อยละ 2.2 โดยกิจการที่มีคนทำงาน 1 -15 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 4.2 รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นนั้น สถานประกอบการมากกว่าครึ่งหรือร้อยละ 58.8 รายงานว่าเนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น
สำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 26 - 30 คน และ 31 - 50 คน พบว่า ในไตรมาส 2 มีรายรับลดลงในสัดส่วนที่เท่ากันคือร้อยละ 3.1 รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป และ 51 - 200 คน ลดลงร้อยละ 2.4 และร้อยละ 1.6 ตามลำดับ
1.4 ธุรกิจการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน
ธุรกิจการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน เช่น การให้เช่ากล้องและอุปกรณ์การถ่ายภาพ การให้เช่าวีดีโอ วีซีดี และดีวีดี การให้เช่าเครื่องแต่งกายที่ใช้ในงานพิธีต่าง ๆ การให้เช่าโต๊ะ เก้าอี้ เครื่องครัว และการให้เช่าหนังสือ เป็นต้น พบว่า ในไตรมาส 2 มีมูลค่ารายรับชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ปี 2553 เหลือร้อยละ 1.3 โดยกิจการที่มีคนทำงาน 1 - 15 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 1.5 สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นนั้น สถานประกอบการส่วนใหญ่หรือร้อยละ 43.3 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดตามประเพณี ทำให้มีผู้มาใช้บริการมากขึ้น และอีกร้อยละ 28.1 รายงานว่าลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น
สำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 31 - 50 คน และ 16 - 25 คน มีรายรับลดลงในไตรมาส 2 ร้อยละ 8.3 และร้อยละ 4.7 ตามลำดับ สาเหตุที่มีรายรับลดลงนั้น สถานประกอบการร้อยละ 26.8 รายงานว่าเนื่องจากมีคู่แข่งทางการค้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีลูกค้าลดลง
1.5 กิจกรรมนันทนาการ สำนักข่าว และการกีฬา
ด้านกิจกรรมนันทนาการ สำนักข่าว และการกีฬา พบว่า ในไตรมาส 2 มีมูลค่ารายรับหดตัวต่อเนื่องร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยกิจการเกือบทุกขนาดมีรายรับลดลง โดยเฉพาะกิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน มีรายรับลดลงสูงที่สุดร้อยละ 9.0 รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงาน 1 - 15 คน ลดลงร้อยละ 3.6 สาเหตุที่มีรายรับลดลงนั้น สถาน-ประกอบการร้อยละ 38.3 รายงานว่าเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง และอีกร้อยละ 15.3 รายงานว่ามีคู่แข่งทางการค้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีลูกค้าลดลง ธุรกิจที่มีรายรับลดลงในไตรมาส 2 ได้แก่ การกีฬา ละคร ดนตรี ศิลปะ นันทนาการอื่นๆ ผลิตและจำหน่ายภาพยนตร์ วีดีโอ และผลิต ขาย ให้เช่ารายการวิทยุ โทรทัศน์
สำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 31 - 50 คน และ 51 - 200 คน ในไตรมาส 2 มีรายรับเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่เท่ากันคือร้อยละ 0.5 สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นนั้น สถาน-ประกอบการส่วนใหญ่หรือร้อยละ 47.2 รายงานว่าเนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น และอีกร้อยละ 43.3 รายงานว่าเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดตามประเพณี ทำให้มีผู้มาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น
1.6 ธุรกิจการบริการอื่น ๆ
ธุรกิจการบริการอื่นๆ ได้แก่ บริการซักรีด ทำความสะอาด บริการเสริมสวย สถานเสริมความงามต่างๆ กิจกรรมเกี่ยวกับการทำศพ และการบริการอื่นๆ พบว่า ในไตรมาส 2 มีมูลค่ารายรับชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาส 1 เหลือร้อยละ 2.0 โดยกิจการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป และ 1 - 15 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 สูงที่สุดร้อยละ 8.8 และร้อยละ 2.8 ตามลำดับ สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นนั้น สถานประกอบการร้อยละ 51.6 รายงานว่าเนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น
สำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 31 - 50 คน พบว่า ในไตรมาส 2 มีรายรับลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 8.0 ส่วนกิจการขนาดอื่นๆ มีรายรับลดลงไม่เกินร้อยละ 5.0 สาเหตุที่มีรายรับลดลงนั้น สถาน-ประกอบการร้อยละ 18.3 รายงานว่าเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง
2. การเปลี่ยนแปลงมูลค่าขาย/รายรับระหว่างไตรมาส 2 ปี 2553 และไตรมาส 2 ปี 2552
ในไตรมาส 2 ปี 2553 ภาพรวมของธุรกิจทั่วประเทศขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2552 ธุรกิจเกือบทุกประเภทมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก มีรายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนสูงที่สุดร้อยละ 26.0 รองลงมาคือธุรกิจการบริการอื่นๆ มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1
เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า ในไตรมาส 2 กิจการเกือบทุกขนาดมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันกับปีที่แล้ว โดยกิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 16.7 รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงาน 51 - 200 คน และ 1 - 15 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 และร้อยละ 11.1 ตามลำดับ ส่วนกิจการที่มีคนทำงาน 26 - 30 คน กลับมีรายรับลดลงในไตรมาส 2 สูงที่สุดร้อยละ 40.9
3. การเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินค้าคงเหลือระหว่างไตรมาส 2 และไตรมาส 1 ปี 2553 ของการขายปลีก
ภาพรวมของมูลค่าสินค้าคงเหลือของธุรกิจค้าปลีก ในไตรมาส 2 ปี 2553 พบว่า ขยายตัวเล็กน้อยจากไตรมาส 1 โดยมีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ในส่วนของการขายปลีกสินค้าแต่ละประเภท พบว่า การขายปลีกยา เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 5.9 ในขณะที่การขายปลีกสินค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้า มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงในไตรมาส 2 สูงที่สุดร้อยละ 8.1
เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินค้าคงเหลือ ตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า กิจการที่มีคนทำงาน 31 - 50 คน มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 สูงที่สุดร้อยละ 7.4 ส่วนกิจการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป กลับมีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงสูงที่สุดร้อยละ 7.9
4. การเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินค้าคงเหลือระหว่างไตรมาส 2 ปี 2553 และไตรมาส 2 ปี 2552 ของการขายปลีก
ภาพรวมของมูลค่าสินค้าคงเหลือของธุรกิจค้าปลีก ในไตรมาส 2 ปี 2553 พบว่าหดตัวน้อยลงเหลือร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2552 ในส่วนของการขายปลีกสินค้าแต่ละประเภท พบว่า การขายปลีกสินค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้า มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงสูงที่สุดร้อยละ 34.0
สำหรับการขายปลีกยา เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 สูงที่สุดร้อยละ 23.0
เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินค้าคงเหลือ ตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า กิจการที่มีคนทำงาน 26 - 30 คน มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงในไตรมาส 2 สูงที่สุดร้อยละ 23.0 ในขณะที่กิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 30.1
5. สรุปผลและข้อเสนอแนะ
ภาพรวมของธุรกิจทั่วประเทศในไตรมาส 2 ปี 2553 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.1 ในไตรมาส 1 เป็นร้อยละ 1.3 โดยธุรกิจเกือบทุกประเภทมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก มีรายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนสูงที่สุดร้อยละ 8.2
เมื่อเปรียบเทียบไตรมาส 2 ปี 2553 กับระยะเดียวกันกับปีที่ผ่านมา พบว่า ในภาพรวมธุรกิจขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 7.6 โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก ขยายตัวร้อยละ 26.0 และธุรกิจการบริการอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 14.1
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ยังคงขยายตัวดีต่อเนื่องจากไตรมาส 1 แม้จะชะลอตัวลงบ้างเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากผลกระทบของความไม่สงบทางการเมือง
สำหรับความช่วยเหลือที่ต้องการจากหน่วยงานของรัฐนั้น มีผู้ประกอบการธุรกิจและบริการทั่วประเทศ ร้อยละ 14.4 แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยส่วนใหญ่กว่าครึ่ง เห็นว่าต้องการให้รัฐสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนั้นผู้ประกอบการบางส่วนต้องการให้รัฐกำหนดมาตรฐานการควบคุมราคาสินค้าให้เข้มงวดมากขึ้น และควรกำหนดมาตรการการลดหย่อนภาษี เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจ
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ