การประมวลข้อมูลพื้นที่การก่อสร้าง ไตรมาสที 3/2553

ข่าวทั่วไป Thursday January 27, 2011 15:19 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

การประมวลข้อมูลพื้นที่การก่อสร้างเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลของสิ่งก่อสร้างทุกประเภทที่เอกชนได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ต่อเติมหรือดัดแปลงเกี่ยวกับจำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง จำนวนสิ่งก่อสร้าง และพื้นที่ก่อสร้าง ข้อมูลดังกล่าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์สำหรับหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับเอกชนใช้ในการจัดทำตัวชี้วัดด้านที่อยู่อาศัย ใช้ในการติดตามภาวะเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ การส่งเสริมการขายและการลงทุน

ข้อมูลพื้นที่การก่อสร้าง ไตรมาสที่ 3/2553 เป็นข้อมูลในระดับภาคและทั่วประเทศ ที่อยู่ในเขตเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (บางส่วน) ในพื้นที่ที่มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 สรุปได้ดังนี้

1. จำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง และพื้นที่ก่อสร้าง

ในไตรมาส 3 ปี 2553 มีเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ ต่อเติมหรือดัดแปลงจำนวนทั้งสิ้น 41,429 ราย เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างสิ่งก่อสร้างใช้เป็นอาคารโรงเรือน 36,119 ราย และที่มิใช่อาคารโรงเรือน 5,310 ราย ดังนี้

1.1 สิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารโรงเรือน

สำหรับสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารโรงเรือนนั้นมีผู้ใด้ใบอนุญาตให้ก่อสร้าง 36,119 ราย มีพื้นที่ก่อสร้าง 15.5 ล้าน ตร.ม. ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 98.0) ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ และร้อยละ 2.0 ได้รับอนุญาตให้ต่อเติมหรือดัดแปลง

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโรงเรือนลดลงร้อยละ 4.1 แต่มีพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 จำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 และพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.9

1.2 สิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือน

สำหรับสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนมีเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง 5,310 ราย ส่วนใหญ่ร้อยละ 99.2 ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ และร้อยละ 0.8 ได้รับอนุญาตให้ต่อเติมหรือดัดแปลง โดยเป็นสิ่งก่อสร้างประเภทลานจอดรถ สนามกีฬา ปั๊มน้ำมันป้ายโฆษณา สระว่ายน้ำ ฯลฯ มีพื้นที่ก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 628,959 ตร.ม. และประเภทท่อ/ทางระบายน้ำ ถนน รั้ว/กำแพง สะพาน เขื่อน/คันดิน ฯลฯ มีความยาว ก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 532,253 เมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 และมีพื้นที่ก่อสร้างในส่วนที่คิดเป็นความยาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 พื้นที่ก่อสร้างที่คิดเป็นพื้นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 83.1 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 พบว่าจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 โดยมีพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 86.6 และความยาวของสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4

2. ชนิดของสิ่งก่อสร้าง

2.1 สิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารโรงเรือน

อาคารโรงเรือนที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างในไตรมาส 3/2553 ส่วนใหญ่เป็นอาคารโรงเรือนเพื่ออยู่อาศัยโดยมีพื้นที่รวม 11.0 ล้าน ตร.ม. หรือร้อยละ 71.1 ของสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารโรงเรือนทั้งสิ้น ส่วนอาคารโรงเรือนที่ก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์และสำนักงานมีพื้นที่รวม 1.8 ล้าน ตร.ม. คิดเป็นร้อยละ 11.7 เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงานมีพื้นที่ก่อสร้างรวม 1.4 ล้าน ตร.ม. คิดเป็นร้อยละ 8.9 เป็นการก่อสร้างโรงแรม คิดเป็นพื้นที่ 479,894 ตร.ม. และเป็นการก่อสร้างอาคารเพื่อการศึกษาและสาธารณสุข จำนวน 202,298 ตร.ม.

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าอาคารโรงเรือนมีพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 (จากพื้นที่ 14,095,777 ตร.ม. เป็น 15,529,699 ตร.ม.) โดยเฉพาะการก่อสร้างเพื่อการศึกษาและสาธารณสุขเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 84.9 รองลงมาเป็นการก่อสร้างอาคารเพื่อการพาณิชย์และสำนักงาน เพื่อการอุตสาหกรรม และโรงงาน เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือร้อยละ 23.7 และร้อยละ 21.3 สำหรับการก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัย มีพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 แต่การก่อสร้างโรงแรมลดลงร้อยละ 29.2 (จากพื้นที่ 677,534 ตร.ม. เป็น 479,894 ตร.ม.)

หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 พบว่า อาคารโรงเรือนมีพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.9 (จากพื้นที่ 11,097,357 ตร.ม. เป็น 15,529,699 ตร.ม.)

2.2 สิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือน

สำหรับสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนนั้นส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างท่อ/ทางระบายน้ำ ที่มีความยาว 286,342 เมตร หรือร้อยละ 53.8 ของสิ่งก่อสร้างที่คิดเป็นความยาวทั้งสิ้น เป็นการก่อสร้าง รั้ว/กำแพงซึ่งมีความยาว 127,761 เมตรหรือร้อยละ 24.0 และถนนยาว 106,420 เมตรหรือร้อยละ 20.0

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนมีความยาวของสิ่งก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 (จากความยาว 465,252 ม. เป็น 532,253 ม.) และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4 (จากความยาว 408,082 ม. เป็น 532,253 ม.)

สำหรับสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนที่คิดเป็นพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างลานจอดรถได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างคิดเป็นพื้นที่ 304,365 ตร.ม. หรือร้อยละ 48.4 และปั๊มน้ำมันได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างคิดเป็นพื้นที่ 57,746 ตร.ม. หรือร้อยละ 9.2

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 83.1 (จากพื้นที่ 343,534 ตร.ม. เป็น628,959 ตร.ม.) และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.6 (จากพื้นที่ 337,039 ตร.ม. เป็น 628,959 ตร.ม.)

สรุป จากการประมวลข้อมูลพื้นที่การก่อสร้างในไตรมาส 3/2553 พบว่า จำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโรงเรือนจำนวน 36,119 รายลดลงร้อยละ 4.1 จากไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะที่พื้นที่ก่อสร้างซึ่งมีจำนวน 15.5 ล้าน ตร.ม. เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 จากไตรมาสที่ผ่านมา

หากจำแนกตามชนิดของสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ร้อยละ 71.1 จะเป็นการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยคิดเป็นพื้นที่ก่อสร้าง 11.0 ล้าน ตร.ม. เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.1 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 สำหรับสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช่อาคารโรงเรือน มีพื้นที่ก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 83.1 และความยาวของสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม จากการประมวลข้อมูลพบว่าจำนวนผู้ได้รับอนุญาตและพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างประเภทอาคารโรงเรือนในไตรมาส 3/2553 ในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา และการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนของสิ่งก่อสร้างที่ทั้งพื้นที่ก่อสร้างและความยาวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

สรุปผลการสำรวจ

1. จำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง และพื้นที่ก่อสร้าง

ในไตรมาสสาม ปี 2553 มีเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ ต่อเติมหรือดัดแปลงอาคาร และสิ่งก่อสร้างจำนวน 41,429 ราย เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโรงเรือน 36,119 รายคิดเป็นพื้นที่ 15.5 ล้านตารางเมตร และได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือน 5,310 รายโดยเป็นสิ่งก่อสร้างประเภทลานจอดรถ สนามกีฬาปั๊มน้ำมัน ป้ายโฆษณา สระว่ายน้ำ ฯลฯ คิดเป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 628,959 ตารางเมตร และประเภทท่อ/ทางระบายน้ำ ถนน รั้ว/กำแพง สะพาน เขื่อน/คันดินฯลฯ คิดเป็นความยาวทั้งสิ้น 532,253 เมตร

สำหรับผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้างอาคารโรงเรือนนั้น พบว่า ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 98.0) ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ และร้อยละ 2.0 ได้รับอนุญาตให้ต่อเติมหรือดัดแปลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า จำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโรงเรือนลดลงร้อย ละ 4.1 แต่มีพื้นที่ ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 พบว่าจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 และมีพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.9

สำหรับสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนนั้น พบว่า ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 99.2) เป็นการได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ และร้อยละ 0.8 เป็นการได้รับอนุญาตให้ต่อเติมหรือดัดแปลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า จำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 และมีพื้นที่ก่อสร้างในส่วนที่คิดเป็นพื้นที่ (เช่น ลานจอดรถ สนามกีฬา ปั๊มน้ำมัน ป้ายโฆษณา และสระว่ายน้ำ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 83.1 และพื้นที่ก่อสร้างในส่วนที่คิดเป็นความยาว (เช่น ท่อ/ทางระบายน้ำ ถนน รั้ว/กำแพง สะพาน และเขื่อน/คันดิน) เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันคือร้อยละ 14.4 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 พบว่าจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 แต่พื้นที่ก่อสร้างและความยาวของสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 86.6 และร้อยละ 30.4 ตามลำดับ

2. พื้นที่ก่อสร้าง จำแนกตามชนิดของสิ่งก่อสร้าง

สิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารโรงเรือนที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างในไตรมาสที่สามนั้นส่วนใหญ่เป็นอาคารโรงเรือนเพื่ออยู่อาศัยโดยมี พื้นที่รวม 11.0 ล้านตารางเมตร หรือร้อยละ 71.1 ของสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารโรงเรือนทั้งสิ้น ส่วนอาคารโรงเรือนที่ก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์และ สำนักงานมีพื้นที่รวม 1.8 ล้านตารางเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 11.7 เพื่อการอุตสาหกรรมและ โรงงานมีพื้นที่ก่อสร้างรวม 1.4 ล้านตารางเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 8.9 เป็นการก่อสร้างโรงแรมคิดเป็นพื้นที่ 479,894 ตารางเมตร และเป็นการก่อสร้างอาคารเพื่อการศึกษาและสาธารณสุข จำนวน 202,298 ตารางเมตร เท่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาพบว่า อาคารโรงเรือนมีพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 โดยเฉพาะการก่อสร้างเพื่อการศึกษาและ สาธารณสุขเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 84.9 รองลงมาเป็นการก่อสร้างอาคารเพื่อการพาณิชย์และ สำนักงาน อาคารเพื่อการอุตสาหกรรมและ โรงงานเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันคือร้อยละ 23.7 และร้อยละ 21.3 สำหรับการก่อสร้าง เพื่ออยู่อาศัยมีพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 แต่การก่อสร้างโรงแรมลดลงร้อยละ 29.2

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 พบว่า อาคารโรงเรือนมีพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.9

สำหรับสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนนั้น ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างท่อ/ทางระบายน้ำ มีความยาว 286,342 เมตร คิดเป็นร้อยละ 53.8 ของสิ่งก่อสร้างที่มีหน่วยวัดเป็นความยาวทั้งสิ้น การก่อสร้างรั้ว/กำแพง มีความยาว 127,761 เมตร และถนนมีความยาว 106,420 เมตร สำหรับการก่อสร้างลานจอดรถมีพื้นที่ 304,365 ตารางเมตรหรือร้อยละ 48.4 ปั๊มน้ำมันได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง คิดเป็นพื้นที่ 57,746 ตารางเมตร หรือร้อยละ 9.2 สนามกีฬาได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง 39,040 ตารางเมตร หรือร้อยละ 6.2

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาพบว่า สิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนมีความยาวของสิ่งก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง โดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ส่วนสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนที่เป็น พื้นที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 83.1 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 86.6 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ตามลำดับ

3. ข้อมูลการก่อสร้าง จำแนกตามภาค

เมื่อพิจารณาข้อมูลการก่อสร้างใหม่ประเภทอาคารโรงเรือนจำแนกตามภาค พบว่ามีจำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างทั้งสิ้น 35,407 ราย เป็นผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลมากที่สุดถึง 9,071 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.6 รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ได้รับอนุญาตให้ ก่อสร้างจำนวน 8,662 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.5 ส่วนพื้นที่ก่อสร้างในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างมากที่สุด คือ 6.5 ล้านตารางเมตร คิดเป็นร้อยละ 43.7 ของพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ทั้งสิ้น ทั่วประเทศ (14.9 ล้านตารางเมตร)

สำหรับการได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ที่มิใช่อาคารโรงเรือนในไตรมาสที่สามของปี 2553 มีจำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ ก่อสร้างทั้งสิ้น 5,267 ราย โดยเป็นผู้ได้รับอนุญาตการก่อสร้างในกรุงเทพฯและปริมณฑลมากที่สุดจำนวน 2,589 ราย (ร้อยละ 49.2) ในขณะที่ภาคใต้มีจำนวนผู้ได้รับอนุญาตการก่อสร้างประเภทนี้น้อยที่สุดเพียง 228 ราย (ร้อยละ 4.3)

สำหรับพื้นที่สิ่งก่อสร้างใหม่ที่มิใช่อาคารโรงเรือนนั้นได้รับอนุญาตพื้นที่การก่อสร้างรวม 619,465 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ก่อสร้างใน กรุงเทพฯและปริมณฑลมากที่สุด จำนวน 290,623 ตารางเมตร หรือร้อยละ 46.9 ส่วนความยาวของสิ่งก่อสร้างประเภทท่อ/ทางระบายน้ำ ถนน รั้ว/กำแพง สะพาน เขื่อน/คันดิน ฯลฯ ที่เป็นการก่อสร้างใหม่นั้นได้รับอนุญาตทั้งสิ้น 515,900 เมตร ซึ่งเป็นการก่อสร้างในกรุงเทพฯและ ปริมณฑลมากที่สุดคือ 320,434 เมตร หรือร้อยละ 62.1

หากกล่าวโดยรวมแล้ว การได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ส่วนใหญ่จะเป็นการอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ทั้งในส่วนที่เป็นอาคารโรงเรือน และมิใช่อาคารโรงเรือน สำหรับการอนุญาตให้ต่อเติมหรือดัดแปลงนั้น จะมีสัดส่วนการได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งจะเป็น ลักษณะเช่นเดียวกันในทุกภาค

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ