สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้จัดทำโครงการสำ รวจข้อมูลศักยภาพพื้นฐานระบบโลจิสติกส์ภาคการค้า พ.ศ. 2553 ขึ้นเป็นครั้งแรกโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยความสามารถในการจัดการด้านโลจิสติกส์ของสถานประกอบการในภาคการค้า และเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการจัดทำดัชนีชี้วัด (KPIs)ที่จำเป็นสำหรับการประเมินผลระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย
การสำรวจข้อมูลศักยภาพพื้นฐานระบบโลจิสติกส์ภาคการค้า พ.ศ. 2553 ครั้งนี้ สสช. ได้ดำเนินการเป็นโครงการนำร่อง โดยคุ้มรวมสถานประกอบการธุรกิจทางการค้าที่มีคนทำงานตั้งแต่ 16 คนขึ้นไป ทั่วประเทศ ซึ่งประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับการขายส่ง การขายปลีก ยกเว้นการซ่อมแซมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน ตามการจัดประเภทอุตสาหกรรมตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจตาม มาตรฐานสากล (ประเภท G : ISIC Rev.3)
สำหรับการปฏิบัติงานเก็บรวบรวมข้อมูลได้ดำเนินการในเดือนพฤษภาคม 2553 โดยใช้วิธีการส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ไปยังสถานประกอบการต่างๆ ที่อยู่ในคุ้มรวมโดยมีสถานประกอบการที่ตกเป็นตัวอย่างตอบแบบสอบถามจำนวน 5,217 แห่ง จากจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 13,379 แห่ง และข้อมูลที่นำเสนอในรายงานฉบับนี้เป็นผลของการดำเนินการในรอบปีที่ผ่านมา (1 มกราคม — 31 ธันวาคม 2552) สรุปได้ดังนี้
1. จำนวนสถานประกอบการ
จำแนกตามหมวดธุรกิจจากจำนวนสถานประกอบการภาคการค้าทั่วประเทศทั้งสิ้น 13,379 แห่ง พบว่า ร้อยละ 44.5 ประกอบธุรกิจการขายส่งและการค้าเพื่อค่านายหน้า ยกเว้น ยานยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนสถานประกอบการที่ประกอบธุรกิจการขายปลีก ยกเว้น ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมทั้งการซ่อมแซมของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือนและสถานประกอบการที่ประกอบธุรกิจการขายยานยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งการขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ ยกเว้น การบำรุงรักษา และการซ่อมแซมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ มีประมาณร้อยละ 33.4 และ 22.1 ตามลำดับ
2. ขนาดของสถานประกอบการ (จำนวนคนทำงาน)
สถานประกอบการส่วนใหญ่ (ร้อยละ 78.2) เป็นสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 16 — 50 คน และคนทำงาน 51 — 200 คน มีร้อยละ 18.9 สำหรับสถานประกอบการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คน มีเพียงร้อยละ 2.9
3. รูปแบบการจัดตั้งตามกฎหมาย
ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 64.3) มีรูปแบบการจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด บริษัทจำกัด (มหาชน) ที่มีรูปแบบการจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลห้างหุ้นส่วนจำกัด และการจัดตั้งในรูปแบบอื่นๆเช่น สหกรณ์ ร้านค้าชุมชน และกลุ่มแม่บ้านประมาณร้อยละ 19.8 และ 11.3 ตามลำดับ ส่วน สถานประกอบการที่มีรูปแบบการจัดตั้งเป็นส่วนบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่เป็นนิติบุคคล มีเพียงร้อยละ 4.6
4. จำนวนบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์
ผลจากการสำรวจในภาพรวมทั่วประเทศพบว่า สถานประกอบการภาคการค้ามีบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์ จำนวนทั้งสิ้น 244,643 คนคิดเป็นร้อยละ 34.5 ของจำนวนบุคลากรทั้งสิ้นในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานคลังสินค้า จำนวน 103,032 คน (ร้อยละ 42.1) รองลงมาเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานจัดส่ง จำนวน 68,181 คน (ร้อยละ 27.9) ส่วนบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์ในตำแหน่งผู้บริหาร/ผู้จัดการ และตำแหน่งพนักงานจัดซื้อมีจำนวน 38,456 คน และ 34,974 คน หรือร้อยละ 15.7 และ 14.3 ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาตามระดับการศึกษาของพนักงานที่ปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์นั้น พบว่าพนักงานจบการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือสูงกว่า มีจำนวน 59,840 คน (ร้อยละ 24.5) ระดับ ปวช./ปวส. จำนวน 66,837 คน (ร้อยละ 27.3) ส่วนที่จบการศึกษาระดับอื่นๆ เช่น ต่ำ กว่า ปวช. จำนวน 117,966 คน (ร้อยละ 48.2)
5. สัดส่วนค่าตอบแทนบุคลากรทีปฏิบัติงาน
ด้านโลจิสติกส์
- ผู้บริหาร/ผู้จัดการ
เมื่อพิจารณาสัดส่วนค่าตอบแทนบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์เทียบกับค่าตอบแทนทั้งสิ้นนั้น สถานประกอบการส่วนใหญ่ (ร้อยละ 55.8) ให้ค่าตอบแทนบุคลากรน้อยกว่า 10% ของค่าตอบแทนทั้งสิ้น รองลงมาร้อยละ 45.8 สถานประกอบการให้ค่าตอบแทนบุคลากรระหว่าง 10 — 20% และสถานประกอบการร้อยละ 21.0 ให้ค่าตอบแทนระหว่าง 21 — 30% ส่วนที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 14.2 สถานประกอบการให้ค่าตอบแทนมากกว่า 30%
- พนักงานระดับปฏิบัติการ
สำหรับพนักงานระดับปฏิบัติการนั้น พบว่าสถานประกอบการส่วนใหญ่ (ร้อยละ 86.1) ให้ค่าตอบแทนบุคลากรระหว่าง 10 — 20% ของค่าตอบแทนทั้งสิ้น รองลงมาร้อยละ 73.0 สถานประกอบการให้ค่าตอบแทนบุคลากรน้อยกว่า 10% และสถานประกอบการร้อยละ 34.5 ให้ ค่าตอบแทนระหว่าง 21 — 30% ส่วนที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 23.3 สถานประกอบการให้ค่าตอบแทนมากกว่า 30%
6. การจัดอบรมหรือให้ความรู้ด้านโลจิสติกส์
จากการสำรวจสถานประกอบการภาคการค้าทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 13,379 แห่ง พบว่า สถานประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่มีนโยบายให้บุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับงานด้านโลจิสติกส์ สำหรับสถานประกอบการที่ส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมมีเพียงร้อยละ 20.4 ของ จำนวนสถานประกอบการทั้งสิ้น ส่วนบุคลากรที่เข้ารับการฝึกอบรมและงบประมาณ/ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของสถานประกอบการนั้น พบว่า ในปี 2552 สถานประกอบการภาคการค้าทั่วประเทศมีบุคลากรที่เข้ารับการอบรมด้านโลจิสติกส์จำนวน 44,794 คนต่อปี โดยใช้งบประมาณ/ค่าใช้จ่ายใน การฝึกอบรมประมาณ 1,804.8 บาท/คน/ปี
7. การว่าจ้างให้บุคคล/ผู้ประกอบการภายนอก
ดำเนินการด้านโลจิสติกส์กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ที่สถานประกอบการภาคการค้าว่าจ้างให้บุคคล/ผู้ประกอบการภายนอกดำเนินการมากที่สุด คือ การจัดส่งสินค้า (ร้อยละ 41.5) รองลงมาได้แก่ พิธีการศุลกากรประมาณร้อยละ 22.8 ส่วนกิจกรรมจัดการคลังสินค้า การจัดการสินค้าคงคลัง และการบรรจุสินค้า มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ประมาณร้อยละ 14.5 12.6 และ 11.5 ตามลำดับ
8. การวัดประสิทธิภาพการจัดส่งสินค้าของสถานประกอบการ
สถานประกอบการภาคการค้าประมาณร้อยละ 18.6 มีการวัดประสิทธิภาพการจัดส่งสินค้าซึ่งพิจารณาจากเที่ยวการจัดส่งสินค้า โดย สถานประกอบการในกลุ่มนี้มีการจัดส่งสินค้าที่ไม่ตรงเวลา ร้อยละ 84.4 มีความผิดพลาดอื่นๆ เช่น เอกสารไม่สมบูรณ์ ร้อยละ 66.1 และสินค้า เสียหายจากการจัดส่ง ร้อยละ 62.8
9. ปัญหาข้อร้องเรียนในการดำเนินพิธีการศุลกากร
สำหรับปัญหาข้อร้องเรียนในการดำเนินพิธีการศุลกากรนำเข้า และส่งออกนั้นมี ผู้ประกอบการภาคการค้าทั่วประเทศเพียงร้อยละ 6.7 ที่มีข้อร้องเรียนในเรื่องดังกล่าว โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 67.3) ประสบปัญหาข้อร้องเรียนในเรื่องข้อกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมาย ภายในประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศรองลงมาเป็นเรื่องของความล่าช้าในการดำเนินงานและความโปร่งใสของเจ้าหน้าที่ ร้อยละ 53.7 และ 49.6 ตามลำดับ
10.การลงทุนในอุปกรณ์เครื่องมือด้านโลจิสติกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการโลจิสติกส์
- อุปกรณ์เครื่องมือด้านโลจิสติกส์
สถานประกอบการภาคการค้าทั่วประเทศประมาณร้อยละ 24.6 มีการลงทุนในอุปกรณ์เครื่องมือด้านโลจิสติกส์ โดยสถานประกอบการในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 77.3) มีสัดส่วนการลงทุนในอุปกรณ์เครื่องมือด้านโลจิสติกส์น้อยกว่า 10% รองลงมาเป็นสถานประกอบการที่มีการลงทุนระหว่าง 10 — 20% มีประมาณร้อยละ 16.2 ส่วนที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 6.5 สถานประกอบการมีสัดส่วนการลงทุนที่มากกว่า 20%
- เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการโลจิสติกส์
สำหรับการลงทุนในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการโลจิสติกส์ของสถานประกอบการภาคการค้าทั่วประเทศ นั้น พบว่า สถานประกอบการมีการลงทุนในเรื่องดังกล่าวเพียงร้อยละ 23.6 ซึ่งในจำนวนนี้ สถานประกอบการส่วนใหญ่ (ร้อยละ 78.6) มีสัดส่วนการลงทุนในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการโลจิสติกส์ที่น้อยกว่า 10% รองลงมาเป็นสถานประกอบการที่มีการลงทุนระหว่าง 10 — 20% ซึ่งมีประมาณร้อยละ 15.2 ส่วนที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 6.2 สถานประกอบการมีสัดส่วนการลงทุนที่มากกว่า 20%
สรุปผลข้อเสนอแนะ
ผลจากการสำรวจข้อมูลศักยภาพพื้นฐานระบบโลจิสติกส์ภาคการค้า พ.ศ. 2553 เป็นการแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคการค้า ซึ่งจะเห็นได้จากผลการสำรวจที่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 48.2) จบการศึกษาระดับต่ำกว่า ปวช. โดยเฉพาะพนักงานจัดส่งและพนักงานคลังสินค้านั้น จบการศึกษาระดับต่ำกว่าระดับ ปวช. ในสัดส่วนที่สูงเกินร้อยละ 50 ทั้งนี้คงเป็นเพราะผู้ประกอบการไทยยังมองงานด้านโลจิสติกส์เป็นงานลักษณะปฏิบัติการมากกว่างานบริหารจัดการ และยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้พนักงานไปฝึกอบรมหรือให้ความรู้ด้านโลจิสติกส์ค่อนข้างน้อยจะเห็นได้จากการที่มีสถานประกอบการเพียงร้อยละ 20.4 จากสถานประกอบการทั้งสิ้นที่มีการจัดส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมและมีบุคลากรที่เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 44,794 คนในปี 2552 โดยใช้งบประมาณ/ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมประมาณ 1,804.8 บาท/คน/ปี
นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังคงจัดการงานด้านโลจิสติกส์เอง ซึ่งจะเห็นได้จากผลการสำรวจว่าสถานประกอบการมีการจ้างให้บุคคล/ผู้ประกอบการภายนอกดำเนินการด้านโลจิสติกส์ในแต่ละกิจกรรมมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 50 ทั้งนี้ กิจกรรมที่ผู้ประกอบการไทยมีการจ้างบุคคลภายนอกดำเนินการมากที่สุด คือ กิจกรรมการจัดส่งสินค้า รองลงมาเป็นพิธีการศุลกากร ซึ่งสองกิจกรรมนี้เป็นงานที่มีรายละเอียดมากและจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินการ
สำหรับความต้องการที่จะให้ภาครัฐช่วยเหลือนั้น ผู้ประกอบการมีความต้องการให้รัฐช่วยเหลือโดยการจัดการฝึกอบรมและให้ความรู้ด้านโลจิสติกส์แก่บุคลากรโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เช่น ราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง เป็นต้น
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ