วิเคราะห์: แก้รัฐธรรมนูญผ่านฉลุยแต่...ประชาชนได้อะไร?

ข่าวทั่วไป Tuesday February 22, 2011 09:57 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

และแล้วการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา190 และมาตรา 93- 98 ได้ข้อยุติด้วยเสียงโหวตอันท่วมท้นจากพรรคร่วมรัฐบาลหลังมีการขับเคี่ยวและปล่อยข่าวประลองกำลังกันพักใหญ่ภายในพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน

จุดเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เดิมทีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ตีกรอบไว้เพียง 2 มาตราดังกล่าว แต่มีข้อเสนอจากหลายฝ่ายทั้งมวลชนนอกสภานักวิชาการ แม้กระทั่ง ส.ส. และส.ว.เองมีการเรียกร้องมาตลอดหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ถูกฉีกทิ้งด้วยฝีมือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) นำโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลินอดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)ที่ปัจจุบันเข้าสู่เส้นทางการเมืองเต็มตัวในหัวโขนของหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ

กระทั่งรัฐบาลโดนแรงบีบจากรอบทิศทางไม่ไหว รัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติเห็นพ้องกันใช้กลไกของรัฐสภาเสนอตั้ง ดร.ดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว. สรรหา เป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์และปฏิรูปการเมือง และแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อมๆกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อศึกษาปัญหาและเสนอทางออกตลอดจนรับฟังความเห็นประชาชนในขั้นตอนสุดท้ายก่อนเสนอรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติแต่ข้อเสนอของดร.ดิเรกถูกรัฐบาลพับเก็บไว้ในลิ้นชัก

ต่อมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี อ้างว่า ต้องการขจัดความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งทางการเมืองจากปัญหาการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ช่วงเดือนเมษายนพฤษภาคม 2553นำมาสู่การตั้งศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งแต่เป็นการยึดตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เคยศึกษาไว้ก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตามภายหลังผลการศึกษาของศ.ดร.สมบัติ ถึงมือนายกฯก็ถูกตัดถอน เหลือ2 ประเด็น คือมาตรา 190 และ มาตรา 93-98 จากทั้งหมด6ประเด็นตามข้อเสนอของศ.ดร.สมบัติ ประกอบด้วย1. การทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา (มาตรา 190) ประเด็นที่ 2 ที่มาของ ส.ส. (มาตรา 93-98)

ประเด็นที่3 การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส.(มาตรา 265)ประเด็นที่4 การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนของ ส.ส.และส.ว. (มาตรา 266) ประเด็นที่ 5 คือที่มาของ ส.ว. (มาตรา 111-121)และประเด็นที่6 เรื่องการยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรค

สาระมาตรา 190 และ 93-98

ทั้ง 2 มาตรา ที่นายกรัฐมนตรี ใช้มติที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2553 เป็นตัวชี้ขาด แม้จะมีความเห็นไม่สอดคล้องกันในพรรคร่วมรัฐบาลก็ตาม ยกเว้น มาตรา 190 เรื่องการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศส่วนใหญ่เห็นพ้องด้วยตั้งแต่ต้น เพราะเป็นผลประโยชน์ของประชาชนและส่วนใหญ่ รวมทั้งสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจและผ่านความเห็นชอบจากประชาชนแล้ว

บทบัญญัติมาตราดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือจะต้องออกพ.ร.บ.เพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญาหรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางหรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาในการนี้รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าวให้ดำเนินการจัดให้มีกฎหมายตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ภายใน1 ปีนับแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ส่วน มาตรา 93-98 เรื่องที่มาของส.ส.นอกจากผลการสำรวจของประชาชนที่เห็นด้วยกับการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียว 39.7% ไม่เห็นด้วยกับระบบเดิมคือเขตเดียวหลายคน 33.0%พรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่เห็นด้วยเพื่อเปิดโอกาสให้พรรคขนาดเล็กได้มีที่นั่งในสภามากขึ้นยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรก ถึงขั้นเกิดปัญหาขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลที่ยืนหยัดเป็นการเลือกตั้งแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์จำนวนส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ สัดส่วน400 ต่อ 100 คน ท้ายที่สุดต้องยึดแนวทางการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ พรรคประชาธิปัตย์ ค้านการเลือกตั้งแบบวันแมนวันโหวตเพราะมองว่าการกำหนดเขตเลือกตั้งเขตเล็กแบบเขตเดียวเบอร์เดียวจะทำให้เกิดการซื้อเสียงได้ง่ายกว่าและรุนแรง มีการยอมซื้อจำนวนมากเพียงเพื่อเอาชนะ ขณะที่แบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ยังเบากว่าแต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการซื้อเสียงเลย เพียงแต่ซื้อเสียงได้น้อยและทำได้ยากกว่า

ทว่าท้ายที่สุดเกมการเมืองว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จบแบบต้องลุ้นเพราะพรรคเพื่อไทย ยังยืนยันในหลักการเดิมคือ ให้แก้ไขโดยยึดรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540 อ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติขณะที่ฝ่ายรัฐบาลมองว่าบางมาตรา ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เอื้อประโยชน์ให้อดีตนายกรัฐมนตรี

วันโหวตเสียงในการพิจารณาวาระที่ 3 (11 กุมภาพันธ์ 2553) เพื่อไทยจึงเลือกวอล์กเอาต์ ประท้วงการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 93-98ขณะที่สมาชิกรัฐสภามีมติเสียงข้างมาก298 ต่อ 211 งดออกเสียง 35 ไม่ลงคะแนน 3 เสียงเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 93 ที่กำหนดให้มีส.ส.ระบบเขตเดียวเบอร์เดียว 375 คน และบัญชีรายชื่อ125 คน

บาดแผลจากผลงาน คมช. ที่สร้างรอยจารึกไว้เป็นมรดกให้การเมืองไทย ร้อนรุ่มจนถึงปัจจุบัน ถามว่าประชาชนได้อะไรจากความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 17 - 19 ก.พ. 2554--

รหัสข่าว: B-110217022060

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ