การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2553

ข่าวทั่วไป Monday March 28, 2011 14:30 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2553 เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างของสมาชิกในครัวเรือน ค่าใช้จ่ายลักษณะที่อยู่อาศัย ตลอดจนการได้รับสวัสดิการ/ความช่วยเหลือจากรัฐ และใช้บริการของภาครัฐ โดยทำการเก็บ รวบรวมข้อมูลทุกเดือน(มกราคม - ธันวาคม 2553) จากครัวเรือนตัวอย่างในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาล 52,000 ครัวเรือน ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่นำเสนอเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่จำเป็นต้องใช้ในการยังชีพเท่านั้น จึงไม่รวมการสะสมทุน เช่น ซื้อบ้าน/ที่ดิน และเงินออม ซึ่งสรุปผลการสำรวจที่สำคัญ ได้ดังนี้

1. ค่าใช้จ่ายของครัวเรือน (ปี 2553)

ครัวเรือนทั่วประเทศ ในปี 2553 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 16,819 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ร้อยละ 34.6 เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม (ซึ่งในจำนวนนี้มีค่าเครื่องดื่มที่เป็นแอลกอฮอล์ร้อยละ 1.4) รองลงมาเป็นค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้านร้อยละ19.4 ค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะ ร้อยละ 18.9ใช้ส่วนบุคคล/เครื่องนุ่งห่ม/รองเท้าร้อยละ 5.5 ใช้ในการสื่อสารร้อยละ 3.1 ในการบันเทิง/การจัดงานพิธีร้อยละ 2.2 ค่าใช้จ่ายในการศึกษาร้อยละ 1.9 สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้เกี่ยวกับกิจกรรมทางศาสนามีเพียงร้อยละ 1.0 ตามลำดับ สำหรับค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภค บริโภค เช่น ค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่ง/หวย ดอกเบี้ย มีร้อยละ 11.7

2. การเปรียบเทียบประเภทค่าใช้จ่ายของครัวเรือน (ปี 2551 - 2553)

เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของครัวเรือนทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2553 พบว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ค่าอาหารและเครื่องดื่มจากร้อยละ 34.2 เป็น 34.6 รองลงมาจะเป็นการใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้านจากร้อยละ 19.3 เป็น 19.4 ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะราคาน้ำมันที่ยังผันผวนค่อนข้างสูง ต้นทุนการผลิตสูง จึงส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านอาหารต่างๆปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วยจึงทำให้ครัวเรือนต้องปรับลดค่าใช้จ่ายประเภทอื่นลงเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค(ดอกเบี้ย ซื้อสลากกินแบ่ง ภาษี ฯลฯ) ลดลงจากร้อยละ 12.1 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 11.7 ในปี 2553

3. การเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของครัวเรือน รายภาค (ปี 2551 - 2553)

ในปี 2553 กรุงเทพฯ และ 3 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนเฉลี่ย 28,055 บาท รองลงมาเป็นครัวเรือนภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือน 18,173 16,894 และ 13,422 บาท ตามลำดับส่วนครัวเรือนภาคเหนือ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนต่ำสุด คือ 12,818 บาท เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนทั่วประเทศ จากปี 2551 ถึง 2553 พบว่า เพิ่มขึ้นจาก 15,942 เป็น 16,819 บาท หรือเพิ่มขึ้น 877 บาท/เดือน(ร้อยละ 5.5) โดยปี 2553 ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2552(ร้อยละ 3.8 และ 1.6 ตามลำดับ) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากที่สุดทั้ง 2 ปี โดยในปี 2553 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.5

4. การเปรียบเทียบการใช้จ่ายของครัวเรือนกลุ่มต่างๆ ในปี 2552 และ ปี 2553

เมื่อแบ่งครัวเรือนทั่วประเทศออกเป็น 10 กลุ่มเท่าๆ กัน โดยเรียงลำดับครัวเรือนตามค่าใช้จ่ายอุปโภค บริโภคต่อคนต่อเดือนจากน้อยไปมาก

จากผลการสำรวจ ในปี 2553 พบว่า กลุ่มคนรวยมีการใช้จ่ายลดลงกว่ากลุ่มคนจน โดยกลุ่มคนที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด 2 กลุ่มแรก คือกลุ่มที่ 9 และกลุ่มที่ 10 มีส่วนแบ่งของการใช้จ่ายเฉลี่ยรวมทั้งประเทศ ประมาณร้อยละ 40 โดยลดลงจากปี 2552 ร้อยละ 0.2 และ 0.5 ตามลำดับในขณะที่กลุ่มคนจนกลุ่มที่ 1 และ กลุ่มที่ 2 มีส่วนแบ่งของการใช้จ่ายเฉลี่ยรวมทั้งประเทศเพียงร้อยละ 9.0 เท่านั้นซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 0.1 เท่ากัน

ผลการวิเคราะห์จาก ค่าสัมประสิทธ์ของความไม่เสมอภาคด้านการใช้จ่าย (Gini Coefficient) ในปี 2552 และ 2553 ก็ยืนยันว่า เมื่อแบ่งครัวเรือนออกเป็น 10 กลุ่มความไม่เสมอภาคระหว่างกลุ่มคนรวยและคนจน ลดลงจาก 0.305 เป็น 0.297 หรืออาจกล่าวได้ว่าในปี 2553 ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนลดลง

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ