สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจการใช้พลังงานของครัวเรือน พ.ศ. 2553 เพื่อจัดทำผลสรุปเกี่ยวกับการใช้พลังงาน โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลในทุกจังหวัดทั่วประเทศทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาลตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม 2553 ประมาณ 52,000 ครัวเรือน
ข้อมูลที่ได้ทำการสำรวจ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่น้ำมัน และก๊าซชนิดต่างๆ และการใช้พลังงานในรูปอื่น (ไฟฟ้า ถ่านไม้และฟืน) ผลจากการสำรวจสรุปได้ดังนี้
- ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือน
ผลจากการสำรวจในปี 2553 พบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยเดือนละ 16,819 บาท เป็นค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน 1,818 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.8 ของค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านพลังงานส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70.6) เป็นค่าใช้จ่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันเบนซิน(ร้อยละ 27.8) น้ำมันดีเซล (ร้อยละ 23.9) แก๊สโซฮอล์ (ร้อยละ 12.9) ค่าแก๊สใช้ในครัวเรือน (ร้อยละ 3.4) ค่าก๊าซ NGV และ LPG (ร้อยละ 1.4) และน้อยที่สุด คือน้ำมันไบโอดีเซลและพลังงานทดแทนประเภทอื่น ๆ (ร้อยละ 1.2) นอกจากนี้เป็นค่าใช้จ่ายพลังงานอื่นๆ อีกร้อยละ 29.4 ของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งสิ้น คือเป็นค่าไฟฟ้า (ร้อยละ 27.0) และค่าถ่านไม้และฟืน (ร้อยละ 2.4)
สำหรับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยรวมของครัวเรือนในภาคต่างๆ ในปี 2553 พบว่า ครัวเรือนในกรุงเทพมหานคร และ 3 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ) ใช้จ่ายด้านพลังงานมากที่สุดเฉลี่ยเดือนละ 2,836 บาท ซึ่งคิดเป็น 2.0 เท่าของครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภาคที่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานน้อยที่สุด คือเฉลี่ยเดือนละ 1,419 บาทรองลงมาได้แก่ครัวเรือนในภาคใต้ (2,053 บาท) ครัวเรือนในภาคกลาง (1,894 บาท) และครัวเรือนในภาคเหนือ (1,466 บาท) ตามลำดับ
หากพิจารณาตามประเภทของพลังงาน พบว่า ไฟฟ้าแก๊สโซฮอล์ และก๊าซ NGV, LPG ครัวเรือนในกรุงเทพมหานคร และ 3 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ) มีการใช้สูงกว่าครัวเรือนในภาคอื่น ๆ คือค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละ 1,010 บาทต่อครัวเรือน และค่าแก๊สโซฮอล์เฉลี่ยเดือนละ 752 บาท ซึ่งคิดเป็น 3.2 และ 8.8 เท่า ตามลำดับของครัวเรือน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภาคที่มีการใช้ไฟฟ้าและแก๊สโซฮอล์น้อยที่สุด (เฉลี่ยเดือนละ 316 และ 85 บาท ตามลำดับ) สำหรับน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล ครัวเรือนใน
ภาคใต้มีการใช้มากที่สุด คือมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 736 บาท และ 574 บาทต่อครัวเรือน ตามลำดับ ทั้งนี้อาจเนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น มีธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวโดยใช้พาหนะหลายประเภท มีการประกอบอาชีพการประมงทั้งการทำประมงชายฝั่งและประมงน้ำลึก ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงต้องใช้น้ำมันดีเซล ถึงแม้ว่าความผันผวนของราคาน้ำมันยังมีอยู่ต่อไป สำหรับการใช้ถ่านไม้และฟืน ครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการใช้มากที่สุดเฉลี่ยเดือนละ 90 บาทต่อครัวเรือนในขณะที่น้ำมันไบโอดีเซลและพลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ ยังมีการใช้น้อยมากเมื่อเทียบกับพลังงานอื่นๆ
- เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือน
เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนทั่วประเทศ ปี 2552 และ 2553 พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเฉลี่ยต่อเดือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กล่าวคือจาก 1,568 บาท เป็น 1,818 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 ต่อปี โดยเฉพาะน้ำมันไบโอดีเซลและพลังงานทดแทนถึงแม้ว่ายังมีการใช้น้อยมากแต่มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 (จาก 14 เป็น 21 บาท) รองลงมาคือแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.7 (จาก 175 เป็น 234 บาท) และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 (จาก 346 บาท เป็น 435 บาท) สำหรับการใช้ไฟฟ้า พบว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า ปี 2552 ซึ่งมีเพียงร้อยละ 2.1 ทั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากรัฐมีการเปลี่ยนแปลงมาตรการจากผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 80 หน่วยต่อเดือนโดยรัฐจะเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมด และหากเกิน 80 หน่วยแต่ไม่เกิน 150 หน่วยรัฐจะแบกภาระค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่ง แต่สำหรับในปี 2553 รัฐจะรับภาระเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือนเท่านั้น และนโยบายเกี่ยวกับการปรับค่า FT (ราคาต้นทุนผันแปรเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า) ซึ่งจะมีการปรับทุก 4 เดือนในขณะที่แก๊สใช้ในครัวเรือน (หุงต้มและอื่นๆ) มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด คือร้อยละ 1.6 (จาก 61 เป็น 62 บาท) ซึ่งอาจเป็นเพราะมีการตรึงราคาแก๊สหุงต้ม
หากพิจารณาเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนทั่วประเทศเป็นรายภาค ปี 2552 และ 2553 พบว่าครัวเรือนทุกภาคมีค่าใช้จ่ายดังกล่าวเฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้นกล่าวคือครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีค่าใช้จ่ายดังกล่าวใกล้เคียงกันและเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าภาคอื่นๆ คือร้อยละ 20.6 (จาก 1,177 เป็น 1,419 บาท) และร้อยละ 20.5 (จาก 1,217 เป็น 1,466 บาท) ตามลำดับรองลงมาได้แก่ครัวเรือนในภาคใต้ ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 (จาก 1,715 เป็น 2,053 บาท) ในขณะที่ครัวเรือนในกรุงเทพมหานคร และ 3 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ) มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด คือร้อยละ 10.6 (จาก 2,564 เป็น 2,836 บาท)
- เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนรายไตรมาส
เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนทั่วประเทศ รายไตรมาส ปี 2552 และ 2553 ผลจากการสำรวจพบว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 - ไตรมาสที่ 4 กล่าวคือไตรมาสที่ 1 เพิ่มขึ้นจาก 1,482 บาทในปี 2552 เป็น 1,703 บาทในปี 2553 และค่าใช้จ่ายดังกล่าวยังคงเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดจนถึงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1,676 บาทในปี 2552 เป็น 1,875 บาทในปี 2553 ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในปี 2553 ในช่วงไตรมาสที่ 4 จะลดลงก็ตาม ทั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากความผันผวนของราคาน้ำมัน และเกิดจากภัยธรรมชาติได้แก่ น้ำท่วมในทุกภาคของประเทศ ทำให้ยานพาหนะเกิดความเสียหายใช้การไม่ได้แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้พลังงานในชีวิตประจำวันเพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย ยังคงมีความจำเป็น ดังนั้นค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2552