สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจยอดขายรายไตรมาสเป็นประจำทุกปี การสำรวจครั้งนี้เป็นการดำเนินการในไตรมาส 4 ของปี 2553 โดยใช้ขนาดตัวอย่างรวม 5,292 แห่ง จากสถานประกอบการที่จำหน่ายปลีกสินค้าและบริการ ทั่วประเทศ ทั้งสิ้นประมาณ 1.2 ล้านแห่ง ข้อมูลสำคัญที่เก็บรวบรวม ได้แก่ มูลค่าขาย/รายรับและมูลค่าสินค้าคงเหลือของสถานประกอบการ เพื่อให้หน่วยงานวางแผนด้านเศรษฐกิจ ใช้ประกอบการจัดทำบัญชีประชาชาติของประเทศและใช้ในการพิจารณากำหนดนโยบายด้านราคาสินค้า
ผลการสำรวจในปี 2553 ไตรมาส 4 ทั่วราชอาณาจักร สรุปได้ดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงมูลค่าขาย/รายรับระหว่างไตรมาส 4 และไตรมาส 3 ปี 2553
ในไตรมาส 4 ปี 2553 ภาพรวมของธุรกิจทั่วประเทศยังขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ที่ร้อยละ 5.8 โดยธุรกิจทุกประเภทมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจการบริการอื่นๆ มีรายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนสูงที่สุดร้อยละ 11.1 รองลงมาคือธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร และธุรกิจการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 และร้อยละ 7.5 ตามลำดับ สำหรับกิจกรรมนันทนาการ สำนักข่าว และการกีฬา มีรายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนน้อยที่สุดร้อยละ 3.1
1.1 ธุรกิจค้าปลีก
สำหรับธุรกิจค้าปลีก พบว่า ไตรมาส 4 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา ร้อยละ 5.2 โดยกิจการทุกขนาดมีมูลค่ายอดขายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกิจการที่มีคนทำงาน 26 - 30 คน มียอดขายเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 17.2 ส่วนกิจการขนาดอื่นๆ มียอดขายเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 7.0 สาเหตุที่มียอดขายเพิ่มขึ้นนั้น สถานประกอบการร้อยละ 45.8 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทำให้มีประชาชนจับจ่ายใช้สอยสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคมากขึ้น และอีกร้อยละ 39.8 รายงานว่าลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น
ประเภทของธุรกิจค้าปลีกที่มียอดขายเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 ได้แก่ ขายปลีกสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องหนัง (ร้อยละ 12.1) ขายปลีกสินค้าอื่นๆ (ร้อยละ 10.1) ขายปลีกของใช้แล้ว ขายโดยไม่มีร้านซ่อมแซมของใช้ (ร้อยละ 6.2) ขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ ในร้านเฉพาะอย่าง (ร้อยละ 5.9) ขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ เป็นสินค้าหลัก ดิสเคาน์สโตร์ ร้านสะดวกซื้อ (ร้อยละ 4.1) ขายปลีกยา เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง (ร้อยละ 3.0) ขายปลีกเครื่องใช้สิ่งของและอุปกรณ์ในครัวเรือน (ร้อยละ 2.7) ขายปลีกเครื่องโลหะ สีทา และกระจก (ร้อยละ 2.2) และขายปลีกสินค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้า (ร้อยละ 1.3)
1.2 ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก
ธุรกิจประเภทโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก พบว่า ในไตรมาส 4 มีมูลค่ารายรับชะลอตัวลงจากไตรมาส 3 เหลือร้อยละ 5.2 โดยกิจการทุกขนาดมีรายรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกิจการที่มีคนทำงาน 1 - 15 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 12.6 รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงาน 31 - 50 คน 16 - 25 คน และ 26 - 30 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 ร้อยละ 8.5 และร้อยละ 7.0 ตามลำดับ
สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นนั้น สถานประกอบการ มากกว่าครึ่งหรือร้อยละ 68.9 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ทำให้มีการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น
1.3 ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร
ในไตรมาส 4 ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารมีมูลค่ารายรับขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา ร้อยละ 10.7 โดยกิจการทุกขนาดมีรายรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกิจการที่มีคนทำงาน 1 - 15 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 13.7 รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงาน 51 - 200 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 สำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 26 - 30 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 น้อยที่สุดร้อยละ 1.6 สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นนั้น สถานประกอบการส่วนใหญ่หรือร้อยละ 44.1 รายงานว่าเนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น
1.4 ธุรกิจการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน
ธุรกิจการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน เช่น การให้เช่ากล้องและอุปกรณ์การถ่ายภาพ การให้เช่าวีดีโอ วีซีดี และดีวีดี การให้เช่าเครื่องแต่งกายที่ใช้ในงานพิธีต่าง ๆ การให้เช่าโต๊ะ เก้าอี้ เครื่องครัว และการให้เช่าหนังสือ เป็นต้น พบว่า ในไตรมาส 4 มีมูลค่ารายรับขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ปี 2553 ร้อยละ 7.5 โดยกิจการที่มีคนทำงาน 1 - 15 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 7.7 รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงาน 31 - 50 คน และ 16 - 25 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 และร้อยละ 0.3 ตามลำดับ
สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นนั้น สถานประกอบการมากกว่าครึ่งหรือร้อยละ 57.5 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทำให้มีผู้มาใช้บริการมากขึ้น
1.5 กิจกรรมนันทนาการ สำนักข่าว และการกีฬา
ด้านกิจกรรมนันทนาการ สำนักข่าว และการกีฬา พบว่า ในไตรมาส 4 มีมูลค่ารายรับขยายตัวต่อเนื่อง ร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยกิจการทุกขนาดมีรายรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกิจการที่มีคนทำงาน 51 - 200 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 5.9 รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงาน 31 - 50 คน และ 16 - 25 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นในสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือร้อยละ 4.5 และร้อยละ 4.4 ตามลำดับ สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้น นั้น สถาน-ประกอบการร้อยละ 45.6 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ทำให้มีผู้มาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น และอีกร้อยละ 39.2 รายงานว่าลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจที่มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ได้แก่ กิจกรรมสำนักข่าว การบันเทิงอื่นๆ ผลิตและจำหน่ายภาพยนตร์ วีดีโอ การกีฬา ละคร ดนตรี ศิลปะ ผลิต ขาย ให้เช่ารายการวิทยุ โทรทัศน์ นันทนาการอื่นๆ และฉายภาพยนตร์ วีดีโอ
1.6 ธุรกิจการบริการอื่น ๆ
ธุรกิจการบริการอื่นๆ ได้แก่ บริการซักรีด ทำความสะอาด บริการเสริมสวย สถานเสริมความงามต่างๆ กิจกรรมเกี่ยวกับการทำศพ และการบริการอื่นๆ พบว่า ในไตรมาส 4 มีมูลค่ารายรับขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ร้อยละ 11.1 โดยกิจการทุกขนาดมีรายรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกิจการที่มีคนทำงาน 1 - 15 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 สูงที่สุด ร้อยละ 12.0 รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 สำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 51 - 200 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.5 สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นนั้น สถานประกอบการร้อยละ 42.6 รายงานว่าเนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น และอีกร้อยละ 41.6 รายงานว่าเป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทำให้มีผู้มาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น
2. การเปลี่ยนแปลงมูลค่าขาย/รายรับระหว่างไตรมาส 4 ปี 2553 และไตรมาส 4 ปี 2552
ในไตรมาส 4 ปี 2553 ภาพรวมของธุรกิจทั่วประเทศขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 16.0 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2552 ธุรกิจทุกประเภทมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก มีรายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนสูงที่สุดร้อยละ 46.3 รองลงมาคือธุรกิจการบริการอื่นๆ และธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3 และร้อยละ 22.8 ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า ในไตรมาส 4 กิจการเกือบทุกขนาดมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันกับปีที่แล้ว โดยกิจการที่มีคนทำงาน 1 - 15 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 22.5 รองลงมาคือกิจการที่มีคนทำงาน 16 - 25 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 ส่วนกิจการที่มีคนทำงาน 26 - 30 คน กลับมีรายรับลดลงในไตรมาส 4 ร้อยละ 30.4
3. การเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินค้าคงเหลือระหว่างไตรมาส 4 และไตรมาส 3 ปี 2553 ของการขายปลีก
ภาพรวมของมูลค่าสินค้าคงเหลือของธุรกิจค้าปลีก ในไตรมาส 4 ปี 2553 พบว่า ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3 โดยมีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 ในส่วนของการขายปลีกสินค้าแต่ละประเภท พบว่า การขายปลีกสินค้าทุกประเภทมีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น โดยการขายปลีกเครื่องโลหะ สีทา และกระจก มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 16.4 สำหรับการขายปลีกเครื่องใช้ในครัวเรือน มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 น้อยที่สุดร้อยละ 3.0
เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินค้าคงเหลือตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า กิจการทุกขนาดมีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น โดยกิจการที่มีคนทำงาน 26 - 30 คน มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 สูงที่สุดร้อยละ 11.1 สำหรับกิจการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดร้อยละ 5.2
4. การเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินค้าคงเหลือระหว่างไตรมาส 4 ปี 2553 และไตรมาส 4 ปี 2552 ของการขายปลีก
ภาพรวมของมูลค่าสินค้าคงเหลือของธุรกิจค้าปลีก ในไตรมาส 4 ปี 2553 พบว่าขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2552 ในส่วนของการขายปลีกสินค้าแต่ละประเภท พบว่า การขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ ในร้านเฉพาะอย่าง มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 35.7 สำหรับการขายปลีกสินค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้า มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงในไตรมาส 4 ร้อยละ 14.0
เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินค้าคงเหลือ ตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า กิจการที่มีคนทำงาน 31 - 50 คน มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 สูงที่สุดร้อยละ 38.8 ในขณะที่กิจการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงสูงที่สุดร้อยละ 15.9
5. สรุปผลและข้อเสนอแนะ
ภาพรวมของธุรกิจทั่วประเทศในไตรมาส 4 ปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 4.1 ในไตรมาส 3 เป็นร้อยละ 5.8 โดยธุรกิจทุกประเภทมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจการบริการอื่นๆ มีรายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนสูงที่สุดร้อยละ 11.1
เมื่อเปรียบเทียบไตรมาส 4 ปี 2553 กับระยะเดียวกันกับปีที่ผ่านมา พบว่า ในภาพรวมธุรกิจขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 16.0 โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ และหอพัก ขยายตัวร้อยละ 46.3 และธุรกิจการบริการอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 26.3
สำหรับความช่วยเหลือที่ต้องการจากหน่วยงานของรัฐนั้น มีผู้ประกอบการธุรกิจและบริการทั่วประเทศ ร้อยละ 11.2 แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยส่วนใหญ่เห็นว่าต้องการให้รัฐกำหนดมาตรฐานการควบคุมราคาสินค้าให้เข้มงวดมากขึ้น นอกจากนั้นผู้ประกอบการบางส่วนต้องการให้รัฐสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และควรปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจ