รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ
อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและมากประสบการณ์ด้านประชากรศาสตร์ จะมาประจำการบอกเล่าเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับประชากรไทย ทุกๆ วันอาทิตย์ ในคอลัมน์ 100 ปี ปรีดิ์เปรม
สัปดาห์นี้ อ.ดร.วิราภรณ์ โพธิศิริกลับมาให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับปัญหาที่สำคัญด้านการอนามัยเจริญพันธุ์ของสตรีไทย
มะเร็งปากมดลูกเป็นหนึ่งในสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้สตรีในหลายๆ ประเทศทั่วโลกต้องเสียชีวิตในปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่จำนวน 1.22 หมื่นคน และมีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก 4,210 คน สำหรับประเทศไทย รายงานตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าโดยเฉลี่ยมีสตรีไทยป่วยด้วยมะเร็งปากมดลูกประมาณ 1 หมื่นคนต่อปี และในจำนวนดังกล่าวมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 52
มะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมา ( Hu ma n Papilloma Virus) หรือที่เรียกสั้นๆ กันว่าเอชพีวี (HPV) ที่บริเวณปากมดลูก ซึ่งการติดเชื้อนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ เช่น การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง การเริ่มต้นการมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุยังน้อย การไม่ใช้ถุงยางอนามัย การไม่ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายมีประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือแม้แต่ที่มีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
ทั้งนี้ การติดเชื้อ HPV ไม่จำเป็นว่าจะต้องพัฒนาไปสู่มะเร็งปากมดลูกเสมอไปเนื่องจาก HPV มีหลากหลายสายพันธุ์ และบางสายพันธุ์นั้นก็สามารถหายไปเองได้ หรือก่อให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ที่อาจจะอันตรายน้อยกว่ามะเร็ง แต่ก็ควรได้รับการรักษา เช่น หูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศเป็นต้น แต่สำหรับการติดเชื้อ HPV บางชนิดที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ และเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกผิดปกติ เกิดการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 10-15 ปี ในการพัฒนาไปสู่มะเร็งดังนั้นหากสตรีได้รับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อ HPV ในระยะเริ่มต้น ก็สามารถดำเนินการรักษาให้หายขาดได้
มะเร็งปากมดลูกไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย ในปี 2545 รัฐบาลโดยกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดเป้าหมายในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยเน้นที่กลุ่มเสี่ยงที่มักตรวจพบมะเร็งปากมดลูกนั่นก็คือกลุ่มสตรีอายุระหว่าง 35-60 ปี ที่ควรได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูกทุกๆ 3-5 ปีและในปีเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขเปิดให้บริการหน่วยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเคลื่อนที่ เพื่อลดข้อจำกัดในการเดินทางสำหรับสตรีที่อยู่อาศัยในเขตชนบทในปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมให้สตรีไทยเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมากขึ้นกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้บริการการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรีที่สถานีอนามัยและโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ
จากข้อมูลการสำรวจอนามัยการเจริญพันธุ์ปี 2552 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าร้อยละ 60.2 ของสตรีไทยอายุระหว่าง30-59 ปี ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในรอบ 5 ปีก่อนการสัมภาษณ์ โดยที่สัดส่วนของสตรีที่อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาลไปรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมีสูงกว่าสตรีที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล และเป็นที่น่าสนใจว่า สตรีในกรุงเทพมหานครมีสัดส่วนการได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกต่ำกว่าภาคอื่นๆ ของประเทศสำหรับสาเหตุสำคัญที่สตรีไทยไม่ไปรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกนั้น พบว่าร้อยละ 7.4 อายหมอ ร้อยละ 6.7 ไม่ทราบว่าจะต้องตรวจ ร้อยละ 4.5 คิดว่าไม่อยู่ในภาวะเสี่ยง และร้อยละ 2.3 ไม่มีเวลา เป็นต้น
แม้ว่าตัวเลขความครอบคลุมจะสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจอนามัยการเจริญพันธุ์ก่อนหน้านี้ แต่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำให้อัตราครอบคลุมของการได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอยู่ที่ร้อยละ 80 นอกจากนี้ตัวเลขดังกล่าวไม่อาจสะท้อนสถานการณ์ที่แท้จริงของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้มากนัก เนื่องจากในปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสถานพยาบาลหลายๆ แห่ง ได้ถูกรวมเข้าเป็นหนึ่งในบริการตรวจหลังคลอด ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจอนามัยการเจริญพันธุ์ปี 2552 พบว่าสตรีอายุระหว่าง 30-59 ปี ที่มีบุตรคนสุดท้องที่ยังมีชีวิตอยู่และอายุต่ำกว่า 1 ปี มีสัดส่วนที่ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าสตรีที่ไม่มีบุตรดังกล่าว
มะเร็งปากมดลูกนั้นนอกจากจะอันตรายถึงชีวิตแล้ว ยังสร้างภาระให้กับครอบครัวและประเทศชาติ ดังนั้นการได้รับการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกๆ 3-5 ปีนั้น จะทำให้ผู้หญิงเราห่างไกลจากโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูก นั่นหมายถึงการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับตัวเองด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
รหัสข่าว: B-110327006074