การประมวลข้อมูลพื้นที่การก่อสร้าง พ.ศ. 2553

ข่าวทั่วไป Monday April 4, 2011 11:27 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ข้อมูลสถิติสิ่งก่อสร้าง ถือเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญตัวหนึ่ง สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงได้รวบรวมข้อมูลพื้นที่การก่อสร้างเป็นประจำทุกปี เกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างทุกประเภทที่เอกชนได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ และต่อเติมหรือดัดแปลง ในเขตพื้นที่ที่มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้แก่ จำนวนผู้ได้รับอนุญาต จำนวนสิ่งก่อสร้าง และพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำไปใช้ในการจัดทำบัญชีประชาชาติด้านการสะสมทุน และมูลค่าการก่อสร้างรวมของทั้งประเทศ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน นำไปใช้จัดทำตัวชี้วัดเพื่อใช้ในการติดตามภาวะเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ การส่งเสริมการขาย/ชะลอการลงทุนการก่อสร้าง รวมทั้งแผนการจ้างงาน และการผลิตฝีมือแรงงานให้กับภาคประชาชนต่อไป

สำหรับสรุปผลการประมวลผลข้อมูลชุดนี้ เป็นข้อมูลของผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างในปีพ.ศ. 2553 ซึ่งทำการรวบรวมข้อมูลทุกเดือน จาก สำนักงานเขต และสำนักการโยธา กรุงเทพมหานครและหน่วยราชการส่วนท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

สรุปข้อมูลที่สำคัญได้ดังนี้

1. สิ่งก่อสร้างประเภทอาคารโรงเรือน

1.1 จำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้าง

ในปี 2553 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้างใหม่ ต่อเติมหรือดัดแปลงทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 147,848 ราย โดยร้อยละ 98.1 ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใหม่ และร้อยละ 1.9 ได้รับอนุญาตให้ต่อเติมหรือดัดแปลง เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้ได้รับอนุญาตมากที่สุด 40,214 ราย (ร้อยละ 27.2) รองลงมาคือภาคกลาง 29,710 ราย (ร้อยละ 20.1) ส่วนกรุงเทพมหานครมีผู้ได้รับอนุญาตน้อยที่สุด 14,162 ราย (ร้อยละ 9.6)

เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโรงเรือนในปี 2553 ในภาพรวมลดลงร้อยละ 3.0 โดยการก่อสร้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลงมากที่สุดคือร้อยละ 15.0

1.2 จำนวนสิ่งก่อสร้างและพื้นที่ของสิ่งก่อสร้าง

ในปี 2553 มีสิ่งก่อสร้างประเภทอาคารโรงเรือนที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 231,048 หลัง คิดเป็นพื้นที่รวม 60.8 ล้านตารางเมตร โดยในเขตปริมณฑลมีจำนวนอาคารโรงเรือนที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างมากกว่าภาค อื่น ๆ คือ 48,485 หลัง รองลงมาคือภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนอาคารโรงเรือนที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใกล้เคียงกัน มีจำนวน 45,614 หลัง และ 45,530 หลัง เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า ในภาพรวมจำนวนสิ่งก่อสร้างในปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 โดยเพิ่มขึ้นจาก 218,440 หลัง ในปี 2552 เป็น 231,048 หลัง ในปี 2553 เมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่า เกือบทุกภาคมีจำนวนสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปริมณฑล พบว่า มีจำนวนสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.3 โดยเพิ่มขึ้นจาก 37,791 หลัง ในปี 2552 เป็น 48,485 หลัง ในปี 2553 ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนสิ่งก่อสร้างลดลงโดยลดลงจาก 51,990 หลัง ในปี 2552 เป็น 45,530 หลัง ในปี 2553 หรือคิดเป็นร้อยละ 12.4

ส่วนพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างประเภทอาคารโรงเรือน พบว่าในปี 2553 ทั่วประเทศมีจำนวนลดลงจากปี 2552 เล็กน้อย ประมาณร้อยละ 0.1 เมื่อพิจารณาตามภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างลดลงร้อยละ 15.3 กรุงเทพมหานครมีจำนวนลดลงจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 9.2 ส่วนภาคใต้มีพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 28.5

เมื่อพิจารณาแนวโน้มของพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างในภาพรวมระหว่างปี 2540 ถึงปี 2553 พบว่า ในปี 2541 มีจำนวนลดลงเนื่องจากภาวะ วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 โดยลดลงจาก 55.9 ล้านตารางเมตรในปี 2540 เป็น 14.9 ล้านตารางเมตรในปี 2541 หรือลดลงถึงร้อยละ 73.3 จากนั้นค่อยๆ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขยายตัวสูงสุดในปี 2547 และปี 2549 ประมาณ 68.6 และ 70.2 ล้านตารางเมตร ตามลำดับ สำหรับปี 2553 มีพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างลดลงจากปี 2552 เพียงเล็กน้อยคือ จาก 60,820.6 พันตารางเมตร เป็น 60,766.1 พันตารางเมตร

1.3 ประเภทและพื้นที่ของสิ่งก่อสร้าง

หากพิจารณาพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างตามประเภทของสิ่งก่อสร้าง พบว่า พื้นที่ของสิ่งก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 68.9) เป็นการก่อสร้างอาคารโรงเรือนเพื่ออยู่อาศัย ซึ่งมีจำนวน 41.9 ล้านตารางเมตร ส่วนการก่อสร้างอาคารเพื่อการพาณิชย์และอาคารสำนักงานมีจำนวน 8.1 ล้านตารางเมตร (ร้อยละ 13.4) เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงานมีจำนวน 5.8 ล้านตารางเมตร (ร้อยละ 9.5) พื้นที่ของสิ่งก่อสร้างที่เป็นโรงแรมมีจำนวน 2.1 ล้านตารางเมตร (ร้อยละ 3.5) อาคารเพื่อการศึกษาและสาธารณสุขมีจำนวน 0.59 ล้านตารางเมตร (ร้อยละ 1.0) และเป็นการก่อสร้างอื่นๆ เช่น อาคารเพื่อการบำบัดน้ำเสียโรงไฟฟ้า อาคารระบบประปา และโรงกรองน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อการขนส่ง เพื่อการบันเทิง และอื่น ๆ จำนวน 2.24 ล้านตารางเมตร (ร้อยละ 3.7)

เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่าอาคารโรงเรือนมีพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโดยรวมลดลงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.1 โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารเพื่อการศึกษาและสาธารณสุขลดลงมากที่สุดร้อยละ 36.3 รองลงมาเป็นการก่อสร้างโรงแรมลดลงร้อยละ 13.4 อาคารเพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงานลดลงร้อยละ 2.2 ส่วนการก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยและอาคารเพื่อการพาณิชย์และ สำนักงานมีพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยร้อยละ 1.3 และร้อยละ 1.1 ตามลำดับ การก่อสร้างอาคารเพื่อการบำบัดน้ำเสีย โรงไฟฟ้า อาคารระบบประปาและโรงกรองน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อการขนส่ง เพื่อการรบันเทิง และอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.5

เมื่อพิจารณาในรอบ 14 ปีที่ผ่านมาพบว่า พื้นที่ของสิ่งก่อสร้างแต่ละประเภทมีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน กล่าวคือลดลงต่ำสุดในปี 2541 เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 จากนั้นค่อย ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างเพื่ออยู่อาศัยที่มีพื้นที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างสูงสุดในปี 2547 และปี 2549 ถึง 42.8 และ 46.5 ล้านตารางเมตร ตามลำดับหลังจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยในปี 2550 มีพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างเพื่ออยู่อาศัยลดลงร้อยละ 13.9 จากปี 2549 ในปี 2551 มีพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2550 เพียงร้อยละ 0.8 หรือจาก 40.0 ล้านตารางเมตรในปี 2550 เป็น 40.3 ล้านตารางเมตรในปี 2551 ในปี 2552 พื้นที่ของสิ่งก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากปี 2551 (40.3 ล้านตารางเมตร เป็น 41.3 ล้านตารางเมตร) สำหรับในปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 จากปี 2552 (41.3 ล้านตารางเมตร เป็น 41.9 ล้านตารางเมตร)

2. สิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือน

ในปี 2553 มีสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนประเภท รั้ว/กำแพง ถนน สะพาน เขื่อน/คันดิน ท่อ/ทางระบายน้ำ ฯลฯ ทั่วประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างจำนวนทั้งสิ้น 22,703 แห่งคิดเป็นความยาวรวม 2.2 ล้านเมตร ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างท่อ/ทางระบายน้ำรวม 1,125,910 เมตร (ร้อยละ 51.3) เป็นการก่อสร้างถนน 542,539 เมตร (ร้อยละ 24.7) รั้ว/กำแพง 426,242 เมตร (ร้อยละ 19.4) ส่วนการก่อสร้างอื่น ๆ เช่น การก่อสร้างสะพานเขื่อน/คันดิน เป็นต้น คิดเป็นความยาวรวม 102,277 เมตร (ร้อยละ 4.7)

เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในระยะ 14 ปีที่ผ่านมา พบว่า สิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างลดลงต่ำที่สุด ในปี 2541 แต่หลังจากนั้น จนถึงปี 2552 มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก สำหรับปี 2553 มีจำนวนสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.4 และมีพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.8 เมื่อเทียบกับปี 2552

สำหรับสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนประเภทสระว่ายน้ำ ปั๊มน้ำมัน ท่าเรือ สนามกีฬาลานจอดรถ ป้ายโฆษณา ฯลฯ ทั่วประเทศพบว่าในปี 2553 มีการอนุญาตให้ก่อสร้างจำนวน 4,459 แห่ง คิดเป็นพื้นที่รวม 1.8 ล้านตารางเมตร ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างลานจอดรถ846,117 ตารางเมตร (ร้อยละ 48.1) รองลงมาเป็นปั๊มน้ำมัน 185,605ตารางเมตร (ร้อยละ 10.5) สนามกีฬา 163,841 ตารางเมตร (ร้อยละ 9.3) ป้ายโฆษณา 92,435 ตารางเมตร (ร้อยละ 5.3) สระว่ายน้ำ 75,277 ตารางเมตร (ร้อยละ 4.3) ส่วนการก่อสร้างอื่นๆ เช่น การก่อสร้างท่าเรือ ลานตากข้าว การก่อสร้างพื้นที่ตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นต้น คิดเป็นพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างรวม 397,030 ตารางเมตร (ร้อยละ 22.6)

เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในระยะ 14 ปีที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่ของสิ่งก่อสร้างประเภทนี้ลดลงต่ำ ที่สุด ในปี 2541 จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสูงสุดในปี 2549 ประมาณ 1.9 ล้านตารางเมตร แต่หลังจากปี 2549 ทั้งจำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง จำนวนสิ่งก่อสร้างและพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างมีจำนวนลดลงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงปี 2552

สำหรับปี 2553 ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างสิ่งก่อสร้างจำนวน 4,459 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2552 คิดเป็นร้อยละ 24.9 แต่กลับมีพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างลดลงร้อยละ 9.0

3. สรุปสถานการณ์ก่อสร้าง

จากการประมวลข้อมูลพื้นที่การก่อสร้างในปี 2553 พบว่า จำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโรงเรือนลดลงจากปี 2552 ร้อยละ 3.0 จำนวนสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ส่วนพื้นที่ก่อสร้างลดลงร้อยละ 0.1 สำหรับสิ่งก่อสร้างที่มิใช่อาคารโรงเรือนที่ใช้ความยาวเป็นหน่วยชี้วัด มีความยาวของสิ่งก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.8 และสิ่งก่อสร้างที่ใช้พื้นที่เป็นหน่วยชี้วัดมีพื้นที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างลดลงจากปี 2552 ร้อยละ 9.0

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นการก่อสร้างในภาคเอกชนยังคงชะลอตัวสาเหตุจากวัสดุก่อสร้างหลายชนิดมีแนวโน้ม ปรับขึ้นราคา ต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น และผลจากการให้ระงับการก่อสร้างในช่วงต้นปี 2553 ของโครงการที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในเขตนิคม อุตสาหกรรมมาบตาพุด ส่งผลให้มีการชะลอการก่อสร้างออกไปก่อน รวมทั้งความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมือง จากภาวะการณ์ดังกล่าว อาจทำให้ผู้ประกอบการชะลอการก่อสร้างลง

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ