สำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2553

ข่าวทั่วไป Wednesday May 11, 2011 10:58 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสารในครัวเรือนเป็นครั้งแรก พ.ศ. 2544 และตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เป็นต้นมาได้ทำการสำรวจต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยสำรวจไปพร้อมกับโครงการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ในปีนี้ได้สำรวจในไตรมาส 1 (ม.ค.- มี.ค.2553) เพื่อให้ทราบจำ นวนประชากรที่ใช้คอมพิวเตอร์ ใช้อินเทอร์เน็ต และใช้โทรศัพท์มือถือ พฤติกรรมของการใช้ และจำนวนครัวเรือนที่มีอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น โทรศัพท์พื้นฐาน เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องโทรสาร และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในครัวเรือน ตลอดจนเรื่องที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาควบคุมดูแลการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

การสำรวจใช้วิธีสัมภาษณ์หัวหน้าครัวเรือน และสมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป จากครัวเรือนส่วนบุคคลและครัวเรือนพิเศษที่ตกเป็นตัวอย่างทั้งสิ้น 79,560 ครัวเรือน ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้

การใช้คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ

ในปี 2553 มีจำนวนประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปทั้งสิ้นประมาณ 61.9 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 19.1 ล้านคน หรือร้อยละ 30.9 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 13.8 ล้านคน หรือร้อยละ 22.4 และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 38.2 ล้านคน หรือร้อยละ 61.8 เมื่อพิจารณาระหว่างเขตการปกครอง ในเขตเทศบาลมีสัดส่วนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ร้อยละ 43.4 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 35.1 และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 72.2 ซึ่งมีสัดส่วนการใช้สูงกว่านอกเขตเทศบาล คือมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ร้อยละ 25.2 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 16.5 และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 57.0

เมื่อเปรียบเทียบการใช้คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือของประชาชนอายุ 6 ปีขึ้นไปในระหว่างปี 2547-2553 พบว่าผู้ใช้คอมพิวเตอร์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21.4 (จำนวน 12.5 ล้านคน) เป็นร้อยละ 30.9 (จำนวน 19.1 ล้านคน) และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.9 (จำนวน 7.0 ล้านคน) เป็นร้อยละ 22.4 (จำนวน 13.8 ล้านคน) และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28.2 (จำนวน 16.6 ล้านคน) เป็นร้อยละ 61.8 (จำนวน 38.2 ล้านคน)

แม้ว่าการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประชาชนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีช่องว่างในการใช้ระหว่างผู้ที่อยู่ในเขตเทศบาล และนอกเขตเทศบาล กล่าวคือในช่วงปี 2547 - 2553 ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ที่อยู่ในเขตเทศบาลมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33.2 เป็นร้อยละ 43.4 ส่วนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ที่อยู่นอกเขตเทศบาล เพิ่มขึ้นจากร้อยละ15.6 เป็นร้อยละ 25.2 ในขณะที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่อยู่ในเขตเทศบาล มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21.4 เป็นร้อยละ 35.1 ส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่อยู่นอกเขตเทศบาล เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.2 เป็นร้อยละ 16.5

เมื่อเปรียบเทียบผู้ใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างเขตการปกครอง พบว่า ในช่วงปี 2547-2553 สัดส่วนของผู้ใช้นอกเขตเทศบาลเพิ่มขึ้นมากกว่าในเขตเทศบาลกล่าวคือ ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่อยู่ในเขตเทศบาลมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 41.9 เป็นร้อยละ 72.2 ส่วนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่อยู่นอกเขตเทศบาล เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 21.5 เป็นร้อยละ 57.0

เมื่อพิจารณาสัดส่วนของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือเป็นรายภาค พบว่าในปี 2553 กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนผู้ใช้คอมพิวเตอร์มากที่สุดคือร้อยละ 47.4 รองลงมาคือภาคกลาง ร้อยละ 31.7 ภาคใต้ ร้อยละ 29.3 ภาคเหนือ ร้อยละ 28.9 และต่ำสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 27.2 ส่วนการใช้อินเทอร์เน็ต กรุงเทพมหานครมีผู้ใช้มากที่สุดคือ ร้อยละ 39.6 รองลงมาคือ ภาคกลาง ร้อยละ 22.3 ภาคเหนือ ร้อยละ 21.2 ภาคใต้ ร้อยละ 19.9 และต่ำสุดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 18.9

ในขณะที่การใช้โทรศัพท์มือถือ กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนของผู้ใช้มากที่สุด เช่นเดียวกัน คือร้อยละ 77.3 รองลงมา ภาคกลาง ร้อยละ 66.9 ภาคเหนือ ร้อยละ 60.5 ภาคใต้ ร้อยละ 58.8 และต่ำสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 55.4

ลักษณะและพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต

เมื่อเปรียบเทียบการใช้อินเทอร์เน็ตระหว่างเพศชายและเพศหญิง พบว่าสัดส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตของเพศหญิงสูงกว่าเพศชายเล็กน้อย โดยในช่วงปี 2547-2553 สัดส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตของเพศชายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.3 เป็นร้อยละ 21.9 และสัดส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตของเพศหญิงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.5 เป็นร้อยละ 22.8

เมื่อพิจารณาการใช้อินเทอร์เน็ตในกลุ่มอายุต่าง ๆ พบว่าในปี 2553 กลุ่มอายุ 15-24 ปี มีสัดส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตสูงสุด ร้อยละ 50.0 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 6-14 ปี ร้อยละ 35.9 กลุ่มอายุ 25-34 ปี ร้อยละ 24.6 กลุ่มอายุ 35-49 ปี ร้อยละ 13.6 และต่ำสุดในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 4.2

สำหรับสถานที่ใช้อินเทอร์เน็ตพบว่าในปี 2553 ส่วนใหญ่ใช้ในสถานศึกษาร้อยละ 45.3 รองลงมาคือ บ้านร้อยละ 35.5 และที่ทำงานร้อยละ 29.0 ส่วนกิจกรรมที่ใช้ ส่วนใหญ่ใช้ในการค้นหาข้อมูลทั่วไปร้อยละ 82.2 รองลงมาคือรับ—ส่งอีเมล์ ร้อยละ 26.5 และเล่นเกมส์ ดาวน์โหลดเกมส์ ร้อยละ 25.6 สำหรับความถี่ในการใช้อินเทอร์เน็ตพบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใช้ค่อนข้างบ่อย (1-4 วันใน 1 สัปดาห์) ร้อยละ 58.4 รองลงมาใช้เป็นประจำ (5-7 วันใน 1 สัปดาห์) ร้อยละ 26.3

การมีอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน

ในระหว่างปี 2549 - 2553 พบว่าครัวเรือนที่มีโทรศัพท์พื้นฐานมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 23.4 เป็นร้อยละ 20.9 ครัวเรือนที่มีเครื่องโทรสารเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 1.5 เป็นร้อยละ 1.7 ครัวเรือนที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17.1 เป็นร้อยละ 22.8 สำหรับครัวเรือนที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.2 เป็นร้อยละ 11.4

สำหรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของครัวเรือน พบว่า ในปี 2553 มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยประเภท DSL, Cable modem และ fixed broadband มากที่สุดร้อยละ 57.4 รองลงมา Analogue modem, ISDN ร้อยละ 23.6 แบบไร้สายเคลื่อนที่ (โทรศัพท์มือถือ 2G, 2.5G เช่น GSM, CDMA, GPRS) ร้อยละ 9.5 และ แบบไร้สายเคลื่อนที่ (โทรศัพท์มือถือ 3G เช่น WCDMA, EV-DO) ร้อยละ 3.0 ไม่แน่ใจว่าใช้ อินเทอร์เน็ตประเภทใด ร้อยละ 6.4 และอื่น ๆ ร้อยละ 0.1

ข้อคิดเห็นต่อการควบคุมดูแลเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ข้อคิดเห็นที่ครัวเรือนต้องการให้ภาครัฐเข้ามาควบคุมดูแลเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้แก่ ต้องการให้ควบคุมเว็บไซต์ที่ลามกอนาจารควบคุมราคา/อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ควบคุมผู้ให้บริการร้านอินเทอร์เน็ต/เกมส์ออนไลน์ มีบทลงโทษที่เด็ดขาดสำหรับผู้กระทำผิดเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์และควบคุมราคา/อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ