สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดทำการสำรวจสุขภาพจิตคนไทยครั้งแรก เมื่อปี 2551 โดยสำรวจไปพร้อมกับการสำรวจสภาวะทางสังคมและวัฒนธรรม1 (ซึ่งเก็บข้อมูลในเดือนตุลาคม) สำหรับการสำรวจในครั้งที่ 2 (ปี 2552) และครั้งที่ 3 (ปี 2553) ซึ่งเป็นครั้งล่าสุด ได้สำรวจไปพร้อมกับการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน2 โดยในแต่ละปี ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกเดือน (มกราคม-ธันวาคม) จากครัวเรือนตัวอย่างในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาล3
การสำรวจได้ใช้ข้อถามสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น 15 ข้อ4 (ที่กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาจากข้อถามฉบับสมบูรณ์ 54 ข้อ) โดยให้ผู้ตอบอายุ 15 ปีขึ้นไป สำรวจตัวเองและประเมินเหตุการณ์ อาการ ความคิดเห็น และความรู้สึกของตนเองในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
1. สุขภาพจิตคนไทย ตามลักษณะที่สำคัญของประชากร
จากการสำรวจพบว่า ในปี 2553 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปมีคะแนนสุขภาพจิตอยู่ที่ 33.30 คะแนน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้สำหรับสุขภาพจิตของคนทั่วไป (27.01-34 คะแนน) และในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไปร้อยละ 11.2 และผู้ที่สูงกว่าคนทั่วไปร้อยละ 37.2
เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 และ 2552 พบว่าคนไทยมีสุขภาพจิตโดยเฉลี่ยดีขึ้น (คะแนนสุขภาพจิตในปี 2552 เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 4.1 และปี 2553 เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 0.6) นอกจากนี้ สัดส่วนของคนที่มีสุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไป ในปี 2551 ถึง 2553 มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จากร้อยละ 17.8 เป็นร้อยละ 12.8 และ 11.2 ตามลำดับ
- เพศและอายุ
เมื่อพิจารณาสุขภาพจิตของคนไทยตามเพศ และอายุพบว่า เป็นไปในลักษณะเช่นเดียวกันทั้ง 3 ปี คือ ชายมีสุขภาพจิตดีกว่าหญิง และผู้ที่มีอายุ 40 - 59 ปี เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพจิตสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่ากลุ่มอายุนี้มีอาชีพและความมั่นคงทางการเงินมากกว่ากลุ่ม อายุอื่น สำหรับกลุ่มคนสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่น ถึงแม้ว่ามีคะแนนสุขภาพจิตต่ำสุด แต่สุขภาพจิตของกลุ่มนี้ในรอบ 3 ปีก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามคะแนนสุขภาพจิตในปี 2553 ของทั้งชายและหญิง และทุกกลุ่มอายุ ต่างก็ดีขึ้นกว่าปี 2551 และ 2552
- ระดับการศึกษาสูงสุด
จากการสำรวจ พบว่า ระดับการศึกษาและสุขภาพจิตมีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกันทั้ง 3 ปี นั่นคือ ผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่า จะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าโดยผู้ที่มีการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีสุขภาพจิตดีที่สุด และผู้ที่ไม่มีการศึกษา/มีการศึกษาต่ำกว่าประถมมีสุขภาพจิต ต่ำสุดทั้ง 3 ปี แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า กลุ่มผู้ที่ไม่มีการศึกษาฯ มีสุขภาพจิตดีขึ้นมากกว่ากลุ่มอื่นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปี 2551-2552 คือ เพิ่มจาก 31.17 เป็น 32.62 คะแนน
- การมี/ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาล
ในภาพรวม พบว่า ผู้ที่มี/ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่ไม่มี/ไม่ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลซึ่งอาจเนื่องจากรู้สึกว่าได้รับความคุ้มครองในชีวิตเมื่อยามเจ็บป่วย
หากพิจารณาเฉพาะผู้ที่มี/ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลพบว่า ผู้ที่มี/ได้รับมากกว่า 1 แหล่ง ส่วนใหญ่มีสุขภาพจิตสูงกว่าผู้ที่มี/ได้รับเพียงแหล่งเดียว และยังพบว่า คะแนนสุขภาพจิตของกลุ่มแรกสูงกว่าระดับสุขภาพจิตของคนทั่วไป (มากกว่า 34 คะแนน) อาจกล่าวได้ว่าคนกลุ่มนี้มีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะจัดหาสวัสดิการที่ดีเพิ่มเติมได้
นอกจากนี้ ผู้ที่มี/ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลจากราชการ/รัฐวิสาหกิจ มีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่มี/ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลจากแหล่งอื่นๆ และมีสุขภาพจิตสูงกว่าระดับ คะแนนของคนทั่วไป ส่วนผู้ที่มี/ได้รับจากราชการ/รัฐวิสาหกิจ และจากแหล่งอื่นด้วยก็มีคะแนนสุขภาพจิตสูงกว่าผู้ที่มี/ได้รับจากแหล่งอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ราชการ/รัฐวิสาหกิจ) ตั้งแต่ 2 แหล่งขึ้นไป
หากเปรียบเทียบผลการสำรวจ 2 ปี พบว่า สุขภาพจิตของเกือบทุกกลุ่มดีขึ้น จากปี 2552 ยกเว้น กลุ่มต่อไปนี้ คือ ผู้ที่ไม่มี/ไม่ได้รับสวัสดิการ ผู้ที่มี/ได้รับเฉพาะประกันสุขภาพเอกชน และผู้ที่มี/ได้รับจาก 2 แหล่งขึ้นไป (ที่ไม่ใช่ราชการ/รัฐวิสาหกิจ) และเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ที่มี/ได้รับเฉพาะประกันสังคมมีสุขภาพจิตต่ำกว่าผู้ที่มีสวัสดิการกลุ่มอื่นๆ (ทั้ง ปี 2552 และ 2553)
- เขตการปกครอง/ภาค
เมื่อเปรียบเทียบสุขภาพจิตของคนไทยในปี 2551- 2553 จำแนกตามเขตการปกครอง พบว่าคนไทยทั้งในเขตและ นอกเขตเทศบาลมีสุขภาพจิตดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในช่วงปี 2551-2552 ผู้ที่อยู่นอกเขตเทศบาลมีสุขภาพจิตดีขึ้นมากกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด (คะแนนสุขภาพจิตในปี 2552 เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ถึงร้อยละ 4.9)
หากพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีสุขภาพจิตดีขึ้นในทุกๆ ปี ส่วนกรุงเทพฯ ซึ่งมีสุขภาพจิตในปี 2551 สูงกว่าภาคอื่นๆ (ยกเว้นภาคใต้) กลับมีคะแนนสุขภาพจิตลดลงในปี 2552 (และเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในปี 2553) และกลายเป็นภาคที่มีคะแนนสุขภาพจิตต่ำสุด ซึ่งอาจเนื่องจากปัญหาทางการเมืองยังไม่สงบ สำหรับภาคกลางในปี 2552 มีสุขภาพจิตดีขึ้น แต่ในปี 2553 กลับเป็นภาคเดียวที่มีสุขภาพจิตลดลง อาจเป็นเพราะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่
2. สุขภาพจิตคนไทย ตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน
- ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นของครัวเรือน
เมื่อพิจารณาจากค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ในปี 2552 และ 2553 พบว่า สุขภาพจิตและค่าใช้จ่ายมีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกัน นั่นคือ ผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าจะมีสุขภาพจิตดีกว่า
แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า ทุกกลุ่มค่าใช้จ่ายมีคะแนนสุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานขึ้นไป กล่าวคือ ผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท มีสุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเท่ากับคนทั่วไป ขณะที่ผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 30,000 บาท จะมีสุขภาพจิตดีกว่าคนทั่วไป (คะแนนสูงกว่า 34) แต่ผู้ที่มีค่าใช้จ่ายสูงอาจจะไม่ได้มีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเสมอไป เนื่องจากเป็นไปได้ที่จะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านชีวิตครอบครัว หรือหน้าที่การงาน เช่น สมาชิกอยู่กันพร้อมหน้า การมีสวัสดิการที่มั่นคง การทำงานในองค์กรที่ มีการบริหารจัดการที่ดี เป็นต้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปี 2553 กลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด (คือ กลุ่มต่ำกว่า 3,001 บาท) มีระดับสุขภาพจิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือ ร้อยละ 2.4
- ภาระพึ่งพิงในครัวเรือน
ในภาพรวม พบว่า ผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิงน้อย คือ มีสัดส่วนของคนทำงานมากกว่าคนไม่ทำงาน จะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิงมาก (มีคนทำงานน้อยกว่าหรือเท่ากับคนไม่ทำงาน หรือไม่มีคนทำงานเลย) แต่มีข้อสังเกตว่า ผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่ไม่มีคนพึ่งพิง คือ มีเฉพาะคนทำงาน กลับมีสุขภาพจิตต่ำกว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนที่มีภาระพึ่งพิงอยู่ในครัวเรือน มีความรู้สึกเป็นสุขที่ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา
ในยามที่ต้องเผชิญกับปัญหา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลทำให้มีระดับสุขภาพจิตดีกว่าคนที่ไม่มีภาระพึ่งพิงในครัวเรือน ซึ่งส่วนหนึ่งพบว่า เป็นผู้ที่อยู่คนเดียว อาจจะมีความรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยวในชีวิต ขาดกำลังใจจากครอบครัวหรือจากคนที่รัก จึงทำให้สุขภาพจิตต่ำกว่า
นอกจากนี้ ยังพบว่า คะแนนสุขภาพจิตของทุกกลุ่มในปี 2553 เพิ่มขึ้นจาก ปี 2552 ยกเว้น ครัวเรือนที่มีจำนวนคนทำงานน้อยกว่าคนไม่ทำงานเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นอาจเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ครัวเรือนที่มีคนทำงานมากกว่าคนไม่ทำงานได้รับรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ระดับสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นด้วย ในทางตรงกันข้าม ปัจจัยนี้อาจส่งผลเพียงเล็กน้อยต่อครัวเรือนที่มีคนทำงานน้อยกว่าคนไม่ทำงาน
- การกระจายรายได้ของครัวเรือน
เมื่อพิจารณาการกระจายรายได้ของครัวเรือน (ใช้ค่าใช้จ่ายเป็นตัวแทน) โดยจัดแบ่งครัวเรือนทั่วประเทศเป็น 5 กลุ่มเท่าๆ กัน โดยเรียงลำดับตามค่าใช้จ่ายต่อคนต่อเดือนจากน้อยไปมาก (กลุ่มที่ 1 มีค่าใช้จ่ายน้อยสุด และกลุ่มที่ 5 มีค่าใช้จ่ายสูงสุด) พบว่า คนที่อยู่ในกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุด (กลุ่มที่ 5 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประจำต่อคนต่อเดือนมากกว่ากลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุดถึง 8 เท่า ในปี 2553) มีสุขภาพจิตดีที่สุดในขณะที่คนที่อยู่ในกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุด (กลุ่มที่ 1) มีสุขภาพจิตต่ำสุด แต่อย่างไรก็ตาม คะแนนสุขภาพจิตของเกือบทุกกลุ่มอยู่ในระดับปกติเท่ากับคนทั่วไป มีเพียงกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุดเท่านั้นที่มีคะแนนสุขภาพจิตสูงกว่าคนทั่วไป (คะแนน 34.13 ในปี 2553)
หากเปรียบเทียบคะแนนระหว่างปี 2552 และ 2553 พบว่ากลุ่มที่ 1 และ กลุ่มที่ 4 มีสุขภาพจิตดีขึ้นมาก ส่วนกลุ่มอื่นๆ มีคะแนนเพิ่มขึ้นลดหลั่นกันไป
3. องค์ประกอบหลักด้านสุขภาพจิต และลักษณะที่สำคัญบางประการของประชากร (ปี 2553)
เมื่อพิจารณาข้อถามสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น สามารถจำแนกคะแนนสุขภาพจิตออกเป็นองค์ประกอบหลักได้ 4 ด้าน จากการสำรวจในปี 2553 เมื่อแปลงคะแนนในแต่ละด้านให้เป็นร้อยละ พบว่า ปัจจัยสนับสนุนเป็นองค์ประกอบที่เข้มแข็งที่สุด (ร้อยละ 82.2) ซึ่งสอดคล้องกับสภาพสังคมไทยที่มีความผูกพันกันเป็นอย่างมาก เนื่องจากองค์ประกอบนี้เกี่ยวข้องกับคนในครอบครัว ชุมชน ศาสนา ในทางตรงกันข้ามองค์ประกอบที่อ่อนแอที่สุด คือ สมรรถภาพของจิตใจ (ร้อยละ 63.3) องค์ประกอบนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น และการจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าการที่คนไทยจะมีระดับสุขภาพจิตดีขึ้น ควรมุ่งพัฒนาสมรรถภาพของจิตใจเป็นหลัก
- เพศ
จากที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า เพศชายมีสุขภาพจิตดีกว่าเพศหญิง (คะแนนในปี 2553 คือ 33.55 และ 33.06 ตามลำดับ) เมื่อพิจารณาตามองค์ประกอบหลัก พบว่า ผู้ชายมีสมรรถภาพของจิตใจแข็งแกร่งกว่าผู้หญิงอย่างเห็นได้ชัด (ร้อยละ 66.0 และ 60.9 ตามลำดับ) ในขณะที่องค์ประกอบหลักอื่นๆ นั้น พบว่า แทบไม่แตกต่างกัน
- สถานภาพสมรส
หากพิจารณาระดับสุขภาพจิตของ 2 กลุ่มที่แตกต่างกันอย่างมาก คือ กลุ่มที่สมรส และกลุ่มที่หย่าร้าง พบว่าคะแนนสุขภาพจิตของกลุ่มแรกสูงกว่ามาก (33.58 และ 31.51 ตามลำดับ) นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตามองค์ประกอบหลักพบว่า กลุ่มที่หย่าร้างมีองค์ประกอบด้านสภาพจิตใจ และปัจจัยสนับสนุนที่น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงต้องการการดูแล เอาใจใส่ โดยเฉพาะจากคนรอบข้างมากเป็นพิเศษ