สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ดำเนินการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ ทุก 10 ปี ตามข้อเสนอแนะขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งขณะนี้ประมาณ 230 ประเทศทั่วโลกได้มีการจัดทำสำมะโน สำหรับการจัดทำของประเทศไทยในปี 2553 นี้ เป็นการจัดทำสำมะโนประชากรครั้งที่ 11 และสำมะโนเคหะครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 100 ปี สำมะโนประชากรของประเทศไทย เพื่อแสดงให้เห็นจำนวน และลักษณะต่าง ๆ ของประชากรตามที่อยู่จริงในประเทศไทย และที่อยู่อาศัยจริงของประชากร ณ วันสำมะโน (1 กันยายน 2553)
เนื่องจากมีปริมาณงานมากถึง 20.3 ล้านครัวเรือนการประมวลผลข้อมูลในรายละเอียดไม่อาจแล้วเสร็จในเวลาอันสั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติ ตระหนักถึงความต้องการใช้ข้อมูลอย่างรีบด่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องทุก ๆ ฝ่าย จึงได้จัดทำรายงานผลเบื้องต้นขึ้น โดยนำเสนอผลที่สำคัญใน ภาพรวมของประชากรระดับภาค และเขตการปกครองเพื่อให้ผู้ต้องการใช้ข้อมูลนำไปใช้ก่อน ก่อนที่รายงานผลฉบับสมบูรณ์ซึ่งมีรายละเอียดครบถ้วนจะแล้วเสร็จ จากการประมวลผลเบื้องต้น สรุปข้อมูลที่สำคัญได้ ดังนี้
1. จำนวนประชากร และการกระจายตัว
ประเทศไทยมีประชากร (ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย) ณ วันสำมะโน คือวันที่ 1 กันยายน 2553 จำนวน 65.4 ล้านคน ซึ่งมากเป็นลำดับ 4 ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากประเทศอินโดนีเซีย (240 ล้านคน) ฟิลิปปินส์ (92 ล้านคน) และเวียดนาม (88 ล้านคน) ตามลำดับประเทศไทยมีประชากรหญิง 33.3 ล้านคน (ร้อยละ 50.9) และชาย 32.1 ล้านคน (ร้อยละ 49.1) หรือคิดเป็นอัตราส่วนเพศ (ชายต่อหญิง 100 คน) เป็น 96.3 โดยเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย 62.1 ล้านคน (ร้อยละ 94.9) และเป็นผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย 3.3 ล้านคน (ร้อยละ 5.1)
เมื่อพิจารณาการกระจายตัวของประชากร พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรในเขตเทศบาลต่อนอกเขตเทศบาลเป็น 45.7 ต่อ 54.3 ซึ่งสัดส่วนของประชากรในเขตเทศบาลมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ (จากปี 2533 และ 2543 เป็น 29.4 และ 31.1 ตามลำดับ) และเมื่อพิจารณาในระดับภาคพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุด 18.8 ล้านคน (ร้อยละ 28.7) รองลงมา คือ ภาคกลาง 18.1 ล้านคน (ร้อยละ 27.7) ภาคเหนือ 11.4 ล้านคน (ร้อยละ 17.5) ภาคใต้ 8.8 ล้านคน (ร้อยละ 13.5) และกรุงเทพมหานคร 8.2 ล้านคน (ร้อยละ 12.6)
เมื่อพิจารณา 10 จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดจะเห็นว่า กรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดที่มีประชากรสูงสุด (8.25 ล้านคน) รองลงมา 9 ลำดับ คือ จังหวัดนครราชสีมา (2.52 ล้านคน) สมุทรปราการ (1.83 ล้านคน) อุบลราชธานี (1.74 ล้านคน) ขอนแก่น (1.74 ล้านคน) เชียงใหม่ (1.71 ล้านคน) ชลบุรี (1.55 ล้านคน) สงขลา (1.48 ล้านคน) นครศรีธรรมราช (1.45 ล้านคน) และนนทบุรี (1.33 ล้านคน) ตามลำดับ และพบว่า ในปี 2553 ประเทศไทยมีจังหวัดที่มีประชากรเกินหนึ่งล้านคนขึ้นไป 18 จังหวัด
2. อัตราการเพิ่มของประชากร
จากการทำสำมะโนประชากรทุก 10 ปี พบว่าประเทศไทยมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทุกรอบ โดยมีอัตราการเพิ่มของประชากรแต่ละรอบแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามพบว่า อัตราการเพิ่มของประชากรในประเทศไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา คือ อัตราการเพิ่ม ของประชากรในระหว่างปี 2503-2513 เป็นร้อยละ 2.70 ต่อปี ระหว่างปี 2533-2543 เป็นร้อยละ 1.05 ต่อปี และระหว่างปี 2543-2553 ลดลงเหลือร้อยละ 0.77 ตามลำดับซึ่งเป็นผลมาจากประเทศไทยมีอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
ถึงแม้ว่าอัตราการเพิ่มของประชากรจะลดลง แต่เมื่อพิจารณาในระดับภาค พบว่า ในระหว่างปี 2543-2553 อัตราการเพิ่มของประชากรในกรุงเทพมหานคร และ ภาคกลางกลับเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในกรณีนี้เนื่องจากประชากรไทยมีการย้ายถิ่นจากภาคต่าง ๆ เข้าสู่เมืองใหญ่ คือ กรุงเทพมหานครและจังหวัดในปริมณฑลนั่นเอง ซึ่งรวมถึงแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วย
3. อัตราส่วนเพศ
จากข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2553 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรที่เป็นหญิงมากกว่าชาย ทำให้อัตราส่วนเพศของประชากร (สัดส่วนชายต่อหญิง 100 คน) เป็น 96.3 โดยลดลงจากปี 2543 ซึ่งมีอัตราส่วนเพศเป็น 97.0 การที่ประชากรหญิงมากกว่าประชากรชาย สาเหตุหนึ่งเพราะประเทศไทยมีอายุขัยเฉลี่ยของประชากรหญิงสูงกว่าประชากรชาย แต่ถ้าพิจารณาในระดับพื้นที่การที่อัตราส่วนเพศแตกต่างกันขึ้นกับปัจจัยเรื่องการย้ายถิ่นฐานของประชากรชายและหญิง ซึ่งสัมพันธ์กับแหล่งงานภาคเกษตรภาคอุตสาหกรรม และภาคการบริการ เนื่องจากแต่ละพื้นที่ มีความต้องการแรงงานที่ต่างกันระหว่างเพศด้วย
4. ขนาดครัวเรือน
ประเทศไทยมีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น ณ วันสำมะโน (1 กันยายน 2553) 20.3 ล้านครัวเรือน โดยมีขนาดครัวเรือนเฉลี่ย 3.2 คน ซึ่งมีขนาดเล็กลงเมื่อเทียบกับสำมะโนประชากรและเคหะปีที่ผ่านมา (2543) ซึ่งมีขนาดครัวเรือนเฉลี่ย 3.9 คน และในเขตเทศบาลมีขนาดครัวเรือนเฉลี่ยเล็กกว่านอกเขตเทศบาล (3.1 และ 3.3 คน ตามลำดับ) ซึ่งเป็นแบบแผนเช่นนี้มาโดยตลอด ภาคที่มีขนาดครัวเรือนเฉลี่ยใหญ่สุด คือ ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีขนาดเท่ากันคือ 3.5 คน รองลงมา คือ ภาคเหนือ (3.1 คน) ภาคกลาง (3.0 คน) ส่วนกรุงเทพมหานครมีขนาดครัวเรือนเฉลี่ยเล็กสุด (2.9 คน)
5. ความหนาแน่นของประชากร
ประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 513,120 ตารางกิโลเมตร มีความหนาแน่นของประชากร โดยเฉลี่ย 127.5 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร ซึ่งหนาแน่นกว่า 10 ปีที่แล้ว (118.1 คน ต่อ 1 ตารางกิโลเมตร) เป็นที่ทราบกันดีว่าประชากรมีการย้ายถิ่นฐานมาหาแหล่งงานในกรุงเทพมหานคร จังหวัดในปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ ๆ ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้จังหวัดที่มีความเจริญ มีสถานศึกษาโรงพยาบาล สถานบริการทางด้านสาธารณสุข การคมนาคมขนส่งสะดวกสบาย จะมีประชากรอยู่กันหนาแน่น จึงส่งผลทำให้จังหวัดเหล่านี้มีความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ยสูงขึ้น เช่น กรุงเทพมหานคร มีความหนาแน่นของประชากรสูงสุดเพิ่มจาก 4,028.9 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตรในปี 2543 เป็น 5,258.6 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตรในปี 2553
จังหวัดที่มีความหนาแน่นของประชากรโดยเฉลี่ยสูงที่สุด 10 อันดับ คือ กรุงเทพมหานคร รองลงมา คือ จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ภูเก็ต ปทุมธานี สมุทรสงคราม นครปฐม ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา ตามลำดับ