สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการสำรวจการประกอบกิจการโรงแรมและเกสต์เฮาส์มาอย่างต่อเนื่อง และมีแผนงานที่จะดำเนินการสำรวจทุก 2 ปี เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐใช้ในการจัดทำบัญชีประชาชาติของประเทศและการวางแผนกำหนดนโยบายการพัฒนาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สำหรับภาคเอกชนใช้ในการวางแผนธุรกิจ การตัดสินใจลงทุน การขยายกิจการของสาขา ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น
การสำรวจนี้ คุ้มรวมสถานประกอบการโรงแรมและเกสต์เฮาส์ทั่วประเทศ ตามการจัดประเภทอุตสาหกรรมตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทุกประเภทตามมาตรฐานสากล (International Standard Industrial Classification of all Economic Activities : ISIC Rev. 3) ซึ่งจัดอยู่ในประเภท H ในการสำรวจปี 2553 นี้มีสถานประกอบการที่ตกเป็นหน่วยตัวอย่างทั้งสิ้น 3,107 แห่ง และข้อมูลที่นำเสนอเป็นผลการดำเนินกิจการในรอบปี 2552 (1 มกราคมะ 31 ธันวาคม 2552) สรุปได้ดังนี้
1. จำนวนโรงแรมและเกสต์เฮาส์
ผลการสำรวจ พบว่า มีโรงแรมและเกสต์เฮาส์ทั่วประเทศทั้งสิ้น 5,420 แห่ง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคใต้ และภาคกลางในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันประมาณร้อยละ 27.5 และ 27.1 ตามลำดับ รองลงมาตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณร้อยละ 20.1 โรงแรมและเกสต์เฮาส์ที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ มีประมาณร้อยละ 19.9 ส่วนที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีสัดส่วนต่ำสุดประมาณร้อยละ 5.4
2. จำนวนห้องพัก
โรงแรมและเกสต์เฮาส์ทั่วประเทศ มีจำนวนห้องพักทั้งสิ้น 303,154 ห้อง โดยภาคกลาง มีจำนวนห้องพักมากที่สุด คือประมาณ 87,172 ห้อง หรือร้อยละ 28.8 ของจำนวนห้องพักทั้งสิ้น รองลงมาคือ ภาคใต้มีประมาณ 78,034 ห้อง (ร้อยละ 25.8) กรุงเทพมหานคร 58,586 ห้อง (ร้อยละ 19.3) ภาคเหนือ 43,789 ห้อง (ร้อยละ 14.4) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนห้องพักน้อยที่สุด คือประมาณ 35,573 ห้อง (ร้อยละ 11.7)
3. จำนวนผู้เข้าพัก
สำหรับผู้เข้าพักในโรงแรมและเกสต์เฮาส์ ในปี 2552 มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 66.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เข้าพักในโรงแรมและเกสต์เฮาส์ ในภาคกลางมากที่สุดคือประมาณ 19.0 ล้านคน หรือร้อยละ 28.6 รองลงมาคือภาคใต้และกรุงเทพมหานครประมาณ 18.4 ล้านคน และ 12.0 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 27.6 และ 18.0 ตามลำดับ
เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของผู้เข้าพัก ชาวไทยและชาวต่างประเทศ พบว่า เป็นชาวไทยมากกว่าชาวต่างประเทศ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า โรงแรมและเกสต์เฮาส์ในภาคใต้ และกรุงเทพมหานครผู้เข้าพักส่วนใหญ่ เป็นชาวต่างประเทศ ประมาณ 11.4 ล้านคน และ 7.7 ล้านคน ตามลำดับ สำหรับภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือผู้เข้าพัก ในโรงแรมฯ ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย
4. คนทำงานและลูกจ้าง
คนทำงานในโรงแรมและเกสต์เฮาส์ทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 180,431 คน โดยเป็นคนทำงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างเงินเดือน ประมาณ 6,108 คน หรือร้อยละ 3.4 และเป็นคนทำงานที่เป็นลูกจ้างหรือมีการจ้างงาน ประมาณ 174,323 คน หรือ ร้อยละ 96.6 ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ (94,039 คน หรือร้อยละ 54.0) เป็นลูกจ้างที่ปฏิบัติงาน โดยไม่ต้องใช้เทคนิค รองลงมาเป็นลูกจ้างที่ใช้เทคนิคระดับกลางประมาณ ร้อยละ 34.0 ที่เหลือเป็นระดับรองหัวหน้าฝ่ายต่างๆ และระดับผู้บริหารประมาณร้อยละ 7.2 และ 4.8 ตามลำดับ
เมื่อเปรียบเทียบจำนวนคนทำงานในแต่ละภาค พบว่า โรงแรมและเกสต์เฮาส์ ในภาคใต้มีคนทำงานมากที่สุดประมาณ 59,168 คน หรือร้อยละ 32.8 ด้านการจ้างงาน พบว่า โรงแรมฯ ในภาคใต้มีลูกจ้างมากที่สุดคือ 57,485 คน หรือร้อยละ 33.0 รองลงมาคือภาคกลาง มีลูกจ้างประมาณ 50,375 คนหรือร้อยละ 28.9 สำหรับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลูกจ้างน้อยที่สุด คือ 15,424 คน หรือร้อยละ 8.8
5. ค่าตอบแทนแรงงาน
ในปี 2552 ลูกจ้างในโรงแรมและ เกสต์เฮาส์ทั่วประเทศ ได้รับค่าตอบแทนแรงงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 27,527.6 ล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อคนต่อปีประมาณ 157,911 บาท โดยในเขตกรุงเทพมหานคร ลูกจ้างได้รับค่าตอบแทนแรงงานเฉลี่ยต่อคนต่อปี สูงที่สุดคือประมาณ 296,768 บาท รองลงมาคือ ภาคใต้ ลูกจ้างได้รับค่าตอบแทนแรงงานเฉลี่ยประมาณ 156,542 บาทต่อปี ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือลูกจ้างได้รับค่าตอบแทนแรงงานเฉลี่ยต่อคนต่อปี น้อยที่สุด คือประมาณ 69,198 บาท
6. รายรับและค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ
จากการดำเนินกิจการในรอบปี 2552 ของโรงแรมและเกสต์เฮาส์ทั่วประเทศ พบว่ามีมูลค่ารายรับและค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 95,848.4 ล้านบาทและ 71,382.6 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีรายรับและค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อกิจการประมาณ 17.7 ล้านบาท และ 13.2 ล้านบาท ตามลำดับ โดยโรงแรมและเกสต์เฮาส์ในภาคใต้ มีมูลค่ารายรับและค่าใช้จ่ายมากที่สุดประมาณ 34,769.3 ล้านบาท และ 26,891.8 ล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่โรงแรมฯ ในภาคเหนือมีมูลค่ารายรับและค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดประมาณ5,084.4 ล้านบาท และ 4,029.5 ล้านบาท ตามลำดับ
7. สรุปและข้อเสนอแนะ
ผลจากการสำรวจโรงแรมและเกสต์เฮาส์ พ.ศ. 2553 พบว่า ทั่วประเทศมีโรงแรมและเกสต์เฮาส์ จำนวนประมาณ 5,420 แห่ง ส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 27.5 ตั้งอยู่ในภาคใต้ ในรอบปี 2552 มีผู้เข้าพักจำนวนประมาณ 66.6 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 58.7 เป็นชาวไทย ส่วนที่เป็นชาวต่างประเทศมีประมาณร้อยละ 41.3 ของผู้เข้าพักทั้งสิ้น ด้านคนทำงานในโรงแรมและเกสต์เฮาส์มีจำนวนประมาณ 180,431 คน และในจำนวนนี้ มีการจ้างงานหรือลูกจ้าง 174,323 คน โดยได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อคนต่อปีประมาณ 157,911บาทสำหรับมูลค่ารายรับและค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ มีมูลค่าทั้งสิ้น 95,848.4 ล้านบาท และ 71,382.6 ล้านบาท ตามลำดับ
- ปัญหาและอุปสรรคของสถานประกอบการ ผู้ประกอบการโรงแรมและเกสต์เฮาส์ ร้อยละ 24.2 ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ ในจำนวนนี้ร้อยละ 25.5 ระบุว่าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง ร้อยละ 21.9 มีความเห็นว่าคู่แข่งทางธุรกิจมากขึ้น ร้อยละ 11.4 เห็นว่าระบบสาธารณูปโภคไม่เพียงพอและร้อยละ 11.3 ระบุว่าเป็นผลกระทบจากปัญหาด้านการเมือง เป็นต้น
- ความช่วยเหลือที่ต้องการจากหน่วยงานของรัฐ สำหรับความช่วยเหลือที่ต้องการจากหน่วยงานของรัฐนั้นมีผู้ประกอบการโรงแรมและเกสต์เฮาส์ ร้อยละ 30.5 แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยในจำนวนนี้ได้ระบุความต้องการ 33.5 เห็นว่าควรจัดทำประชาสัมพันธ์ ด้านการท่องเที่ยว ร้อยละ 14.3 เห็นว่ารัฐควร มีมาตรการลดหย่อนภาษีและร้อยละ 11.6 ควรฟื้นฟูพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น