สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความรู้และทัศนคติที่มีต่อผู้สูงอายุ พ.ศ.2554

ข่าวทั่วไป Friday May 13, 2011 10:56 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความรู้และทัศนคติที่มีต่อผู้สูงอายุ พ.ศ. 2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นของประชาชน ที่มีอายุระหว่าง 18 - 59 ปี เกี่ยวกับความรู้เรื่องผู้สูงอายุ ความคิดเห็นและทัศนคติเกี่ยวกับผู้สูงอายุ การได้รับสิทธิพิเศษด้านต่างๆ ของผู้สูงอายุ การมีหลักประกันด้านการเงินยามสูงอายุ การได้เตรียมการด้านต่างๆ เพื่อยามสูงอายุ และการส่งเสริม สนับสนุนสื่อต่าง ๆ ให้มีรายการเพื่อผู้สูงอายุ รวมทั้งความพึงพอใจต่อสวัสดิการที่รัฐให้แก่ผู้สูงอายุ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลนี้เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำข้อมูลไปใช้ในการติดตามนโยบาย และประเมินผลการดำเนินงานตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 - 2564) ในระยะที่ 2 (พ.ศ.2550 - 254) จึงได้จัดทำสำรวจเป็นครั้งที่ 2 ครั้งแรกสำรวจเมื่อปี 2550 โดยสอบถามประชาชนที่มีอายุระหว่าง 18 - 59 ปี ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ มีประชาชนถูกเลือกเป็นตัวอย่าง 9,000 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 420 กุมภาพันธ์ 2554 และเสนอผลสำรวจในระดับกรุงเทพมหานคร ภาค และทั่วประเทศ ในรูปร้อยละ

สรุปผลการสำรวจที่สำคัญๆ

1. ความรู้เรื่องผู้สูงอายุ

1.1 การทราบว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

จากผลสำรวจ มีประชาชน ร้อยละ 55.2 ไม่ทราบว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และร้อยละ 44.8 ทราบเรื่องนี้ และพบว่าในเขตเทศบาลมีสัดส่วนผู้ที่ทราบสูงกว่านอกเขตเทศบาล (ร้อยละ 47.9 และ 42.6 ตามลำดับ)

1.2 การทราบเรื่องการมีพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ

ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.1 ไม่ทราบเกี่ยวกับการมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผู้สูงอายุ ที่ระบุว่าทราบมีร้อยละ 23.4 และไม่แน่ใจร้อยละ 14.5 ทั้งนี้นอกเขตเทศบาลมีสัดส่วนผู้ไม่ทราบพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ (ร้อยละ 64.4) สูงกว่าในเขตเทศบาล (ร้อยละ 59.1)

1.3 ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อวัยสูงอายุ

สำหรับความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อวัยสูงอายุ จากผลสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 94.0 เห็นว่า การสูงอายุขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงตามปกติของชีวิต รองลงมาคือ ร้อยละ 89.5 เห็นว่าเมื่อเข้าวัยสูงอายุกำลังกล้ามเนื้อจะถดถอยลง และร้อยละ 88.9 เห็นว่าเมื่อเข้าวัยสูงอายุกระดูกจะบางลงกว่าตอนวัยหนุ่มสาว

นอกจากนั้นยังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 53.0 ไม่เห็นด้วยที่ว่าเมื่อคนสูงอายุขึ้นควรหยุดทำงานหรืออยู่เฉยๆ

2. ความคิดเห็นและทัศนคติเกี่ยวกับผู้สูงอายุ

2.1 ใครคือผู้สูงอายุ

จากผลสำรวจ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 65.7 เห็นว่าบุคคลที่จะเรียกว่าเป็นผู้สูงอายุหรือผู้สูงวัยควรมีอายุ 60 ปี รองลงมา ร้อยละ 9.7 เห็นว่าควรมีอายุ 65 ปี และร้อยละ 7.2 มีอายุ 55 ปี

2.2 การเตรียมการเพื่อวัยสูงอายุ

เมื่อสอบถามถึงการเตรียมการเพื่อวัยสูงอายุ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 87.1 เห็นว่า ควรเตรียมการเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ที่เห็นว่าไม่ควรเตรียมการฯ มีร้อยละ 6.8 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 6.1

เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจปี 2550 และปี 2554 มีประชาชนเห็นว่า ควรเตรียมการเพื่อวัยสูงอายุลดลงจากร้อยละ 91.4 (ปี 2550) เป็นร้อยละ 87.1 (ปี 2554)

เมื่อสอบถามเกี่ยวกับเรื่องที่ควรเตรียมการเพื่อวัยสูงอายุในเรื่องต่างๆ ประชาชนในกลุ่มที่เห็นว่าควรเตรียมการ และกลุ่มที่ไม่แน่ใจในการเตรียมการเพื่อวัยสูงอายุเห็นว่าควรเตรียมการในเรื่องต่างๆ ดังนี้ เรื่องการเงิน ร้อยละ 98.4 สุขภาพ ร้อยละ 97.3 ที่อยู่อาศัย ร้อยละ 97.1 จิตใจ ร้อยละ 93.5 การใช้ชีวิตในวัยสูงอายุ/หลังวัยทำงาน ร้อยละ 91.7 ผู้ที่จะมาดูแลในอนาคต ร้อยละ 89.2 และการจัดสรร/แบ่งมรดกหรือทรัพย์สิน ร้อยละ 85.5

เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจปี 2550 และปี 2554 พบว่า ประชาชนเห็นว่าควรเตรียมการเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุในเรื่องต่างๆ ไม่แตกต่างกันมากนัก

สำหรับ ช่วงอายุที่ควรเตรียมการเพื่อวัยสูงอายุ กลุ่มที่เห็นว่าควรเตรียมการฯ และไม่แน่ใจในการเตรียมการ ร้อยละ 40.2 เห็นว่าควรเริ่มเตรียมการระหว่างอายุ 50 59 ปี (ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 30.9 ในปี 2550) รองลงมาร้อยละ 34.5 เห็นว่าควรเริ่มเตรียมการระหว่างอายุ 40 49 ปี

2.3 บุคคลที่ควรมีหน้าที่หลักในการดูแลผู้สูงอายุ

เมื่อสอบถามเกี่ยวกับบุคคลที่ควรมีหน้าที่หลักในการดูแลผู้สูงอายุ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 67.1 เห็นว่า ควรเป็นหน้าที่หลักของบุตร รองลงมาร้อยละ 18.2 ควรเป็นตัวผู้สูงอายุเอง และร้อยละ 8.4 ควรเป็นคู่สมรส

เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจปี 2550 และปี 2554 มีประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ควรเป็นหน้าที่หลักของบุตรเช่นเดียวกัน โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 65.1 (ปี 2550) เป็นร้อยละ 67.1 (ปี 2554)

2.4 ความคาดหวังที่จะพึ่งพาบุตรเมื่อยามสูงอายุ

ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 76.2 ระบุว่า คาดหวังที่จะพึ่งพาบุตรเมื่อยามสูงอายุ ส่วนที่ไม่คาดหวังมีร้อยละ 15.4 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 8.4 ทั้งนี้ นอกเขตเทศบาลมีสัดส่วนของผู้ที่คาดหวังจะพึ่งพาบุตร (ร้อยละ 78.6) สูงกว่าในเขตเทศบาล (ร้อยละ 70.8)

2.5 การอยู่อาศัยของผู้สูงอายุกับบุตรหลาน

เมื่อสอบถามถึงการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุกับบุตรหลาน ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 80.3 เห็นว่าผู้สูงอายุควรอาศัยอยู่บ้านเดียวกันกับบุตรหลาน และร้อยละ 19.0 เห็นว่าผู้สูงอายุควรอยู่บ้านติดกัน/ใกล้กันกับบุตรหลาน ส่วนที่เห็นว่าผู้สูงอายุควรแยกไปอยู่ที่อื่นมีเพียงร้อยละ 0.7

2.6 การตระหนักและเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ

เมื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ประชาชนเห็นว่าควรตระหนักและเห็นคุณค่าผู้สูงอายุนั้น พบว่า เรื่องที่ประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 เห็นว่าควร คือ ผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่ (ร้อยละ 94.7) รองลงมาเป็นผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่ควรได้รับความเคารพนับถือเสมอ (ร้อยละ 90.7) ผู้สูงอายุสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีแก่รุ่นลูกหลาน ผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่มีคุณค่าแก่สังคม (ร้อยละ 90.6) ส่วนเรื่องที่ประชาชนไม่เห็นด้วยมากที่สุด คือ ผู้สูงอายุควรไปอยู่อาศัยในวัด ร้อยละ 88.6 รองลงมาเป็นผู้สูงอายุควรไปอยู่บ้านพักคนชรา ร้อยละ 86.5

2.7 การกำหนดอายุเกษียณหรือหยุดการทำงานของ

ภาครัฐและเอกชน เมื่อสอบถามถึงการกำหนดอายุเกษียณหรือหยุดการทำงานของภาครัฐและภาคเอกชน ในส่วนของภาครัฐ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 55.4 เห็นว่า ควรกำหนดอายุเกษียณที่อายุ 60 ปี รองลงมา ร้อยละ 17.3 เกษียณที่อายุ 55 ปี และร้อยละ 14.9 ที่อายุ 65 ปี

สำหรับภาคเอกชน ประชาชนส่วนใหญ่เห็นเช่นเดียวกับภาครัฐว่า ควรกำหนดอายุเกษียณที่อายุ 60 ปี (ร้อยละ 49.8) รองลงมาเป็นอายุ 55 ปี (ร้อยละ 20.4) และ 65 ปี (ร้อยละ 13.9)

3. ความคิดเห็นเกี่ยวกับการได้รับสิทธิพิเศษด้านต่างๆ ของผู้สูงอายุ

3.1 การยกเว้นภาษีรายได้แก่ผู้สูงอายุ

เมื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีรายได้แก่ผู้สูงอายุ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 93.1 เห็นว่า ผู้สูงอายุควรได้รับการยกเว้นภาษีรายได้และร้อยละ 6.9 เห็นว่า ไม่ควรได้รับการยกเว้นภาษีรายได้

เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจปี 2550 และปี 2554 มีประชาชนเห็นว่าผู้สูงอายุควรได้รับยกเว้นภาษีรายได้ ลดลงจากร้อยละ 97.2 (ปี 2550) เป็นร้อยละ 93.1 (ปี 2554)

3.2 การให้เบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุ

สำหรับการให้เบี้ยยังชีพรายเดือนแก่ผู้สูงอายุนั้นประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 98.5 เห็นว่ารัฐควรให้เบี้ยยังชีพรายเดือนแก่ผู้สูงอายุ และร้อยละ 1.5 เห็นว่า ไม่ควรให้

เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจปี 2550 และปี 2554 มีประชาชนเห็นว่ารัฐควรให้เบี้ยยังชีพรายเดือนแก่ผู้สูงอายุ ไม่แตกต่างกัน โดยลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 98.9 (ปี 2550) เป็นร้อยละ 98.5 (ปี 2554)

และเมื่อสอบถามประชาชนถึงความเต็มใจหากต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับเงินเบี้ยยังชีพเพิ่มขึ้นนั้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 66.0 ระบุว่า เต็มใจจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น และร้อยละ 34.0 ระบุว่า ไม่เต็มใจ

เมื่อสอบถามประชาชนในกลุ่มที่เห็นว่ารัฐควรให้เบี้ยยังชีพรายเดือนแก่ผู้สูงอายุ (ซึ่งมีร้อยละ 98.5) พบว่า ประชาชนร้อยละ 86.4 เห็นว่าควรให้เบี้ยยังชีพฯ แก่ผู้สูงอายุทุกคนและร้อยละ 13.6 เห็นว่า ไม่ควรให้ สำหรับจำนวนเงินเบี้ยยังชีพรายเดือนที่ผู้สูงอายุควรได้รับ ประชาชนร้อยละ 31.1 ระบุว่า ผู้สูงอายุควรได้รับ 501 1,000 บาท รองลงมา ร้อยละ 25.1 ควรได้รับ 1,001 1,500 บาท ร้อยละ 17.9 ควรได้รับมากกว่า 2,000 บาทขึ้นไป ร้อยละ 16.4 ควรได้รับ 1,501 2,000 บาทและมีร้อยละ 9.5 ที่เห็นว่าควรได้รับ 500 บาทหรือเท่าปัจจุบัน

3.3 การเพิ่มจำนวนบ้านพักอาศัย สถานสงเคราะห์

และสถานบริบาลแก่ผู้สูงอายุ สำหรับการเพิ่มจำนวนบ้านพักอาศัย สถานสงเคราะห์ และสถานบริบาลแก่ผู้สูงอายุ พบว่า ประชาชนร้อยละ 82.0 เห็นว่ารัฐควรให้การส่งเสริมสนับสนุนภาคเอกชนจัดให้มีสถานบริบาลแก่ผู้สูงอายุจำนวนเพิ่มขึ้น รองลงมาเป็น สถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุ มีประชาชน ร้อยละ 76.0 เห็นว่า ควรเพิ่ม สำหรับบ้านพักอาศัยผู้สูงอายุ ประชาชนร้อยละ 67.9 เห็นว่า ควรเพิ่ม

4. ความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีหลักประกันด้านการเงินเพื่อยามสูงอายุ

4.1 การเป็นสมาชิกกองทุนในวัยก่อนสูงอายุ

เมื่อสอบถามประชาชนเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกกองทุนต่างๆ ในวัยก่อนสูงอายุ พบว่า ประชาชนร้อยละ 18.4 เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม รองลงมาร้อยละ 5.8 เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ร้อยละ 5.4 เป็นสมาชิกกองทุนอื่นๆ (เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนสัจจะ กองทุนฌาปนกิจ เป็นต้น) และร้อยละ 5.1 เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ส่วนการเป็นสมาชิกกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMFs) และสมาชิกกองทุนหุ้นระยะยาว (LTFs) มีร้อยละ 1.9 และร้อยละ 1.6 ตามลำดับ และพบว่ามีประชาชนเพียงร้อยละ 0.3 ที่ระบุว่าเป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ครูและครูใหญ่โรงเรียนเอกชน

4.2 แหล่งเงินที่คาดหวังสำหรับเลี้ยงดูตนเองยามสูงอายุ

เมื่อสอบถามถึงการคาดหวังที่จะมีแหล่งเงินสำหรับเลี้ยงดูตนเองยามสูงอายุ ผลสำรวจ พบว่า ประชาชนร้อยละ 86.7 คาดหวังว่าจะมีแหล่งเงินจากการทำงานเลี้ยงตนเองมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 80.8 คาดหวังจากเงินออม/ทรัพย์สิน ร้อยละ 76.8 คาดหวังแหล่งเงินจากบุตร ร้อยละ 72.3 จากรัฐบาล (เบี้ยยังชีพ) และร้อยละ 68.6 จากคู่สมรส

สำหรับแหล่งเงินที่สำคัญที่สุด ที่ประชาชนคาดหวังสำหรับเลี้ยงดูตนเองยามสูงอายุนั้น พบว่า 5 อันดับแรกคือ จากการทำงานเลี้ยงตนเอง ร้อยละ 33.9 รองลงมา จากบุตร ร้อยละ 29.6 จากเงินออม/ทรัพย์สินร้อยละ 21.7 จากคู่สมรส ร้อยละ 6.6 และจากเบี้ยยังชีพจากรัฐบาล ร้อยละ 4.0

เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจปี 2550 และปี 2554 มีประชาชนที่เห็นว่าแหล่งเงินสำคัญที่สุดสำหรับเลี้ยงดูตนเองยามสูงอายุในปี 2554 ลดลงจากปี 2550 ทุกแหล่ง ยกเว้น แหล่งเงินจากการทำงานเลี้ยงตนเอง ที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 27.2 (ปี 2550) เป็นร้อยละ 33.9 (ปี 2554)

4.3 รายจ่ายด้านที่คาดว่ามากที่สุดเมื่ออยู่ในวัยสูงอายุ

ผลสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.0 คาดว่าจะมีรายจ่ายด้านสุขภาพมากที่สุดเมื่ออยู่ในวัยสูงอายุ รองลงมาคือ ด้านการดำรงชีวิตประจำวัน ร้อยละ 33.5 ทำบุญ ร้อยละ 7.6 สันทนาการ ร้อยละ 1.9 การช่วยเหลือญาติพี่น้อง ร้อยละ 1.3 และการช่วยเหลือสังคม ร้อยละ 0.7

4.4 ความเต็มใจและความสามารถในการจ่ายเงินรายเดือน

ให้รัฐเพื่อเป็นหลักประกันยามสูงอายุ เมื่อสอบถามถึงความเต็มใจและความสามารถจ่ายเงินให้รัฐเพื่อเป็นหลักประกันยามสูงอายุ โดยจ่ายเดือนละ 200 บาท และเมื่ออายุครบ 60 ปี จะได้รับบำนาญเดือนละ 2,000 บาทนั้น มีประชาชนระบุว่า เต็มใจและสามารถจ่ายให้รัฐได้ ร้อยละ 47.4 เต็มใจแต่ไม่สามารถจ่ายฯ ร้อยละ 22.1 ส่วนที่ไม่เต็มใจและ ไม่สามารถจ่าย ร้อยละ 7.4 และไม่เต็มใจแต่สามารถจ่าย ร้อยละ 5.5 นอกจากกนี้มีประชาชนที่ระบุว่า แล้วแต่กรณี ร้อยละ 17.6

เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจปี 2550 และปี 2554 พบว่า มีประชาชนแสดงความคิดเห็นเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ทุกกรณี ยกเว้นที่ระบุว่า เต็มใจและสามารถจ่ายให้รัฐได้ และ แล้วแต่กรณี ที่ประชาชนแสดงความคิดเห็นลดลงจากปี 2550 เล็กน้อย

4.5 การได้เตรียมการด้านต่างๆ เมื่อยามสูงอายุ

จากการสอบถามเรื่องที่เคยคิดและได้เตรียมการ เมื่อยามอยู่ในวัยสูงอายุ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 53.8 ระบุว่า เรื่องที่เคยคิดและได้เตรียมการมากที่สุด คือ เรื่องการออมหรือสะสมเงินทองทรัพย์สินให้เพียงพอใช้ในวัยสูงอายุ รองลงมา ร้อยละ 45.2 ระบุว่า ควรทำตัวเองให้มีสุขภาพกายที่แข็งแรงก่อน/และเมื่ออยู่ในวัยสูงอายุ

ส่วนเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่เคยคิดแต่ไม่ได้เตรียมการมากที่สุดมีประชาชนร้อยละ 41.1 ระบุว่า เป็นเรื่องการจะอยู่อย่างไรหรืออยู่กับใครเมื่ออยู่ในวัยสูงอายุ

นอกจากนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เคยคิดเตรียมการเมื่อยามอยู่ในวัยสูงอายุ คือ เรื่องการศึกษาเกี่ยวกับสิทธิที่ผู้สูงอายุพึงได้รับตามกฎหมาย โดยมีสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 51.2

4.6 การส่งเสริม สนับสนุนสื่อต่างๆ ให้มีรายการเพื่อ

ผู้สูงอายุเมื่อสอบถามเรื่องที่ภาครัฐ/องค์กรต่างๆ ได้ให้การส่งเสริม สนับสนุนสื่อต่างๆ ให้มีรายการเพื่อผู้สูงอายุนั้น ประชาชนร้อยละ 42.7 เห็นว่า ภาครัฐและองค์กรต่างๆ ให้การส่งเสริมสื่อต่างๆ ให้มีรายการเพื่อผู้สูงอายุ ในระดับปานกลาง รองลงมา ระบุว่า ให้การส่งเสริม สนับสนุน น้อย ร้อยละ 31.4 ส่วนที่ระบุว่า มาก มีร้อยละ 17.4 และไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ร้อยละ 8.5

4.7 ความพึงพอใจต่อสวัสดิการและอื่นๆ ที่รัฐให้แก่ผู้สูง

อายุในปัจจุบันผลสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 90.2 พึงพอใจต่อสวัสดิการ การสร้างหลักประกันหรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่รัฐให้แก่ผู้สูงอายุในปัจจุบัน (โดยพอใจมาก ร้อยละ 12.1 พอใจปานกลาง ร้อยละ 51.1 และพอใจน้อย ร้อยละ 27.0) ส่วนที่ ระบุว่าไม่พึงพอใจ มีร้อยละ 5.8 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 4.0

เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจปี 2550 และปี 2554 พบว่า ประชาชนพึงพอใจต่อสวัสดิการ การสร้างหลักประกันหรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่รัฐให้แก่ผู้สูงอายุในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 76.2 (ปี 2550) เป็นร้อยละ 90.2 (ปี 2554)

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ