สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ให้ความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับหลักประกันสุขถาพถ้วนหน้า พ.ศ. 2553 และการสำรวจความคิดเห็นของข้าราชการเกี่ยวกับสวัสดิการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553
สำหรับผลการสำรวจนี้เป็นการสำรวจความคิดเห็นของข้าราชการเกี่ยวกับสวัสดิการรักษาพยาบาล ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลจากข้าราชการทุกสังกัด(ยกเว้นข้าราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม) เกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล เพื่อรับทราบเกี่ยวกับการใช้บริการรักษาพยาบาล และความพึงพอใจจากการรับบริการสาธารณสุขจากการใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ตลอดจนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ โดยสอบถามข้าราชการทุกสังกัด (ยกเว้นข้าราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม ) มีข้าราชการ ถูกเลือกเป็นตัวอย่าง 6,000 ราย เก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่างวันที่ 26 กรกฏาคม - 13 สิงหาคม 2553 และเสนอผลสำรวจในระดับกรุงเทพมหานคร ภาค และทั่วประเทศ ในรูปร้อยละ
สรุปผลการสำรวจที่สำคัญๆ
1. การใช้บริการและความพึงพอใจต่อการให้บริการในสถานพยาบาล
1.1 การใช้สิทธิพยาบาลในรอบ 6 เดือน
ในรอบ 6 เดือน ข้าราชการ เข้ารับบริการสาธารณสุข ร้อยละ 64.1 ส่วนอีก ร้อยละ 35.9 ไม่ได้เข้ารับบริการสารธารณสุข ซึ่งเมื่อจำแนกตามประเภทของการใช้สิทธิเข้ารับบริการสาธารณสุข พบว่า มีการใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ร้อยละ 92.8 ใช้สิทธิอื่นๆ ร้อยละ 2.7 และที่เข้ารับบริการสาธารณสุขแต่ไม่ใช้สิทธิ ร้อยละ 27.2 สำหรับเหตุผลที่เข้ารับบริการแล้วไม่ใช้สิทธิ ได้แก่ ต้องการความรวดเร็วในการตรวจรักษา (ร้อยละ 80.7) ต้องการบริการที่ดีจากแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ (ร้อยละ 57.8) และ ต้องการตรวจด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย (ร้อยละ 43.3) เป็นต้น
1.2 ปัญหาการใช้สิทธิรักษาพยาบาล
ข้าราชการที่ประสบปัญหาจากการใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลมีร้อยละ 52.0 และที่ไม่ประสบปัญหามีร้อยละ 47.0 ซึ่งปัญหาที่ประสบได้แก่ การรักษาพยาบาลบางกรณีไม่สามารถเบิกจ่ายได้ต้องจ่ายเอง อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นในการรักษาต้องจ่ายเพิ่มเองแพทย์ พยาบาลไม่อธิบายหรือไม่ให้โอกาสผู้ป่วยหรือญาติอธิบายอาการเจ็บป่วยและ การรักษาพยาบาลไม่เท่าเทียมผู้ใช้สิทธิอื่น เป็นต้น
1.3 ระเบียบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเอกชนกรณีฉุกเฉิน
ข้าราชการ ร้อยละ 74.5 เห็นว่าระเบียบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเอกชนกรณีฉุกเฉินมีความเหมาะสม ขณะที่อีก ร้อยละ 25.5 เห็นว่าไม่เหมาะสม เมื่อพิจารณาในรายภาค พบว่า ข้าราชการภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เห็นว่าเหมาะสมร้อยละ72.7 75.2 77.2 และ 78.3 ตามลำดับ โดยข้าราชการ กรุงเทพมหานครเห็นว่าเหมาะสม ร้อยละ 67.6
1.4 ความพึงพอใจต่อการใช้บริการในสถานพยาบาลครั้งหลังสุด
จากการให้ข้าราชการประเมินความพึงพอใจ ของการให้บริการของสถานพยาบาลครั้งหลังสุดในประเด็นต่างๆโดยกำหนดการให้คะแนน ตั้งแต่ 0 - 10 คะแนน พบว่าข้าราชการให้คะแนนความพึงพอใจในประเด็นต่างๆ ของการให้บริการ โดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 6.67 - 7.89 คะแนน
โดยเมื่อพิจารณาในแต่ละประเด็นของการให้บริการ พบว่า ข้าราชการมีความพึงพอใจในคุณภาพบริการของแพทย์สูงสุด คือ 7.89 คะแนน รองลงมา คุณภาพยา 7.87 คะแนน และผลของการรักษา 7.83 คะแนน
1.5 การกำหนดให้ใช้สิทธิอื่นก่อนการใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ
ข้าราชการ ร้อยละ 68.5 เห็นว่ามีความเหมาะสม ส่วนอีก ร้อยละ 31.2 เห็นว่าไม่เหมาะสม
2. ความคิดเห็นเกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ
2.1 ความพึงพอใจต่อสิทธิสวัสดิการักษาพยาบาลของข้าราชการ
จากการประเมินความพึงพอใจต่อสวัสดิการรักษาพยาบาลที่มีอยู่ของข้าราชการโดยให้คะแนน ตั้งแต่ 0 - 10 คะแนน พบว่า ข้าราชการให้คะแนนความพึงพอใจโดยเฉลี่ยที่ 6.71 คะแนน หากพิจารณาในระดับภาค พบว่า ข้าราชการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความพึงพอใจเฉลี่ยสูงสุดที่ 7.02 คะแนน รองลงมา ภาคเหนือ 6.74 คะแนน ภาคกลาง 6.62 คะแนน ภาคใต้ 6.57 คะแนน และกรุงเทพมหานคร 6.42 คะแนน
2.2 มาตรฐานการรักษาพยาบาลของการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการ
1) เทียบกับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ข้าราชการ ร้อยละ 35.5 เห็นว่ามาตรฐานการรักษาพยาบาลของสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการมีมาตรฐานเดียวกับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนที่คิดว่ามีมาตรฐานสูงกว่ามีร้อยละ 24 .9 และมาตรฐานต่ำกว่ามีร้อยละ 17.9 และยังไม่แน่ใจ มีร้อยละ 20.9
2) เทียบกับสิทธิหลักประกันสังคม
ข้าราชการ ร้อยละ 37.9 เห็นว่ามาตรฐานการรักษาพยาบาลของสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการมีมาตรฐานเดียวกับสิทธิหลักประกันสังคม ส่วนที่เห็นว่ามีมาตรฐานสูงกว่ามีร้อยละ 22.2 มาตรฐานต่ำกว่ามีร้อยละ 16.4 และที่ยังไม่แน่ใจมีร้อยละ 22.1
2.3 ความพึงพอใจต่อนโยบายสาธารณสุขของรัฐบาล
จากการให้ประเมินความพึงพอใจต่อนโยบายสาธารณสุขของรัฐบาลโดยให้คะแนน ตั้งแต่ 0 - 10 คะแนน พบว่า ข้าราชการ ให้คะแนนความพึงพอใจต่อนโนบายสาธารณสุขของรัฐบาลเฉลี่ย 6.20 คะแนน
หากพิจารณาในระดับภาค พบว่า ข้าราชการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยสูงสุด 6.45 คะแนน รองลงมาคือ ภาคเหนือและภาคใต้ 6.2 คะแนน เท่ากัน ภาคกลาง 6.11 คะแนน และกรุงเทพมหานคร 5.82 คะแนน
2.4 การปรับสวัสดิการรักษาพยาบาลให้มีมาตรฐานเดียวกัน
ข้าราชการส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.2 เห็นด้วยกับการปรับสวัสดิการรักษาพยาบาลทุกประเภทให้มีมาตรฐานเดียวกัน เมื่อพิจารณาในระดับภาค พบว่าข้าราชการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเห็นด้วยในสัดส่วนมากที่สุดร้อยละ 87.1 รองลงภาคเหนือ ร้อยละ 83.6 ภาคใต้ ร้อยละ 81.8 ภาคกลางร้อยละ 78.6 และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 71.1
2.5 การให้ข้าราชการ/ผู้ใช้สิทธิรับผิดชอบต่อการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง
เมื่อสอบถามความคิดเห็นว่า ถ้าให้ข้าราชการ/ผู้ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลรับผิดชอบในการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง โดยจ่ายเบี้ยประกันเองผ่านระบบประกันสุขภาพ ซึ่งเบี้ยประกันจะผันแปรตามภาวะสุขภาพของแต่ละคน และรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งโดยเท่าเทียมกันทุกคน พบว่า มีผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 51.4 และ 48.2 ตามลำดับ สำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลดังนี้ สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเป็นสิทธิติดตัวของข้าราชการ ยากที่จะจำแนกสุขภาพของแต่ละคนและภาวะเสี่ยง การจัดสรรงบประมาณจะเกิดปัญหา ระบบประกันสุขภาพไม่สามารถครอบคลุมทุกโรค เป็นต้น
2.6 ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ
รักษาพยาบาลของข้าราชการ พบว่า ข้าราชการ ร้อยละ 29.1 เห็นว่าการดำเนินการสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการสามารถดำเนินได้ดีอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องปรับปรุงส่วนที่เห็นว่าควรปรับปรุงมี ร้อยละ 57.5 โดยเสนอให้ปรับปรุงดังนี้ ควรเบิกได้ตามที่จ่ายจริงทุกประเภท การให้ความสำคัญกับมาตรฐานการรักษา สามารถใช้สิทธิได้ทุกสถานพยาบาล เป็นต้น
ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบสัมภาษณ์
ผู้ตอบสัมภาษณ์เป็นชายร้อยละ 42.3 และเป็นหญิง ร้อยละ 57.7 อายุน้อยกว่า 31 ปี ร้อยละ 8.1 อายุ 31- 40 ปี ร้อยละ 27.7 อายุ 41 - 50 ร้อยละ 34.4 และ 51 ปี ขึ้นไป ร้อยละ 29.6 สำหรัการศึกษาส่วนใหญ่ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 62.7 รองลงมา ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 24.6 ปริญญาโทหรือเทียบเท่า ร้อยละ 12.2 ปริญญาเอกหรือเทียบเท่า ร้อยละ 0.4