คนไทยสุขภาพจิตดีขึ้นต่อเนื่อง จังหวัดที่มีรายได้สูงกลับมีความสุขน้อยกว่าจังหวัดที่มีรายได้ต่ำ

ข่าวทั่วไป Wednesday June 29, 2011 15:18 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ปัญหาทางการเมืองทำคนกรุงมีปัญหาสุขภาพจิตต่ำสุด สูงอายุ หม้าย หย่า การศึกษาต่ำ ว่างงาน มีหนี้นอกระบบ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต รัฐต้องเข้ามามีส่วนร่วม

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงโครงการความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิต สำนักงานสถิติแห่งชาติ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ในการสำรวจสุขภาพจิตคนไทยต่อเนื่องสามปี แสดงให้ถึงแนวโน้มความสุขคนไทยในช่วงระหว่างปี 2551 — 2553 ว่าดีขึ้นเป็นลำดับ

นายวิลาส สุวี รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า การสำรวจสุขภาพจิตคนไทยในปีที่ผ่านมา มีผู้ตอบสัมภาษณ์ประมาณ 87,000 คน พบว่าคนไทยมีแนวโน้มสุขภาพจิตดีขึ้น โดยมีคะแนนตามแบบประเมินความสุขของกรมสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นจาก 31.80 ในปี 2551 เป็น 33.09 และ 33.30 คะแนน ในปี 2552 และ 2553 ตามลำดับ และสัดส่วนของคนที่เสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิต หรือกลุ่มสุขน้อยมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน (จากร้อยละ 17.8 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 12.8 และ 11.2 ในปี 2552 และ 2553 ตามลำดับ) และในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า เพศชายยังคงมีสุขภาพจิตดีกว่าเพศหญิง คนที่อยู่ในวัย 40-59 ปี เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพจิตดีที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง สำหรับสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในปี 2552 คะแนนสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ถึงร้อยละ 4.6

ในช่วงปี 2552 และ 2553 คนในชนบทมีสุขภาพจิตดีกว่าคนเมือง และพบว่าในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาคนไทยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีแนวโน้มสุขภาพจิตดีขึ้นในทุกๆปี ส่วนคนกรุงเทพฯ ซึ่งมีสุขภาพจิตในปี 2551 สูงกว่าภาคอื่นๆ (ยกเว้นภาคใต้) กลับมีคะแนนสุขภาพจิตลดลงในปี 2552และ 2553 และกลายเป็นภาคที่มีคะแนนสุขภาพจิตต่ำสุด ทั้งนี้น่าจะมาจากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในขณะที่คนไทยในภาคกลางมีคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตในปี 2553 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2552 (จาก 32.54 เป็น 32.60 คะแนน)

ในช่วงปี 2552 และ 2553 พบว่า ผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิงน้อย คือมีสัดส่วนของคนทำงานมากกว่าคนไม่ทำงาน จะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิงมาก (มีคนทำงานน้อยกว่าหรือเท่ากับคนไม่ทำงาน หรือไม่มีคนทำงานเลย) ในขณะที่ ผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่ไม่มีภาระพึ่งพิง (มีเฉพาะคนทำงาน)กลับมีสุขภาพจิตต่ำกว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิง

ศ.เกียรติคุณ ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ กล่าวว่า คนไทยที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตได้แก่ผู้สูงอายุ มีสถานภาพหม้าย หย่า หรือแยกกันอยู่ การศึกษาต่ำ เป็นผู้ว่างงานหรือลูกจ้างเอกชน รายจ่ายของครัวเรือนต่ำ (ซึ่งสะท้อนรายได้ครัวเรือนต่ำ) ครัวเรือนเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน และครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบนอกจากนี้ ยังพบว่า การมีระบบการจ้างงานและดูแลปัญหาการว่างงานที่ดี การสร้างสังคมให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานของรัฐหรือชุมชน การกระจายรายได้ในสังคมที่มีการแข่งขัน และการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม ยังทำให้คนไทยมีสุขภาพจิตดีขึ้นด้วย

ดังนั้นการสร้างเสริมให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่แข็งแรง จึงจำเป็นที่รัฐต้องมีนโยบายสร้างระบบเศรษฐกิจที่ดีที่เอื้อต่อคนไทยทุกคนให้มีงานทำ มีรายได้แน่นอน และเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ส่งเสริมให้คนไทยที่มีอาชีพเกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ช่วยเหลือผู้ที่มีหนี้นอกระบบให้กลับเข้ามามีหนี้ในระบบแทน ส่งเสริมเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุ สร้างโอกาสให้คนไทยได้รับการศึกษาในระดับสูง สนับสนุนให้คนไทยมีครอบครัวอบอุ่นขึ้น ก็เป็นวิถีทางหนึ่งที่จะเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีได้นอกจากนี้ รัฐยังควรนำแนวทางปฏิบัติของศาสนาช่วยให้คนไทยมีสุขภาพจิตดี ดังผลการศึกษาที่แสดงว่าคนไทยพุทธที่มีการปฏิบัติสมาธิ รักษาศีล 5 และสวดมนต์เป็นประจำ มีความเสี่ยง ที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตน้อย

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การสำรวจช่วยให้ได้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับปัจจัยความสุขคนไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เอื้อต่อการสร้างความสุขคนไทย และที่สำคัญ คือ ข้อมูลความสุขคนไทยรายจังหวัด ซึ่งจังหวัดต่างๆ สามารถนำข้อมูลไปใช้เป็นแนวทางสร้างความสุขให้กับคนในจังหวัดของตน โดยพบว่า จังหวัดพังงาเป็นจังหวัดที่มีความสุขที่สุดของประเทศติดต่อกันสองปี ในปี 2552 — 2553 ขณะที่จังหวัดสมุทรปราการ และสมุทรสงคราม เป็นจังหวัดที่มีความสุขน้อยที่สุด ในปี 2552 และ 2553 ตามลำดับ จังหวัดที่อยู่ในกลุ่มสุขน้อยที่สุดของประเทศติดต่อกันสองปี คือ สมุทรปราการ ภูเก็ต สระแก้ว และ นครนายก

ประชาชนในจังหวัดที่มีรายได้สูงมีความสุขน้อยกว่าประชาชนในจังหวัดที่มีรายได้ต่ำ และในกลุ่มจังหวัดที่มีรายได้ในระดับใกล้เคียงกัน มีร้อยละของผู้มีความสุขน้อยหรือผู้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ต่างกันเป็นสิบเท่า เช่น ในกลุ่มจังหวัดที่มีรายได้ต่ำ พบว่า จังหวัดลำปางมีร้อยละของผู้มีความสุขน้อยเท่ากับ 28.8 ขณะที่จังหวัดนครพนม ซึ่งอยู่ในกลุ่มรายได้ระดับเดียวกัน มีร้อยละของผู้มีความสุขน้อยเท่ากับร้อยละ 2.4 เชื่อว่าปัจจัยที่ทำให้จังหวัดที่มีรายได้ใกล้เคียงกันมีความสุขต่างกันมาก เป็นผลจากปัจจัยอื่นๆ นอกจากทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ปัจจัยทางสังคม ชุมชน และปัจจัยด้านจิตใจของประชาชน เป็นสำคัญ

รายละเอียดของรายงานฉบับนี้ ดูได้จากเว็บไซด์ของกรมสุขภาพจิต www.dmh.go.th และเว็บไซต์ของแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต www.jitdee.com

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักสถิติพยากรณ์
โทรศัพท์ 0 2143 1320 โทรสาร 0 2143 8131

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ