ในการสำรวจปี 2555 ได้มีการเปลี่ยนการจัดประเภทธุรกิจจากเดิมใช้การจัดประเภทอุตสาหกรรมตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกประเภทตามมาตรฐานสากล (ISIC Rev.3) เป็นการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย ปี 2552 (TSIC-2009) ดังนั้น ในไตรมาส 1 จึงไม่มีข้อมูลแสดงการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการจัดกลุ่มประเภทธุรกิจบางธุรกิจแตกต่างจากปี 2554
สรุปข้อมูลเบื้องต้นฉบับนี้ เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลการดำเนินกิจการของสถานประกอบการธุรกิจค้าปลีกและบริการทั่วประเทศ ไตรมาส 4 ของปี 2555 สรุปได้ดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงมูลค่าขาย/รายรับจากไตรมาสก่อน
ในไตรมาส 4 ปี 2555 ภาพรวมของธุรกิจทั่วประเทศมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ร้อยละ 5.1 เมื่อพิจารณาตามประเภทธุรกิจ พบว่า ธุรกิจทุกประเภทมีรายรับเพิ่มขึ้น โดยธุรกิจที่พักแรม มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 8.0 รองลงมาคือ ธุรกิจเกี่ยวกับกิจกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ ธุรกิจการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือนฯ และธุรกิจการขายปลีก มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 ร้อยละ 5.2 และร้อยละ 5.0 ตามลำดับ สำหรับธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และรายการโทรทัศน์ฯ มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดร้อยละ 2.2
เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า ในไตรมาส 4 กิจการทุกขนาดมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะกิจการที่มีคนทำงาน 16-25 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 12.7 รองลงมาคือ กิจการที่มีคนทำงาน 26-30 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ส่วนกิจการที่มีคนทำงาน 31-50 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดร้อยละ 2.7
1.1 ธุรกิจค้าปลีก
สำหรับธุรกิจค้าปลีก พบว่า ในไตรมาส 4 มียอดขายเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 5.0 เมื่อพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า กิจการที่มีคนทำงาน 1-25 คน มียอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ไม่เกินร้อยละ 17.0 สำหรับประเภทของธุรกิจค้าปลีกที่มียอดขายเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ได้แก่ ขายปลีกสินค้าทั่วไป (ร้อยละ 8.2) ขายปลีกสินค้าประเภทอื่นๆ ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องหนัง สินค้าทางเภสัชกรรมและเวชภัณฑ์ เครื่องหอม เครื่องประทินโฉม สินค้าใหม่อื่นๆ และสินค้าใช้แล้ว(ร้อยละ 7.3) ขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ(ร้อยละ 5.3) สาเหตุที่มียอดขายเพิ่มขึ้นนั้น สถานประกอบการร้อยละ 48.1 รายงานว่าเนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อมากขึ้น
1.2 ธุรกิจที่พักแรม
ธุรกิจที่พักแรม ได้แก่ โรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ โฮมสเตย์ และหอพัก พบว่า ในไตรมาส 4 มีมูลค่ารายรับปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 8.0 โดยกิจการที่มีคนทำงาน 31-50 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 18.6 กิจการที่มีคนทำงาน 1-15 คน และ 26-30 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 และร้อยละ 9.1 ตามลำดับ สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 สถานประกอบการร้อยละ 62.8 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จึงทำให้มีลูกค้าเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น
1.3 ธุรกิจการบริการอาหารและเครื่องดื่ม
พบว่า ในไตรมาส 4 มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.7 เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า กิจการทุกขนาดมีรายรับเพิ่มขึ้น โดยกิจการที่มีคนทำงาน 31-50 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 8.0 รองลงมาคือ กิจการที่มีคนทำงาน 1-15 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 สำหรับกิจการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 0.6 สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 นั้น มีสถานประกอบการประมาณร้อยละ 44.8 รายงานว่าเนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น
1.4 ธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และรายการโทรทัศน์ การบันทึกเสียงลงบนสื่อ การจัดผังรายการและการแพร่ภาพกระจายเสียง และกิจกรรมสำนักข่าว
พบว่า ในไตรมาส 4 มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ร้อยละ 2.2 และกิจการเกือบทุกขนาดมีรายรับเพิ่มขึ้น โดยกิจการที่มีคนทำงาน 1-15 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 7.6 ยกเว้นกิจการที่มีคนทำงาน 16-25 คน ที่มีรายรับลดลงร้อยละ 9.2 สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 สถานประกอบการร้อยละ 44.7 รายงานว่าเนื่องจาก มีการผลิตภาพยนตร์ใหม่ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงทำให้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น
1.5 ธุรกิจการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน และกิจกรรมการคัดเลือกนักแสดงภาพยนตร์ โทรทัศน์และการแสดงอื่นๆ
พบว่า มีมูลค่ารายรับปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 ที่ร้อยละ 5.2 โดยธุรกิจที่มีคนทำงาน 16-25 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 11.1 และกิจการที่มีคนทำงาน 1-15 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 สำหรับสถานประกอบการที่มีคนทำงานตั้งแต่ 26 คนขึ้นไปนั้นไม่ได้นำเสนอในการจัดจำแนกย่อย แต่มีการรวมนำเสนอในภาพรวม เนื่องจากมีจำนวนไม่มากนัก สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 สถานประกอบการร้อยละ 58.5 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทำให้มีลูกค้ามากขึ้น
1.6 ธุรกิจเกี่ยวกับกิจกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ
พบว่า ในไตรมาส 4 มีมูลค่ารายรับปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 6.8 โดยกิจการที่มีคนทำงาน 31-50 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 18.0 สำหรับกิจการขนาดอื่นๆ มีรายรับเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 10.0 สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 สถานประกอบการร้อยละ 47.7 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงงานเทศกาลตามประเพณี และงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จึงมีการจัดงานรื่นเริงมากขึ้น
1.7 ธุรกิจการซ่อมของใช้ส่วนบุคคล และของใช้ในครัวเรือนและกิจกรรมการบริการส่วนบุคคลอื่นๆ
พบว่า ในไตรมาส 4 มีมูลค่ารายรับชะลอตัวลงจากไตรมาส 3 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 โดยธุรกิจเกี่ยวกับกิจกรรมบริการเพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกาย (ยกเว้นกิจกรรมด้านการกีฬา)เช่น ธุรกิจสปา การบริการนวดแผนไทย ศูนย์ลดน้ำหนัก ร้านเสริมสวย และการดูแลความงาม เป็นต้น มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2
เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า ในไตรมาส 4 กิจการที่มีคนทำงาน 1-15 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 5.1 ส่วนกิจการที่มีคนทำงาน 51-200 คน และ 16-25 คน กลับมีรายรับลดลงร้อยละ 20.1 และร้อยละ 0.3 ตามลำดับ สำหรับสาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 นั้น สถานประกอบการร้อยละ 43.3 รายงานว่าเนื่องจากมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้
2. การเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินค้าคงเหลือของธุรกิจการขายปลีกจากไตรมาสก่อน
ภาพรวมของมูลค่าสินค้าคงเหลือของธุรกิจค้าปลีก พบว่า ในไตรมาส 4 มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงจากไตรมาส 3 ร้อยละ 5.5 ในส่วนของการขายปลีกสินค้าแต่ละประเภท พบว่า ในไตรมาส 4 ธุรกิจขายปลีกสินค้าประเภทอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องหนัง สินค้าทางเภสัชกรรมและเวชภัณฑ์ เครื่องหอมและเครื่องประทินโฉมและสินค้าใหม่อื่นๆ มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงมากที่สุดร้อยละ 23.8 รองลงมาคือ ธุรกิจขายปลีกสินค้าวัฒนธรรมและนันทนาการ เช่น หนังสือ หนังสือพิมพ์และเครื่องเขียน สื่อบันทึกเสียงและภาพ เครื่องกีฬา เกมและของเล่น เป็นต้น มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงร้อยละ 21.5 สำหรับธุรกิจขายปลีกโดยไม่มีร้าน เช่น การรับสั่งสินค้าทางไปรษณีย์ โทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ตฯ และธุรกิจขายปลีกสินค้าทั่วไป เช่น ร้านซุปเปอร์มาร์เก็ต ดิสเคาท์สโตร์ ร้านสะดวกซื้อ/มินิมาร์ท ร้านขายของชำเป็นต้น มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงเล็กน้อยไม่เกินร้อยละ 3.0 สำหรับธุรกิจขายอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ กลับมีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นสูงที่สุด ร้อยละ 21.4 ส่วนธุรกิจการขายปลีกอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 7.0
เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินค้าคงเหลือตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า ในไตรมาส 4 กิจการเกือบทุกขนาดมีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยกิจการที่มีคนทำงาน 1-15 คน มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงมากที่สุดร้อยละ 11.1 รองลงมาคือ กิจการที่มีคนทำงาน 26-30 คน มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงร้อยละ 8.6 ในขณะที่กิจการที่มีคนทำงาน 31-200 คน มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 9.0
3. สรุปผลและข้อเสนอแนะ
ภาพรวมของธุรกิจทั่วประเทศในไตรมาส 4 ปี 2555 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 5.1 โดยเฉพาะธุรกิจที่พักแรม ได้แก่ โรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ โฮมสเตย์ และหอพัก มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 8.0
เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า กิจการที่มีคนทำงาน 16-25 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 12.7 รองลงมาคือ กิจการที่มีคนทำงาน 26-30 คน มีรายรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.9
ด้านปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจนั้น มีผู้ประกอบการธุรกิจและบริการทั่วประเทศ ร้อยละ 58.4 แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยส่วนใหญ่รายงานว่ามีการแข่งขันทางการค้าเพิ่มมากขึ้น ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น ลูกค้ามีกำลังซื้อลดลง ส่วนความช่วยเหลือที่ต้องการจากหน่วยงานของรัฐนั้น มีผู้ประกอบการธุรกิจและบริการทั่วประเทศ ร้อยละ 49.1 แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐมีการกำหนดมาตรการควบคุมราคาสินค้าให้เข้มงวดมากขึ้น การกำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสนับสนุนแหล่งเงินทุน เป็นต้น
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ