ผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือนมีนาคม 2556 พบว่า จำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 54.87 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมที่จะทำงาน 39.35 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 38.75 ล้านคน ผู้ว่างงาน 2.70 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 3.33 แสนคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน 15.52 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้น
สำหรับจำนวนผู้มีงานทำ 38.75 ล้านคน ประกอบด้วยผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม 13.62 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรม 25.13 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2555 พบว่า จำนวนผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 1.1 แสนคน และนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 4.5 แสนคน โดยเพิ่มขึ้นในสาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ 2.0 แสนคน สาขาการการผลิต 9.0 หมื่นคน สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการศึกษา 6.0 หมื่นคน สาขาการก่อสร้าง 4.0 หมื่นคน ส่วนสาขาที่ลดลงคือสาขากิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ เช่น กิจกรรมบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างกาย การดูแลสัตว์เลี้ยง การบริการซักรีดซักแห้ง เป็นต้น 1.2 แสนคน และสาขากิจกรรมด้านสุขภาพ และงานสังคมสงเคราะห์ 8.0 หมื่นคน ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่นๆ
หากพิจารณาถึงจำนวนผู้ที่ทำงานแต่ยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้ทำงานแต่ยังมีเวลา และพร้อมที่จะทำงานได้อีก หรือเรียกคนทำงานในกลุ่มนี้ว่าผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ (Underemployment workers) จากผลการสำรวจพบว่า มีผู้ที่ทำงานต่ำกว่าระดับ 3.03 แสนคน หรือร้อยละ 0.8 ของจำนวนผู้ทำงานทั้งหมด ซึ่งกลุ่มนี้แม้ว่าจะมีงานทำแล้วก็ตาม แต่ยังมีเวลาว่างที่มากพอและพร้อมที่จะทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อต้องการเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง
สำหรับจำนวนผู้ว่างงานในเดือนมีนาคม 2556 มีทั้งสิ้น 2.70 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.7 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี2555 จำนวนผู้ว่างงานลดลง 1.5 หมื่นคน (จาก 2.85 แสนคนเป็น 2.70 แสนคน) และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือน กุมภาพันธ์ 2556 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 2.5 หมื่นคน (จาก 2.45 แสนคน เป็น 2.70 แสนคน) โดยเป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.01 แสนคน และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 1.69 แสนคน ซึ่งลดลง 2.8 หมื่นคน จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2555 (จาก 1.97 แสนคน เป็น 1.69 แสนคน) โดยเป็นผู้ว่างงานจากภาคการผลิต 8.6 หมื่นคน ภาคการบริการและการค้า 6.4 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 1.9 หมื่นคน ตามลำดับ
ส่วนการว่างงานตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มวัยเยาวชนหรือผู้มีอายุระหว่าง 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.9 ซึ่งปกติในกลุ่มนี้อัตราการว่างงานจะสูง ส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปีขึ้นไป) มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2555 กลุ่มวัยเยาวชนมีอัตราการว่างงานไม่เปลี่ยนแปลง และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2556 กลุ่มวัยเยาวชนมีอัตราการว่างงานลดลงจากร้อยละ 3.2 เป็นร้อยละ 2.9
สำหรับระดับการศึกษาที่สำเร็จของผู้ว่างงานในเดือนมีนาคม 2556 พบว่า ผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากที่สุด 9.2 หมื่นคน (ร้อยละ 1.3) รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 6.3 หมื่นคน (ร้อยละ 1.0 ) ระดับประถมศึกษา 5.3 หมื่นคน (ร้อยละ 0.6) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4.2 หมื่นคน (ร้อยละ 0.7) และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 2.0 หมื่นคน (ร้อยละ 0.2) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2555 พบว่าจำนวนผู้ว่างงานลดลงในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 1.6 หมื่นคนระดับอุดมศึกษา 1.1 หมื่นคน และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 4.0 พันคน ส่วนที่เพิ่มขึ้นคือระดับประถมศึกษา 1.1 หมื่นคน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 5.0 พันคน ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงาน เป็นรายภาค พบว่ากรุงเทพมหานครมีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 0.9 รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 0.8 ภาคกลางร้อยละ 0.7 ภาคใต้ร้อยละ 0.6 และภาคเหนือร้อยละ 0.5 เมื่อเปรียบเทียบอัตราการว่างงานกับเดือนมีนาคม 2555 จะเห็นได้ว่าอัตราการว่างงานทั่วประเทศไม่เปลี่ยนแปลง และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่า ภาคเหนือมีอัตราการว่างงานลดลงมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนกรุงเทพมหานครมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคกลางสำหรับภาคใต้อัตราการว่างงานไม่เปลี่ยนแปลง
สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนมีนาคม พ.ศ. 2556
1. บทนำ
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ดำเนินการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรหรือสำรวจแรงงานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2506 โดยในช่วงแรก สำรวจเพียงปีละ 2 รอบ รอบแรกเป็นการสำรวจนอกฤดูเกษตร รอบที่ 2 เป็นฤดูเกษตร ต่อมาในปี 2527 - 2540 สำรวจปีละ 3 รอบ โดยเพิ่มสำรวจช่วงเดือนพฤษภาคมเพื่อดูแรงงานที่จบการศึกษาใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน และในปี 2541 ได้เพิ่มการสำรวจขึ้นอีก 1 รอบ เดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตร ทำให้การสำรวจภาวะการทำงานของประชากรครบทั้ง 4 ไตรมาสของปี
และในปี 2544 สำนักงานสถิติแห่งชาติปรับปรุงการสำรวจเป็นรายเดือน ทั้งนี้เพื่อให้สามารถติดตามภาวะการมีงานทำของประชากรได้อย่างใกล้ชิดและเสนอผลการสำรวจเป็นรายเดือนทุกเดือนในระดับประเทศและภาค
2. สรุปผลที่สำคัญ
2.1 โครงสร้างกำลังแรงงาน
ผลการสำรวจในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 พบว่า มีจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 54.87 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานประมาณ 39.35 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 71.7 (ชายร้อยละ 80.9 และหญิงร้อยละ 63.1) และเป็นผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 15.52 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 28.3 (ชายร้อยละ 19.1 และหญิงร้อยละ 36.9) สำหรับกลุ่มผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน จำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ผู้มีงานทำ จำนวน 38.75 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 98.5 ของผู้อยู่ในกำลังแรงงาน (ชายร้อยละ 98.5 หญิงร้อยละ 98.5)
2. ผู้ว่างงาน หมายถึง ผู้ไม่มีงานทำแต่พร้อมที่จะทำงาน มีจำนวน 2.70 แสนคน หรือคิดเป็นอัตรา การว่างงานร้อยละ 0.7 (ชายร้อยละ 0.8 และหญิงร้อยละ 0.6)
3. ผู้ที่รอฤดูกาล หมายถึง ผู้ที่ไม่ได้ทำงานและไม่พร้อมที่จะทำงาน เนื่องจากจะรอทำงานในฤดูกาลต่อไปมีจำนวน 3.33 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 (ชายร้อยละ 0.7 และหญิงร้อยละ 0.9)
2.2 ภาวะการมีงานทำของประชากร
เมื่อพิจารณาถึงลักษณะการทำงานของประชากรเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 พบว่า จากจำนวนผู้มีงานทำ 38.75 ล้านคน (ชาย 21.22 ล้านคน และหญิง 17.53 ล้านคน) เป็นผู้ทำงานภาคเกษตรกรรม 13.62 ล้านคน หรือคิดเป็น ร้อยละ 35.2 ของผู้มีงานทำ (ชาย 7.79 ล้านคน และหญิง 5.83 ล้านคน) และทำงานนอกภาคเกษตรกรรม 25.13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 64.8 ของผู้มีงานทำ (ชาย 13.43 ล้านคน และหญิง 11.70 ล้านคน)
เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2555 พบว่า ในภาคเกษตรกรรมมีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 1.1 แสนคน (จาก 13.51 ล้านคน เป็น 13.62 ล้านคน) และนอกภาคเกษตรกรรมมีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 4.5 แสนคน (จาก 24.68 ล้านคน เป็น 25.13 ล้านคน) ในจำนวนนี้เป็นการเพิ่มขึ้นในสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์ และรถจักรยานยนต์มากที่สุด 2.0 แสนคน รองลงมาเป็นสาขาการผลิต 9.0 หมื่นคน สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการศึกษาเพิ่มขึ้นเท่ากัน 6.0 หมื่นคน และสาขาการก่อสร้าง 4.0 หมื่นคน ส่วนสาขาที่ลดลงคือสาขากิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ เช่น กิจกรรมบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างกาย การดูแลสัตว์เลี้ยง การบริการซักรีด และซักแห้งเป็นต้น 1.2 แสนคน สาขากิจกรรมด้านสุขภาพ และงานสังคมสงเคราะห์ 8.0 หมื่นคน และสาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า, สาขากิจกรรมทางการเงิน และการประกันภัย และสาขาการบริหารราชการ การป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับลดลงเท่ากัน 1.0 หมื่นคน สำหรับสาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์จำนวนผู้มีงานทำไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่นๆ
เมื่อพิจารณาถึงชั่วโมงทำงานของผู้มีงานทำต่อสัปดาห์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 พบว่า ส่วนใหญ่ทำงานตั้งแต่ 35 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ทำงานเต็มที่ในเรื่องชั่วโมงทำงาน มีจำนวน 32.69 ล้านคน หรือ ร้อยละ 84.4 ของผู้มีงานทำทั้งหมด (ชายร้อยละ 84.5 และหญิงร้อยละ 84.2) และผู้ที่ทำงาน 1 - 34 ชั่วโมงมีจำนวน 5.37 ล้านคน หรือร้อยละ 13.8 (ชายร้อยละ 13.6 และหญิงร้อยละ 14.1) สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานในสัปดาห์สำรวจ (ระหว่าง 7 วันก่อนวันสัมภาษณ์) แต่เป็นผู้มีงานประจำซึ่งถือว่าในสัปดาห์สำรวจไม่มีชั่วโมงทำงาน (0 ชั่วโมง) มีจำนวน 6.9 แสนคน หรือร้อยละ 1.8 (ชายร้อยละ 1.9 และหญิงร้อยละ 1.7) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าผู้ที่ทำงานตั้งแต่ 35 ชั่วโมงขึ้นไป เพิ่มขึ้น 7.1 แสนคน ส่วนผู้ที่ทำงานตั้งแต่ 1 - 34 ชั่วโมง ลดลง 1.2 แสนคน และผู้ที่ไม่ได้ทำงานในสัปดาห์การสำรวจ (0 ชั่วโมง) ลดลง 3.0 หมื่นคน
2.3 ภาวะการว่างงานของประชากร
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 มีผู้ว่างงาน 2.70 แสนคน (ชาย 1.63 แสนคน และหญิง 1.07 แสนคน) คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.7 (ชายร้อยละ 0.8 และหญิงร้อยละ 0.6) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าจำนวนผู้ว่างงานลดลง 1.5 หมื่นคน เมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนผู้ว่างงานลดลงมากที่สุด 3.0 หมื่นคน รองลงมาคือภาคเหนือลดลง 1.3 หมื่นคน และภาคใต้ลดลง 2.0 พันคน ส่วนภาคกลาง และกรุงเทพมหานครมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.8 หมื่นคน และ 1.2 หมื่นคน ตามลำดับ
ถ้าพิจารณาอัตราการว่างงานในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 เป็นรายภาคพบว่า กรุงเทพมหานครมีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 0.9 รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 0.8 ภาคกลางร้อยละ 0.7 ภาคใต้ร้อยละ 0.6 และภาคเหนือร้อยละ 0.5
เมื่อเปรียบเทียบอัตราการว่างงานของแต่ละภาคกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่า อัตราการว่างงานทั่วประเทศไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่า กรุงเทพมหานครมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.6 เป็นร้อยละ 0.9 และภาคกลางเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.5 เป็นร้อยละ 0.7 ส่วนภาคเหนือลดลงจากร้อยละ 0.7 เป็นร้อยละ 0.5 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงจากร้อยละ 1.0 เป็นร้อยละ 0.8 สำหรับภาคใต้อัตราการว่างงานไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
เมื่อพิจารณาถึงลักษณะผู้ว่างงานตามประสบการณ์การทำงานพบว่า เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.01 แสนคน หรือร้อยละ 37.4 ของผู้ว่างงานทั้งหมด และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 1.69 แสนคน หรือร้อยละ 62.6 โดยเป็นผู้ว่างงานจากนอกภาคเกษตรกรรม 1.50 แสนคน ซึ่งประกอบด้วยภาคการผลิต 8.6 หมื่นคน และภาคการบริการและการค้า 6.4 หมื่นคน สำหรับผู้ว่างงานในภาคเกษตรกรรมมีจำนวน 1.9 หมื่นคน
เมื่อพิจารณาระดับการศึกษาที่สำเร็จของผู้ว่างงานจำนวน 2.70 แสนคน พบว่า ระดับการศึกษาที่มีผู้ว่างงานมากที่สุดคือ ระดับอุดมศึกษา 9.2 หมื่นคน รองลงมาคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 6.3 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 5.3 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4.2 หมื่นคน และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 2.0 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้ว่างงานระดับประถมศึกษาเพิ่มขึ้นมากที่สุด 1.1 หมื่นคนรองลงมาคือระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 5.0 พันคน ส่วนผู้ว่างงานระดับมัธยมศึกษาตอนต้นลดลง 1.6 หมื่นคนระดับอุดมศึกษาลดลง 1.1 หมื่นคน และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาลดลง 4.0 พันคน
จากการพิจารณาอัตราการว่างงานตามระดับการศึกษาที่สำเร็จพบว่า ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงที่สุดร้อยละ 1.3 รองลงมาคือระดับมัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 1.0 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายร้อยละ 0.7 ระดับประถมศึกษาร้อยละ 0.6 และผู้ว่างงานที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาร้อยละ 0.2 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า ระดับประถมศึกษามีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.4 เป็นร้อยละ 0.6 และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.6 เป็นร้อยละ 0.7 ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นลดลงจากร้อยละ 1.3 เป็นร้อยละ 1.0 ระดับอุดมศึกษาลดลงจากร้อยละ 1.6 เป็นร้อยละ 1.3 สำหรับผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาอัตราการว่างงานไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ