การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติดในพื้นที่เป้าหมาย(มีนาคม พ.ศ. 2556)

ข่าวทั่วไป Thursday May 23, 2013 11:28 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

บทสรุปสำหรับผู้บริหารการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติดในพื้นที่เป้าหมาย(มีนาคม พ.ศ. 2556)

ตามที่รัฐบาลได้ประกาศปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืนปี 2556 (1 ตุลาคม 2555 - 30 กันยายน 2556) โดยให้สังคมทุกภาคส่วนมีความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อยุติสถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติดให้ได้อย่างยั่งยืน ในการนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติดในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด โดยทำการสำรวจภายหลังการดำเนินงานดังกล่าวมาแล้ว 6 เดือน (ตุลาคม 2555 - มีนาคม 2556) โดยใช้วิธีการสำรวจด้วยตัวอย่าง โดยสุ่มชุมชน/หมู่บ้านในพื้นที่เป้าหมายจาก 64,418 ชุมชน/หมู่บ้านมาจำนวนหนึ่ง (Stratified Three - Stage Sampling) มีประชาชนที่ถูกเลือกเป็นตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 10,000 ราย และได้ส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติไปสัมภาษณ์สมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมายที่ตกเป็นตัวอย่างครัวเรือนละ 1 ราย ระหว่างวันที่ 1 - 12 มีนาคม 2556 โดยมีผู้ตอบสัมภาษณ์เป็นชายร้อยละ 48.9 เป็นหญิงร้อยละ 51.1 มีอายุ 18 - 29 ปีร้อยละ 18.3 อายุ 30 - 39 ปีร้อยละ 20.6 อายุ 40 - 49 ปีร้อยละ 26.6 อายุ 50 - 59 ปีร้อยละ 23.6 และอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 10.9 ระดับการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรีมีร้อยละ 89.4 ปริญญาตรีขึ้นไปร้อยละ 7.3 และผู้ไม่ได้รับการศึกษาร้อยละ 3.3 รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาทร้อยละ 46.8 รายได้ 10,001 - 30,000 บาทร้อยละ 46.9 และมากกว่า 30,000 บาทร้อยละ 6.3 ซึ่งสรุปผลการสำรวจได้ดังนี้

1. สถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติด

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมายฯ มากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 65.3) ระบุว่ามีปัญหายาเสพติด โดยในจำนวนนี้เห็นว่ามีปัญหารุนแรงที่สุด (ร้อยละ 1.4) รุนแรง (ร้อยละ 6.5) และค่อนข้างรุนแรง (ร้อยละ 12.3) ส่วนผู้ที่เห็นว่าไม่ค่อยรุนแรง และไม่รุนแรงมีร้อยละ 22.9 และ 22.2 ตามลำดับ

สำหรับปัญหายาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง - รุนแรงที่สุดพบในกรุงเทพมหานครมากกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 18.5) รองลงมาได้แก่ ภาค 8 (ร้อยละ 15.6) และภาค 9 (ร้อยละ 14.4) ส่วนภาคอื่นมีประมาณร้อยละ 3 - 10

เมื่อเปรียบเทียบการแพร่ระบาดยาเสพติดในปัจจุบัน (เดือนมีนาคม 2556) เทียบกับช่วงก่อนเดือนกันยายน 2555 พบว่า มีปัญหาลดลง (ร้อยละ 40.6) และเท่าเดิม (ร้อยละ 47.7) ส่วนผู้ที่เห็นว่าเพิ่มขึ้นมีร้อยละ 11.7 ซึ่งในจำนวนนี้เห็นว่าสาเหตุเกิดจากการเพิ่มขึ้นของผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ผู้ค้า/ผู้ลักลอบค้ายาเสพติด และการไม่ปราบปรามอย่างจริงจังมากกว่าเรื่องอื่น โดยจะเห็นได้ว่าภาค 8 และภาค 9 มีปัญหาเพิ่มขึ้นมากกว่าภาคอื่น คือ ร้อยละ 22.3 และ 21.6 ตามลำดับ ขณะที่ภาคอื่นมีประมาณร้อยละ 6 - 15 ส่วนภาค 5 มีปัญหาเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด (ร้อยละ 4.8)

สำหรับผู้ที่ระบุว่าชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมายฯ มีปัญหายาเสพติดได้ให้ความคิดเห็น ดังนี้

1) ปัญหาด้านผู้ค้า/ผู้ลักลอบค้ายาเสพติด

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมายฯ ร้อยละ 41.1 ระบุว่ามีปัญหาด้านผู้ค้า/ผู้ลักลอบค้ายาเสพติด ซึ่งในจำนวนนี้เห็นว่ามีปัญหารุนแรงที่สุด (ร้อยละ 0.9) รุนแรง (ร้อยละ 4.7) และค่อนข้างรุนแรงร้อยละ 9.5 ส่วนผู้ที่เห็นว่าไม่ค่อยรุนแรง และไม่รุนแรงมีร้อยละ 14.3 และ 11.7 ตามลำดับ

สำหรับปัญหาด้านผู้ค้า/ผู้ลักลอบค้ายาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง - รุนแรงที่สุด พบในกรุงเทพมหานครมากกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 16.5) รองลงมาได้แก่ ภาค 8 (ร้อยละ 11.8) และภาค 9 (ร้อยละ 10.0) ส่วนภาคอื่นมีประมาณร้อยละ 1 - 7

เมื่อเปรียบเทียบปัญหาด้านผู้ค้า/ผู้ลักลอบค้ายาเสพติดในปัจจุบัน (เดือนมีนาคม 2556) เทียบกับช่วงก่อนเดือนกันยายน 2555 พบว่า มีปัญหาลดลง ร้อยละ 30.8) และเท่าเดิม (ร้อยละ 53.2) ส่วนผู้ที่เห็นว่าเพิ่มขึ้นมีร้อยละ 16.0

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ค้า/ผู้ลักลอบค้ายาเสพติดได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมายฯ ในเรื่องการลักขโมย ปล้น จี้ มากที่สุด (ร้อยละ 64.1) รองลงมาได้แก่ สุขภาพจิตเสียจากความหวาดกลัว (ร้อยละ 29.7) ผู้มีอิทธิพล (ร้อยละ 28.0) และการทำร้ายร่างกาย (ร้อยละ 16.1) เป็นต้น

2) ปัญหาด้านผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมายฯ ร้อยละ 61.2 ระบุว่ามีปัญหาด้านผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ซึ่งในจำนวนนี้เห็นว่ามีปัญหารุนแรงที่สุด (ร้อยละ 1.5) รุนแรง (ร้อยละ 5.6) และค่อนข้างรุนแรง (ร้อยละ 11.7) ส่วนผู้ที่เห็นว่าไม่ค่อยรุนแรง และไม่รุนแรงมีร้อยละ 20.0 และ 22.4 ตามลำดับ

สำหรับปัญหาด้านผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง - รุนแรงที่สุดพบในภาค 8 มากกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 17.2) รองลงมาได้แก่ กรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 16.1) ภาค 9 (ร้อยละ14.3) และภาค 6 (ร้อยละ 9.6) ส่วนภาคอื่นมีประมาณร้อยละ 2 - 8

เมื่อเปรียบเทียบปัญหาด้านผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดในปัจจุบัน (เดือนมีนาคม 2556) เทียบกับช่วงก่อนเดือนกันยายน 2555 พบว่า มีปัญหาลดลง (ร้อยละ 41.4) และเท่าเดิม (ร้อยละ 42.5) ส่วนผู้ที่เห็นว่าเพิ่มขึ้นมีร้อยละ 16.1

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมายฯ ในเรื่องการลักขโมยปล้น จี้ มากที่สุด (ร้อยละ 74.5) รองลงมาได้แก่ แก็งค์มอเตอร์ไซค์ซิ่ง (ร้อยละ 33.3) คนเมายาอาละวาด (ร้อยละ 16.6) และการทำร้ายร่างกาย (ร้อยละ 14.7) เป็นต้น

2. การแพร่ระบาดยาเสพติดในโรงเรียน/สถานศึกษา

ประชาชนร้อยละ 58.1 ระบุว่าในชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมายฯ มีโรงเรียน/สถานศึกษา ซึ่งในจำนวนนี้เห็นว่ามีปัญหาการแพร่ระบาดรุนแรงที่สุด (ร้อยละ 0.3) รุนแรง (ร้อยละ 1.3) และค่อนข้างรุนแรง (ร้อยละ 2.5) ขณะที่เห็นว่าไม่ค่อยรุนแรง และไม่รุนแรงมีร้อยละ 5.2 และ 9.1 ตามลำดับ ส่วนร้อยละ 39.7 เห็นว่าไม่มีปัญหา

สำหรับการแพร่ระบาดยาเสพติดในโรงเรียน/สถานศึกษาที่มีปัญหารุนแรง - รุนแรงที่สุดพบในภาค 9 มากกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 5.3) รองลงมาได้แก่ ภาค 8 (ร้อยละ 4.6) และกรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 4.1) ขณะที่ภาคอื่นมีไม่เกินร้อยละ 2

นอกจากนี้ ยังพบว่าพื้นที่รอบๆ โรงเรียน/สถานศึกษามีปัญหาการแพร่ระบาดรุนแรง - รุนแรงที่สุด (ร้อยละ 1.9) และค่อนข้างรุนแรง (ร้อยละ 3.7) ส่วนที่เห็นว่าไม่ค่อยรุนแรง - ไม่รุนแรงมีร้อยละ 19.4 ขณะที่มีร้อยละ 33.1 เห็นว่าไม่มีปัญหา

3. การหาซื้อยาเสพติด

สำหรับการหาซื้อยาเสพติด พบว่า ประชาชนประมาณ 1 ใน 5 ระบุว่าหาซื้อได้ง่าย (ร้อยละ 18.0) ส่วนที่หาซื้อไม่ได้ และหาซื้อยาก มีร้อยละ 27.4 และร้อยละ 10.4 ตามลำดับ ขณะที่มีร้อยละ 44.2 ที่ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ โดยการหาซื้อยาเสพติดได้ง่ายพบในกรุงเทพมหานคร และภาค 9 มากกว่าภาคอื่น คือ ประมาณร้อยละ 33.0 รองลงมาได้แก่ ภาค 8 (ร้อยละ 25.2) ภาค 1 (ร้อยละ 25.1) ภาค 7 (ร้อยละ 24.1) และภาค 6 (ร้อยละ 18.5) ส่วนภาคอื่นมีประมาณร้อยละ 9 - 14

4. การมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมายฯ ร้อยละ 12.1 ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปสนับสนุน/กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และร้อยละ 52.0 ระบุว่าไม่มีแต่ก็มีร้อยละ 35.9 ที่ยังไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ

สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปสนับสนุน/กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในระดับมาก - มากที่สุดพบในกรุงเทพมหานครมากกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 6.5) รองลงมาได้แก่ ภาค 9 (ร้อยละ 4.9) และภาค 8 (ร้อยละ 4.6) ขณะที่ภาคอื่นมีไม่เกินร้อยละ 3

5. ความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานของรัฐบาล

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมายฯ สูงถึงร้อยละ 99.1 ระบุว่ามีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานของรัฐบาล ซึ่งในจำนวนนี้มีความพึงพอใจมากที่สุด (ร้อยละ 14.7) มาก (ร้อยละ 22.7) และค่อนข้างมาก (ร้อยละ 53.5) ขณะที่มีผู้พึงพอใจค่อนข้างน้อย และน้อยร้อยละ 6.9 และ 1.3 ตามลำดับ โดยมีคะแนนเฉลี่ยของความพึงพอใจฯ อยู่ที่ 6.76 คะแนนจาก 10 คะแนน

สำหรับภาค 5 มีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานของรัฐบาลฯ ในระดับมาก - มากที่สุดสูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 52.3) รองลงมาได้แก่ ภาค 3 (ร้อยละ 45.8) และภาค 4 (ร้อยละ 43.3) ขณะที่ภาคอื่นมีประมาณร้อยละ 26 - 38

เมื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายาเสพติดเดือนมีนาคม 2556 เทียบกับเดือนกันยายน 2555 พบว่า มีลดลง(ร้อยละ 11.6) และเท่าเดิม (ร้อยละ 54.4) ส่วนผู้ที่พอใจเพิ่มขึ้นมีร้อยละ 29.1 แต่ก็มีร้อยละ 4.9 ที่ไม่พึงพอใจ

เมื่อพิจารณาการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ พบว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมายฯ มีความพึงพอใจ ดังนี้

1) การดำเนินการต่อผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมายฯ ร้อยละ 98.9 ระบุว่ามีความพึงพอใจในการดำเนินการต่อผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ซึ่งในจำนวนนี้มีความพึงพอใจมากที่สุด (ร้อยละ 10.9) มาก (ร้อยละ 18.1) และค่อนข้างมาก (ร้อยละ 57.3) ขณะที่มีผู้พึงพอใจค่อนข้างน้อย และน้อยร้อยละ 10.0 และ 2.6 ตามลำดับ โดยมีคะแนนเฉลี่ยของความพึงพอใจฯ อยู่ที่ 6.35 คะแนนจาก 10 คะแนน

สำหรับภาค 5 มีความพึงพอใจต่อผลในการดำเนินการต่อผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดในระดับมาก - มากที่สุดสูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 42.7) รองลงมาได้แก่ ภาค 3 (ร้อยละ 38.0) และภาค 4 (ร้อยละ 31.7) ขณะที่ภาคอื่นมีประมาณร้อยละ 20 - 28

2) การดำเนินการปราบปรามยาเสพติด/บังคับใช้กฏหมาย

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมายฯ ร้อยละ 99.0 ระบุว่ามีความพึงพอใจในการดำเนินการปราบปรามยาเสพติด/บังคับใช้กฏหมาย ซึ่งในจำนวนนี้มีความพึงพอใจมาก - มากที่สุด (ร้อยละ 31.5) และค่อนข้างมาก (ร้อยละ 54.6) ขณะที่มีผู้พึงพอใจค่อนข้างน้อย และน้อยร้อยละ 10.1 และ 2.8 ตามลำดับ โดยมีคะแนนเฉลี่ยของความพึงพอใจฯ อยู่ที่ 6.41 คะแนนจาก 10 คะแนน

สำหรับภาค 5 มีความพึงพอใจในการดำเนินการการปราบปรามยาเสพติด/บังคับใช้กฎหมายอยู่ในระดับมาก - มากที่สุดสูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 42.1) รองลงมาได้แก่ ภาค 3 (ร้อยละ 40.1) ภาค 4 (ร้อยละ 36.7) และภาค 6 (ร้อยละ 30.3) ขณะที่ภาคอื่นมีประมาณร้อยละ 21 - 29

3) การดำเนินการต่อกลุ่มผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมายฯ ร้อยละ 98.9 ระบุว่ามีความพึงพอใจในการดำเนินการต่อกลุ่มผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งในจำนวนนี้มีความพึงพอใจมาก - มากที่สุด (ร้อยละ 28.1) และค่อนข้างมาก (ร้อยละ 58.4) ขณะที่มีผู้พึงพอใจค่อนข้างน้อย และน้อยร้อยละ 10.2 และ 2.2 โดยมีคะแนนเฉลี่ยของความพึงพอใจฯ อยู่ที่ 6.31 คะแนนจาก 10 คะแนน

สำหรับภาค 5 มีความพึงพอใจในการดำเนินการต่อกลุ่ม ผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในระดับมาก - มากที่สุดสูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 38.7) รองลงมาได้แก่ ภาค 3 (ร้อยละ 36.5) ภาค 4 (ร้อยละ 31.4) ภาค 6 (ร้อยละ 29.4) และภาค 2 (ร้อยละ 25.4) ขณะที่ภาคอื่นมีประมาณร้อยละ 19 - 24

4) การดำเนินการเพื่อสร้างมาตรการความปลอดภัยให้กับครอบครัว/ชุมชน

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมายฯ ร้อยละ 99.0 ระบุว่ามีความพึงพอใจในการดำเนินการเพื่อสร้างมาตรการความปลอดภัยให้กับครอบครัว/ชุมชน ซึ่งในจำนวนนี้มีความพึงพอใจมาก - มากที่สุด (ร้อยละ 31.8) และค่อนข้างมาก (ร้อยละ 56.4) ขณะที่มีผู้พึงพอใจค่อนข้างน้อย และน้อยร้อยละ 8.7 และ 2.1 โดยมีคะแนนเฉลี่ยของความพึงพอใจฯ อยู่ที่ 6.48 คะแนนจาก 10 คะแนน

สำหรับภาค 5 มีความพึงพอใจในการดำเนินการเพื่อสร้างมาตรการความปลอดภัยให้กับครอบครัว/ชุมชนในระดับมาก - มากที่สุดสูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 44.9) รองลงมาได้แก่ ภาค 3 (ร้อยละ 37.7) ภาค 6 (ร้อยละ 36.1) และภาค 4 (ร้อยละ 34.8) และขณะที่ภาคอื่นมีประมาณร้อยละ 21 - 30

6. แนวทางการป้องกัน/แก้ไขปัญหายาเสพติดและปัญหาอาชญากรรม

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมายฯ ร้อยละ 84.2 ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการป้องกัน/แก้ไขปัญหายาเสพติดและปัญหาอาชญากรรม ดังนี้ การปราบปรามอย่างจริงจังและต่อเนื่อง (ร้อยละ 61.4) การใช้กฎหมายลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างเด็ดขาด (ร้อยละ 47.9) การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด (ร้อยละ 18.0) การจัดตั้งเวรยาม (ร้อยละ 10.7) และการจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างจิตสำนึก (ร้อยละ 10.2) เป็นต้น

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ


แท็ก ยาเสพติด  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ