สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2555 โดยส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติออกไปสัมภาษณ์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของสถานประกอบการ/ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทุกแห่ง (ยกเว้น ธุรกิจประเภทบริษัทหลักทรัพย์ และจัดการกองทุนรวม) ที่มีที่ตั้งแน่นอนหรือมีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แต่เนื่องจากสถานประกอบการและผู้ประกอบการบางรายไม่ให้ข้อมูล จึงต้องมีการประมาณค่าทางสถิติ เพื่อให้ข้อมูลที่นำเสนอเป็นค่าประมาณสำหรับประชากรที่อยู่ในขอบข่ายของการสำรวจ
ผลจากการสำรวจ สรุปได้ดังนี้
ธุรกิจ e-Commerce ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการประเภท B2C ร้อยละ 75.2 รองลงมาเป็นผู้ประกอบการประเภท B2B ร้อยละ 23.4 ส่วนผู้ประกอบการประเภท B2G ที่ไม่นับรวมการรับงานจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐโดยการ e-Auction นั้นจะมีเพียงร้อยละ 1.4 เท่านั้น
ในภาพรวมของธุรกิจ e-Commerce ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม และรีสอร์ท (ร้อยละ 32.8) รองลงมาเป็นกลุ่มคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 14.5) กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับ (ร้อยละ 12.6) กลุ่มธุรกิจบริการ (ร้อยละ 7.0) กลุ่มยานยนต์และผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ 5.5) กลุ่มสิ่งพิมพ์/เครื่องใช้สำนักงาน (ร้อยละ 4.8) ส่วนกลุ่มสินค้าประเภทอื่น ๆ (ร้อยละ 22.8)
หากจำแนกธุรกิจตามขนาด โดยใช้จำนวนคนทำงานเต็มเวลาเป็นเกณฑ์ พบว่า ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (มีคนทำงาน 1-5 คน) ร้อยละ 57.9 ธุรกิจขนาดกลาง (6-50 คน)ร้อยละ 36.2 ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ (มีคนทำงานมากกว่า 50 คน) มีเพียงร้อยละ 5.9 เท่านั้น
ประมาณร้อยละ 77.1 ของธุรกิจ e-Commerce ทั้งหมด ขายสินค้าและบริการผ่านอิเล็กทรอนิกส์และมีหน้าร้าน ส่วนที่ขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียว มีอยู่ร้อยละ 21.5 และอีกร้อยละ 1.4 ขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์ผสมผสานกับการขายในลักษณะอื่น เช่น ส่งพนักงานออกไปขายตรง หรือฝากขาย เป็นต้น
ในรอบปีที่ผ่านมา (ปี 2554) ธุรกิจ e-Commerce มียอดขายผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งสิ้นประมาณ 783,998 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นยอดขายของผู้ประกอบการ B2B ประมาณ 291,209 ล้านบาท (ร้อยละ 37.2) ผู้ประกอบการ B2C ประมาณ 99,706 ล้านบาท (ร้อยละ 12.7) และผู้ประกอบการ B2G ประมาณ 393,083 ล้านบาท (ร้อยละ 50.1) โดยในส่วนของผู้ประกอบการ B2G ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ มูลค่าที่ได้จากการสำรวจซึ่งเป็นมูลค่าที่เกิดจากผู้ประกอบการทำธุรกิจ e-Commerce กับหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ผ่าน e-Auction ประมาณ 5,034 ล้านบาท (ร้อยละ 0.6) และมูลค่าที่เกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการประมูลงานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของภาครัฐ (e-Auction) ที่ได้จากกรมบัญชีกลางจำนวน 388,049 ล้านบาท (ร้อยละ 49.5)
ส่วนตลาดของธุรกิจ e-Commerce (ที่ไม่รวม e-Auction ของภาครัฐ) จะเป็นตลาดในประเทศประมาณร้อยละ 82.6 ของมูลค่าขายทั้งหมด ส่วนที่ขายไปยังตลาดต่างประเทศประมาณร้อยละ 17.4 (ตาราง 1)
ตาราง 1 มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในรอบปีที่ผ่านมา (ปี 2554) จำแนกตามประเภทผู้ประกอบการ
การขาย มูลค่า (ล้านบาท) ร้อยละ มูลค่าขายรวม 783,998 100.0 B2B 291,209 37.2 B2C 99,706 12.7 B2G 1/ 393,083 50.1 จากการสำรวจ 5,034 0.6 จาก e-Auction (กรมบัญชีกลาง) 388,049 49.5 ตลาดที่ขาย 2/ 395,949 100.0 ในประเทศ 327,199 82.6 ต่างประเทศ 68.750 17.4 หมายเหตุ :
1/ B2G เป็นมูลค่าที่ได้จากการสำรวจข้อมูลจากสถานประกอบการที่ทำธุรกิจ e-Commerce กับภาครัฐ ที่ไม่ผ่าน e-Auction รวมกับ มูลค่าที่เกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ (e-Auction)ที่ได้จากกรมบัญชีกลาง
2/ ไม่รวมมูลค่าที่เกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ (e-Auction)ที่ได้จากกรมบัญชีกลาง
สำหรับวิธีที่ใช้ในการดูแลลูกค้าของธุรกิจ e-Commerce พบว่า ส่วนใหญ่ ใช้เจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์ (Call Center) คิดเป็นร้อยละ 82.2 รองลงมาใช้อีเมล์หรือการส่งคำถามผ่านหน้าเว็บไซต์ คิดเป็นร้อยละ 68.0 ใช้ Social media เช่น facebook, twitter ร้อยละ 17.7 ใช้ระบบสนทนาลูกค้าแบบ Live Chat เช่น MSN, Skype, Gtalk ฯลฯ ร้อยละ 10.8