สำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทำการสำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของ ชาวไทย ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2552 และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 โดย มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของชาวไทยในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องการเดินทางท่องเที่ยว ลักษณะการเดินทาง วัตถุประสงค์ในการเดินทาง กิจกรรมที่ทำระหว่างการเดินทาง การจัดการเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมทั้ง ความคิดเห็นเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยเก็บรวบรวมข้อมูล ในเดือนมกราคม - มีนาคม 2556 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ตกเป็นตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวน 63,060 ราย
ผลจากการสำรวจ สรุปได้ดังนี้
1. การเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัด
1.1 การเดินทาง และลักษณะการเดินทาง
ผลการสำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของ ประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศเกี่ยวกับการเดินทาง จากถิ่นที่อยู่อาศัยประจำในจังหวัดหนึ่งไปยังสถานที่ที่อยู่ ในอีกจังหวัดหนึ่งเป็นการชั่วคราว โดยมีจุดประสงค์เพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อน เยี่ยมครอบครัว/ญาติมิตร ประชุมหรือสัมมนา เล่นหรือ ดูกีฬา ประกอบพิธีทางศาสนา รวมทั้งการเดินทางเพื่อไป รับการรักษาตัว หรือประกอบภารกิจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เพื่อทำงานประจำหรือเพื่อการศึกษา และต้องไม่ใช่การเดินทางที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อซื้อสินค้ามาจำหน่าย ซึ่งถือว่าเป็นการเดินทางท่องเที่ยว พบว่า ในรอบปีที่ผ่านมา (ในรอบปี 2555) มีจำนวนร้อยละของประชาชน ที่เดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 57.8 โดยในรอบปี 2551 - 2554 มีร้อยละ 50.6 48.8 50.1 และ 54.8 ตามลำดับ
สำหรับกลุ่มผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวในรอบปี 2555 พบว่า มีลักษณะการเดินทางแบบไม่พักค้างคืนซึ่งถือว่าเป็นนักทัศนาจรประมาณร้อยละ 35.6 ส่วนผู้ที่เดินทางมีลักษณะการพักค้างคืนอย่างน้อย 1 คืนซึ่งถือว่าเป็นนักท่องเที่ยวมีประมาณร้อยละ 64.4 (รวมผู้ที่เดินทางแบบพักค้างคืน และผู้ที่เดินทางทั้ง 2 ลักษณะ)
สำหรับผู้ที่ไม่ได้เดินทางท่องเที่ยวในรอบปี 2555 ได้ให้เหตุผลที่ไม่เดินทาง 5 ลำดับแรก ได้แก่ ไม่มีเวลาว่าง ไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอสำหรับการเดินทาง ไม่ชอบเดินทาง ไม่มั่นใจความปลอดภัยของการเดินทาง และมีปัญหาเรื่องสุขภาพ
เมื่อพิจารณาภาคที่ประชาชนเดินทางไปท่องเที่ยว ในภาพรวมพบว่า ประชาชนประมาณ 1 ใน 3 (ร้อยละ 32.9) เดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาภาคกลาง ร้อยละ 29.2 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ร้อยละ 17.7
1.2 วัตถุประสงค์หลักในการเดินทางท่องเที่ยว
วัตถุประสงค์หลักในการเดินทางท่องเที่ยวในภาพรวม 5 เรื่องแรก ได้แก่ 1) เยี่ยมญาติ/เพื่อน ร้อยละ 38.1 2) ไหว้พระ/ ปฏิบัติธรรม ร้อยละ 29.5 3) ซื้อของ/ช้อปปิ้ง ร้อยละ 27.9 4) ต้องการพักผ่อน/เปลี่ยนบรรยากาศ ร้อยละ 27.7 4) เยี่ยมครอบครัว ร้อยละ 22.2
1.3 กิจกรรมที่ทำระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว
สำหรับกิจกรรมที่ทำระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว 5 เรื่องแรก ได้แก่ 1) ท่องเที่ยวทั่วไป ร้อยละ 66.0 2) กิจกรรมเชิงศาสนา ร้อยละ 51.1 3) พักผ่อนในที่พักหรือบ้านญาติ/ไม่ทำกิจกรรม ร้อยละ 33.2 4) กิจกรรมเชิงวัฒนธรรม ร้อยละ 19.2 5) กิจกรรมเชิงเกษตรกรรม ร้อยละ 6.0
2. การจัดการเดินทาง
2.1 ผู้ร่วมเดินทาง ผู้ตัดสินใจเลือกการเดินทาง และลักษณะการจัดการเดินทาง
ผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวในภาพรวมกว่าครึ่งหนึ่งร้อยละ 61.9 จะเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัว/ญาติ รองลงมาเดินทางกับเพื่อน/เพื่อนร่วมงาน ร้อยละ 21.8 สำหรับการตัดสินใจเลือกการเดินทาง ผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวส่วนใหญ่ร้อยละ 64.1 ระบุว่า ตัดสินใจเอง รองลงมา เพื่อน/เพื่อนร่วมงาน/เพื่อนบ้าน ร้อยละ 8.3
สำหรับลักษณะการจัดการเดินทาง ส่วนใหญ่ร้อยละ 87.4 จัดการเดินทางเองทั้งหมด รองลงมามีหน่วยงาน/คณะจัดการให้ ร้อยละ 11.4 ส่วนวัน/เวลาที่เดินทางท่องเที่ยว ส่วนใหญ่จะเดินทางวันเสาร์-อาทิตย์ ร้อยละ 39.2 รองลงมาวันธรรมดา ร้อยละ 30.8
2.2 การหาข้อมูลข่าวสารสำหรับการเดินทาง
ในภาพรวมประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ ยังไม่หาข้อมูลข่าวสารสำหรับการเดินทางในทุกแหล่งข้อมูล อย่างไรก็ตามยังมีประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยวกว่า 1 ใน 3 ร้อยละ 41.7 ที่หาข้อมูลข่าวสารสำหรับการเดินทางจากเพื่อน ญาติ ครอบครัว
2.3 พาหนะที่ใช้ในการเดินทาง
ผู้เดินทางท่องเที่ยวส่วนใหญ่ร้อยละ 60.0 นิยม ที่จะเดินทางด้วยพาหนะส่วนตัว/รถยนต์ รองลงมาเดินทางด้วยรถทัวร์/รถโดยสารประจำทาง ร้อยละ 22.5 รถเช่า เช่น รถตู้ รถยนต์ รถทัวร์/รถบัส ร้อยละ 15.3 รถไฟ ร้อยละ 1.2 มีเพียง ส่วนน้อย ร้อยละ 0.9 ที่เดินทางด้วยเครื่องบิน
2.4 สถานที่พักแรม
กลุ่มผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวแบบพักค้างคืนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.2 นิยมที่จะพักแรมที่บ้าน/ที่พักของครอบครัว/ญาติ/เพื่อนเพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ร้อยละ 18.1 นิยมความสะดวกสบายเข้าพักแรมที่โรงแรม ร้อยละ 10.2 พักตามรีสอร์ท ร้อยละ 3.0 พักที่วัด/สถานที่ปฏิบัติธรรม ร้อยละ 2.2 พักที่บังกะโล ร้อยละ 0.9 พักที่ที่พักอุทยานแห่งชาติและบ้านพักรับรองของ ทางราชการ/เอกชน และมีส่วนน้อยที่เลือกพักที่เกสต์เฮาส์ โฮมสเตย์ และโรงพยาบาล ส่วนค่าเฉลี่ยของจำนวนวันที่เดินทางท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.9 วัน
3. ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
สำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวครั้ง/ทริปล่าสุด ต่อคนของกลุ่มผู้ที่เดินทางท่องเที่ยว พบว่า ในภาพรวมอยู่ที่ประมาณ 2,722 บาทต่อคน หากเป็นการเดินทางแบบไม่พักค้างคืนอยู่ที่ 1,465 บาทต่อคน แบบพักค้างคืน 3,861 บาทต่อคน หากพิจารณาตามภาคที่อยู่อาศัย พบว่า ในภาพรวมคนภาคใต้ ใช้เงินในการเดินทางท่องเที่ยวเฉลี่ยต่อคนสูงสุด คือ 3,631 บาทต่อคน รองลงมา กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 3,501 บาทต่อคน ภาคตะวันออก 3,403 บาทต่อคน ภาคเหนือตอนบน 2,643 บาทต่อคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,356 บาทต่อคน ภาคกลาง 2,073 บาทต่อคน และต่ำสุดในภาคเหนือตอนล่างอยู่ที่ประมาณ 1,918 บาทต่อคน
เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อทราบว่า ในการเดินทางใช้จ่ายไปในหมวดใดมากที่สุด พบว่า ในภาพรวม ผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวใช้เป็นค่าพาหนะเดินทางมากที่สุด ร้อยละ 35.3 รองลงมาใช้เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 30.0
4. การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ
สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของประชาชน ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปในรอบปี 2555 มีเพียงร้อยละ 3.7 โดยเป็น การเดินทางในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน มากที่สุด ร้อยละ 31.5 รองลงมาเดือนตุลาคม - ธันวาคม ร้อยละ 30.8 เดือนมกราคม - มีนาคม ร้อยละ 21.1 เดือนกรกฎาคม-กันยายน ร้อยละ 16.6 ส่วนจำนวนครั้งที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศต่อปี ในภาพรวมโดยเฉลี่ยเดินทาง 1.6 ครั้งต่อปี
5. ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยว
5.1 การวางแผนล่วงหน้า และการจัดสรรเงินสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว
คนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 64.9 ไม่มีการวางแผนล่วงหน้าก่อนการเดินทาง มีเพียงร้อยละ 35.1 ที่มีการวางแผน ส่วนการจัดสรรวงเงินสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.9 ไม่มีการจัดสรรเงินไว้เช่นเดียวกัน มีเพียง ร้อยละ 19.1 ที่มีการจัดสรรเงินไว้สำหรับการเดินทาง
5.2 การรับรู้/ทราบสโลแกน "เที่ยวหัวใจใหม่ เมืองไทยยั่งยืน"
คนไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.0 ไม่เคยรับรู้/ไม่ทราบสโลแกน "เที่ยวหัวใจใหม่ เมืองไทยยั่งยืน" และเคยรับรู้/ทราบสโลแกน ร้อยละ 41.0 โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 95.9 รับรู้/ทราบจากโทรทัศน์ รองลงมา วิทยุ ร้อยละ 15.6
ความรู้สึกเมื่อได้เห็น/ได้ยินสโลแกนนี้โดยสอบถาม ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยรับรู้/ทราบสโลแกนนี้มาก่อนว่ารู้สึกอย่างไร กับสโลแกนนี้ พบว่า ในภาพรวมประชาชนประมาณร้อยละ 54.6 รู้สึกเฉย ๆ เมื่อได้ยินสโลแกนนี้ ร้อยละ 45.2 รู้สึกอยากเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น และอื่น ๆ ร้อยละ 0.2
5.3 ประโยชน์ที่ได้รับจากการเดินทางท่องเที่ยว
คนไทยมากกว่าร้อยละ 47 ได้รับประโยชน์มาก จากการเดินทางท่องเที่ยวในทุกประเด็น โดย 3 ประเด็นแรก ได้แก่ 1) ได้รับประสบการณ์และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยมากขึ้น ร้อยละ 52.8 2) ทำให้เกิดความเข้าใจ สนิทสนมมากขึ้นภายในหมู่ญาติ ร้อยละ 52.6 และ 3) ทำให้ชีวิตท่านมีความสุขมากขึ้น ร้อยละ 51.0