สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจการย้ายถิ่นของประชากรเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2555 เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างตุลาคม - ธันวาคม จากครัวเรือนตัวอย่างทั้งสิ้น 83,880 ครัวเรือน เพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้านประชากรและสังคมของผู้ย้ายถิ่น สำหรับนำไปใช้ในการติดตามสถานการณ์การย้ายถิ่นของประชากร ซึ่งผลการสำรวจที่สำคัญสรุปได้ดังนี้
ผู้ย้ายถิ่น (1/) มีทั้งสิ้น 1.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.1 ของประชากรทั้งประเทศ โดยจำนวน ผู้ย้ายถิ่นกระจายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มากที่สุดคือ 6.8 แสนคน (ร้อยละ 46.3) และ อยู่ในกรุงเทพมหานครน้อยที่สุดคือ 7.2 หมื่นคน (ร้อยละ 4.9)
เมื่อเปรียบเทียบอัตราการย้ายถิ่นในระหว่าง พ.ศ. 2550 - 2552 และ พ.ศ. 2554 - 2555 พบว่า อัตราการย้ายถิ่นมีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2554 - 2555 อัตราการย้ายถิ่นลดลงเป็นร้อยละ 1.8 (2/) และ 2.1 (2/)ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างภาค พบว่าในปี 2554 H 2555 ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีอัตราการย้ายถิ่นเพิ่มขึ้น แต่ภาคเหนือ และกรุงเทพมหานครมีอัตราการย้ายถิ่นลดลง
เพศชายมีอัตราการย้ายถิ่นสูงกว่าเพศหญิง โดยมีแนวโน้มลดลง คือ ชายลดลงจากร้อยละ 3.5 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 2.3 ในปี 2555 และเพศหญิงลดลงจากร้อยละ 2.9 เป็นร้อยละ 2.0 ตามลำดับ
ในปี 2555 วัยที่มีการย้ายถิ่นสูงสุดคือ วัยผู้ใหญ่ (25-59 ปี) ซึ่งมีร้อยละ 52.6 ของผู้ย้ายถิ่นทั้งสิ้น รองลงมาคือ วัยเยาวชน วัยเด็ก และต่ำสุด ในวัยสูงอายุ (ร้อยละ 2.1) และเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจในปี 2554 พบว่า การย้ายถิ่นของวัยผู้ใหญ่ มีสัดส่วนลดลง ส่วนวัยเด็ก วัยเยาวชน และวัยสูงอายุ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น และพบว่า วัยสูงอายุยังคงมีร้อยละของผู้ย้ายถิ่นต่ำที่สุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา
ผู้ย้ายถิ่นร้อยละ 40.7 เป็นผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่อยู่ปัจจุบัน โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสัดส่วนสูงสุด รองลงมาคือ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานครมีสัดส่วนต่ำสุด
ในจำนวนผู้ย้ายถิ่นที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งที่ผ่านมา พบว่า ผู้ย้ายถิ่นที่ไม่มีการศึกษา และผู้ย้ายถิ่นที่สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และอุดมศึกษา มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ส่วนผู้สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนปลาย มีสัดส่วนลดลง
ผู้ย้ายถิ่นอายุ 15 ปีขึ้นไป ประมาณร้อยละ 59.4 เป็นผู้ที่สมรส ประมาณ 1 ใน 3 เป็นผู้ที่โสด ส่วนที่เหลือร้อยละ 7.9 เป็นผู้ที่มีสถานภาพสมรสอื่นๆ ได้แก่ ม่าย หย่า และแยกกันอยู่
เมื่อพิจารณาการย้ายถิ่นตามประเภท การย้ายถิ่น พบว่า ผู้ย้ายถิ่นภายในภาคเดียวกัน มีจำนวนมากกว่าผู้ย้ายถิ่นระหว่างภาคเล็กน้อย (ร้อยละ 49.6 และร้อยละ 47.4 ตามลำดับ) และ ในปี 2550 เป็นต้นมา การย้ายถิ่นภายในจังหวัด มีมากกว่าการย้ายถิ่นระหว่างจังหวัด สำหรับการย้ายถิ่นมาจากต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 1.7 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 3.0 ในปี 2555
เมื่อพิจารณาถิ่นที่อยู่ก่อนย้าย พบว่าผู้ย้ายถิ่นที่ปัจจุบันอยู่ในกรุงเทพมหานคร และภาคกลาง ส่วนใหญ่ย้ายมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนผู้ที่อยู่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่ย้ายมาจากภาคกลาง สำหรับผู้ย้ายถิ่นที่ มาอยู่ภาคใต้ ย้ายมาจากกรุงเทพมหานครมากที่สุด (ร้อยละ 46.9) โดยกระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคใต้ และพบว่า ย้ายมาอยู่จังหวัดนครศรีธรรมราชมากที่สุด
ผู้ย้ายถิ่นประมาณครึ่งหนึ่งย้ายด้วยเหตุผลด้านครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่ย้ายถิ่นด้วยเหตุผลติดตามครอบครัวสูงเป็นอันดับ 1 และย้ายถิ่น ด้วยเหตุผลกลับภูมิลำเนาสูงเป็นอันดับ 2 ตามลำดับ (ร้อยละ 25.6 และ 24.2) สำหรับเหตุผลด้านการงาน ส่วนใหญ่ย้ายเนื่องจากต้องการหางานมากกว่าย้ายเพราะหน้าที่การงาน และต้องการรายได้เพิ่มขึ้น มากกว่าการเปลี่ยนงานมากที่สุด (ร้อยละ 11.8) รองลงมาคือ หน้าที่การงาน (ร้อยละ 9.1) และ น้อยที่สุดคือ ต้องการเปลี่ยนงาน (ร้อยละ 2.5)
(1/) : ผู้ย้ายถิ่น หมายถึง ผู้ที่ย้ายสถานที่อยู่อาศัยจากเขตเทศบาลอื่นหรืออบต.อื่น หรือจากประเทศอื่น ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยครั้งสุดท้ายมายังเขต
เทศบาลหรืออบต. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ปัจจุบัน ในระหว่าง 1 ตุลาคม 2554 ถึง 30 กันยายน 2555
(2/) : อัตราการย้ายถิ่นลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการเปลี่ยนนิยามของการย้ายถิ่น เนื่องจากการยกฐานะนอกเขตเทศบาลขึ้นเป็นอบต. ซึ่งใน 1
อบต อาจประกอบด้วย 1 หมู่บ้าน หรือมากกว่า 1 หมู่บ้าน โดยในปี 2554 H 2555 การย้ายถิ่นคือการย้ายมาจากสถานที่อยู่อาศัยซึ่งอยู่ใน
เขตเทศบาล/อบต.อื่น หรือจากประเทศอื่น มายังที่อยู่ปัจจุบัน แต่การสำรวจก่อนปี 2554 การย้ายถิ่นคือ การย้ายมาจากสถานที่อยู่อาศัยซึ่ง
อยู่หมู่บ้านอื่น/เขตเทศบาลอื่นหรือ จากประเทศอื่นมายังที่อยู่ปัจจุบัน ทำให้ผลสำรวจในปี 2554 - 2555 ได้จำนวนผู้ย้ายถิ่นที่ลดลง