การสำรวจความพิการ พ.ศ. 2555 เป็นการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับประชากรที่พิการที่มีลักษณะดังต่อไปนี้อย่างน้อย 1 ลักษณะ ได้แก่ 1) ความลำบากหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นต่อเนื่องมาตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดในการทำกิจกรรม 2) ความลำบากในการดูแลตนเองหรือทำกิจวัตรส่วนตัว ทั้งสองลักษณะนี้สอบถามจากผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป 3) ลักษณะความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา ซึ่งลักษณะที่ 3 จะสอบถามจากประชากรทุกกลุ่มอายุตั้งแต่แรกเกิดเป็นต้นไป เนื่องจากต้องการทราบข้อมูลความพิการของประชากรตั้งแต่อายุน้อย ๆ ทำให้สามารถวางแผนป้องกันรักษาได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที
ผลการสำรวจที่สำคัญในปี 2555 สรุปได้ดังนี้
1. ประชากรที่พิการ
จากการสอบถามประชากรทุกกลุ่มอายุใน ปี 2555 พบมีผู้พิการทั้งสิ้น จำนวน 1.5 ล้านคน หรือร้อยละ 2.2 โดยเป็นผู้ที่มีลักษณะพิการอย่างน้อย 1 ใน 3 ลักษณะดังนี้ คือ เป็นประชากรที่มีความลำบากหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นข้อจำกัดในการทำกิจกรรม มีร้อยละ 2.1 (1.4 ล้านคน) ประชากรที่มีความลำบากในการดูแลตนเองหรือ ทำกิจวัตรส่วนตัว มีร้อยละ 0.5 (0.3 ล้านคน) หรือประชากรที่มีลักษณะความบกพร่อง ทางร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา มีร้อยละ 1.6 (1.1 ล้านคน) โดยประชากรที่พิการลดลงจากปี 2550 ทั้ง 3 กลุ่ม
ร้อยละของประชากรที่พิการในปี 2555 มีความแตกต่างตามลักษณะทางประชากร โดยพบว่าร้อยละของผู้พิการที่เป็นผู้หญิงสูงกว่าผู้ชายเล็กน้อย (ร้อยละ 2.3 และ 2.1 ตามลำดับ) กลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีประชากรที่พิการร้อยละ 9.8 สูงกว่าวัยอื่น เนื่องจากผู้สูงอายุมีความลำบากหรือปัญหาสุขภาพตามวัยที่สูงขึ้น จึงถูกนับรวมเป็นคนพิการ นอกจากนี้พบว่า นอกเขตเทศบาลมีร้อยละของประชากรที่พิการมากกว่าในเขตเทศบาล (ร้อยละ 2.5 และ 1.5 ตามลำดับ) โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีประชากรที่พิการร้อยละ 2.8 -2.9 สูงกว่าภาคอื่น
เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจปี 2550 พบว่าร้อยละของประชากรที่พิการลดลงทุกกลุ่ม และทุกพื้นที่ โดยร้อยละของประชากรที่พิการยิ่งลดลงมากในกลุ่มผู้ที่มีอายุสูงขึ้น พื้นที่นอกเขตเทศบาล และภาคเหนือ มีร้อยละของประชากรที่พิการลดลงกว่าพื้นที่อื่น
2. ระดับการศึกษาที่สำเร็จของประชากรที่พิการ
การศึกษาเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญช่วยเพิ่มศักยภาพให้คนพิการสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งพบว่าประชากรพิการที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ประมาณ 1.5 ล้านคนนั้น มีร้อยละ 22.4 ที่ไม่ได้รับการศึกษา และมีมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 57.6) ที่สำเร็จการศึกษาระดับต่ำกว่าประถมศึกษา ส่วนที่เหลืออีกหนึ่งในห้า (ร้อยละ 20.0) สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือสูงกว่า
3. การทำงานและอาชีพของประชากรที่พิการ
เมื่อพิจารณาการทำงานในรอบปีที่แล้วของประชากรพิการที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 1.4 ล้านคน พบว่า มีประมาณสามในสี่ (ร้อยละ 74.3) ที่ไม่ได้ทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรพิการในวัยสูงอายุ (อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) มากที่สุดถึงร้อยละ 49.9 รองลงมาเป็นวัยทำงาน (อายุ 25-59 ปี) มีร้อยละ 19.9 และวัยเยาวชน (อายุ 15-24 ปี) เพียงร้อยละ 4.5
สำหรับประชากรพิการที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มีงานทำเพียงประมาณหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 25.7) โดยเป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมงมากที่สุด (ร้อยละ 15.4) รองลงมาคือ อาชีพงานพื้นฐาน ซึ่งเป็นงานที่ใช้แรงงานเป็นหลัก พนักงานบริการ/พนักงานขายในร้านค้า/ตลาด และ ช่างฝีมือ/ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง (ร้อยละ 3.3, 3.2 และ 2.5 ตามลำดับ)
4. การใช้เครื่องช่วยและประชากรที่พิการ
การใช้เครื่องช่วย หมายรวมถึง การใช้อุปกรณ์ หรืออวัยวะเทียม หรือเครื่องช่วยคนพิการ รวมทั้งอุปกรณ์ที่ทำขึ้นเอง เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกิจกรรม อำนวยความสะดวกหรือบรรเทาความลำบากหรือปัญหาในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ได้เจาะจงเฉพาะการใช้อุปกรณ์หรืออวัยวะเทียมหรือเครื่องช่วยคนพิการที่ได้รับจากรัฐบาลเท่านั้น
ผลการสำรวจพบว่า ประชากรที่พิการมีเพียง ร้อยละ 28.6 ที่ใช้เครื่องช่วย ที่เหลือ (ร้อยละ 71.4) ไม่ใช้เครื่องช่วย เนื่องจากผู้พิการมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 51.3) คิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้ สำหรับผู้พิการที่ไม่มี เครื่องช่วยใช้ มีร้อยละ 15.8 และมีเพียงร้อยละ 4.3 ที่มีเครื่องช่วยแต่ไม่ใช้ เพราะมีความยุ่งยากในการใช้หรือดูแลรักษา ต้องการให้มีผู้ดูแลมากกว่าใช้เครื่องช่วย ใช้เครื่องช่วยแล้วเจ็บบริเวณอวัยวะส่วนนั้น ไม่ชอบรูปลักษณ์ของเครื่องช่วย และเหตุผลอื่น ๆ
5. การได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลักของรัฐ
รัฐบาลมีนโยบายให้บริการสวัสดิการค่ารักษา พยาบาลของรัฐ 3 ประเภทหลัก คือ บัตรประกันสุขภาพ บัตรประกันสังคม/กองทุนเงินทดแทน และสวัสดิการข้าราชการ/ข้าราชการบำนาญ/รัฐวิสาหกิจ ให้แก่ประชากรไทยครบถ้วนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิการซึ่งต้องการการดูแลทางด้านสุขภาพร่างกาย และจิตใจมากกว่าบุคคลทั่วไป
จากการสำรวจพบว่า ประชากรที่พิการเกือบทุกคน (ร้อยละ 98.4) ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลักของรัฐ โดยส่วนใหญ่ได้รับจากบัตรประกันสุขภาพ ถึงร้อยละ 92.1 และมีประชากรพิการเพียงส่วนน้อยที่ได้รับสวัสดิการข้าราชการ/ข้าราชการบำนาญ/รัฐวิสาหกิจ (ร้อยละ 4.9) และบัตรประกันสังคม/กองทุนเงินทดแทน (ร้อยละ 1.4)
6. ความต้องการความช่วยเหลือหรือสวัสดิการที่เกี่ยวกับการดูแลจากรัฐเพิ่มเติม
ประชากรที่พิการส่วนใหญ่ประมาณสี่ในห้า (ร้อยละ 80.8) ต้องการความช่วยเหลือหรือสวัสดิการที่เกี่ยวกับการดูแลจากรัฐเพิ่มเติม โดยความช่วยเหลือที่ต้องการมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ 1) เงินสนับสนุน 2) ต้องการงานมีรายได้ที่บ้าน 3) พยาบาลมาเยี่ยมและดูแลที่บ้านเมื่อจำเป็น 4) การเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้โดยสะดวก และ 5) ต้องการให้มีบริการพาหนะเวลาจำเป็นต้องไปที่อื่น (ร้อยละ 75.1, 21.2, 17.8, 11.1 และ 8.1 ตามลำดับ)