สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำการสำรวจยอดขายรายไตรมาสเป็นประจำทุกปี โดยใช้สถานประกอบการตัวอย่างทั้งสิ้น 12,684 แห่ง จากสถานประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการขายปลีกสินค้าและบริการทั่วประเทศประมาณ 1.3 ล้านแห่ง ข้อมูลสำคัญที่เก็บรวบรวม ได้แก่ มูลค่ารายรับและมูลค่าสินค้าคงเหลือของสถานประกอบการ เพื่อให้หน่วยงานวางแผนด้านเศรษฐกิจใช้ประกอบการจัดทำบัญชีประชาชาติของประเทศ และใช้ในการพิจารณากำหนดนโยบายด้านราคาสินค้า
สรุปข้อมูลเบื้องต้นฉบับนี้ เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลการดำเนินกิจการของสถานประกอบการธุรกิจค้าปลีกและบริการทั่วประเทศ ซึ่งดำเนินธุรกิจตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย ปี 2552 (TSIC-2009) ระหว่างไตรมาส 1-2 ของปี 2556 สรุปดังนี้
ในไตรมาส 1-2 ปี 2556 ภาพรวมของธุรกิจทั่วประเทศ เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องร้อยละ 5.8 และร้อยละ 6.4 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาตามประเภทธุรกิจ พบว่า ธุรกิจการบริการอาหารและเครื่องดื่ม ในไตรมาส 1-2 ปี 2556 มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวกันกับปี 2555 ร้อยละ 13.7 และร้อยละ 15.7 ตามลำดับ ธุรกิจการซ่อมของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือนฯ มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1-2 ปี 2556 ร้อยละ 9.8 และร้อยละ 17.5 ตามลำดับ ธุรกิจการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือนฯ มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1-2 ปี 2556 ร้อยละ 7.6 และร้อยละ 14.7 ตามลำดับ สำหรับธุรกิจที่พักแรม พบว่า ไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่ารายรับลดลงร้อยละ 1.9 เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน จากนั้นในไตรมาส 2 ปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 7.1
เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า กิจการที่มีคนทำงาน 1-50 คน มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1-2 ปี 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ส่วนกิจการที่มีคนทำงาน 51 คนขึ้นไป กลับมีมูลค่ารายรับลดลง โดยในแต่ละไตรมาสลดลงไม่เกินร้อยละ 5.0
ในไตรมาส 1 ปี 2556 ภาพรวมของธุรกิจ ทั่วประเทศ มีมูลค่ารายรับลดลงเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 และเมื่อพิจารณาตามประเภทธุรกิจ พบว่า ธุรกิจการขายปลีก และธุรกิจที่พักแรม มีรายรับลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2555 ร้อยละ 2.0 และร้อยละ 0.3 ตามลำดับ สำหรับธุรกิจประเภทอื่นๆ มีรายรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือนฯ มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0
สำหรับไตรมาส 2 พบว่า ธุรกิจปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 1 โดยมีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.8 เมื่อพิจารณาตามประเภทธุรกิจ พบว่า ธุรกิจการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือนฯ ธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และรายการโทรทัศน์ การบันทึกเสียงลงบนสื่อ การจัดผังรายการและการแพร่ภาพกระจายเสียง และกิจกรรมสำนักข่าว และธุรกิจการขายปลีก มีรายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ร้อยละ 6.0 ร้อยละ 3.0 และร้อยละ 2.0 ตามลำดับ ส่วนธุรกิจที่พักแรม กลับมีรายรับลดลงร้อยละ 2.7 ธุรกิจประเภทอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้นชะลอตัวลงไม่เกินร้อยละ 3.0
เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า ในไตรมาส 1 กิจการที่มีคนทำงาน 16-25 คน มีรายรับลดลงร้อยละ 10.8 รองลงมาคือ กิจการที่มีคนทำงาน 51-200 คน และกิจการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คน มีรายรับลดลงร้อยละ 9.2 และร้อยละ 5.9 ตามลำดับ ในขณะที่กิจการที่มีคนทำงาน 31-50 คน 26-30 คน และ 1-15 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 ร้อยละ 7.0 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับ สำหรับไตรมาส 2 พบว่า กิจการที่มีคนทำงาน 1-15 คน 26-30 คน และ 51-200 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ร้อยละ 3.2 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับ ส่วนกิจการขนาดอื่นมีรายรับลดลงไม่เกินร้อยละ 6.0
1.1 ธุรกิจค้าปลีก
สำหรับธุรกิจค้าปลีก พบว่า ในไตรมาส 1 มียอดขายลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2555 ร้อยละ 2.0 จากนั้นในไตรมาส 2 ปรับตัวดีขึ้น เป็นร้อยละ 2.0 เมื่อพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า กิจการที่มีคนทำงาน 16-25 คน และกิจการที่มีคนทำงาน 51-200 คน มียอดขายลดลงในไตรมาส 1 ร้อยละ 10.7 และร้อยละ 10.3 ตามลำดับ สำหรับประเภทของธุรกิจค้าปลีกที่มียอดขายลดลงในไตรมาส 1 ได้แก่ ขายปลีกเครื่องดื่ม (ร้อยละ 48.6) ขายปลีกสินค้าด้านวัฒนธรรมและนันทนาการ (ร้อยละ 13.0) และขายปลีกเครื่องโลหะ สี และกระจก (ร้อยละ 12.5) สาเหตุที่มียอดขายลดลงนั้น สถานประกอบการร้อยละ 41.1 รายงานว่าเนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อลดลง
ธุรกิจค้าปลีกในไตรมาส 2 พบว่า กิจการที่มีคนทำงาน 1-15 คน มียอดขายเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 4.8 กิจการที่มีคนทำงาน 26-30 คน 51-200 คน และที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ร้อยละ 1.8 และร้อยละ 0.9 ตามลำดับ สำหรับประเภทของธุรกิจค้าปลีกที่มียอดขายเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ได้แก่ ขายปลีกสินค้าโดยการรับสั่งสินค้าทางไปรษณีย์ โทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์ และทางอินเทอร์เน็ต(ร้อยละ 9.2)ขายปลีกเครื่องกีฬา (ร้อยละ 7.8)และขายปลีกอาหาร (ร้อยละ 7.6) สาเหตุที่มียอดขายเพิ่มขึ้นนั้น สถานประกอบการร้อยละ 54.4 รายงานว่าเนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นในช่วงนี้
1.2 ธุรกิจที่พักแรม
ธุรกิจที่พักแรม ได้แก่ โรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ โฮมสเตย์ และหอพัก พบว่า ในไตรมาส 1 มีมูลค่ารายรับหดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 เมื่อพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า กิจการที่มีคนทำงาน 51-200 คน มีรายรับลดลงมากที่สุดร้อยละ 8.0 รองลงมาคือ กิจการที่มีคนทำงาน 16-25 คน มีรายรับลดลงร้อยละ 6.4 และกิจการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คน มีรายรับลดลงร้อยละ 3.9 สำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 1-15 คน กิจการที่มีคนทำงาน 26-30 คน และ 31-50 คน กลับมีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 ร้อยละ 28.3 และร้อยละ 5.1 ตามลำดับ สาเหตุที่มีรายรับลดลงนั้น สถานประกอบการร้อยละ 29.3 รายงานว่ามีคู่แข่งทางการค้ามากขึ้น
เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงรายรับในไตรมาส 2 เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2556 พบว่า มูลค่ารายรับยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ร้อยละ 2.7 โดยกิจการที่มีคนทำงาน 16-25 คน มีรายรับลดลงสูงสุดร้อยละ 16.5 รองลงมาคือ กิจการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คน มีรายรับลดลงร้อยละ 10.5 ส่วนกิจการขนาดอื่นๆ มีรายรับเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 6.0 สาเหตุที่มีรายรับลดลงอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2 นี้ สถานประกอบการร้อยละ 45.3 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดตามประเพณี และเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ทำให้มีการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้น
1.3 ธุรกิจการบริการอาหารและเครื่องดื่ม
พบว่า ในไตรมาส 1-2 มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2555 ที่ร้อยละ 4.3 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ โดยกิจการที่มีคนทำงาน 51-200 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 สูงถึงร้อยละ 32.3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 รองลงมาคือ กิจการที่มีคนทำงาน 26-30 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 ในขณะที่กิจการที่มีคนทำงาน 16-25 คน มีรายรับลดลงสูงถึงร้อยละ 20.2 สำหรับสาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 นั้น มีสถานประกอบการประมาณร้อยละ 41.9 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จึงมีการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์กันมากขึ้น
สำหรับไตรมาส 2 พบว่า กิจการที่มีคนทำงาน 31-50 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 รองลงมาคือ กิจการที่มีคนทำงาน 51-200 คน และ 26-30 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 และร้อยละ 6.4 ตามลำดับ สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 นั้น สถานประกอบการร้อยละ 44.3 รายงานว่าเนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อมากขึ้น
1.4 ธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และรายการโทรทัศน์ การบันทึกเสียงลงบนสื่อ การจัดผังรายการและการแพร่ภาพกระจายเสียง และกิจกรรมสำนักข่าว พบว่า ในไตรมาส 1 มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ไม่เกินร้อยละ 0.1 โดยธุรกิจเกี่ยวกับการฉายภาพยนตร์ มีรายรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดในไตรมาส 1 อยู่ที่ร้อยละ 6.3 รองลงมาคือ กิจกรรมสำนักข่าว และกิจกรรมภายหลังการผลิตภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และรายการโทรทัศน์ มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 และร้อยละ 3.0 ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า กิจการที่มีคนทำงาน 26-30 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนสูงสุดร้อยละ 29.3 รองลงมาคือ กิจการที่มีคนทำงาน 1-15 คน และกิจการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คน มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 และร้อยละ 9.8 ตามลำดับ ส่วนกิจการขนาดอื่นกลับมีรายรับลดลง
สำหรับไตรมาส 2 นั้น พบว่า ธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ฯ มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ร้อยละ 3.0 โดยมีรายรับเพิ่มขึ้นในกิจการเกือบทุกขนาดโดยเฉพาะกิจการที่มีคนทำงาน 51-200 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นสูงสุดคือ ร้อยละ 23.4 ยกเว้นกิจการที่มีคนทำงาน 31-50 คน กลับมีรายรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนร้อยละ 6.4
สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1-2 สถานประกอบการส่วนใหญ่ (ไตรมาส 1 ร้อยละ 40.1 และไตรมาส 2 ร้อยละ 51.8) รายงานว่าเนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อมากขึ้นในช่วงนี้
1.5 ธุรกิจการให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน และกิจกรรมการคัดเลือกนักแสดงภาพยนตร์ โทรทัศน์และการแสดงอื่นๆ พบว่า ในไตรมาส 1 มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาส 4 ปี 2555 ร้อยละ 5.0 และปรับตัวดีขึ้น ในไตรมาส 2 ที่ร้อยละ 6.0
เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการในไตรมาส 2 พบว่า กิจการทุกขนาด มีรายรับเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 8.0 สำหรับกิจการที่มีคนทำงาน 31-50 คน พบว่า มีมูลค่ารายรับชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ร้อยละ 4.7 สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นระหว่างไตรมาส 1 และ 2 นั้น สถานประกอบการร้อยละ 49.8 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดตามประเพณี มีการเดินทางท่องเที่ยวและมีการจับจ่ายใช้สอย ทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นในช่วงนี้
1.6 ธุรกิจเกี่ยวกับกิจกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ พบว่า ในไตรมาส 1 มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 4 ปี 2555 ร้อยละ 2.1 และชะลอตัวลงในไตรมาส 2 อยู่ที่ร้อยละ 1.3
เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า ในไตรมาส 1 กิจการที่มีคนทำงาน 16-25 คน และ 1-15 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกันคือ ร้อยละ 17.1 และร้อยละ 17.0 ตามลำดับ กิจการที่มีคนทำงาน 26-30 คน และ 51-200 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 4.0 ส่วนกิจการที่มีคนทำงานมากกว่า 200 คน มีรายรับลดลงสูงถึงร้อยละ 15.3
สำหรับไตรมาส 2 พบว่า กิจการที่มีคนทำงาน 26-30 คน 1-15 คน และ 51-200 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนไม่เกินร้อยละ 8.0 สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1-2 นั้น สถานประกอบการส่วนใหญ่ (ไตรมาส 1 ร้อยละ 48.3 และไตรมาส 2 ร้อยละ 45.5) รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดตามประเพณี และมีกิจกรรมบันเทิงและนันทนาการต่างๆ จึงทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้น
1.7 ธุรกิจการซ่อมของใช้ส่วนบุคคล และของใช้ในครัวเรือนและกิจกรรมการบริการส่วนบุคคลอื่นๆ พบว่า ในไตรมาส 1 มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2555 ร้อยละ 4.3 จากนั้นในไตรมาส 2 ชะลอตัวลงอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ธุรกิจที่มีรายรับเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ได้แก่ ธุรกิจเกี่ยวกับการซ่อมของใช่ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 และธุรกิจสปาและการนวด ศูนย์ลดน้ำหนัก ร้านเสริมสวย และการบริการให้คำปรึกษาด้านความงามมีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1
เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า ในไตรมาส 1 กิจการที่มีคนทำงาน 16-25 คน มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ร้อยละ 14.2 รองลงมาคือ กิจการที่มีคนทำงาน 31-50 คน และ 1-15 คน มีรายรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 และร้อยละ 4.6 ตามลำดับ สำหรับกิจการขนาดอื่นๆ มีรายรับลดลง โดยเฉพาะกิจการที่มีคนทำงาน 26-30 คน มีรายรับลดลงสูงถึงร้อยละ 19.5 สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้น ในไตรมาส 1 สถานประกอบการร้อยละ 54.4 รายงานว่าเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทำให้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้
สำหรับไตรมาส 2 พบว่า กิจการเกือบทุกขนาดมีรายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเพียงเล็กน้อยไม่เกินร้อยละ 5.0 ยกเว้นกิจการที่มีคนทำงาน 51-200 คน มีรายรับลดลงร้อยละ 4.7 สาเหตุที่มีรายรับเพิ่มขึ้น ในไตรมาส 2 สถานประกอบการร้อยละ 51.8 รายงานว่าเนื่องจากลูกค้ามีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น
ภาพรวมของมูลค่าสินค้าคงเหลือของธุรกิจ ค้าปลีก พบว่า ในไตรมาส 1 มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2555 ส่วน ไตรมาส 2 มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ร้อยละ 1.3 ในส่วนของการขายปลีกสินค้าแต่ละประเภท ที่มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ได้แก่ ธุรกิจขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ (ร้อยละ 4.3) ธุรกิจขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ เป็นสินค้าหลักและสินค้าทั่วไปอื่นๆ (ร้อยละ 3.1)ธุรกิจการขายปลีก สิ่งทอ เครื่องโลหะ สี กระจก พรม สิ่งปูพื้น วัสดุปิดผนังและปูพื้น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่าง และของใช้อื่นๆ ในครัวเรือน (ร้อยละ 2.5) การขายปลีกเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องหนัง สินค้าทางเภสัชกรรมและเวชภัณฑ์เครื่องหอมและเครื่องประทินโฉมและสินค้าใหม่อื่นๆ (ร้อยละ 1.2) และธุรกิจการรับสั่งสินค้าทางไปรษณีย์ โทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต และการขายปลีกโดยไม่มีร้านด้วยวิธีอื่นๆ(ร้อยละ 0.2) สำหรับการขายปลีกคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่อพ่วง ซอฟต์แวร์ อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม และอุปกรณ์ภาพและเสียง และการขายปลีกหนังสือ หนังสือพิมพ์ และเครื่องเขียน สื่อบันทึกเสียงและภาพ เครื่องกีฬา เกมและของเล่น สินค้าอื่นๆ ด้านวัฒนธรรมและนันทนาการ มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 11.0 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินค้าคงเหลือตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า ในไตรมาส 2 กิจการเกือบทุกขนาดมีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยกิจการที่มีคนทำงาน 31-50 คน มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 ส่วนกิจการขนาดอื่นๆ ในแต่ละขนาดมีมูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 2.0 ยกเว้นกิจการที่มีคนทำงาน 51-200 คน ที่มีมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนร้อยละ 2.1
ภาพรวมของธุรกิจทั่วประเทศในไตรมาส 1-2 ปี 2556 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน อยู่ที่ร้อยละ 5.8 และร้อยละ 6.4 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาตามประเภทธุรกิจ พบว่า ธุรกิจการบริการอาหารและเครื่องดื่ม ในไตรมาส 1-2 มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันกับปี 2555 ร้อยละ 13.7 และร้อยละ 15.7 ตามลำดับ ธุรกิจการซ่อมของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือนฯ มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1-2 ปี 2556 ร้อยละ 9.8 และร้อยละ 17.5 ตามลำดับ สำหรับธุรกิจที่พักแรมพบว่า ไตรมาส 1 ปี 2556 มีมูลค่ารายรับลดลงร้อยละ 1.9 เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน จากนั้นในไตรมาส 2 ปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 7.1
เมื่อพิจารณาตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า กิจการที่มีคนทำงาน 1-50 คน มีมูลค่ารายรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1-2 ปี 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ส่วนกิจการที่มีคนทำงาน 51 คนขึ้นไป กลับมีมูลค่ารายรับลดลง โดยในแต่ละไตรมาสลดลงไม่เกินร้อยละ 5.0
ด้านปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจนั้น มีผู้ประกอบการธุรกิจและบริการทั่วประเทศ ร้อยละ 51.6 แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยส่วนใหญ่รายงานว่ามีการแข่งขันทางการค้าเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจชะลอตัว ลูกค้ามีกำลังซื้อลดลง
สำหรับความช่วยเหลือที่ต้องการจากหน่วยงานของรัฐนั้น มีผู้ประกอบการธุรกิจและบริการทั่วประเทศ ร้อยละ 41.9 แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐมีการกำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กำหนดมาตรการควบคุมราคาสินค้าให้เข้มงวดมากขึ้น และต้องการให้รัฐสนับสนุนแหล่งเงินทุน เป็นต้น