บทสรุปสำหรับผู้บริหาร สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2557

ข่าวผลสำรวจ Thursday March 20, 2014 11:10 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2557 โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชน เพื่อทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในเรื่องต่างๆ เช่น ปัญหาที่เกิดกับสตรีในชุมชน/หมู่บ้าน การรับทราบเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี การเป็นสมาชิกกองทุนฯ การจัดทำโครงการ/กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับกองทุนฯ ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน การมีเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ความช่วยเหลือ/แนะนำ ความเหมาะสม ในวิธีการคัดเลือกคณะกรรมการ ความโปร่งใสในการดำเนินงานและความพร้อมในการบริหารของคณะกรรมการ ประโยชน์ของกองทุนฯ และความพึงพอใจต่อภาครัฐในการดำเนินงานโครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และความคิดเห็นต่อโครงการ SMART LADY THAILAND ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจะนำเสนอผลสำรวจ เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป โดยสอบถามประชาชนเพศหญิง อายุ 15 ปีขึ้นไปที่ถูกเลือกเป็นตัวอย่าง ทั่วประเทศ 4,900 ราย ระหว่างวันที่ 6 - 20 มกราคม 2557 และเสนอผลสำรวจในระดับกรุงเทพมหานคร ภาค และ ทั่วประเทศ ในรูปร้อยละ

สรุปผลการสำรวจที่สำคัญๆ

1.การประสบปัญหาของผู้หญิงในชุมชน/หมู่บ้านในปัจจุบัน

จากผลสำรวจเกี่ยวกับปัญหาที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ในชุมชน/หมู่บ้านประสบในปัจจุบัน พบว่า ปัญหาที่ผู้หญิงประสบระบุได้ 3 ลำดับแรก คือ รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ/เลี้ยงครอบครัว (ร้อยละ 83.8) ขาดโอกาสพัฒนาฝีมือ/อาชีพ (ร้อยละ 62.1) และขาดโอกาสทางการศึกษา (ร้อยละ 27.9)

2. ความคิดเห็นเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

  • การทราบเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และ แหล่งที่ทราบ

เมื่อสอบถามประชาชนเกี่ยวกับการรับทราบกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ผู้หญิงส่วนใหญ่ ร้อยละ 93.7 ระบุว่า ทราบ และ ร้อยละ 6.3 ไม่ทราบ โดยผู้หญิงที่ทราบส่วนใหญ่ ระบุแหล่ง ที่ทราบกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 3 อันดับแรก คือ ทราบจากเจ้าหน้าที่ชุมชน ร้อยละ 62.5 โทรทัศน์ (ฟรีทีวี) ร้อยละ 47.7 และเพื่อน/ญาติ ร้อยละ 32.9

  • การเป็นสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

ผลสำรวจพบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.2 ระบุว่า เป็นสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และร้อยละ 18.8 ไม่เป็นสมาชิก โดยผู้ที่ไม่เป็นสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ระบุเหตุผล คือ ไม่มีเวลาเข้าร่วม/ทำกิจกรรม/ไม่มีใครช่วยทำงาน ร้อยละ 56.6 ไม่อยากเป็นหนี้ ร้อยละ 25.7 เป็นสมาชิกกองทุนอื่นแล้ว ร้อยละ 24.4 ไม่มีความจำเป็นต้องกู้ ร้อยละ 19.9 และไม่มีประโยชน์ เน้นให้กู้เงินมากกว่าการพัฒนา ร้อยละ 5.3 เป็นต้น

  • การใช้งบประมาณโครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจัดทำโครงการ/กิจกรรมในชุมชน/หมู่บ้าน

จากการสอบถามเกี่ยวกับการใช้งบประมาณกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในการจัดทำโครงการ/กิจกรรมในชุมชน/หมู่บ้าน ผู้หญิง ร้อยละ 59.8 ระบุว่า ชุมชน/หมู่บ้านมีการจัดทำโครงการ/กิจกรรมโดยใช้งบประมาณกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ร้อยละ 24.7 ระบุว่า ไม่มี และไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ร้อยละ 15.5

1) ประเภทเงินหมุนเวียน (เงินกู้) และด้านที่จัดทำ

เมื่อสอบถามผู้หญิงในกลุ่มที่จัดทำโครงการ/กิจกรรม โดยใช้งบประมาณกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ ร้อยละ 92.8 ระบุว่ามีการใช้เงินทุนหมุนเวียน (เงินกู้) และร้อยละ 7.2 ไม่มีการใช้เงิน โดยในกลุ่มที่มีการใช้เงินประเภทนี้ ระบุว่าใช้ในการจัดทำโครงการ/กิจกรรมด้านต่างๆ 3 อันดับแรก คือ ด้านการเกษตร เช่น โครงการปลูกแตงระบบน้ำหยดปลอดสารพิษ เกษตรผสมผสาน ปลูกผักปลอดสารและเลี้ยงเป็ดไข่ (ร้อยละ 53.9) ด้านคหกรรม เช่น โครงการไส้กรอกสมุนไพรเพื่อสุขภาพ การแปรรูปและถนอมอาหารกลุ่มสตรีตำบล (ร้อยละ 23.1) และด้านหัตถกรรม เช่น โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟและลำไย สีทองอบสมุนไพรการต่อยอดสิ่งประดิษฐ์จากเปลือกข้าวโพด (ร้อยละ 20.6)

2) ประเภทเงินอุดหนุน (เงินสนับสนุนให้เปล่า) และด้านที่จัดทำ

เมื่อสอบถามผู้หญิงในกลุ่มที่จัดทำโครงการ/กิจกรรม โดยใช้งบประมาณกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พบว่า ผู้หญิง ร้อยละ 59.8 ระบุว่า มีการใช้เงินอุดหนุน (เงินสนับสนุนให้เปล่า) และ ร้อยละ 40.2 ระบุว่า ไม่มีการใช้เงิน โดยในกลุ่มที่มีการใช้เงินประเภทนี้ ระบุว่าใช้ในการจัดทำโครงการ/กิจกรรมด้านต่างๆ ตามลำดับ คือ ด้านการฝึกอบรมการประกอบอาชีพ ร้อยละ 70.5 ด้านการฝึกอบรมการเขียนเสนอโครงการฯ ร้อยละ 45.4 ด้านการส่งเสริมสุขภาพและจิตใจ ร้อยละ 13.5 และด้านอื่นๆ เช่น ด้านการฝึกทักษะภาษาอังกฤษ ร้อยละ 1.5

3.การประสบปัญหาอุปสรรคในการจัดทำโครงการ/กิจกรรม

เมื่อสอบถามเกี่ยวกับการประสบปัญหาอุปสรรคในการจัดทำโครงการ/กิจกรรม ผู้หญิงส่วนใหญ่ ร้อยละ 88.2 ระบุว่า ไม่ประสบปัญหา และร้อยละ 11.8 ประสบปัญหา โดยกลุ่มที่ประสบปัญหา ระบุเรื่องปัญหาอุปสรรคที่ประสบ 3 อันดับแรก คือ ขาดเจ้าหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจคอยให้คำแนะนำ/ประสานงาน (ร้อยละ 24.5) โครงการไม่ผ่านการพิจารณา/การอนุมัติล่าช้า (ร้อยละ 18.4) และปัญหาด้านการผลิต เช่น ต้นทุนสูง ขาดวัตถุดิบขาดแรงงาน ไม่ได้ผลผลิตตามต้องการ ขาดตลาดรองรับ (ร้อยละ 17.2)

4.การดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ระดับตำบลและระดับจังหวัด

  • ความเหมาะสมในวิธีการคัดเลือกผู้แทนสมาชิก

เมื่อสอบถามเกี่ยวกับความเหมาะสมในวิธีคัดเลือกผู้แทนสมาชิกระดับชุมชน/หมู่บ้านเป็นคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ระดับตำบลและระดับจังหวัด ผู้หญิงส่วนใหญ่ร้อยละ 81.7 ระบุว่า เหมาะสม ร้อยละ 0.6 ไม่เหมาะสม และ ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ร้อยละ 17.7 โดยในกลุ่มที่ตอบว่าไม่เหมาะสม ระบุเหตุผล คือ ไม่เป็นธรรม ใช้เส้นสาย เลือกจากเครือญาติ/ พวกพ้อง อาจมีการทุจริต ฉ้อโกง เป็นต้น

  • ความโปร่งใส เป็นธรรมในการดำเนินงาน

ผู้หญิงส่วนใหญ่ร้อยละ 73.3 ระบุว่า การดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับตำบล/ระดับจังหวัด มีความโปร่งใส ร้อยละ 3.3 ไม่โปร่งใส และร้อยละ 23.4 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

  • ความพร้อมในการบริหารงาน

เมื่อสอบถามถึงความพร้อมในการบริหารงานของคณะกรรมการ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับตำบล/ระดับจังหวัด ผู้หญิง ส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.4 ระบุว่า มีความพร้อม ร้อยละ 5.3 ไม่มีความพร้อม และไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ร้อยละ 22.3

5.การมีเจ้าหน้าที่รัฐให้ความรู้/ความช่วยเหลือ/แนะนำโครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

เมื่อสอบถามถึงการมีเจ้าหน้าที่รัฐให้ความรู้/ความช่วยเหลือ/แนะนำโครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ร้อยละ 82.5 ระบุว่า มี ร้อยละ 5.5 ไม่มี และร้อยละ 12.0 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

6.ประโยชน์ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

เมื่อสอบถามเกี่ยวกับประโยชน์ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่มีต่อสตรีในชุมชน/หมู่บ้าน พบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ ร้อยละ 92.8 ระบุว่า เป็นประโยชน์ และร้อยละ 7.2 ระบุว่า ไม่เป็นประโยชน์ โดยในกลุ่มที่ตอบว่ากองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นประโยชน์ ระบุด้านที่เป็นประโยชน์ คือ ด้านการฝึกอาชีพ ร้อยละ 88.2 ด้านพัฒนาความรู้ ร้อยละ 52.9 ด้านการศึกษา ร้อยละ 11.8 ด้านสุขภาพ ร้อยละ 10.1 ด้านคุณภาพชีวิต (สร้างรายได้ ลดรายจ่าย ลดภาระหนี้สิน) ร้อยละ 2.4 ด้านเงินทุนหมุนเวียน ทุนประกอบอาชีพ ร้อยละ 0.8 และด้านอื่นๆ เช่น ด้านความสามัคคี ของคนในชุมชน ความเสมอภาคเท่าเทียมระหว่างเพศชาย/หญิง ร้อยละ 0.2

7.ความพึงพอใจต่อภาครัฐในการดำเนินงานโครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

จากผลสำรวจพบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ ร้อยละ 93.2 ระบุว่า พึงพอใจต่อภาครัฐในการดำเนินงานโครงการกองทุนพัฒนา บทบาทสตรี (โดยพึงพอใจในระดับมาก ร้อยละ 36.9 ปานกลาง ร้อยละ 49.0 และน้อย ร้อยละ 7.3) ที่ไม่พึงพอใจ ร้อยละ 1.9 และไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ร้อยละ 4.9

8. การเป็นสมาชิกโครงการกองทุนอื่นๆ ของรัฐบาล

เมื่อสอบถามเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกโครงการกองทุนอื่นๆ ของรัฐบาล (ที่ไม่ใช่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี) ผู้หญิงส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.7 ระบุว่า เป็นสมาชิกโครงการกองทุนอื่นๆ ของรัฐบาล และร้อยละ 16.3 ไม่เป็นสมาชิก โดยผู้ที่เป็นสมาชิกระบุชื่อโครงการกองทุนอื่นๆ ที่เป็นสมาชิก คือ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (ร้อยละ 85.3) กองทุนสัจจะออมทรัพย์ (ร้อยละ 35.3) กองทุนพักชำระหนี้ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อย (ร้อยละ 20.7) กองทุนการรับจำนำข้าว (ร้อยละ 20.1) กองทุนบัตรสินเชื่อเกษตรกร/บัตรเครดิตเกษตรกร (ร้อยละ 17.7) กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (ร้อยละ 7.1) และกองทุนอื่นๆ เช่น กองทุนชาวมุสลิม กองทุนผู้สูงอายุ (ร้อยละ 0.2)

9.ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

จากผลสำรวจ มีผู้หญิงร้อยละ 17.1 แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยได้ระบุเรื่องที่เป็นข้อเสนอแนะ ดังนี้ ควรเพิ่มงบประมาณ และจัดสรรให้ทั่วถึง เป็นธรรม โปร่งใส (ร้อยละ 44.7) ควรมีโครงการที่เหมาะสม/มีประโยชน์ ช่วยแก้ปัญหาให้กับชุมชนอย่างแท้จริง (ร้อยละ 23.6) ควรลดขั้นตอน เงื่อนไขต่างๆ ในการขอกู้ เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย ลดจำนวนผู้ค้ำประกัน เพิ่มระยะเวลาส่งคืนเงิน (ร้อยละ 23.4) ควรมีการประชาสัมพันธ์/มีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ ชี้แจงรายละเอียด/ประโยชน์/หลักเกณฑ์ต่างๆ และติดตามผล (ร้อยละ 21.2) เป็นต้น

10. ความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการ SMART LADY THAILAND

  • การทราบโครงการ SMART LADY THAILAND

จากการสอบถามเกี่ยวกับการทราบโครงการ SMART LADY THAILAND ผู้หญิง ร้อยละ 51.5 ระบุว่า ทราบ และร้อยละ 48.5 ไม่ทราบ

  • โครงการ SMART LADY THAILAND ช่วยพัฒนาบทบาทสตรี

จากการสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการ SMART LADY THAILAND ในการพัฒนาบทบาทสตรี ผู้หญิงส่วนใหญ่ ร้อยละ 91.8 ระบุว่า โครงการ SMART LADY THAILAND ช่วยทำให้สตรีในชุมชน/หมู่บ้าน กล้าแสดงออกทางความคิด ฯลฯ (ระดับมาก ร้อยละ 33.9 ปานกลาง ร้อยละ 48.0 และน้อย ร้อยละ 9.9) ที่ระบุว่าไม่ได้ช่วย มีร้อยละ 3.4 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 4.8

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ