บทสรุปสำหรับผู้บริหาร ภาวะการทำงานของประชากร เดือนเมษายนพ.ศ. 2557
ผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนเมษายน 2557 พบว่า จำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 54.76 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมที่จะทำงาน 38.03 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.33 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.44 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 3.50 แสนคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน 16.73 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้น
สำหรับจำนวนผู้มีงานทำ 37.33 ล้านคน ประกอบด้วยผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรม 11.04 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรม 26.29 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2556 พบว่า จำนวนผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมลดลง 9.0 หมื่นคน นอกภาคเกษตรกรรมลดลง 1.3 แสนคน โดยลดลงในสาขาการก่อสร้างมากที่สุด 2.1 แสนคน รองลงมาเป็นสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ 1.7 แสนคน สาขาการบริหารราชการ การป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับ 1.0 แสนคน สาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 2.0 หมื่นคน และสาขากิจกรรมด้านสุขภาพ และงานสังคมสงเคราะห์ 1.0 หมื่นคน ส่วนสาขาที่เพิ่มขึ้นคือ สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขากิจกรรมทางการเงิน และการประกันภัยเพิ่มขึ้นเท่ากัน 7.0 หมื่นคน สาขาการผลิต 5.0 หมื่นคน สาขากิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ เช่น กิจกรรมบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างกาย การดูแลสัตว์เลี้ยง การบริการซักรีดและซักแห้ง เป็นต้น 3.0 หมื่นคน และสาขาการศึกษา 2.0 หมื่นคน ที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่น ๆ
หากพิจารณาถึงจำนวนผู้ที่ทำงานแต่ยังทำงานได้ ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้ทำงานแต่ยังมีเวลาและพร้อมที่จะทำงานได้อีก หรือเรียกคนทำงานในกลุ่มนี้ว่า ผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ (Underemployment workers) จากผลการสำรวจพบว่า มีผู้ที่ทำงานต่ำกว่าระดับ 2.06 แสนคน หรือร้อยละ 0.6 ของจำนวนผู้ทำงานทั้งหมด ซึ่งกลุ่มนี้แม้ว่าจะมีงานทำแล้วก็ตาม แต่ยังมีเวลาว่างที่มากพอและพร้อมที่จะทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อต้องการเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง
สำหรับจำนวนผู้ว่างงานในเดือนเมษายน 2557 มีทั้งสิ้น 3.44 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 0.9 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556 จำนวนผู้ว่างงานลดลง 3.0 หมื่นคน (จาก 3.47 แสนคน เป็น 3.44 แสนคน) และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2557 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3.0 หมื่นคน (จาก 3.41 แสนคน เป็น 3.44 แสนคน)
จำนวนผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.72 แสนคน และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 1.72 แสนคน ซึ่งลดลง 8.0 พันคน จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556 (จาก 1.80 แสนคน เป็น 1.72 แสนคน) โดยเป็นผู้ว่างงานจาก ภาคการบริการ และการค้า 8.9 หมื่นคน ภาคการผลิต 6.6 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 1.7 หมื่นคน ตามลำดับ
ส่วนการว่างงานตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มวัยเยาวชน หรือผู้มีอายุระหว่าง 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานร้อยละ 4.4 ซึ่งปกติในกลุ่มนี้อัตราการว่างงานจะสูง ส่วนกลุ่ม วัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปีขึ้นไป) มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556 กลุ่มวัยเยาวชนมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.1 เป็นร้อยละ 4.4 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2557 กลุ่มวัยเยาวชนมีอัตราการว่างงานลดลงจากร้อยละ 4.9 เป็นร้อยละ 4.4
3สำหรับระดับการศึกษาที่สำเร็จของผู้ว่างงานใน เดือนเมษายน 2557 พบว่า ผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา 1.50 แสนคน (ร้อยละ 1.8) รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 7.2 หมื่นคน (ร้อยละ 1.2) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 5.9 หมื่นคน (ร้อยละ 1.0) ระดับประถมศึกษา 4.0 หมื่นคน (ร้อยละ 0.5 ) และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 2.3 หมื่นคน (ร้อยละ 0.2) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556 พบว่า จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นในระดับอุดมศึกษา 3.2 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 1.0 หมื่นคน ส่วนที่ลดลงคือระดับประถมศึกษา 1.7 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 8.0 พันคน และ ผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 4.0 พันคน
เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงาน เป็นรายภาค พบว่า ภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 1.3 รองลงมาเป็นกรุงเทพมหานครและภาคกลางร้อยละ 1.0 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือร้อยละ 0.7 เมื่อเปรียบเทียบอัตราการว่างงานกับเดือนเมษายน 2556 จะเห็นได้ว่าอัตราการว่างงานทั่วประเทศไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ภาคเหนือและภาคใต้มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุดเท่ากัน กรุงเทพมหานคร ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ