สรุปผลข้อมูลการสำรวจองค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร พ.ศ. 2556
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการสำรวจองค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการสำรวจทุก 5 ปี วัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะการดำเนินการ คนทำงาน ค่าตอบแทนแรงงาน รายรับ ค่าใช้จ่าย สินทรัพย์ และหนี้สินขององค์การฯทั่วประเทศที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับองค์การที่ดำเนินกิจการหลักเกี่ยวกับการบริการสังคมสงเคราะห์ สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ สมาคมการค้า หอการค้า สมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การศาสนา พรรคการเมือง องค์การเอกชนต่างประเทศ องค์การด้านการศึกษา (โรงเรียนเอกชน มหาวิทยาลัยเอกชน) และองค์การด้านสุขภาพ (โรงพยาบาลเอกชน) เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาลักษณะการดำเนินงาน
และการให้บริการขององค์การฯ ตลอดจนการกำหนดนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนางานด้านสังคมสงเคราะห์ขององค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร การสำรวจองค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร พ.ศ. 2556 ครั้งนี้ได้มีการปรับปรุงขอบข่ายการสำรวจฯ โดยเพิ่มประเภทองค์การด้านการศึกษา (โรงเรียนเอกชน มหาวิทยาลัยเอกชน) และองค์การด้านสุขภาพ (โรงพยาบาลเอกชน) ไว้ด้วย โดยมีองค์การฯตัวอย่าง ที่นำมาประมวลผล และใช้ในการประมาณค่าจำนวน 17,922 แห่ง ซึ่งทำการเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม พ.ศ. 2556 สำหรับข้อมูลที่นำเสนอเป็นผลการดำเนินงานขององค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรในรอบปี 2555 (1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2555) สรุปได้ดังนี้
องค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรทั่วประเทศ มีประมาณ 76,685 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นองค์การฯ ที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณร้อยละ 31.2 องค์การที่ตั้งอยู่ในภาคกลาง และภาคเหนือมีประมาณร้อยละ 22.7 และร้อยละ 20.6 สำหรับองค์การในกรุงเทพมหานคร และภาคใต้ มีประมาณร้อยละ 13.2 และร้อยละ 12.3 ตามลำดับ
เมื่อเปรียบเทียบจำนวนองค์การฯ ในปี 2556 และปี 2550 พบว่า มีจำนวนองค์การฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ประมาณร้อยละ 17.2 ซึ่งเพิ่มขึ้นในทุกภาค โดยองค์การฯ ที่ตั้งอยู่ใน ภาคกลางมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากที่สุด ประมาณ ร้อยละ 21.8 องค์การฯที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เพิ่มขึ้นในสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือประมาณร้อยละ 20.6 และร้อยละ 20.1 ตามลำดับ สำหรับองค์การฯในกรุงเทพมหานครมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด ประมาณร้อยละ 7.9
เมื่อพิจารณาตามประเภทองค์การฯ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นองค์การศาสนาร้อยละ 57.9 รองลงมาคือ องค์การที่ดำเนินกิจการหลักเกี่ยวกับการบริการสังคมสงเคราะห์ มีประมาณร้อยละ 31.4 องค์การที่เป็นสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ มีประมาณร้อยละ 4.4 สำหรับสมาคมการค้า หอการค้า และสมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ มีประมาณร้อยละ 2.8 และร้อยละ 2.3 ตามลำดับ ที่เหลืออีกร้อยละ 1.2 เป็นองค์การประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น
คนทำงานในองค์การฯ ได้แก่ พนักงานประจำ พนักงานชั่วคราว อาสาสมัคร นักบวชในศาสนาต่าง ๆ ที่ได้รับเงินประจำตำแหน่ง และคนทำงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน เช่น พระภิกษุ สามเณร แม่ชี หมอสอนศาสนา โดยทั่วประเทศ มีคนทำงานประมาณ 985,781 คน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร ร้อยละ 43.8 รองลงมาคือคนทำงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน ร้อยละ 33.5 ที่เป็นพนักงานประจำมีร้อยละ 14.6 สำหรับนักบวชในศาสนาต่าง ๆ ที่ได้รับเงินประจำตำแหน่ง และพนักงานชั่วคราว มีประมาณร้อยละ 5.6 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาตามประเภทองค์การฯ พบว่า มีคนทำงานในองค์การศาสนามากที่สุด ประมาณ 455,202 คน หรือร้อยละ 46.2 ในจำนวนนี้เป็นคนทำงานที่ไม่ได้รับเงินเดือนในสัดส่วนสูงสุด ประมาณร้อยละ 62.1 รองลงมาคือ คนทำงานในองค์การที่ดำเนินกิจกรรมหลักเกี่ยวกับการบริการสังคมสงเคราะห์มีประมาณ 425,162 คน หรือร้อยละ 43.1 ในจำนวนนี้มีสัดส่วนคนทำงานที่เป็นอาสาสมัครสูงสุด คือ ประมาณร้อยละ 71.0 สำหรับพรรคการเมืองพบว่ามีคนทำงานน้อยที่สุด ประมาณ 610 คน หรือประมาณร้อยละ 0.1
ตาราง 1 จำนวนและตำแหน่งคนทำงานขององค์การฯ จำแนกตามประเภทองค์การฯ
คนทำงาน
1/คนทำงานโดย
ประเภทกิจกรรม รวม พนักงาน อาสาสมัคร ไม่ได้รับเงินเดือน รวม 985,784 224,019 431,335 330,430 (100.0) (22.7) (43.8) (33.5) องค์การที่ดำเนินกิจการหลัก 425,162 80,737 301,797 42,628 เกี่ยวกับการบริการสังคมสงเคราะห์ (100.0) (19.0) (71.0) (10.0) สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ 17,055 9,601 6,472 983 (100.0) (56.3) (37.9) (5.8) สมาคมการค้า หอการค้า 12,832 4,397 6,280 2,155 (100.0) (34.3) (48.9) (16.8) สมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน 17,516 3,717 12,242 1,558 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ (100.0) (21.2) (69.9) (8.9) องค์การศาสนา 455,202 76,824 95,801 282,578 (100.0) (16.9) (21.0) (62.1) พรรคการเมือง 610 282 290 38 (100.0) (46.2) (47.6) (6.2) องค์การเอกชนต่างประเทศ 1,733 1,542 191 - (100.0) (89.0) (11.0) - องค์การด้านการศึกษา 50,229 41,480 8,262 488 (โรงเรียนเอกชน มหาวิทยาลัยเอกชน) (100.0) (82.6) (16.4) (1.0) องค์การด้านสุขภาพ (โรงพยาบาลเอกชน) 5,440 5,440 - - (100.0) (100.0) - -
หมายเหตุ : 1/ ค่าใช้จ่ายบุคลากรไม่รวมประเมินค่าตอบแทนอาสาสมัคร
องค์การฯ ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 82.9) ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนทั่วไป รองลงมาคือช่วยเหลือสมาชิกขององค์การฯ ร้อยละ 13.6 การให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐบาล และหน่วยงานเอกชนอื่น ๆ นั้น มีเพียงร้อยละ 2.8 และร้อยละ 0.7 ตามลำดับ
สำหรับวิธีการให้ความช่วยเหลือนั้น ร้อยละ 58.0 ให้ความช่วยเหลือโดยให้เงินสด รองลงมาคือ ให้คำแนะนำปรึกษา ร้อยละ 18.6 องค์การฯ ที่ให้ความช่วยเหลือโดยให้สิ่งของและอื่นๆ มีประมาณร้อยละ 14.8 สำหรับวิธีการให้ความช่วยเหลือนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น ได้แก่ ให้บริการด้านการศึกษา ให้ที่พักอาศัยชั่วคราว ให้บริการด้านสุขภาพและดูแลรักษา ให้ยืมเงินในการประกอบอาชีพ ให้บริการจัดหางานและอื่นๆ มีประมาณร้อยละ 7.9
ผลการสำรวจองค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร พ.ศ. 2556 พบว่า ประเทศไทย มีองค์การที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับศาสนามากที่สุด ประมาณร้อยละ 57.9 รองลงมาคือ องค์การที่ดำเนินกิจการหลักเกี่ยวกับการบริการสังคมสงเคราะห์ เช่น สมาคมและมูลนิธิต่าง ๆ ประมาณร้อยละ 31.4 ด้านคนทำงานส่วนใหญ่เป็นพนักงานอาสาสมัคร ประมาณ ร้อยละ 43.8 รองลงมาคือคนทำงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน ประมาณร้อยละ 33.5 โดยมีจำนวนคนทำงานเฉลี่ยต่อองค์การฯ ประมาณ 13 คน ส่วนค่าตอบแทนแรงงานขององค์การฯทั่วประเทศ ประมาณ 28,170.5 ล้านบาท หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 42,985 บาทต่อคนต่อปี สำหรับรายรับ ในรอบปี 2555 ขององค์การฯ มีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 202,310.8 ล้านบาท ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 99.1 มาจากการดำเนินงานขององค์การฯ ได้แก่ รายรับจากเงินบริจาค/เงินสนับสนุน เงินสงเคราะห์ (ฌาปนกิจสงเคราะห์) และจากการจำหน่ายสินค้าและบริการขององค์การฯ เป็นต้น และอีกร้อยละ 0.9 เป็นรายรับขององค์การฯ จากการเป็นเจ้าของธุรกิจอื่นที่ดำเนินการเพื่อแสวงหากำไร ด้านค่าใช้จ่ายขององค์การฯ มีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 134,905.4 ล้านบาท ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อกิจกรรมขององค์การฯ ประมาณร้อยละ 62.5 ค่าใช้จ่ายเพื่อบุคลากร ประมาณร้อยละ 20.9 และค่าใช้จ่ายสำนักงาน ประมาณร้อยละ 16.6
สำหรับปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการองค์การฯ ระบุว่าเป็นเรื่องเงินทุนในการสนับสนุนจากภาครัฐ และผู้บริจาค รวมทั้งขาดเจ้าหน้าที่/อาสาสมัคร
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ