สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรครั้งแรกในปี 2519 สำหรับการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราเริ่มตั้งแต่ปี 2544 และได้ดำเนินการสำรวจมาแล้วทั้งสิ้น 16 ครั้ง การสำรวจปี 2557 นี้เป็นครั้งที่ 17 เก็บรวบรวมข้อมูลในเดือนมิถุนายน โดยสุ่มเลือกผู้ตอบสัมภาษณ์ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ที่เป็นสมาชิกในครัวเรือนตัวอย่างและตอบสัมภาษณ์ด้วยตนเองครัวเรือนละ 1 คน โดยมีจำนวนครัวเรือนตัวอย่างทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาลทั่วทั้งประเทศ 25,758 ครัวเรือน และมีผลการสำรวจที่สำคัญสรุปได้ดังนี้
การสูบบุหรี่
จำนวนผู้สูบบุหรี่ และอัตราการสูบบุหรี่
พบว่าในจำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น 54.8 ล้านคน เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ 11.4 ล้านคน (ร้อยละ 20.7) โดยเป็นผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ 10 ล้านคน (ร้อยละ 18.2) และเป็นผู้ที่สูบบุหรี่นานๆ ครั้ง 1.4 ล้านคน (ร้อยละ 2.5) เมื่อพิจารณาอัตราการสูบบุหรี่ตามกลุ่มวัย พบว่ากลุ่มวัยทำงาน (25-59 ปี) มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุด (ร้อยละ 23.5) รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) และกลุ่มเยาวชน (15-24 ปี) (ร้อยละ 16.6 และ 14.7 ตามลำดับ) อัตราการสูบบุหรี่ของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 18.4 เท่า (ร้อยละ 40.5 และ 2.2 ตามลำดับ) นอกเขตเทศบาล มีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่าในเขตเทศบาล 1.3 เท่า (ร้อยละ 23.0 และ 18.0 ตามลำดับ)
เมื่อพิจารณาอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ในภาพรวมพบว่าในช่วงปี 2547-2552 อัตราการสูบบุหรี่มีแนวโนมลดลง (ร้อยละ 23.0 และ 20.7 ตามลำดับ) ปี 2554 อัตราสูบเพิ่มขึ้นอีกเป็นร้อยละ 21.4 และลดลงเหลือร้อยละ 19.9 ในปี 2556 ผลสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2557 อัตราการสูบเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20.7
เมื่อเปรียบเทียบอัตราการสูบบุหรี่ปี 2557 กับปี 2556 พบว่าทั้งเพศชายและหญิงมีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มสูงขึ้น ผู้ชายเพิ่มจากร้อยละ 39.0 เป็น 40.5 ผู้หญิงเพิ่มเพียงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.1 เป็น 2.2
อายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกและสูบเป็นปกตินิสัย
จากผลการสำรวจในปี 2557 พบว่าอายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกของผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำคือ 17.8 ปี ขณะที่อายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่เป็นปกตินิสัย (สูบประจำ/นานๆ ครั้ง)คือ 19.5 ปี เมื่อเทียบกับปี 2550 พบว่าทุกกลุ่มวัยมีอายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่น้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน (15-24 ปี) เริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุน้อยลงค่อนข้างมากกว่ากลุ่มอื่น คือจากปี 2550 เยาวชนเริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุ 16.8 ปี และในปี 2557 ลดลงเป็น 15.6 ปี
จากผลการสำรวจในปี 2557 ชี้ให้เห็นว่าอายุของนักสูบหน้าใหม่ลดลง ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวของควรทบทวนและบังคับใช้มาตรการและกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสกัดกั้นการเกิดนักสูบหน้าใหม่
ประเภทของบุหรี่ที่สูบ
พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 61.7) ของผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำนิยมสูบบุหรี่มวนที่ผลิตจากโรงงาน รองลงมาสูบบุหรี่มวนเอง (ร้อยละ 55.4) มีผู้ที่สูบซิกการ์หรือไปป์เพียงร้อยละ 1.3 และมีสัดส่วนของผู้ที่สูบบุหรี่ที่สูบผ่านน้ำ เช่น บารากู่/ฮุกก้า/ชิชา และบุหรี่ไฟฟ้าแบบแท่ง ร้อยละ 0.8 โดยกลุ่มผู้สูงวัยมีสัดส่วนของการสูบบุหรี่มวนเองสูงกว่ากลุ่มวัยอื่น (ร้อยละ 80.6) ผู้ที่อยู่นอกเขตเทศบาลสูบบุหรี่มวนเองมากกว่าผู้ที่อยู่ในเขตเทศบาลเกือบสองเท่า (ร้อยละ 68.4 และ 35.0 ตามลำดับ) ผู้ที่อยู่ในเขตเทศบาลสูบบุหรี่มวนที่ผลิตจากโรงงานสูงกว่าผู้ที่อยู่นอกเขตเทศบาล (ร้อยละ 75.9 และ 52.7 ตามลำดับ) เยาวชนที่อยู่ในกรุงเทพมหานครนิยมสูบยาสูบที่สูบผ่านน้ำ เช่น บารากู่/ฮุกก้า/ชิชา
ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อบุหรี่มาสูบเอง (เฉลี่ยต่อเดือน)
ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำมีค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อบุหรี่มาสูบเอง โดยเฉลี่ยประมาณเดือนละ 423 บาท กลุ่มวัยทำงานมีค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อบุหรี่เฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่ากลุ่มเยาวชนและกลุ่มผู้สูงวัย (470 บาท, 409 บาท และ 208 บาท ตามลำดับ)
การได้รับควันบุหรี่มือสอง (Secondhand Smoke)
จากการสอบถามถึงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในตัวบ้านของสมาชิกที่อยู่อาศัยในครัวเรือน พบว่า 3 ใน 5 (ร้อยละ 59.4) ของผู้ตอบฯ ตอบว่าไม่มีการสูบบุหรี่ภายในตัวบ้าน 2 ใน 5 (ร้อยละ 39.5) ตอบว่ามีการสูบบุหรี่ภายในตัวบ้าน และที่เหลือร้อยละ 1.1 ตอบว่าไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ และเมื่อถามถึงความบ่อยครั้งของการสูบบุหรี่ในตัวบ้าน พบว่าร้อยละ 27.8 มีการสูบบุหรี่ในตัวบ้านทุกวัน และร้อยละ 7.1 มีการสูบบุหรี่ในบ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง จากผลการสำรวจนี้ชี้ให้เห็นว่ายังมีผู้สูบบุหรี่อีกจำนวนมากที่นอกจากจะไม่ใส่ใจในสุขภาพของตนเองแล้ว ยังไม่คำนึงถึงสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตของสมาชิกคนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกัน
การดื่มสุรา
พฤติกรรมการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
จากการสัมภาษณ์พฤติกรรมการดื่มสุราฯ ของประชากรในปี 2557 พบว่าในจำนวนประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 54.8 ล้านคน เป็นผู้ดื่มสุราในรอบ 12 เดือนที่แล้วประมาณ 17.7 ล้านคน (ร้อยละ 32.3) โดยผู้ชายมีอัตราการดื่มสุราฯ สูงกว่าหญิงประมาณ 4 เท่า กลุ่มวัยทำงาน (25-59 ปี) มีอัตราการดื่มสุราฯ สูงกว่ากลุ่มอื่น (ร้อยละ 38.2) และมีข้อสังเกตว่ากลุ่มผู้สูงวัยที่ดื่มสุราสูงถึงร้อยละ 18.4
เมื่อพิจารณาถึงความบ่อยครั้งของการดื่มสุราฯ พบว่าร้อยละ 57.6 เป็นผู้ที่ดื่มนานๆ ครั้ง ร้อยละ 42.4 เป็นผู้ที่ดื่มสม่ำเสมอ เมื่อพิจารณาความถี่หรือความบ่อยครั้งในการดื่มของกลุ่มผู้ที่ดื่มสม่ำเสมอนั้น พบว่าเป็นผู้ที่ดื่ม 5 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไปถึงร้อยละ 38.3 ซึ่งในกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ดื่มทุกวันสูงถึงร้อยละ 26.2
อายุเฉลี่ยที่เริ่มดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งแรก
พบว่าผู้ที่ดื่มสุราฯ ในรอบ 12 เดือนที่แล้ว รวมทั้งผู้ที่เคยดื่มแต่ในรอบ 12 เดือนที่แล้วไม่ดื่ม มีอายุเฉลี่ยที่เริ่มดื่มสุราฯ ครั้งแรกคือ 20.8 ปี ผู้ชายจะเริ่มดื่มเร็วกว่าผู้หญิง (19.4 ปีและ 25.0 ปี ตามลำดับ) หรืออาจกล่าวได้ว่าเพศชายเริ่มทดลองดื่มสุราฯ ครั้งแรกตั้งแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
แนวโนมของการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เมื่อเปรียบเทียบอัตราการดื่มของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป พบว่าในช่วงปี 2547-2550 อัตราการดื่มสุราฯ มีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 32.7 เป็นร้อยละ 30.0 ในปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 32.0 และลดลงเหลือร้อยละ 31.5 ในปี 2554 ล่าสุดปี 2557 อัตราการดื่มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 32.3
ประเภทของสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดื่ม
(ตอบได้มากกว่า 1 ประเภท)
จากการสอบถามถึงประเภทของสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดื่มในรอบ 12 เดือนที่แล้ว พบว่าผู้บริโภคสุราฯ ส่วนใหญ่นิยมดื่มเบียร์มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 65.8) อันดับสองคือสุราสี/สุราแดงที่มีราคาถูก (ร้อยละ 42.1) อันดับสามคือสุราขาว/สุรากลั่นชุมชน (ร้อยละ 39.3) อันดับสี่คือสุราสี/สุราแดงที่มีราคาแพง (ร้อยละ 12.6) และอันดับห้าคือไวน์คูลเลอร์/สุราผสมน้ำผลไม้/เหล้าปั่น (ร้อยละ 7.3 )
สาเหตุสำคัญที่เริ่มดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
พบว่าสาเหตุสำคัญที่เริ่มดื่มสุราฯ ที่เป็นสาเหตุหลักๆ มีด้วยกัน 3 สาเหตุ สาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งคือเพื่อเข้าสังคม/การสังสรรค์ (ร้อยละ 41.9) อันดับสองคือตามอย่างเพื่อน/เพื่อนชวนดื่ม (ร้อยละ 27.3) และอันดับสามคืออยากทดลองดื่ม (ร้อยละ 24.4) ทั้งเพศชายและหญิงมีอันดับสำคัญของสาเหตุที่เริ่มดื่ม 3 อันดับแรกเหมือนกัน แต่แตกต่างกันในสัดส่วน โดยเพศชายที่เริ่มดื่มเพราะตามอย่างเพื่อน/เพื่อนชวนดื่ม และเพราะอยากทดลองดื่มสูงกว่าหญิง ตามอย่างเพื่อน/เพื่อนชวนดื่ม (ร้อยละ 29.8 และ 19.8 ตามลำดับ) อยากทดลองดื่ม (ร้อยละ 26.7 และ 17.2 ตามลำดับ)
การเคยดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนักในครั้งเดียว
พบว่าร้อยละ 43.2 ของผู้ที่ดื่มสุราฯ ใน 12 เดือนที่แล้ว เป็นผู้ที่ดื่มหนัก สัดส่วนของเพศชายที่ดื่มหนักในครั้งเดียวสูงกว่า หญิงถึง 2 เท่า (ร้อยละ 48.3 และ 23.8 ตามลำดับ) เมื่อพิจารณาถึงความบอยครั้งของการดื่มหนักในครั้งเดียว พบวาร้อยละ 4.0 ของผู้ที่เคยดื่มหนักเป็นผู้ที่เคยดื่มหนักทุกวันหรือเกือบทุกวัน สัดส่วนของเพศชายที่เคยดื่มหนักทุกวันหรือเกือบทุกวันสูงกว่าหญิงเกือบ 6 เท่า (ร้อยละ 4.7 และ 0.8 ตามลำดับ)
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ